อาลัยเจ้าของนโยบาย "ใต้ร่มเย็น" พล.อ.หาญ ผู้คัดค้านเรือเหาะ-เรือเหี่ยว!
"ผมจะไปแก้ปัญหาภาคใต้ และขอให้ความมั่นใจกับทุกๆ คนว่า เมื่อผมมารับตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 4 ผมจะให้ความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการ ทหาร ตำรวจ เราต้องรวมกันได้ ราษฎรที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจะต้องหาทางแก้ไข ปัญหาผู้มีอิทธิพลต้องหาข้อมูลว่า อะไรเป็นเงื่อนไขการแตกแยกของคนไทยมุสลิมและไทยพุทธเราต้องขจัดออกไป ความสัมพันธ์ระหว่างคนไทยและมาเลเซียจะต้องยกระดับอันดีต่อกัน..."
เป็นคำกล่าวของ พล.อ.หาญ ลีนานนท์ ที่ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเอาไว้เมื่อครั้งรับตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 4 กับภารกิจ "ดับไฟที่ปลายขวาน"
จะเห็นได้ว่าปัญหาภาคใต้นั้นมีมานานแล้ว เกิดขึ้นมาก่อนปี 2547 ในยุคสงครามก่อการร้ายรายวัน โดยในยุคก่อนนั้นเป็นปัญหาผสมกันทั้งเรื่องผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ขบวนการโจรแบ่งแยกดินแดน และกลุ่มอิทธิพลท้องถิ่น
พล.อ.หาญ หรือที่หลายคนเรียกกันติดปากว่า "แม่ทัพหาญ" เข้าดำรงตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 4 คนที่ 4 ระหว่างวันที่ 1 ต.ค.2524 ถึงวันที่ 30 ก.ย.2526 และเป็นเจ้าของนโยบาย "ใต้ร่มเย็น" ที่ทำให้ไฟใต้มอดดับลงเกือบจะยั่งยืน
นโยบาย "ใต้ร่มเย็น" เป็นมาตรการที่รัฐบาลและกองทัพภาคที่ 4 ในยุคนั้น นำมาใช้สำหรับแก้ปัญหาความไม่สงบ และปราบปรามกลุ่มที่เป็นปฏิปักษ์กับอำนาจรัฐและเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของประเทศ ในนามผู้ก่อการร้ายกลุ่มต่างๆ ได้แก่ กลุ่มผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ขบวนการโจรก่อการร้ายแบ่งแยกดินแดน (ขจก.) โจรคอมมิวนิสต์มาลายา และกลุ่มโจรต่างๆ ในเขตพื้นที่ภาคใต้ ช่วงปี 2524 ถึง 2527
นโยบาย "ใต้ร่มเย็น" เป็นส่วนหนึ่งของ "นโยบาย 66/2523" (เรียกกันติดปากว่า 66/23) เรื่อง นโยบายการต่อสู่เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์ ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ "รุกทางการเมือง" โดยให้งานการทหารสนับสนุนและส่งเสริมให้บรรลุภารกิจงานการเมือง (พูดง่ายๆ คือให้เลิกการปราบปราม แต่เปลี่ยนมาใช้แนวทางสันติวิธี สร้างความเข้าใจ และเปิดช่องทางนิรโทษกรรมให้ผู้หลงผิด) จนกลายเป็น "จุดเปลี่ยนสำคัญ" ที่ทำให้ประเทศไทยเอาชนะภัยคุกคามจากคอมมิวนิสต์ได้อย่างเด็ดขาด
นโยบาย "ใต้ร่มเย็น" มีสาระสำคัญเป็นแนวทางการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่ ทั้งข้าราชการพลเรือน ตำรวจ ทหาร 4 เรื่อง คือ
1.สร้างความปลอดภัยให้เกิดแก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนทุกหมู่เหล่า โดนไม่คำนึงถึงเชื้อชาติและศาสนา ไม่ว่าพี่น้องไทยพุทธหรือมุสลิมจะต้องได้รับการคุ้มครองจากกำลังของรัฐบาลให้ปลอดภัยจากการคุกคามของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ขบวนการโจรก่อการร้าย โจรจีนคอมมิวนิสต์มาลายาและกลุ่มโจรต่างๆ
2.ทำพื้นที่ชายแดนไทย-มาเลเซียให้เป็นพื้นที่ปลอดภัย เพื่อสถาปนาและฟื้นฟูเศรษฐกิจของจังหวัดตามแนวชายแดนให้ดีขึ้น และยกระดับความสัมพันธ์อันดีต่อกันระหว่างไทย–มาเลเซียให้สูงขึ้น
3.กำจัดอำนาจเผด็จการ อิทธิพล และอำนาจมืดที่ครอบงำบรรยากาศอยู่ทั่วไปให้หมดสิ้น โดยสันติวิธี เพื่อให้ประชาชนทุกหมู่เหล่ามีสิทธิเสรีภาพ และความเสมอภาคในด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
4.สร้างความสัมพันธ์อันดีให้เกิดขึ้นระหว่างเจ้าหน้าที่ปกครองกับราษฎรผู้ถูกปกครอง และขจัดความแตกแยกระหว่างเจ้าหน้าที่กับราษฎรให้หมดสิ้นไป
การดำเนินการของกองทัพภาคที่ 4 ตามนโยบาย "ใต้ร่มเย็น" ทั้งทางการเมืองและการรุกทางการทหารตามแผนยุทธการต่างๆ สามารถปราบปรามยึดฐานที่มั่นของ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยสาขาภาคใต้ ขจัดอิทธิพลของโจรจีนคอมมิวนิสต์มลายาและกลุ่มโจรก่อการร้ายต่างๆ ในพื้นที่ภาคใต้ ส่งผลให้ผู้หลงผิดจำนวนมากเข้ามอบตัวในฐานะผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย
นี่คือผลงานและความสำเร็จของนโยบาย "ใต้ร่มเย็น" ภายใต้การผลักดัน ขับเคลื่อนของ "แม่ทัพหาญ" ทำให้ พล.อ.หาญ ซึ่งมีพื้นเพเป็นคนใต้ เกิดที่ จ.สตูล อยู่แล้ว มีความผูกพันอย่างแน่นแฟ้นในดินแดนด้ามขวาน แม้จะเกษียณอายุราชการ และว่างเว้นจากงานการเมืองที่เคยดำรงตำแหน่งถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไปแล้ว "แม่ทัพหาญ" ก็ยังคงติดตามปัญหาภาคใต้อยู่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะปัญหาความไม่สงบรอบใหม่ที่เกิดขึ้นหลังเหตุการณ์ปล้นปืนครั้งใหญ่เมื่อปี 2547
"แม่ทัพหาญ" เคยให้สัมภาษณ์ "ศูนย์ข่าวอิศรา" หลายครั้ง และยังอนุญาตให้เผยแพร่บทความที่ชื่อว่า "บทเรียนจากการรบ" รวมแล้วเกือบ 20 ตอน มีเนื้อหาสำคัญคือเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งงานการเมือง การรุกทางทหาร และงานยุทธวิธี ซึ่งบทความทุกชิ้นได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะผู้คนในกองทัพและในแวดวงการทหาร
จุดยืนสำคัญของ "แม่ทัพหาญ" และถือว่าเป็น "จุดยืนร่วมสมัย" ในสถานการณ์ความไม่สงบรอบใหม่หลังปี 2547 ก็คือการคัดค้านการจัดซื้อ "เรือเหาะ" หรือ "บอลลูนยักษ์ติดกล้อง" ซึ่งใช้งบประมาณถึง 350 ล้านบาท ในยุครัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่มีผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ชื่อ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา
และนี่คือบางช่วงบางตอนที่ "แม่ทัพหาญ" เขียนเกี่ยวกับเรือเหาะเอาไว้ในบทความ "บทเรียนจากการรบ" เมื่อเดือน เม.ย.ปี 2552
"ผู้เขียนคิดว่านักการทหารไทยคงไม่บ้าจี้หลงซื้อ 'เรือเหาะมาปราบโจรใต้' แน่นอน สถานการณ์ปัจจุบันกำลังฝ่ายเราหมายถึง กำลังพลเรือน อาสาสมัคร ตำรวจและทหาร มีมากกว่าโจรเป็น 10 เท่า ฝ่ายโจรมีกำลังทหารอาร์เคเคไม่เกิน 8,000 คน คิดดูก็แล้วกันว่าฝ่ายเรามีกำลังเท่าไร...
อย่าเอาภาษีของประชาชนมาถลุงกันให้มากกว่านี้เลย การซื้อเรือเหาะปราบโจรนี้ แสดงว่าทั้งผู้บังคับบัญชาระดับสูงของพลเรือน ตำรวจ ทหาร ฝ่ายเสนาธิการต่างๆ ไม่มีกึ๋นที่จะคิดแก้ทางโจร ไม่มียุทธศาสตร์ ยุทธวิธีที่เหนือโจรที่จะเอาชนะโจรได้ จึงอ้างว่าต้องมีเรือเหาะเพื่อค้นหาโจรในป่าเขา มดแมลงตัวเล็กๆ ที่พื้นดินก็ไม่พ้นจากการจับของกล้องที่ติดตั้งในเรือเหาะ...
กองทัพสหรัฐติดบ่วงสงครามในอัฟกานิสถานและอิรักเกือบ 10 ปีเศษ ทำให้ทหารอเมริกันเสียชีวิตกว่า 500 คน เครื่องมือหาข่าวเรือเหาะก็ไม่สามารถช่วยให้ดีขึ้นได้ ทั้งๆ ที่สภาพภูมิประเทศในอัฟกานิสถานและที่อิรักนั้น เป็นที่โล่งสลับกับภูเขาหัวโล้น ไม่มีต้นไม้ มีอะไรเคลื่อนไหวที่พื้นดิน กล้องเรือเหาะก็จะจับภาพได้ทันที แต่ก็มิได้ทำให้กองทัพสหรัฐพิชิตกองโจรอัฟกัน-จิฮัดได้สำเร็จ ซึ่ง นายบารัค โอบามา ประธานาธิบดีของสหรัฐ ได้ประกาศถอนกำลังกองทัพสหรัฐออกภายในปี 2552 ให้เสร็จสิ้น...
แต่ภูมิประเทศใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แตกต่างกับอัฟกานิสถานและอิรักโดยสิ้นเชิง เพราะโดยทั่วไปเป็นป่าเขา ส่วนตลอดแนวชายแดนไทย-มาเลเซียนั้น พูดได้ว่าเป็นป่าดงดิบเกือบ 1,000 กิโลเมตร....
ประการสำคัญคือ โจรก่อการร้ายหรือเรียกสั้นๆ ว่าโจรนั้นมิได้อยู่ในป่าตามที่คนทั่วไปเข้าใจกัน สงครามที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น โจรอยู่ในบ้าน ทุกหมู่บ้านมีหน่วยทหารของโจรที่เรียกว่าหน่วยอาร์เคเค ควบคุม 8-12 คนต่อ 1 หมู่บ้าน ไม่ทราบว่าเมื่อกล้องเรือเหาะถ่ายรูปชาวบ้านได้แล้วจะจำแนกออกมาได้หรือไม่ว่า ใครเป็นโจร หรือเป็นชาวบ้านธรรมดา ถ้าทำได้อย่างนี้ค่อยน่าคิดหน่อยในการพิจารณาจัดซื้อ..."
"แม่ทัพหาญ" ยังคงเขียนบทความชี้แนะแนวทางดับไฟใต้ และให้สติรุ่นน้องๆ ในกองทัพอีกหลายครั้ง ทั้งยังไปเยี่ยนกำลังพลที่ได้รับบาดเจ็บจากสถานการณ์ความไม่สงบและต้องรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า โดยช่วงที่ยังแข็งแรง "แม่ทัพหาญ" ลงพื้นที่ชายแดนใต้เพื่อพบปะลูกน้องเก่าๆ ตลอดจนเยี่ยมเยียนประชาชน และครอบครัวผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ความรุนแรงอย่างต่อเนื่องด้วย
แม้กระทั่งระยะหลังที่เริ่มมีอาการป่วยด้วยวัยที่ล่วงเลยถึงเลข 9 แต่ พล.อ.หาญ ก็ยังติดตามสถานการณ์และความเคลื่อนไหวจากปลายด้ามขวานอย่างใกล้ชิด
วันอาทิตย์ที่ 11 ก.พ.61 มีข่าวเศร้าของครอบครัว "ลีนานนท์" รวมไปถึงบุคคลที่เคารพรักอดีตแม่ทัพภาคที่ 4 คนนี้ เพราะ พล.อ.หาญ ถึงแก่อนิจกรรมอย่างสงบที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า สิริรวมอายุได้ 93 ปี
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ :
1 ภาพประกอบจากบทความ ชนะยังไง? พลิกตำรา 'บ้านล้อมป่า' ฉบับ 'แม่ทัพหาญ' ในเว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ
http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/792229
2 ข้อมูลนโยบายใต้ร่มเย็น และคำสั่ง 66/23 จากเว็บไซต์สถาบันพระปกเกล้า
http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=%E0%B8%99%E0%B9%82%E0%B8%A2%E0%B8%9A%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B9%83%E0%B8%95%E0%B9%89%E0%B8%A3%E0%B9%88%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%A2%E0%B9%87%E0%B8%99
อ่านประกอบ :
บทเรียนจากการรบ (16):หยุดนักฆ่าบนถนน