CAC เปิดตัวโครงการรับรอง SME ดึงธุรกิจขนาดกลางและเล็กร่วมวงต้านสินบน
แนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (CAC) เปิดตัวโครงการรับรองธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (CAC SME Certification) เพื่อสนับสนุนให้ธุรกิจ SME มีนโยบาย ระบบควบคุมภายใน และข้อปฏิบัติที่ดีเพื่อช่วยป้องกันการให้สินบน ซึ่งจะเป็นการขยายวงธุรกิจสะอาดของประเทศไทยให้ครอบคลุมกว้างขวางยิ่งขึ้น
การเข้าร่วมโครงการนี้จะช่วยให้ SME สามารถยกระดับมาตรฐานการทำงานเพื่อให้เป็นที่ยอมรับของคู่ค้ารายใหญ่ คู่ค้าต่างชาติ รวมถึงสถาบันการเงิน และผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆ นอกจากนี้ยังช่วยลดความเสี่ยงในการถูกเรียกรับสินบน ซึ่งจะเป็นการช่วยลดต้นทุนและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันด้วย
หลังจากที่บริษัทธุรกิจขนาดใหญ่ของประเทศซึ่งมีพลังทางเศรษฐกิจสูงจำนวนมากเข้ามาร่วมประกาศเจตนารมณ์ต่อต้านการรับ-จ่ายสินบนทุกรูปแบบกับ CAC และหลายบริษัทได้ผ่านการรับรองว่ามีนโยบายและแนวปฏิบัติป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันแล้ว ทางCAC ได้ริเริ่มพัฒนากระบวนการให้การรับรองบริษัท SME โดยปรับเกณฑ์การพิจารณารับรองให้อยู่ในรูปแบบที่กระชับ และปฏิบัติได้ง่ายขึ้นเพื่อให้เหมาะสมกับโครงสร้าง และศักยภาพของ SME
“ในระบบนิเวศของเศรษฐกิจไทยมีทั้งบริษัทขนาดใหญ่และขนาดเล็ก การที่บริษัทขนาดใหญ่จำนวนมากเข้ามาร่วมโครงการ CAC แล้วถือเป็นสัญญาณที่ดี แต่การจะแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันให้เกิดผลสำเร็จอย่างยั่งยืนได้นั้นจำเป็นต้องขยายวงไปถึงธุรกิจ SME ด้วย จากประสบการณ์การพิจารณารับรองบริษัทต่างๆ ที่ผ่านมา พบว่าเกณฑ์ที่ใช้กับบริษัทใหญ่มีอุปสรรคและข้อจำกัดหลายประการที่ทำให้ SME ไม่สามารถดำเนินการได้ จึงได้พัฒนาเกณฑ์ใหม่ให้สอดคล้องกับสภาพที่เป็นจริงของธุรกิจ SME เพื่อเปิดโอกาสให้ SME สามารถเข้ามาร่วมโครงการ และขยายวงธุรกิจสะอาดปราศจากสินบนด้วย” ดร. บัณฑิต นิจถาวร เลขาธิการ CAC กล่าว
กระบวนการรับรอง SME ได้ย่อแบบประเมินตนเองจาก 71 ข้อของบริษัทใหญ่ ให้เหลือเพียงแค่ 17 ข้อ แต่ยังคงสาระสำคัญเอาไว้ และอ้างอิงอยู่กับหลักพิจารณาความพอเพียงของแนวปฏิบัติเพื่อป้องกันการรับ-จ่ายสินบนของบริษัทที่กำหนดโดยสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) อย่างไรก็ตาม CAC ยังกำหนดให้ SME ต้องจัดให้มีผู้ตรวจสอบภายนอกมารับรองความถูกต้องของแบบประเมินดังกล่าวด้วยเช่นเดียวกับกรณีของบริษัทใหญ่
ในการเข้าร่วมโครงการ เจ้าของหรือผู้บริหารสูงสุดของ SME จะต้องเข้าร่วมรับฟังการบรรยาย Executive Briefing ของทาง CAC เพื่อให้เข้าใจถึงกระบวนการที่จะต้องดำเนินการเพื่อให้ผ่านการรับรอง โดยทาง CAC ได้จัดทำคู่มือ (Toolkit) เพื่อให้คำแนะนำการดำเนินการแบบเป็นขั้นๆ อย่างละเอียด และยังได้จัดทำระบบการเรียนรู้แบบออนไลน์ (e-learning) เพื่อช่วยฝึกอบรมพนักงานของ SME ให้มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับปัญหาสินบนและแนวทางการดำเนินการเพื่อป้องกันปัญหาสินบนด้วย โดยทั้งหมดนี้ CAC ไม่มีการเก็บค่าใช้จ่ายใดๆ จาก SME เลย
สำหรับคุณสมบัติของบริษัทที่จะเข้าร่วมโครงการรับรอง SME กำหนดไว้เพียงว่าต้องมีรายได้ต่อปีไม่เกิน 1 พันล้านบาท และต้องไม่เป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ หรือบริษัทในเครือของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ โดยในระยะแรก CAC ตั้งเป้าไปที่บริษัทที่อยู่ในสายโซ่อุปทาน (Supply Chain) ของบริษัทใหญ่ที่เป็นสมาชิกของ CAC อยู่แล้วก่อน ต่อจากนั้นจึงค่อยขยายวงต่อไปยังธุรกิจ SME ทั่วไป
ในปัจจุบัน มีบริษัทที่ได้เข้าประกาศเจตนารมณ์แล้ว 881 บริษัท เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ 416 บริษัท ซึ่งคิดเป็นมูลค่าตลาด (market capitalization) ประมาณ 80% ของทั้งตลาด ในจำนวนนี้มีบริษัทที่ผ่านการรับรองจาก CAC แล้วจำนวน 314 บริษัท
CAC เป็นโครงการที่บริษัทเอกชนเข้าร่วมตามความสมัครใจ การประกาศเจตนารมณ์เข้าร่วมโครงการ CAC เป็นการแสดงเจตนารมณ์ร่วมต่อต้านคอร์รัปชันและการจ่ายสินบนของบริษัท ส่วนบริษัทที่ผ่านการรับรองจากคณะกรรมการ CAC หมายถึงบริษัทที่เข้าร่วมประกาศเจตนารมณ์กับโครงการ CAC และได้ผ่านกระบวนการประเมินตนเอง ที่มีการสอบทานและลงนามรับรองโดยประธานคณะกรรมการตรวจสอบของบริษัท หรือผู้ตรวจสอบบัญชีภายนอก ว่าบริษัทมีการกำหนดนโยบายและแนวปฏิบัติเพื่อป้องกันการทุจริตครบถ้วนตามเกณฑ์ที่คณะกรรมการ CAC กำหนด ดังนั้น การรับรองโดยโครงการ CAC เป็นการรับรองว่าบริษัทมีนโยบาย และระบบป้องกันคอร์รัปชันและการให้สินบน แต่ไม่ได้เป็นการรับรองพฤติกรรมของตัวบุคคลในบริษัท
สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการ CAC SME Certification และคู่มือ Toolkit ได้ที่: http://www.thai-cac.com/en/content/cac-anti-bribery-toolkit-smehttp://www.thai-cac.com/en/content/cac-anti-bribery-toolkit-sme
หมายเหตุ : ภาพประกอบจากไทยรัฐ