สช.เชืออีก 20 ปีเอกชนพลิกสถานการณ์การศึกษาไทย คาดแบ่งจัดการกับรัฐ50:50
สช. ตั้งเป้า ศตวรรษที่ 2 จัดการศึกษาเพื่ออนาคต เชื่อมั่นการศึกษาเอกชน พลิกสถานการณ์สร้างคุณภาพการศึกษาพัฒนาเด็กไทยใน 4 ประเด็น คาด 20 ปี จากนี้รัฐ- เอกชน จัดการศึกษา 50:50
เมื่อวันที่ 9 ก.พ.2561 ที่โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทาราศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ ถนนแจ้งวัฒนะสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) จัดงาน "มหกรรมวันการศึกษาเอกชน ประจำปี พ.ศ. 2561" ภายใต้แนวคิด “100 ปี การศึกษาเอกชน มุ่งมั่นพัฒนาการศึกษาไทย” โดยได้รับเกียรติจากศาสตราจารย์คลินิก นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธานเปิดงาน โดยมีผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ ผู้บริหารโรงเรียนเอกชน ครู นักเรียน นักศึกษาหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาเอกชนเข้าร่วมกว่า 5,000 คน
ศาสตราจารย์คลินิก นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า การจัดงาน "มหกรรมวันการศึกษาเอกชน ประจำปี พ.ศ. 2561"ภายใต้แนวคิด"100 ปี การศึกษาเอกชน มุ่งมั่นพัฒนาการศึกษาไทย" ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์สำคัญ ประการแรกเพื่อถวายราชสดุดีและเฉลิมพระเกียรติแด่ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณบดินทรเทพยวรางกูร "กราบเบื้องพระยุคลบาท เถลิงราชย์ รัชกาลที่ 10" ประการที่สองเพื่อเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ผลงานของครู นักเรียน นักศึกษาโรงเรียนเอกชน ตลอดจนผลการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาเอกชน เพื่อให้ผู้บริหาร ครูโรงเรียนเอกชนได้มีโอกาสพบปะ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ผ่านการประชุมสัมมนา เชิงวิชาการในหัวข้อประเด็นที่สำคัญต่างๆ และเปิดโอกาสให้โรงเรียนเอกชน ผู้บริหาร ครู นักเรียน นักศึกษา ได้ร่วมจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อนำการพัฒนาคุณภาพ การศึกษาเอกชนและประสานพลังเครือข่ายร่วมกันขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาเอกชนตามนโยบายรัฐบาล
“การก้าวสู่การจัดการศึกษาเอกชนในศตวรรษที่ 2 ขอให้มุ่งมั่นพัฒนาการศึกษาเพื่อเด็กไทยให้เป็นพลเมืองที่ดีของประเทศ เดินหน้าขับเคลื่อนโดยยึดยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่ต้องสนับสนุนการจัดการศึกษาแก่เด็กตั้งแต่อายุ 3 ปีขึ้นไป ตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยเฉพาะการจัดทำหลักสูตรการศึกษาปฐมวัยในโรงเรียนเอกชน ซึ่งต้องบูรณาการจัดการศึกษาปฐมวัยร่วมกันระหว่างรัฐ อปท.และเอกชนในพื้นที่ โดยใช้กลไกของ กศจ. ทั้งนี้ การจัดการศึกษาเอกชน ถือว่ามีจุดแข็งในเรื่องการบริหารจัดการ ความคล่องตัว การก้าวทันด้านเทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว สามารถปรับหลักสูตรใช้สื่อการสอนกระตุ้นผู้เรียนเพื่อสร้างแรงจูงใจในการเรียนรู้ทำให้เด็ก ครู ผู้ปกครองมีความสุข ดังนั้น เชื่อมั่นได้ว่าเอกชนจะเป็นพลังสำคัญในการช่วยรัฐจัดการศึกษาที่จะสามารถผลิตคนให้ทันกับความต้องการของประเทศได้” รมช.ศธ. กล่าว
นายพะโยม ชิณวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (เลขาธิการ กช.) กล่าวว่า ภาพความทรงจำเมื่อย้อนกลับไปในอดีต 100 ปีที่ผ่านมา ความภาคภูมิใจในการศึกษาเอกชนคือการศึกษาที่นำร่องของประเทศ เพราะโรงเรียนแห่งแรกของประเทศไทยคือโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ดังนั้น จะเห็นได้ว่าโรงเรียนเอกชนนำหน้าในการจัดการศึกษาของประเทศมาโดยตลอด ทั้งการจัดการศึกษาในระดับที่สูงขึ้น การสอนภาษาอังกฤษ การสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้ใหม่ๆ ที่เกิดการคิดค้นตลอดเวลา ดังนั้น อย่ามองว่าเอกชนจัดการศึกษาเพื่อธุรกิจ แต่โรงเรียนเอกชนทั้งหมดจัดการศึกษาเพื่อการศึกษา ซึ่งทำหน้าที่ในการช่วยแบ่งเบาภาระของรัฐบาลในการจัดการศึกษา ทั้งการศึกษาที่เป็นเรื่องของเด็กพิการ ด้อยโอกาสในพื้นที่ห่างไกล โรงเรียนสอนศาสนาในชายแดนภาคใต้ ฉะนั้น การศึกษาเอกชนทำงานแทรกอยู่ทุกมิติในการจัดการศึกษาของประเทศ
เลขาธิการ กช. กล่าวต่อว่า ปัจจุบัน การศึกษาเอกชนต้องปรับตัวมากขึ้น เนื่องจากรูปแบบการเรียนรู้ของเด็กเปลี่ยนไป จึงมีประเด็นที่ต้องเร่งดำเนินการ ได้แก่ 1) การพัฒนาการเรียนรู้ของเด็ก ให้มีองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการสร้างนวัตกรรมที่เด็กสามารถเรียนรู้จากทั่วโลกได้ในห้องเรียน ซึ่งเชื่อว่าโรงเรียนเอกชนจะเป็นเป็นผู้นำในการขยายผลโลกอนาคต ของการศึกษา เพราะขณะนี้ มีโรงเรียนในระบบและนอกระบบที่จะมาเสริมกัน เช่น เสริมทักษะ เสริมวิชาการ โดยมีครูเก่งๆ จำนวนมาก ซึ่งรัฐบาลก็สนับสนุน เช่น ติวฟรีดอทคอม โดยต้องยอมรับว่านี่คือโลกใหม่ของการจัดการศึกษา 2) เพิ่มความรู้ทักษะอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่เพียงทักษะทางวิชาการ แต่ต้องมีทักษะในการใช้ชีวิตทักษะทางอาชีพ ซึ่งครูต้องแนะนำให้เด็กเพื่อปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง 3) การสอนให้เด็กมีคุณธรรม จริยธรรม ทำให้รู้ถึงวิถีความเป็นไทย โดยน้อมรับแนวคิดของ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงแนะ องค์ 4 คือ พุทธศึกษา จริยศึกษา หัตถศึกษา และพลศึกษา นำมาใช้ในการจัดการศึกษาช่วยให้ผู้เรียนมีทักษะการเรียนเก่งมากขึ้น 4) พลานามัย การใส่ใจต่อสุขภาพของเด็ก ซึ่งพบว่าเด็กมีภาวะโภชนาการเกินในระดับประถมศึกษา 19% มัธยมศึกษาสูงถึง 36% และยังพบว่ามีไขมันในเลือดสูงถึง 60% ฉะนั้น โลกอนาคตไม่ใช่เพียงเก่งวิชาการ มีคุณธรรม จริยธรรม แต่ต้องสุขภาพดีด้วย
“การจัดการศึกษาเอกชนในอนาคตอีก 20 ปีข้างหน้า รัฐและเอกชนจะร่วมกันจัดการศึกษา 50:50 เพราะขณะนี้ รัฐจัดการศึกษาเองถึง 78 % ดังนั้น สิ่งที่จะทำให้เป็นไปได้ คือ 1) นโยบายโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการประกาศชัดเจนว่าต้องให้เอกชนเข้ามาช่วยจัดการศึกษา 2) การขับเคลื่อนในรูปแบบของภาคเอกชนเอง โดยเครือข่าย สมาคมต้องวางแผนร่วมกันไม่ใช่ต่างคนต่างเดินหน้าแข่งขันกันเอง 3) การจัดการเชิงพื้นที่ในแต่ละจังหวัดให้มากยิ่งขึ้น เพราะมีคณะกรรมการ ปสกช.รวมถึง ศธจ.ทุกจังหวัด ซึ่งการบริหารจัดการเชิงพื้นที่สำคัญมากเพื่อให้เป็นไปตามแผนและเป้าหมาย ดังนั้น ความร่วมมือของภาคเอกชนอย่ามองว่าเป็นคู่แข่งกันแต่ต้องช่วยกันยกระดับให้มีคุณภาพและไปสร้างเครือข่ายกับภาครัฐ หน่วยงานในพื้นที่ให้ได้ จึงจะบรรลุเป้าหมายความสำเร็จ” เลขาธิการ กช. กล่าว
เลขาธิการ กช. กล่าวด้วยว่า อยากให้ประชาชนทั่วไปมองการจัดการศึกษาเอกชนไม่ใช่เชิงธุรกิจ ขอให้ไว้วางใจว่าเอกชนจะพลิกสถานการณ์เพื่อสร้างคุณภาพทางการศึกษาของประเทศ และอยากให้ภาคเอกชนที่มีกำลังไม่มากพอ ขอให้รัฐ ช่วยสนับสนุนการจัดการศึกษามากขึ้น เพียงครึ่งหนึ่งหรือสามในสี่ที่รัฐสนับสนุนเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น พร้อมกันนี้ เพื่อขวัญกำลังใจของครูโรงเรียนเอกชน ไม่อยากเห็น พ.ร.บ.ที่ระบุว่า “พ.ร.บ.ข้าราชการครู” อยากให้เป็น พ.ร.บ.ครู ซึ่งดูแลครูทั้งหมดจึงอยากจะผลักดัน โดยได้หารือกับ ก.ค.ศ. ว่าควรมี พ.ร.บ.ที่ดูแลครูเอกชน จะจัดเป็นหมวดก็ได้ว่าเป็นข้าราชหรือเอกชน และควรยกสวัสดิการ หรือรายได้ให้มากกว่านี้ เช่น ประเทศจีน ครูไม่ได้เป็นข้าราชการ แต่มีความภาคภูมิใจในความเป็นครู จึงไม่ควรแยกว่าเป็นข้าราชการครู และลูกจ้างของเอกชน