ชุมชนบ้านสาแพะ จ.ลำปาง:จากความแร้นแค้นสู่ความชุ่มชื้นบนเขาสูง
ลงพื้นที่ชุมชนบ้านสาเเพะ จ.ลำปาง สร้างฝายชะลอน้ำ ตามหลักศาสตร์พระราชา หวังช่วยเเก้ปัญหาบริหารจัดการน้ำระดับพื้นที่
“...ถ้ามีน้ำคนอยู่ได้ ถ้าไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้ ไม่มีไฟฟ้าคนอยู่ได้ แต่ถ้ามีไฟฟ้า ไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้...”
พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 วันที่ 17 มีนาคม 2529 ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน
พระราชดำรัสในข้างต้นสะท้อนความจริงผ่านเรื่องราวของชุมชนหนึ่งในจังหวัดลำปาง ว่าหากไร้ซึ่งน้ำก็ไร้ซึ่งชีวิต เมื่อมีน้ำก็มีชีวิต และหากบริหารจัดการน้ำได้ดี นั่นก็หมายความว่าการบริหารจัดการชีวิตที่ดีด้วย
ชุมชนบ้านสาแพะ ตำบลบ้านสา อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง เป็นชุมชนจำนวน 153 หลังคาเรือน ตั้งอยู่ภูมิประเทศที่เป็นเขาสูง ห่างไกลความเจริญและสิ่งอำนวยความสะดวกที่ทันสมัยสะดวกสบาย การสัญจรหลายพื้นที่ยังคงเป็นถนนดินทรายและแร่หินขาวฝุ่นคละคลุ้งตลบอบอวล พื้นที่ที่ควรจะเต็มไปด้วยต้นไม้ แต่กลับมีเพียงบางตา ซึ่งต้นไม้มีบริเวณพื้นที่เป็นดินปนทรายเท่านั้น บริเวณที่เป็นแร่หินขาว พืชไม่สามารถเจริญเติบโตได้ สภาพยอดเขาส่วนใหญ่จึงมีเพียงต้นไม้บางตาเกือบจะโล้น
ดินทรายแห้งระแหงเป็นฝุ่นผงสะท้อนภาพความแห้งแล้งอย่างแจ่มชัด ลักษณะดินดังกล่าวที่อุ้มน้ำได้ไม่ดีนัก ทำให้ฝนที่ตกลงมาไม่นานก็ไหลระบายลงสู่ที่ต่ำ ซ้ำยังหลากท่วมพื้นที่พักอาศัยของชุมชน แต่เมื่อสิ้นฤดูฝนความแห้งแล้งยังย้อนกลับมาเช่นเดิม ประกอบกับการตัดไม้ทำลายป่าจำพวกไม้เนื้อแข็งอย่างสักและประดู่เพื่อแปรรูปขายในอดีต จนป่าอยู่ในสภาพเสื่อมโทรม สัตว์ป่าหนีหาย เป็นชีวิตที่เต็มไปด้วยความลำเค็ญ
“ฝาย” แห่งความหวัง ตามรอยพระราชดำริ
เมื่อน้ำเป็นปัญหาหลักในการดำรงชีพ ทั้งการใช้น้ำประปาในครัวเรือนและน้ำในการเกษตร ชาวบ้านต้องปรับตัว เกษตรกรรมพืชที่ต้องการน้ำน้อยเป็นทางเลือกของคนในชุมชน เพราะความจำเป็นด้านทรัพยากรน้ำที่มีอยู่จำกัด การเพาะเมล็ดพันธุ์เป็นอาชีพหลักของคนในชุมชน มะระ บวบ ฟักทอง และพริก เป็นพืชที่นิยม ซึ่งในหนึ่งปีสามารถทำได้เพียง 2 ครั้งเท่านั้น ทำให้ฐานะทางเศรษฐกิจก็ย่ำแย่เช่นกัน
ศาสตร์พระราชา ฝายชะลอน้ำ เป็นความหวังแรกที่จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาในชุมชนบ้านสาแพะแห่งนี้
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงเสนออุปกรณ์อันเป็นเครื่องมือที่จะใช้ประโยชน์ในการฟื้นฟูป่าไม้ ทรงแนะนำให้ใช้ฝายกั้นน้ำ หรือเรียกว่า Check Dam คือสิ่งที่ก่อสร้างขวางกั้นทางเดินของลำน้ำ มักกั้นลำธารขนาดเล็กบริเวณต้นน้ำหรือพื้นที่ลาดชัน และสามารถชะลอการไหลของน้ำให้ช้าลง อีกทั้งดักตะกอนไม่ให้ไหลลงบริเวณลุ่มน้ำตอนล่าง เป็นวิธีการอนุรักษ์ดินและน้ำที่ดีวิธีการหนึ่ง
โดยประโยชน์ของฝายชะลอน้ำ คือ ช่วยเก็บกักน้ำ ลดความรุนแรงของการเกิดไฟป่า ลดการพังทลายของหน้าดิน ลดความรุนแรงของกระแสน้ำในลำห้วย ช่วยกักเก็บตะกอนและวัสดุต่าง ๆ ที่ไหลลงมากับน้ำในลำห้วย ช่วยเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ และใช้เป็นแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค
‘คงบุญโชติ กลิ่นฟุ้ง’ ผู้ใหญ่บ้านสาแพะ ตำบลบ้านสา อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง เล่าว่า หมู่บ้านแห่งนี้เหมือนหมู่บ้านทั่วไปที่เกิดความแห้งแล้ง คนในชุมชนจึงมาคุยกันว่าเป็นอย่างนี้ต่อไปไม่รอดแน่ ดังนั้นเมื่อเข้ามาเป็นผู้ใหญ่บ้าน ปี 2555 ตอนนั้นเห็นหมู่บ้านอื่นทำฝายชะลอน้ำตามพระราชดำริ แล้วเกิดผลสำเร็จ จึงคิดว่านี้แหละคือสิ่งที่จะทำให้ป่าบ้านเราฟื้นฟูเร็วที่สุด
ต่อมาในปี 2556 หลังจากจากการชักนำของ SCG ให้ไปศึกษาดูงานฝายชะลอน้ำที่ ชุมชนบ้านสามขา ตำบลหัวเสือ อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง กลับมาผู้ใหญ่คงบุญโชติ ร่วมกับชาวบ้านผู้บุกเบิกอีก 12 คน ก็เริ่มต้นสร้างฝายกันในชุมชนของตนเอง นับเป็นก้าวแรกที่สำคัญในการลงมือฟื้นฟูท้องถิ่น
“หลังจากนั้นก็ทำมาเรื่อย ๆ มีบ้างที่ความคิดของคนในชุมชนจะแตกต่างกัน ก็พยายามที่จะปรับสัมพันธ์ความคิดของคนในชุมชนเข้ามาทำกิจกรรมร่วมกัน โดยนำ บ้าน วัด โรงเรียน มาเป็นแบบในการขับเคลื่อน มีหลวงพ่อ มีครู มีคนจาก SCG พามาแนะนำ”
กาลเวลาผ่านไป เข้าสู่ปี 2559 เกิดวิกฤตการณ์ขาดแคลนน้ำอย่างหนักทั้งประเทศ หลายพื้นที่ในประเทศไทยโดยเฉพาะภาคอีสานรวมไปถึงภาคเหนือ แต่ชุมชนบ้านสาแพะผ่านพ้นปัญหานั้นมาได้
“เห็นผลชัดเจนเมื่อปี 2559 ปีนั้นแล้งหนัก โชคดีที่หมู่บ้านเราสร้างฝายไว้ก่อนหน้านั้น ทุกหมู่บ้านขาดแคลนเรื่องน้ำประปากันหมด แต่หมู่บ้านสาแพะผ่านพ้นไปได้ เนื่องจากฝายชะลอน้ำซึมซับน้ำไว้ใต้ดิน” ผู้ใหญ่บ้านสาแพะ ระบุ
สระพวง หีบทรัพย์ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
เมื่อน้ำใช้มีมากพอจนเกิดปัญหาน้ำเกินจะทำอย่างไร เป็นโจทย์ที่ชุมชนบ้านสาแพะต้องแก้ในก้าวต่อไป ปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งของพื้นที่บ้านสาแพะคือ ดินปนทราย ที่ไม่สามารถอุ้มน้ำได้ น้ำฝนเมื่อตกลงสู่พื้นดินอยู่ได้ไม่เกิน 2-3 เดือน ก็หายไป ส่วนน้ำในลำห้วยไม่เกิน 3-4 ชั่วโมง ก็หลากลงสู่ที่ต่ำเพราะภูมิประเทศที่ลาดชัน สระพวงคือทางออกในการแก้โจทย์ต่อไปของชุมชน
สระพวง คือ แนวทางการบริหารจัดการน้ำที่เหมาะกับพื้นที่สูง โดยเริ่มจากสระใหญ่คือสระแม่ และเชื่อมต่อส่งน้ำไปยังสระลูกสระหลาน เหมาะกับพื้นที่เกษตรที่ไม่มีการชลประทาน การเพิ่มความจุเก็บกักน้ำ ทำได้โดยการปูพื้นด้วยใยสังเคราะห์ หรือเป็นบ่อซีเมนต์เพื่อลดการซึมของน้ำ
ผู้ใหญ่คงบุญโชติ กล่าวว่า หลังจากที่เรามีฝาย เราก็เอาไปเก็บไว้ที่สระพวง แต่พื้นสระต้องปูพื้นไม่ให้น้ำซึมลงพื้น อาศัยบ่อตรงนั้นมาทำเกษตร จากที่เมื่อก่อนที่เกษตรกรสามารถทำการเพาะปลูกได้ 2 ครั้งต่อปี ก็เพิ่มเป็นทำได้ 7 ครั้งต่อปี”
ปัจจุบันชุมชนบ้านสาแพะมีสระพวงทั้งหมด 7 สระเชื่อมกันทั้งหมด โดยช่วยเหลือของชาวบ้านในชุมชนช่วยบริจาคที่ดินในการสร้างสระ รวมทั้งการช่วยเหลือจากทาง SCG ทั้งมีการใช้นวัตกรรมใหม่ที่เรียกว่า ผ้าใบซีเมนต์ หรือ fabric cement ในการปูพื้นของสระพวงให้มีการกักเก็บน้ำได้ดียิ่งขึ้น
เมื่อการบริหารจัดการน้ำดีขึ้น ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านก็ดีขึ้น จากความแห้งแล้ง แร้นแค้น เป็นความชุ่มชื้น การเพาะพันธุ์เมล็ดพืชยังคงเป็นอาชีพหลัก และเพิ่มรายได้จากการผลิตทีมากขึ้น รายได้ของชุมชนที่เป็นตัวชี้วัดได้อย่างดี เมล็ดพันธุ์ส่วนใหญ่ส่งออกไปยังประเทศจีน อินเดีย และแถบแอฟริกา ซึ่งรายได้ของชุมชนรวม 3 ไตรมาตร ในปี 2560 อยู่ที่ 18 ล้านบาท และตั้งเป้ารวมที่ไตรมาตรสุดท้ายที่ 24 ล้านบาท
“อีกสิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนในปัจจุบันคือ ในหมู่บ้านไม่มีการพนัน ไม่มีลักเล็กขโมยน้อย ไม่มีการทะเลาะวิวาท เพราะชาวบ้านไม่มีเวลา เวลาใช้ไปกับการผสมพันธุ์เมล็ดขาย” ผู้ใหญ่คงบุญโชติ กล่าวด้วยความภาคภูมิใจ
ปัจจุบันได้เป็นหนึ่งในชุมชนต้นแบบที่สามารถแก้ไขปัญหาด้านการจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการน้อมนำแนวทางพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ผนวกกับการร่วมแรงร่วมใจกันของคนในชุมชน รวมทั้งการช่วยเหลือของ SCG ในการช่วยเหลือด้านนวัตกรรมและให้ความรู้ จนชุมชนบ้านสาแพะก้าวผ่านความแร้นแค้นไปได้ และที่สำคัญยังเปลี่ยนความคิดให้กลับมาหวงแหนทรัพยากรป่าต้นน้ำที่มีความสำคัญยิ่ง .