ปธ.กสม.ชี้ ล้อการเมืองบอลประเพณี ไม่ใช่เคลื่อนไหวทางการเมือง
ประธาน กสม. มองขบวนล้อการเมือง บอลประเพณี ไม่ใช่การเคลื่อนไหวทางการเมือง ส่วนผลสอบกรณีนักศึกษาถูกขัดขวางไม่ให้เดินทางไปอุทยานราชภักดิ์ ทำได้
สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) – 2 ก.พ. 2561 นายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงผลการพิจารณาด้านการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน กรณีนักศึกษา 3 ราย ร้องว่าตำรวจ ทหาร และการรถไฟแห่งประเทศไทย ขัดขวางไม่ให้เดินทางไปอุทานราชภักดิ์ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ และควบคุมตัวโดยไม่มีความผิด โดยสืบเนื่องจากกลุ่มนักศึกษาได้จัดกิจกรรมนั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์ ส่องแสงหาโกง โดยนั่งรถไฟจากสถานีธนบุรีเมื่อขบวนรถไฟมาถึงสถานีบ้านโป่ง จ.ราชบุรี ได้ถูกสกัดขบวนรถไฟ ตัดตู้โดยสารและปล่อยขบวนรถไฟที่เหลือให้เดินทางต่อไป พร้อมควบคุมตัวนักศึกษาส่งไปยังกองบัญชาการควบคุม กองพลทหารราบที่ 9 จ.นครปฐม ก่อนจะปล่อยตัวไป
โดย กสม.เห็นว่า ประเด็นการจำกัดเสรีภาพในการเดินทาง เป็นผลมาจากการประเมินว่ามีกลุ่มผู้ชุมนุมที่มีความเห็นต่างจากกลุ่มนักศึกษาชุมนุมอยู่ที่อุทยานราชภักดิ์ หากปล่อยให้นักศึกษากับพวกเดินทางไปอาจเกิดความวุ่นวายและการปะทะกันได้
นอกจากนี้ยังมีการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยความมั่นคงแห่งรัฐ การจำกัดเสรีภาพดังกล่าวจึงอยู่ในเงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญให้กระทำได้
นายวัส กล่าวอีกว่า ส่วนประเด็นการนำตัวนักศึกษาไปยังกองบัญชาการควบคุม จ.นครปฐม แล้วมีการแจ้งความดำเนินคดีในภายหลังนั้น กสม.ได้ทำหนังสือสอบถามไปยังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ถึง 2 ครั้ง แต่ไม่ได้รับคำชี้แจงข้อเท็จจริงหรือแจ้งข้อขัดข้อง กสม.จึงไม่อาจพิจารณาได้ว่ามีการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ จึงได้เสนอแนะแนวทางไปยังกระทรวงกลาโหมและคสช. 2 ประเด็น
1.คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 เรื่องการรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ ลงวัที่ 1 เม.ย. 2558 โดยการใช้อำนาจของเจ้าพนักงานตามคำสั่งนี้จะต้องเป็นไปอย่างเคร่งครัด เฉพาะเจาะจง และไม่ตีความให้นำไปสู่การกระทำใดๆ ที่กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของบุคคลจนเกินกว่าความจำเป็น ถึงขั้นละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งอาจเป็นการใช้อำนาจที่ไม่ได้สัดส่วนกับการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน นอกจากนี้ยังต้องเปิดโอกาสให้สาธารณชนได้รับทราบเหตุผลความจำเป็นในการใช้อำนาจดังกล่าวอย่างชัดเจนด้วย
นายวัส กล่าวอีกว่า สำหรับข้อเสนอแนะที่ 2 ระบุว่า กสม.มีหน้าที่และอำนาจในการตรวจสอบการกระทำหรือการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย แต่ในการพิจารณาคำร้องของกลุ่มนักศึกษากรณีดังกล่าว ไม่ได้รับการชี้แจงข้อเท็จจริงจากหน่วยงานทหาร ตั้งแต่ปี 58-61 กสม.จึงต้องสรุปว่าไม่สามารถให้ความเห็น ในอนาคตจึงต้องขอความร่วมมือให้กระทรวงกลาโหมและคสช.พิจารณาให้ความร่วมมือต่อการตรวจสอบของกสม. เพราะที่ผ่านมาก็ไม่เคยมีปัญหาในระดับนี้
ล่าสุด กสม.ได้ออกระเบียบว่าด้วยการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้เกี่ยวข้องชี้แจงข้อเท็จจริงแล้ว หากไม่ชี้แจงภายในเวลาที่กำหนด กสม.จะพิจารณาไปตามข้อเท็จจริงเท่าที่แสวงหาได้ ซึ่งผลการพิจารณาอาจเป็นผลร้ายต่อหน่วยงานได้ แม้ความเห็นของกสม.จะไม่มีผลบังคับเช่นเดียวกับคำพิพากษาของศาล แต่หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่นำไปแก้ไข กสม.จะเสนอเรื่องไปยังคณะรัฐมนตรี หรือเผยแพร่รายงานกสม.เพื่อฟ้องต่อประชาชน
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีทหารห้ามกิจกรรมล้อเลียนการเมือง ประเพณีฟุตบอลจุฬา-ธรรมศาสตร์ ประเด็นนาฬิกา ว่าเป็นการละเมิดหรือจำกัดสิทธิและเสรีภาพหรือไม่ นายวัส กล่าวว่า เป็นปัญหาที่น่าคิดเพราะฟุตบอลประเพณีเป็นกิจกรรมที่ทำกันมานาน ส่วนตัวมองว่ากิจกรรมล้อการเมือง ไม่ใช่กิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมือง ซึ่งอาจมีมีความเกี่ยวข้องกับการเมืองบ้าง แต่จะมีผลเพียงเพื่อให้ขำๆหรือสะใจ ไม่มีผลถึงขั้นเกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง หรือเปลี่ยนแปลงรัฐบาล ส่วนกรณีกิจกรรมอื่นๆก็ต้องพิจารณาเป็นกรณีไปว่าเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองหรือไม่