เสียงจากเด็ก ครู แม่บ้าน...ชะตากรรมหลังระเบิดข้างโรงเรียน
"ตอนนั้นกำลังขายของอยู่หน้าประตูโรงเรียน ได้ยินเสียงระเบิดก็ตกใจ ขาสั่นกลัวไปหมด ใจหนึ่งก็นึกถึงลูก นึกถึงเด็กๆ ที่วิ่งอยู่ข้างบนอาคารเรียน ก็รีบวิ่งไปดู พอเราไปถึง เด็กๆ ก็เห็นเรา เขาก็รีบวิ่งมาหาเรา มากอด ร้องไห้ ที่กรีดร้องก็มี หลายคนกอดกันเอง เด็กเขากลัวมาก เราผู้ใหญ่ยังตกใจ ยิ่งเด็กเล็กยิ่งน่าสงสาร ขออย่าให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้เลย"
นี่คือคำบอกเล่าจาก นูรียะ สะนิ แม่ครัวของโรงเรียนบ้านซีเยาะ อ.ยะหา จ.ยะลา หลังเกิดเหตุระเบิดใกล้ๆ โรงเรียน เมื่อเช้าตรู่ก่อนเคารพธงชาติของวันอังคารที่ 6 ก.พ.61
เสียงระเบิดที่ดังขึ้นทำให้ นูรียะ ซึ่งมีลูกเรียนหนังสืออยู่ในโรงเรียนนี้ด้วย วิ่งขึ้นไปหาลูกที่ห้องเรียน แล้วก็พบว่าเด็กคนอื่นๆ อยู่ในอาการตกใจสุดขีด เมื่อเห็นเธอซึ่งเป็นผู้ใหญ่คนเดียวในตอนนั้น ก็วิ่งเข้ามากอดและร้องไห้
คำบอกเล่าของเด็กๆ ก็สะท้อนความรู้สึกไม่ต่างอะไรกับผู้ใหญ่อย่างนูรียะ
ด.ญ.นุชนา คาร์เด วัย 12 ปี นักเรียนชั้น ป.6 บอกว่า ตอนเกิดเหตุกำลังกวาดขยะอยู่กับเพื่อนที่สนามเด็กเล่น พอได้ยินเสียงระเบิด ทุกคนก็วิ่ง เราก็วิ่งขึ้นไปบนห้อง แล้วก็ร้องไห้ด้วย ทุกคนร้องไห้กันหมด บางคนก็กรี๊ด กอดกันวุ่นวาย
แม้เด็กๆ จะไม่ได้รับอันตรายจากเหตุระเบิด แต่ก็ตกใจกลัวอย่างมาก และมีเด็กผู้หญิง 2 คนที่มีอาการช็อคจนสลบไป ทางโรงเรียนต้องพาส่งโรงพยาบาล เด็กสองคนนี้กำลังกวาดขยะอยู่กับนุชนาตอนที่เสียงระเบิดดัง
"สงสารเพื่อนที่หายใจไม่ออก หนูก็กลัวเหมือนกัน แต่ไม่เท่ากับเพื่อน อยากให้เพื่อนหายเร็วๆ ไม่อยากให้มีเหตุแบบนี้อีก ไม่คิดเลยว่าเหตุการณ์จะมาเกิดใกล้กับตัวเองที่ผ่านมาได้ยินว่ามีเหตุการณ์เกิดขึ้น แต่ก็ไม่ได้คิดว่าจะมาเกิดกับตัวเองใกล้ๆ แบบนี้ อยากรู้ว่าเขาทำแบบนี้ทำไม สงสารพวกเราด้วย ครูก็ตกใจ เด็กๆ ก็ตกใจ ไม่อยากให้เกิดขึ้นอีก อย่าทำใกล้โรงเรียนอีก" นุชนา พรั่งพรูเหมือนระบายความอัดอั้น
ขณะที่ ด.ช.สุกรอน ตะโละสะโต นักเรียนชั้น ป.3 เล่าคล้ายๆ กันช่วงนาทีที่เสียงระเบิดดัง
"พอได้ยินเสียงตูม รู้เลยว่ามีระเบิด ครูเป็นลม เพื่อนผู้หญิงหายใจไม่ออก พวกเขากลัว ร้องกรี๊ดๆ เสียงดัง ผมและเพื่อนผู้ชายรีบไปช่วยดู ครูตะโกนบอกให้เข้าห้องเรียน อยากให้เจ้าหน้าที่จับคนก่อเหตุไปเข้าคุก เขาเป็นคนไม่ดี กลัวว่าจะมาขโมยรถจักรยายนต์ของเราไปวางระเบิดด้วย ไม่อยากให้เกิดอีก ขออย่ามาทำที่นี่อีกนะ"
คอรีเยาะ หะหลี แกนนำครอบครัวผู้สูญเสียจากเหตุการณ์กรือเซะ เดินทางไปเยี่ยมเด็กที่โรงพยาบาล พร้อมกับเรียกร้องให้ทุกฝ่ายหยุดก่อเหตุรุนแรงใกล้สถานศึกษา เพราะส่งผลกระทบกับทั้งร่างกายและสภาพจิตใจของเด็กๆ
ส่วนบรรยากาศหลังเกิดเหตุ วิสุทธิ์ ชูมัง ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ประถมศึกษาเขต 2 ยะลา ได้เดินทางไปที่โรงเรียนบ้านซีเยาะ พร้อมเรียก อาซิ เพ็ญรดา ผู้อำนวยการโรงเรียน และครูทั้งหมดเข้าประชุมร่วมกับเจ้าหน้าที่ทหารจากหน่วยเฉพาะกิจยะลา เพื่อวางมาตรการรักษาความปลอดภัยใหม่ เบื้องต้นได้ติดต่อให้ผู้ปกครองรับเด็กกลับบ้านไปทั้งหมด
อาซิ ผู้อำนวยการโรงเรียน บอกว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบด้านจิตใจทั้งกับครูและเด็กๆ ครูทุกคนรู้สึกท้อแท้ หมดกำลังใจ ซึ่งก็ได้ปลุกขวัญกำลังใจ พร้อมวางมาตรการรักษาความปลอดภัยใหม่ เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้กับทุกคนในโรงเรียน
ความรู้สึกของครู แจ่มชัดอย่างยิ่งเมื่อได้ฟังจากปากของพวกเธอเอง
"ไม่มีกำลังใจจะสอนเลยตอนนี้ ยังกลัวกับสิ่งที่เกิดขึ้นไม่หายเลย อยากให้โรงเรียนปิดก่อนสัก 2-3 วัน ใจหนึ่งก็รู้สึกเป็นห่วงเด็ก ถ้าโรงเรียนปิด เด็กจะเรียนไม่ทัน แต่รู้สึกไม่ไหวจริง ครูยังตกใจขนาดนี้ เด็กต้องตกใจยิ่งกว่า วันนี้พวกเขาร้องไห้ ครูก็ร้องไห้ เหมือนจะเป็นลม เราไม่ไหวแล้ว แต่เราต้องพยุงตัวเองให้ได้ เพราะเด็กกำลังแย่ พอทุกอย่างผ่านไป สิ่งที่เหลือคือความกลัว คิดว่าไม่กล้ากลับทางที่เกิดเหตุระเบิดแล้ว ยังกลัว ตอนนี้ตัวสั่นไปหมด" เป็นเสียงของ พาตีเมาะ อีแต ครูชั้น ป.4 ของโรงเรียน
แต่ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ประถมศึกษาเขต 2 ยะลา ยืนยันว่า หลังเข้าให้กำลังใจและวางมาตรการรักษาความปลอดภัยใหม่ร่วมกับฝ่ายทหาร ทำให้ครูทุกคนมีกำลังใจที่ดีขึ้น และพร้อมที่จะทำการเรียนการสอนอย่างเต็มที่ต่อไป
สำหรับมาตรการรักษาความปลอดภัยที่มีการปรับแผนเพิ่มเติม พ.ต.ท.นรวีร์ พุ่มเจริญ รองผู้กำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 32 (รองผกก.ตชด.32) อธิบายว่า เป็นการขอความร่วมมือจากทุกฝ่ายในพื้นที่เพื่อลดความหวาดระแวง ร่วมคิดร่วมทำเพื่อสร้างความสามัคคี ให้ผู้ใหญ่บ้านไปจัด "คุ้ม" โดยคุ้มหนึ่งมี 10 หลังคาเรือน แล้วมอบหมายผู้รับผิดชอบ เป็นผู้นำธรรมชาติที่เลือกกันมาเอง
"ใน 10 หลังคาเรือนนี้ จะรู้กันหมดว่าใครติดยา ใครคิดไม่ดี รวมทั้งมีคนแปลกหน้าเข้ามา เมื่อมีอะไรผิดปกติ ให้ผู้รับผิดชอบคุ้มมารายงานผู้ใหญ่บ้าน ชรบ. อรบ. หรือเจ้าหน้าที่ทหารตำรวจ และสุดท้ายเวลาเดินทาง ต้องให้เด็กนักเรียนมามีส่วนร่วม เพราะคนร้ายจะไม่ทำร้ายเด็ก ให้จัดเด็กชั้น ป.6 คนหนึ่งรับผิดชอบเด็ก 10 คน หรือ 12 คน เวลามาโรงเรียนให้มาเป็นทีม เวลาเขาเดินมา เห็นสิ่งแปลกปลอมต่างๆ เขาก็จะไปบอกครูหรือพ่อแม่ของเขา มันจะได้ผล ผมเคยใช้วิธีนี้แก้ปัญหาความรุนแรงมาแล้วหลายพื้นที่" พ.ต.ท.นรวีร์ กล่าว
ด้าน พ.อ.กิตติ์พิพัฒน์ บุณยฤทธิ์ รองผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจยะลา กล่าวว่า จากการตรวจสอบที่เกิดเหตุ มีจุดบังคับเข้า-ออกพื้นที่ 2 ทาง และมีไม่กี่จุดที่คิดว่าน่าจะเกิดเหตุได้ ส่วนจุดเกิดเหตุล่าสุดไม่น่าเป็นจุดที่จูงใจคนร้ายได้ นอกจากเรื่องส่วนตัว ขณะนี้คิดว่าน่าจะเป็นเรื่องส่วนตัวมากกว่า ไม่น่าจะเป็นการสร้างสถานการณ์ในภาพรวม แต่มาตรการรักษาความปลอดภัย ถึงอย่างไรก็ต้องปรับ
"หลังจากนี้ต้องใช้มาตรการใหม่ ผบ.ร้อย (หมายถึงผู้บังคับกองร้อยที่เป็นหน่วยทหารในพื้นที่) ต้องเคาะประตูทุกบ้านที่อยู่บริเวณโรงเรียน เพื่อสร้างความเข้าใจ ผู้ใหญ่บ้านก็ต้องให้ ชรบ.มาเดินลาดตระเวนตอนเช้าๆ ส่วนทางโรงเรียนก็ต้องทำความเข้าใจกับครู กับพ่อแม่ของเด็กด้วย คิดว่ามี 100 ตาดีกว่ามี 2 ตา ทุกคนต้องมาช่วยกันสอดส่อง ครูและบุคลากรทางการศึกษาก็ต้องทำการตกลงกันในการเดินทางมาโรงเรียน ปัญหานี้ถือว่าเป็นปัญหาทุกโรงเรียน" พ.อ.กิตติ์พิพัฒน์ ระบุ
นี่คือชะตากรรมของเด็กๆ และครูในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นผลกระทบจากความรุนแรงที่แม้ครูและนักเรียนจะไม่ใช่เป้าหมายโดยตรงของคนร้าย แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบใกล้ๆ โรงเรียน ผลกระทบก็เกิดขึ้นอย่างลึกซึ้งกับครู รวมทั้งนักเรียนที่เป็นเพียงเด็กประถมเท่านั้น ทั้งๆ ที่หลายฝ่ายเรียกร้องมานานแล้วว่า โรงเรียนและสถานที่สาธารณะทั้งหมด เช่น ตลาด วัด มัสยิด ควรเป็น "พื้นที่ปลอดภัย 100%"
แต่ดูเหมือนพวกที่นิยมใช้ความรุนแรงยังไม่ได้ยินเสียงความต้องการของประชาชน!
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ : บึ้มยะหา! อส.ชุด รปภ.โรงเรียนสาหัส เด็กตกใจช็อคหมดสติ