ยักยอกหรือระเบียบมั่ว? ชาวบ้านโวยเงินเยียวยาไฟใต้ไม่ครบ!
ผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้หลายกรณี รวมตัวกันเข้าร้องเรียน ป.ป.ช.จังหวัดยะลา เพราะเชื่อว่าพวกตนได้รับเงินเยียวยาไม่ครบตามจำนวนที่เคยมีมติคณะรัฐมนตรีรับรองเอาไว้
เหยื่อไฟใต้ที่ออกมาร้องเรียนมี 8 คน ในจำนวนนี้ 7 คนมีภูมิลำเนาอยู่ใน อ.บันนังสตา จ.ยะลา ส่วนอีก 1 คนอยู่ที่ จ.นราธิวาส ทั้งหมดเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบ 2 เหตุการณ์ คือ
1.เหตุการณ์บ้านภักดี ต.บาเจาะ อ.บันนังสตา เมื่อวันที่ 9 เม.ย.50 เป็นเหตุซุ่มยิงรถนักเรียนและชาวบ้านหลังเดินทางกลับจากพิธีละหมาดศพนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (นายกอบต.) ในพื้นที่ที่เพิ่งเสียชีวิตจากการถูกลอบวางระเบิด เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บหลายราย โดยผู้ที่เข้าร้องเรียนบ้างก็เป็นญาติของผู้เสียชีวิต บางคนตาบอดเพราะถูกยิง
2.เหตุการณ์ตากใบ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ต.ค.47 เป็นเหตุการณ์สลายการชุมนุมและเคลื่อนย้ายผู้ชุมนุมที่ถูกจับกุมนับพันคนไปสอบสวน โดยใช้วิธีจับถอดเสื้อ มัดมือไพล่หลัง และขนไปเรียงซ้อนกันบนรถยีเอ็มซีของทหาร ทำให้มีผู้เสียชีวิตทั้งจากการสลายการชุมนุมและการเคลื่อนย้าย รวม 85 คน
ทั้งสองกรณีมีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) และมติคณะกรรมการยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) ในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ให้จ่ายเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบหรือทายาทในอัตรารายละ 7.5 ล้านบาท เพราะถือว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ แต่ชาวบ้านกลุ่มนี้ร้องเรียนว่า พวกตนได้รับเงินเยียวยาไม่ครบ บางคนได้รับ 5 ล้านบาท ขณะที่บางคนได้รับเพียง 3.5 ล้านบาทเท่านั้น
หนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์บ้านภักดีที่ต้องสูญเสียดวงตาข้างซ้ายไป กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นการกระทำของฝ่ายรัฐ ซึ่งตามมติคณะรัฐมนตรีต้องได้รับเงินเยียวยาคนละ 7.5 ล้านบาท แต่จนถึงวันนี้ผ่านมากว่า 11 ปีแล้ว ตนและผู้ที่ได้รับผลกระทบร่วมชะตากรรมเดียวกันกลับได้รับเงินเยียวยาที่จ่ายไม่เป็นงวดๆ ไม่ครบจำนวน รวมแล้วได้ประมาณ 3.5 ล้านบาทถึง 5 ล้านบาทเท่านั้น เมื่อไปสอบถามเหตุผลจากเจ้าหน้าที่เยียวยา ก็อ้างว่าเจ้าหน้าที่ได้สรุปสาเหตุของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใหม่ ว่าเหตุซุ่มยิงที่บ้านภักดีไม่เข้าข่ายเจ้าหน้าที่รัฐกระทำ ฉะนั้นจึงจ่ายเพียง 4.5 ล้านบาท
ต่อมา นายพายัพ คชพลายุกต์ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช.จังหวัดยะลา ได้เดินทางไปยังที่ว่าการอำเภอบันนังสตา เพื่อรับทราบปัญหาที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งเชิญชาวบ้านผู้ร้องเรียนทั้งหมดเข้าพูดคุยและสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นเป็นรายบุคคล แต่ไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนเข้าสังเกตการณ์ เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยให้กับผู้ร้องเรียน
นายพายัพ กล่าวว่า จะนำข้อมูลทั้งหมดที่ได้จากชาวบ้านไปตรวจสอบกับหน่วยงานต้นสังกัดที่เป็นเจ้าของเรื่อง ซึ่งต้องดำเนินการอย่างรัดกุม เพื่อให้เกิดความยุติธรรมทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งผู้ร้องเรียน และหน่วยงานที่ถูกร้องเรียน โดยขณะนี้ยังไม่มีการสรุปว่าใครผิดใครถูก เพราะต้องตรวจสอบอย่างรอบคอบก่อน
จากการตรวจสอบเพิ่มเติมของ "ทีมข่าวอิศรา" พบว่า หน่วยงานที่รับผิดชอบจ่ายเงินเยียวยาให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบ คือ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) โดยชาวบ้านผู้ร้องเรียนสงสัยว่าเจ้าหน้าที่ ศอ.บต.บางรายอาจมีพฤติกรรมยักยอกเงินเยียวยา จึงร้องเรียนไปยังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทำให้ คสช.ส่งคณะทำงานลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูล และประสาน ป.ป.ช.จังหวัดยะลาให้รับเรื่องไปตรวจสอบต่อ
อย่างไรก็ดี จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการสรุปว่าปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากการทุจริตของเจ้าหน้าที่ ศอ.บต. หรือเป็นความบกพร่องของผู้กำหนดนโยบาย ทำให้ระเบียบการจ่ายเงินเยียวยาที่ออกมารองรับ ไม่มีความชัดเจน
ข้อมูลที่คณะทำงาน คสช.รวบรวมได้ พบว่า ต้นตอของปัญหาเกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ที่มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี และมี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ ศอ.บต. เพราะได้มีมติ ครม.ปรับอัตราการจ่ายเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แยกเป็นกรณีๆ โดยกรณีสูงสุดอยู่ที่ 7.5 ล้านบาท เป็นกรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐเป็นผู้กระทำให้เกิดการเสียชีวิต และกรณีเหตุการณ์ตากใบ กับเหตุการณ์บ้านภักดี อยู่ในข่ายที่รัฐต้องจ่าย 7.5 ล้านบาท
ต่อมา กพต.หรือคณะกรรมการยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็มีมติรับรองตามมติ ครม. กระทั่งนำไปสู่การออกระเบียบของ ศอ.บต.เพื่อจ่ายเงินเยียวยา คือ ระเบียบคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่าด้วยการให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายและผู้ได้รับผลกระทบจากการกระทําของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันสืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2555
แต่คณะทำงาน คสช.เห็นว่า มติ ครม.ที่กำหนดอัตราเงินเยียวยาสูงสุดถึง 7.5 ล้านบาทนั้น ไม่มีความชัดเจน ไม่สมเหตุสมผล และไม่สามารถอ้างอิงที่มาของอัตราที่กำหนดได้ว่ายึดโยงกับกฎหมายใด ทำให้ระเบียบการจ่ายเยียวยาที่ออกตามมา และมี ศอ.บต.เป็นหน่วยงานผู้รับผิดชอบ มีปัญหาตามไปด้วย
จากการตรวจสอบในเชิงลึกของคณะทำงาน คสช. ยังพบว่า ที่ผ่านมา ศอ.บต.ไม่ได้ออกหนังสือแจ้งผลการเยียวยา และไม่แจ้งสิทธิ์การอุทธรณ์คัดค้าน หากผู้ได้รับผลกระทบไม่พอใจผลการเยียวยา รวมทั้งไม่แจ้งงวดการชำระเงินเยียวยาที่ชัดเจน ทั้งที่เป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ได้รับผลกระทบต้องทราบ เพื่อให้เกิดความโปร่งใส ป้องกันการถูกร้องเรียนในภายหลัง ยิ่งไปกว่านั้น ที่ผ่านมาเคยมีชาวบ้านยื่นเรื่องร้องเรียนกับ ศอ.บต. แต่ก็ไม่ได้รับคำตอบที่น่าพอใจ
สำหรับการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นมี 2 ระดับ คือระดับพื้นที่ ได้มีการประสานให้สำนักงาน ป.ป.ช.จังหวัดยะลา เข้ามาตรวจสอบข้อมูลทั้งหมด เพื่อสรุปให้ได้ว่าปัญหาการจ่ายเงินเยียวยาที่ชาวบ้านได้ไม่ครบ เกิดจากการทุจริตของเจ้าหน้าที่ หรือเป็นปัญหาของระเบียบปฏิบัติที่ไม่ชัดเจน หรือเป็นความบกพร่องอย่างอื่น
ส่วนในระดับนโยบาย รัฐบาลมอบหมายให้กระทรวงยุติธรรมไปพิจารณาแก้ไขปรับปรุงระเบียบการเยียวยาให้มีความชัดเจนสมเหตุสมผล เช่น จ่ายไม่เกิน 1 ล้านบาท เพื่อให้มีความเหมาะสมและเป็นธรรม ใกล้เคียงกับการเยียวยากรณีอื่นๆ ทั่วประเทศ แล้วนำกระบวนการดูแลช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบในระยะยาวมาทดแทน เช่น ดูแลฟื้นฟูคุณภาพชีวิต สร้างอาชีพ มอบทุนการศึกษาบุตร เป็นต้น ที่สำคัญรัฐบาลยังมีนโยบายให้มีการยกร่างกฎหมายเยียวยา เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ ไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำด้วย
ส่วนปัญหาการจ่ายเงินเยียวยาที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งชาวบ้านออกมาร้องเรียนนั้น "ทีมข่าวอิศรา" ได้สอบถามไปยัง นายกิตติ สุระคำแหง รองเลขาธิการ ศอ.บต. ได้รับคำชี้แจวงว่า การจ่ายเยียวยาเป็นไปตามมติ ครม. และมติ กพต. อย่างกรณีตากใบ กรณีบ้านภักดี ได้รับ 7.5 ล้านบาท กรณีกรือเซะ (เหตุการณ์เมื่อวันที่ 28 เม.ย.47 ที่มัสยิดกรือเซะ จ.ปัตตานี) ได้รายละ 4 ล้านบาท
"เคสเก่าๆ เหล่านี้จ่ายไปทั้งหมดแล้ว ไม่มีตกค้าง จะมีตกค้างก็เฉพาะเคสใหม่ๆ ที่เจ้าหน้าที่ 3 ฝ่ายยังไม่ได้รับรอง แต่ทางเจ้าหน้าที่ก็จ่ายเบื้องต้นไปก่อน เพื่อรอการพิจารณาของเจ้าหน้าที่ 3 ฝ่าย เพื่อให้การรับรอง ถ้ามีการรับรอง ก็จะมีการจ่ายเงินเยียวยาตามอัตราที่กำหนด" นายกิตติ ระบุ
สำหรับ นายกิตติ เคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักบริหารงานยุติธรรม ศอ.บต. รับผิดชอบเรื่องการจ่ายเงินเยียวยา
"ทีมข่าวอิศรา" ตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมพบว่า การจ่ายเงินเยียวยานอกเหนือจากกรณีที่จ่ายอัตราสูงเป็นพิเศษตามมติ ครม.และ มติ กพต.ในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ นั้น กรณีอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในภายหลัง การจะจ่ายเงินเยียวยาได้ต้องให้เจ้าหน้าที่ 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายปกครอง ตำรวจ และทหาร ที่รับผิดชอบพื้นที่เกิดเหตุ ลงนามร่วมกันก่อนเท่านั้น
เช่น หากเจ้าหน้าที่ 3 ฝ่ายเห็นพ้องกันว่าเป็นเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่รัฐกระทำ ก็จะได้เงินเยียวยาในอัตราสูงสุด หากเจ้าหน้าที่ 3 ฝ่ายเห็นพ้องกันว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดจากการกระทำของผู้ก่อความไม่สงบ ก็จะได้เงินเยียวยาในอัตราที่ลดหลั่นลงมา แต่หากเจ้าหน้าที่ 3 ฝ่ายเห็นไม่ตรงกัน ก็จะได้เงินเยียวยาในอัตราปกติ คือหลักแสนบาท แต่หากสรุปว่าเป็นคดีอาชญากรรมทั่วไป ไม่เกี่ยวกับความมั่นคง ก็จะไม่ได้รับเงินเยียวยา
ส่วนกรณีผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์บ้านภักดี และเหตุการณ์ตากใบ ออกมาเรียกร้องเรื่องเงินเยียวยานั้น เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกำลังเร่งพิจารณา เพราะอาจเป็นความเข้าใจผิด เนื่องจากบางรายไม่ได้เสียชีวิต แต่ได้รับบาดเจ็บ ก็จะไม่ได้รับเงินเยียวยาในอัตรา 7.5 ล้านบาท
-------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบที่ออกมาร้องเรียนปัญหาเงินเยียวยา
2 ผู้ได้รับผลกระทบเข้าให้ข้อมูลกับ ป.ป.ช.ยะลา ณ ที่ว่าการอำเภอบันนังสตา
3 เงินเยียวยาที่ทยอยเข้าบัญชีเป็นงวดๆ นับรวมแล้วไม่ครบ 7.5 ล้านบาท