โคตรโกงรีเทิร์น! ดัชนีคอร์รัปชั่นไทยวูบต่อเนื่อง หอการค้ากระทุ้งรัฐหัดเอาจริง
โคตรโกงรีเทิร์น! ดัชนีคอร์รัปชั่นไทยวูบต่อเนื่อง หอการค้ากระทุ้งรัฐหัดเอาจริง
วันที่ 15 กุมภาพันธ์ นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชั่นไทย หรือ CSI ประจำเดือนธันวาคม 2560 โดยสุ่มสำรวจจำนวน 2,400 ตัวอย่าง จากกลุ่มเป้าหมายทั้งข้าราชการ ผู้ประกอบการ และภาคประชาชน พบว่า อยู่ที่ระดับ 52 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน ลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงการสำรวจเมื่อเดือนมิถุนายน 2560 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 53 คะแนน โดยประเมินจาก 4 หมวด ได้แก่ หมวดปัญหาความรุนแรง และหมวดการปราบปรามไม่ดีขึ้น ส่วนหมวดการป้องกัน และการสร้างจิตสำนึก ดีขึ้นเล็กน้อย
ทั้งนี้จากการสอบถามผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจกับภาครัฐ จะต้องจ่ายเงินพิเศษ หรือเงินใต้โต๊ะ เพื่อให้ได้สัญญาหรือไม่นั้น ส่วนใหญ่ 54% ไม่ต้องจ่าย ส่วนอีก 24% ยังต้องจ่ายเงินใต้โต๊ะ ซึ่งจ่ายเฉลี่ยที่ร้อยละ 5-15 ของเม็ดเงินโครงการ โดยหากประเมินวงเงินคอร์รัปชั่นจากงบประมาณรายจ่าย ค่าครุภัณฑ์ ที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งงบลงทุนวิสาหกิจ จากเงินงบประมาณปี 2561 ที่ 2.9 ล้านล้านบาท จะเกิดเป็นมูลค่าวงเงินคอร์รัปชั่นประมาณ 100,0000-200,000 ล้านบาท ที่หายไปจากระบบ และกระทบต่อจีดีพีให้ลดลง 0.41 - 1.23%
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า แม้คะแนนดัชนีคอร์รัปชั่นภาพรวมจะลดลง แต่ยังถือว่าเกิน 50 คะแนน สะท้อนว่าสถานการณ์พัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น แต่หากดู 3 ปีย้อนหลังตั้งแต่ปี 2558 มีคะแนนถึง 56 ถือว่าสถานการณ์คอร์รัปชั่นไทยเริ่มอยู่ในขาลง
“ถือเป็นสัญญาณคอร์รัปชั่นที่แย่ลง หากนับจากช่วงเดือนมิถุนายน 2558 ที่รัฐบาลเริ่มทำงาน รวมไปถึงดัชนีปัญหาและความรุนแรงของคอร์รัปชันก็แย่ลงด้วย โดยในเดือนธันวาคม 2560 อยู่ที่ 42 เทียบกับช่วงก่อนมิถุนายน 2560 อยู่ที่ 44 ซึ่งสาเหตุมาจากรัฐบาลกำลังเข้าสู่ช่วงการประมูลจัดซื้อจัดจ้าง จึงเห็นสัญญาณของการคอร์รัปชั่นเริ่มกลับมา”
ดังนั้น รัฐบาลต้องเร่งเข้ามาแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง โดยเฉพาะปีนี้จะมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจำนวนมากอาจจะเกิดช่องทางให้เกิดการคอร์รัปชั่นได้ และขณะนี้ดัชนีการสร้างจริยธรรมสูงถึง 62 คะแนน ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากการสำรวจเมื่อมิถุนายน 2560 ที่ 60 คะแนน ถือว่าภาคสังคม ภาคเอกชน และประชาชน ไม่ยอมรับการคอร์รัปชั่น และพร้อมที่จะช่วยกันป้องกันปัญหา
ส่วนกรณีประเด็นเรื่องนาฬิกาหรู ที่สังคมให้ความสนใจ จะส่งผลต่อการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันหรือไม่นั้นนายธนวรรธน์ กล่าวว่า ผลการสำรวจไม่ได้เจาะจงประเด็นนี้ และผลโพลล์ไม่ได้ชี้เรื่องนี้ออกมา แต่เมื่อมีประเด็นต่างๆ ประชาชนสามารถสัมผัสได้และมีมุมมองสะท้อนออกมาได้ ซึ่งสิ่งสำคัญขึ้นอยู่กับว่า รัฐบาลมีความจริงจังกับการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันเพียงใด
ส่วนจะส่งให้การประเมินดัชนีสถานการ์คอร์รัปชั่นไทยในรอบหน้าแย่ลงหรือไม่นั้น นายธนวรรธน์ มองว่า ขึ้นอยู่กับความจริงจังของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหา เพราะหลังจากนี้จะเข้าสู่ช่วงการประมูลโครงการของรัฐบาลมากขึ้น ทำให้เกิดความสุ่มเสี่ยงต่อการคอร์รัปชั่นเพิ่มมากขึ้น
ทั้งนี้ ดัชนีวัดภาพลักษณ์คอร์รัปชันปี 2559 จัดโดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ หรือTransparency International อันดับของไทยหล่นจากอันดับ 76 มาอยู่ในอันดับ 101 จาก 168 ประเทศ ซึ่งคะแนนโดยรวม ไทยลดลงจาก 38 เหลือ 35 จากคะแนนเต็ม 100