โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ความท้าทายในการประเมินผลกระทบทางสังคม
รัฐบาลที่บอกว่าต้องมั่นคงมั่งคั่งและยั่งยืนถ้าหากเราจะมองให้โยงกับเรื่องที่เกิดที่เทพา รัฐจะคิดแต่ด้านความมั่นคงทางพลังงานแต่ไม่คิดถึงความมั่นคงทางชุมชนถ้ามุ่งไปนั้นไม่มีทางยั่งยืนเด็ดขาดต้องพิจารณาควบคู่กัน
เป็นเวลาเกือบครึ่งเดือนแล้วที่ชาวบ้านจากอ.เทพา จ.สงขลา ในนามเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าในพื้นที่ เดินทางขึ้นมาปักหลักหน้าทำเนียบรัฐบาล ด้วยกระบวนการอหิสาเรียกร้องให้มีการยกเลิกโครงการนี้ไป
และแม้ว่าในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมานี้จะมีความเคลื่อนไหวจากฟากคณะรัฐมนตรี อย่างกรณีคำสั่งชะลอโครงการออกไป 3 ปี แต่ชาวบ้านยืนยันว่า คำสั่งชะลอไม่ได้หมายความว่าจะไม่เกิดขึ้น ดังนั้น แค่เพียงชะลอจึงไร้ความหมายใดๆ หากเพราะกระบวนการการได้มาซึ่งรายงานประเมินผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม หรือ EHIA ขาดความเป็นธรรม ข้อมูลเท็จ อันเป็นพื้นฐานที่สะท้อนการขาดการมีส่วนร่วมในขั้นตอนการดำเนินงานตั้งแต่ต้น (อ่านประกอบ ความไม่ชอบมาพากล 5 ประการ ในรายงาน EHIA โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ที่ชาวบ้านต้องการสื่อสาร )
ในงานเสวนา “การบังคับโยกย้ายถิ่นฐานจากโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา : โจทย์ที่ถูกลืมและความท้าทายในการประเมินผลกระทบทางสังคม” เมื่อวันที่ 8 ก.พ.ที่ผ่านมา จัดโดยสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้หยิบยกเอาเรื่องนี้ขึ้นมาวิพากษ์อีกครั้ง
เสียงสะท้อนจากคนในเทพา
ซานูซี สาและ ตัวแทนกลุ่มเยาวชนเทพาซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับผลกระทบ เล่าว่า ไม่ปฏิเสธเรื่องการพัฒนาแต่ไม่เข้าใจกับการพัฒนาในแต่ละครั้ง การพัฒนาต้องดูสิ่งแวดล้อม ต้องเอาความรู้สึก เอาภูมิปัญญาของชาวบ้านมาผนวกกับการพัฒนาพื้นที่ ดูว่าเขามีสภาพการใช้ชีวิต ศาสนา วัฒนธรรมอย่างไร แต่ในกระบวนการรับฟังความเห็นที่ทำกลับไม่มีการถามความเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างแท้จริง
“ชาวบ้านไม่เคยได้รับทราบว่า มีโครงการ จนมีการทำค. 1 ชาวบ้านยังไม่รู้ข้อเท็จจริง มีการแจกข้าวสาร ร่ม สิ่งอุปโภคบริโภคต่างๆ จนเวทีค. 2 ก็ยังไม่รู้ว่าจัดที่ไหน เราเป็นคนในพื้นที่แต่ไม่มีการระบุให้ทราบเลยว่าเราต้องแสดงความคิดเห็นอย่างไร จนถึงเวทีค. 3 ก็ไม่รู้ว่าจัดที่ไหนอีก”
ซานูซีสะท้อนความจริงจากพื้นที่ พร้อมระบุอีกว่า ในที่สุดชาวบ้านเพิ่งจะได้รู้รายละเอียดจริงๆ เมื่อเป็นรายงานแล้วว่าจะมีโครงการขนาดใหญ่ลงมาที่นี่ พี่น้องเกิดความไม่เข้าใจ บางคนคัดค้าน บางคนก็ไม่แสดงความคิดเห็นเพราะไม่รู้ว่าคืออะไร รู้แต่ว่าเป็นโครงการแต่ไม่รู้รายละเอียด มีผลดีผลเสียอย่างไร
ซานูซี ได้พูดถึงประเด็นรายงานของ EHIA ว่าชาวบ้านในพื้นที่ได้อ่านรายงานและจับผิดได้หลายอย่าง เช่น การระบุว่าในทะเลมีปลากระดี่ ปลาหมอสี ทั้งที่ปลาทั้งสองชนิดเป็นปลาน้ำจืด ไม่สามารถอยู่ในทะเลได้ การไม่ระบุทรัพยากรดั้งเดิม การระบุว่ามีการทำประมงไม่กี่ลำทั้งที่ความจริงมีจำนวนมาก
ขณะที่ อามีน สะมะแอ หนึ่งผู้ได้รับผลกระทบและเป็น 1 ใน 17 ผู้ต้องหาที่ถูกจับที่สงขลาจากการสลายการชุมนุมจากกิจกรรมเดินเท้ายื่นหนังสือให้นายกรัฐมนตรี
อามีน อธิบายความรู้สึกว่า เขาไม่พอใจที่โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพามาทับชุมชน เพราะในชุมชนมีครบทุกอย่างและอยู่กันอย่างสงบ ไม่ควรมีการโยกย้ายเพราะเกิดที่นี่ก็ต้องตายที่นี่
"บ้านของเขามีค่ากว่าโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งประเมินค่าไม่ได้"อามีนตอกย้ำ
เทพาคือม้ามืด
เขมวไล ธีรสุวรรณจักร นักวิจัยจากสถาบันพัฒนาระบบประเมินผลกระทบชุมชน ได้นำเสนอประเด็นการเลือกพื้นทื่ (Site Selection) จากรายงานค. 3 การพิจารณาเลือกที่ตั้งโครงการมีหลักเกณฑ์สำคัญ 3 ข้อ คือ ด้านวิศวกรรม ด้านสิ่งแวดล้อม และด้านสังคมและชุมชน เมื่อพิจารณาจากหลักเกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อมพบว่า พื้นที่ชายฝั่งอ่าวไทยมีศักยภาพในการพัฒนาโครงการได้หลายพื้นที่ เช่น อำเภอละแม จังหวัดชุมพร อำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี อำเภอขนอม อำเภอท่าศาลา อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช อำเภอปานาเระ จังหวัดปัตตานี ซึ่งยังไม่มีอำเภอเทพา
แต่เมื่อพิจารณาด้านสังคมและชุมชน กลับมีอำเภอเทพา จังหวัดสงขลา เป็นหนึ่งในรายชื่อพื้นที่เหมาะสม
เธอตั้งข้อสังเกตต่อการเลือกพื้นที่อำเภอเทพาเป็นพื้นที่สร้างโรงไฟฟ้าจากรายงาน EHIA ฉบับนำเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ว่า ประเด็นการพิจารณาการใช้พื้นที่ในรายงานฉบับนี้ตีความแคบเกินไปว่าพื้นที่ปลูกอะไร ไม่พูดถึงจำนวนผลกระทบว่า มีทั้งหมดกี่ครัวเรือนและกระทบพื้นที่ในทะเลอย่างไร
มุมมองของ EHIA สวนทางกับมุมมองจากชุมชน
มุมมองของนักวิชาการในเรื่องของรายงาน EHIA ดร.มนทกานต์ ฉิมมามี นักวิจัยจากสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า ยังมีจุดอ่อน จากการทำงานร่วมกับชาวบ้านอำเภอเทพาโดยการลงไปเก็บข้อมูลในพื้นที่ มีบางหัวข้อที่รายงาน EHIA ของรัฐไม่ตรงกับมุมมองชุมชนอย่างชัดเจน ดังนี้
1) การเปลี่ยนแปลงต่อการปกครองส่วนท้องถิ่น ในรายงาน EHIA มองในเชิงบวกมากที่สุด โดยระบุว่า การเข้ามาของโรงไฟฟ้าเกิดรายได้เข้าท้องถิ่นจำนวนมาก
แต่ในชุมชนมองว่าท้องถิ่นจะมีภาระเพิ่มขึ้นในการซ่อมแซมสาธารณูปโภคจากการคมนาคม ระบบประปา ไฟฟ้า การจัดการขยะ
2) ความหลากหลายของอุตสาหกรรม ในรายงาน EHIA พูดถึงการเข้ามาของโรงไฟฟ้าว่าสนับสนุนรายได้การจ้างงาน อุตสาหกรรม การบริการต่างๆ โดยได้รับผลประโยชน์ด้านบวก
แต่ชุมชนแย้งว่า ไม่มีการประเมินมูลค่าทางเศรษฐกิจเพื่อให้เห็นมูลค่าของอุตสาหกรรมต่างๆ อีกทั้งความหลากหลายทางการเกษตรดีกว่าอุตสาหกรรม
3) ความยุติธรรมในการจ้างงาน รายงาน EHIA ประเมินในทิศทางบวกว่ามาตรฐานค่าแรงขั้นต่ำต้องเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด
แต่ชุมชนมองว่า ค่าแรงขั้นต่ำยังน้อยกว่ารายได้ที่หาได้ในแต่ละวัน
“การย้ายถิ่นเป็นการปรับตัวเพื่อไปแสวงหาชีวิตที่ดีก็จริง แต่เราต้องมองว่าจริงๆ การย้ายถิ่นฐานมีต้นทุน มีความเสี่ยงอยู่ การย้ายถิ่นไม่ใช่สิ่งที่ดีเสมอไป” ดร.มนทกานต์ ระบุให้เห็นข้อมูลที่แตกต่าง
เราต้องพัฒนาไปข้างหน้าโดยไม่ทอดทิ้งใครไว้เบื้องหลัง
ศาสตราจารย์ สุริชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาฯมองกรณีของโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพากับการพัฒนาที่ยั่งยืนว่า หากดูคำขวัญของรัฐบาลที่บอกว่า ต้องมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน ถ้าหากเราจะมองให้โยงกับเรื่องที่เกิดที่เทพา รัฐจะคิดแต่ด้านความมั่นคงทางพลังงาน แต่ไม่คิดถึงความมั่นคงทางชุมชน ถ้ามุ่งไปนั้นไม่มีทางยั่งยืนเด็ดขาด ต้องพิจารณาควบคู่กัน คำขวัญที่เป็นหัวใจของการพัฒนาที่ยั่งยืนคือเราต้องพัฒนาไปข้างหน้าโดยไม่ทอดทิ้งใครไว้เบื้องหลัง
รศ.ดร.ฉันทนา บรรพศิริโชติ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯ เห็นว่า การพูดคุยในครั้งนี้เหมือนกับ 20 ปีที่แล้ว คือการพูดคุยเพียงอย่างเดียว แต่ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไร ซึ่งยอมรับว่าไม่ได้มีการผลักดัน ไม่ได้รุกเรื่องกรอบความชัดเจน
“ส่วนแนวการพัฒนาที่จะไม่ทอดทิ้งกัน ฟังแล้วเหมือนจะสร้างกลุ่มที่ถูกทอดทิ้งซึ่งสวนทางกับความตั้งใจของรัฐบาลและนโยบายยุทธศาสตร์ 20 ปี ซึ่งมีความสมเหตุสมผลที่ต้องนำเสนอช่องว่างเหล่านี้ไปให้คนที่กำลังจะตัดสินใจคิดดูอีกที”