ชุมชนป่าภูถ้ำภูกระแต จ.ขอนแก่น : จากผืนนาแห้งแล้งสู่ความสมบูรณ์ และเกษตรทฤษฎีใหม่
“ก่อนหน้านี้เราไม่คิดว่าชุมชนเล็กๆ จะมาจัดการเรื่องน้ำได้ คิดว่าเรื่องน้ำเป็นเรื่องของฟ้าของฝน แล้วโครงสร้างการจัดการน้ำก็เป็นหน้าที่ของหน่วยงานรัฐที่จะบริการให้กับประชาชน แต่พอได้มาเรียนรู้เรื่องการจัดการน้ำ ทาง สสนก. ได้นำเรื่องเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาให้เรียนรู้ นำแผนที่และภาพถ่ายดาวเทียมมาให้ดู และทำการสำรวจข้อมูลแหล่งน้ำว่าแหล่งน้ำเราอยู่ที่ไหนบ้าง มันมีศักยภาพในการกักเก็บน้ำได้เท่าไร ศึกษาว่าในหนึ่งปีชุมชนต้องการน้ำเท่าไรและเราขาดอยู่เท่าไร จะหาจากที่ไหนมาเติม คำถามเกิดขึ้นและเราก็ลงมือค้นหาคำตอบหลังจากนั้น”
“...การพัฒนาแหล่งน้ำนั้น ในหลักใหญ่ก็คือการควบคุมน้ำให้ได้ดังประสงค์ ทั้งปริมาณและคุณภาพ กล่าวคือ เมื่อปริมาณน้ำมากเกินไป ก็ต้องหาทางระบายออกให้ทันการ ไม่ปล่อยให้เกิดความเดือดร้อนเสียหายได้ และในขณะที่เกิดภาวะขาดแคลน ก็จะต้องมีน้ำกักเก็บไว้ใช้อย่างเพียงพอ...”
พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ในพิธีเปิดการประชุมวิชาการนานาชาติ The Third Princess ChulabhornScience Congress (P C III) เรื่อง “น้ำและการพัฒนา : น้ำเปรียบดังชีวิต” ณ โรงแรมแชงกรี-ลา วันที่ 11 ธันวาคม 2538
พระราชดำรัสเรื่องการควบคุมบริหารจัดการน้ำให้ได้ดังที่ต้องการ เมื่อมีพร้อมทั้งปริมาณไม่ให้ขาดแคลนและคุณภาพที่นำมาใช้ได้ นั่นย่อมหมายถึงคุณภาพชีวิตที่ดีไม่แร้นแค้นอย่างที่ประสบมา
ชุมชนป่าภูถ้ำภูกระแต ที่เกิดจากการรวมตัวของชุมชนบ้านป่าเป้ง และชุมชนโนนศิลา ตั้งอยู่ใน ต.แวงน้อย อ.แวงน้อย จ.ขอนแก่น ปัจจุบันมีครัวเรือนรวมกัน 200 หลังคาเรือน
กล่าวได้ว่า ในแดนอีสานที่ราบสูงอันขึ้นชื่อเรื่องความแห้งแล้งต่อเนื่องยาวนานนี้ คนในชุมชนส่วนใหญ่จึงปลูกข้าวเป็นหลัก มีมันสำปะหลังบ้างเป็นบางราย รายได้ขึ้นอยู่กับทรัพยากรน้ำในฤดูฝนเป็นหลัก ปีไหนฝนดีก็ทำนา ปีไหนแล้งหนักก็อพยพไปขายแรงงานต่างถิ่น บางรายเป็นแรงงานก่อสร้าง บางรายอยู่ในโรงงาน บางรายต้องลงเรือทะเลไปไกลบ้าน ปีไหนมีน้ำก็กลับบ้านมาทำนา ชีวิตความเป็นอยู่ผูกไว้กับฤดูกาลที่ไม่สามารถควบคุมได้
ถึงแม้ว่าในเวลาต่อมาชุมชนป่าภูถ้ำภูกระแต ได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐในการขุดห้วย ขุดบาดาล ทำแก้มลิง แต่ก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ เป็นเพียงการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า แก้มลิงที่สร้างขึ้นดังกล่าวไม่มีน้ำลำเลียงเข้าไป ฝนก็ยังแล้งต่อเนื่อง 4 ปี สลับฝนดี 2 ปี อยู่อย่างนั้นเสมอมา
ฟื้นป่าต้นน้ำ ก้าวแรกสู้ภัยแล้ง
พิชาญ ทิพวงษ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายชุมชนลุ่มน้ำชี/ภูถ้ำภูกระแต จ.ขอนแก่น เล่าว่า หลังจากที่ทนภัยแล้งมานานหลายปีก็มาคุยกันกับคนในชุมชนว่าสาเหตุเป็นเพราะป่าเสื่อมโทรม จึงได้ร่วมกันจัดการเรื่องป่าเป็นสิ่งแรก มีการปลูกป่าเพิ่ม ระวังไฟป่า ทำฝายชะลอความชุ่มชื้น และป่าก็เริ่มกลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง แต่เรื่องน้ำก็ยังแล้งเช่นเดิม
ต่อมาชาวชุมชนภูถ้ำภูกระแตได้นำเรื่องการจัดการป่าส่งเข้าประกวดโครงการ การจัดการป่าต้นน้ำ ของ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สสนก. ซึ่งได้รับรางวัลการจัดการน้ำชุมชนดีเด่น ในปี 2551 และได้เข้าศึกษาการเรียนรู้เรื่องการจัดการน้ำขนาดเล็กในชุมชน ของ สสนก. เป็นก้าวที่สองที่สำคัญในการจัดการปัญหาภัยแล้ง
“ก่อนหน้านี้เราไม่คิดว่าชุมชนเล็กๆ จะมาจัดการเรื่องน้ำได้ คิดว่าเรื่องน้ำเป็นเรื่องของฟ้าของฝน แล้วโครงสร้างการจัดการน้ำก็เป็นหน้าที่ของหน่วยงานรัฐที่จะบริการให้กับประชาชน แต่พอได้มาเรียนรู้เรื่องการจัดการน้ำ ทาง สสนก. ได้นำเรื่องเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาให้เรียนรู้ นำแผนที่และภาพถ่ายดาวเทียมมาให้ดู และทำการสำรวจข้อมูลแหล่งน้ำว่าแหล่งน้ำเราอยู่ที่ไหนบ้าง มันมีศักยภาพในการกักเก็บน้ำได้เท่าไร ศึกษาว่าในหนึ่งปีชุมชนต้องการน้ำเท่าไรและเราขาดอยู่เท่าไร จะหาจากที่ไหนมาเติม คำถามเกิดขึ้นและเราก็ลงมือค้นหาคำตอบหลังจากนั้น” พิชาญ กล่าว
หลังจากได้ศึกษาข้อมูลแล้ว ทำให้ชุมชนภูถ้ำภูกระแตเห็นช่องทางที่จะวางแผนการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ จึงได้นำเสนอแนวทางการจัดการน้ำให้กับทาง สสนก. ได้รับทราบ ประจวบเหมาะกับ สสนก. ได้รับงบประมาณเนื่องในวโรกาส พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 เฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ ปี 2554 ทำให้ชุมชนภูถ้ำภูกระแตได้ปฏิบัติการตามแผนงานที่วางไว้
คลองดักน้ำหลาก ความหวังหยุดปัญหาแล้งอันยาวนาน
“ปี 2554 ชุมชนได้สร้างคลองดักน้ำหลากขึ้น ทำหน้าที่ในการต้อนน้ำเข้าไปที่แก้มลิงที่มีอยู่เดิม ใช้โครงสร้างเดิมที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์ และเชื่อมโยงจากแต่ละแหล่งน้ำเข้าหากัน ส่วนหนึ่งก็เชื่อมเข้าไปบ่อน้ำประจำแม่นาของเกษตรกร และมีการตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำ ทั้งระบบ มากำหนดกติกาการใช้น้ำร่วมกันในชุมชน”
จากการสร้างคลองดักน้ำหลากดังกล่าวทำให้ปัจจุบันน้ำในคลองเต็ม สระแก้มลิงจึงเต็มด้วยเช่นกัน เช่น หนองฝายบ้าน ซึ่งเป็นแหล่งน้ำที่ใช้อุปโภคในครัวเรือน
“เมื่อครั้งที่ยังไม่มีการจัดการและเชื่อมโยงน้ำเข้าหากัน หนองฝายบ้านเก็บน้ำได้ประมาณ 20,000 ลบ.ม. ซึ่งชุมชน 75 ครัวเรือน ใช้น้ำปีละ 9,000 ลบ.ม. แต่น้ำที่เก็บใช้ได้ในรอบปีเท่านั้น ส่วนที่เหลือทั้งระเหยหรือไม่ก็ซึมลงดินจนแห้งแห้ง ถ้าปีต่อไปแล้งจะไม่มีน้ำใช้ แต่ปัจจุบันน้ำที่หนองไผ่บ้านเก็บได้ 150,000 ลบ.ม. ซึ่งชุมชนใช้ปีละ 9,000 ลบ.ม. ถ้าเกิดแล้งหนักก็ยังใช้ได้อีก 5-10 ปี หรือหนองผักหวาน เดิมเก็บได้แค่ 25,000 ลบ.ม. แต่พอพัฒนาโครงสร้างและเชื่อมโยงน้ำเข้าหากัน ได้น้ำเป็น 80,000 ลบ.ม. ซึ่งสำรองไว้ทำเกษตรในฤดูแล้ง นี่คือความเปลี่ยนแปลง”
เมื่อมีน้ำเพียงพอต่อการใช้ทั้งในครัวเรือนและการเกษตร นั่นหมายความว่ารายได้ที่เพิ่มขึ้น ก่อนที่จะมีการพัฒนาเรื่องน้ำ นาข้าวของชุมชนป่าภูถ้ำภูกระแต ได้ผลผลิตประมาณ 350 กก./ไร่ แต่ปัจจุบันเพิ่มเป็น 500 กก./ไร่ และหลังจากมีน้ำเพียงพอแล้วเกษตรกรไม่ได้ทำนาข้าวเพิ่มแต่อย่างใด มีการลดพื้นที่ทำนาข้าวลงเพื่อทำเกษตรด้านอื่นๆ ในช่วงฤดูแล้ง เป็นพืชท้องถิ่น เช่น ผักติ้ว ผักหวาน ข่า ตะไคร้ ถั่ว แตงกว่า เพื่อบริโภคและขายในตลาดชุมชน
เกษตรทฤษฎีใหม่ ศาสตร์พระราชาสู่ชุมชนที่ยั่งยืน
เกษตรทฤษฎีใหม่ เป็นแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เกี่ยวกับการจัดพื้นที่ดินเพื่อการอยู่อาศัยและมีชีวิตอย่างยั่งยืน โดยมีแบ่งพื้นที่เป็นส่วนๆ คือ พื้นที่น้ำ พื้นที่ปลูกข้าว พื้นที่ปลูกพืชไร่ และที่สำหรับอยู่อาศัยและเลี้ยงสัตว์ ในอัตราส่วน 3:3:3:1
เมื่อชุมชนภูถ้ำภูกระแตแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำในชุมชนตนเองได้แล้ว ก้าวต่อไปนั่นคือ ความยั่งยืนของชุมชน
ปัจจุบันชุมชนภูถ้ำภูกระแตเน้นระบบเกษตรทฤษฎีใหม่ มีสระน้ำในแปลงเกษตรของตนเอง มีการใช้เทคโนโลยีเขามาช่วย เช่น สูบน้ำโดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ กระจายน้ำด้วยระบบสปริงเกอร์ หรือระบบน้ำหยด ใช้น้ำให้เกิดประโยชน์ได้คุ้มค่าที่สุด นำร่องแล้ว 40 กว่าครัวเรือน ถ้าขาดแคลนน้ำ จะมีการกระจายน้ำที่แก้มลิงไปให้ มีกติกาที่คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำดูแลอยู่
“ส่วนหนึ่งมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นกลไกการประสานระหว่างบริษัท SCG กับชุมชนให้ได้พบกัน เมื่อชุมชนมีแผนการจัดการน้ำ ทางมูลนิธิฯ เสนอไปยังทาง SCG มาช่วยสนับสนุนเรื่องงบประมาณในการลงมือปฏิบัติ ซึ่งถือเป็นส่วนที่สำคัญหนึ่ง อีกทั้ง คนที่อพยพไปเป็นแรงงานต่างถิ่นแดนไกลก็กลับบ้าน เขามีงานทำในพื้นที่ของตนเอง เพราะมีน้ำทำเกษตรทั้งปี ไม่ต้องจากบ้านไปทำอย่างอื่นแล้ว นี่คือการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่เกิดขึ้นจากการมีน้ำ” พิชาญ กล่าว
ปัจจุบันชุมชนภูถ้ำภูกระแตสามารถพลิกชีวิตจากความแห้งแล้งกลับมาสู่ความชุ่มชื้นได้ และกำลังจะพัฒนาไปสู่ความยั่งยืน การต่อสู้เพื่อนำน้ำกลับมาสู่ชุมชนเป็นสิ่งที่สำคัญของการเปลี่ยนแปลง แต่จุดเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุดคงเป็นการนำคนในครอบครัวกลับบ้าน .