เรื่องจริงของ "ต้มยำกุ้ง" (2) เมื่อ 3 หนุ่มจากชายแดนใต้ถูกจับในมาเลย์
ยาใจ วันชัย และ ซัยซู (นามสมมติ) ไม่ใช่ตัวเอกในละครเรื่อง "3 หนุ่ม 3 มุม" ที่เคยโด่งดังทางจอโทรทัศน์เมืองไทยในอดีต แต่พวกเขาคือ 3 หนุ่มจากชายแดนใต้ที่ถูกทางการมาเลเซียจับกุม หลังเข้าไปทำงานร้านต้มยำกุ้งโดยไม่มี "เวิร์ค เพอร์มิต" หรือใบอนุญาตทำงาน
"ทีมข่าวอิศรา" ได้พบหนุ่มไทยทั้ง 3 คนที่สนามบินกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ขณะรอเที่ยวบินกลับบ้าน ภายหลังเพิ่งได้รับการปล่อยตัว...จริงๆ น่าจะเรียกว่าถูกผลักดันออกนอกประเทศหลังถูกควบคุมตัวอยู่ในสถานกักกันระยะหนึ่งมากกว่า
การทำงานร้านต้มยำในมาเลย์ แม้จะทำรายได้งาม หอบเงินกลับไปเยี่ยมบ้านได้คราวละหลายหมื่นบาท ทว่าเบื้องหลังของมันไม่ได้ง่ายอย่างที่หลายคนคิด และมีการกลั่นแกล้งกันบ่อยครั้งระหว่างคู่แข่งร้านต้มยำกุ้งด้วยกันเอง...
วิชามารร้านต้มยำ...
"การทำงานในประเทศมาเลเซียยากและลำบากมาก ร้านไหนที่ขายดี มีแขกเต็ม ก็จะถูกจับตามองจากอีกร้านหนึ่ง เพราะการแข่งขันสูง วันดีคืนดีก็จะไปแจ้งเจ้าหน้าที่ให้มาจับ เพราะหากลูกจ้างในร้านคนไหนไม่มีเวิร์ค เพอร์มิต จะรู้กันอยู่ และดูกันง่าย มันจึงง่ายในการกลั่นแกล้งกัน" 3 หนุ่มจากชายแดนใต้เริ่มเล่า
พวกเขาบอกว่า ทำงานด้วยกันอยู่ในร้านเดียวกัน โดยร้านที่ทำเป็นของคนมาเลเซีย แต่ให้ทีม 3 หนุ่มจากชายแดนใต้บริหาร เพราะอยู่ในธุรกิจนี้มานาน 7 ปี เถ้าแก่ก็เลยไว้ใจ
"ชีวิตแต่ละวันก็เหมือนเดิม เหมือนเป็นการฉายหนังเรื่องเดียวกันวนไปวนมาตลอด โดยจะเริ่มเตรียมของตั้งแต่บ่าย 3 โมงของทุกวัน พอ 5 โมงเย็นลูกค้าเริ่มเข้า งานก็เริ่มเยอะ ทั้งจดบิล ทำอาหาร เสิร์ฟ ล้าง กว่าจะเสร็จก็ตี 2 ทุกวัน เราไม่มีวันหยุด จนกว่าจะถึงวันกลับบ้านที่ประเทศไทย"
ยาใจ อธิบายเสริมว่า เขากับวันชัยทำหน้าที่กุ๊ก จึงได้ค่าจ้างวันละ 500 บาท ส่วนซัยซูทำหน้าที่เสิร์ฟจะได้ 350 บาท ทุกๆ 6 เดือนพวกเขาจะกลับบ้าน และอยู่ที่บ้านราว 2 อาทิตย์ ทุกครั้งที่กลับแต่ละคนจะมีเงินไปฝากครอบครัวไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นบาท
ด้วยวิธีการบริหารแบบมืออาชีพ ดึงลูกค้าเข้าร้านได้มาก กระทั่งทำรายได้อย่างงาม จึงทำให้คู่แข่งทางธุรกิจริษยา และแจ้งทางการมาเลย์ให้เข้าตรวจค้น จับกุม
"พวกเราถูกจับทั้งหมด 5 คน แยกเป็นคนไทย 3 คนก็คือพวกผมนี่แหละ และคนอินโดนีเซียอีก 2 คน ส่วนเถ้าแก่ไม่โดน เพราะทุกๆ วันแกจะให้พวกเราดูแลร้านแทน โดยที่แกไม่ค่อยเข้าร้าน ก็เลยรอดไป แต่แกก็มาช่วยเคลียร์ให้ตอนหลัง ทำให้พวกเราอยู่ในแคมป์ (สถานที่กักตัวก่อนถูกผลักดันออกนอกประเทศ) แค่ 27 วัน ซึ่งถ้าไม่มีการเล่นเส้น คนที่ถูกจับในข้อหาแบบพวกเราจะถูกส่งไปเรือนจำใหญ่ ต้องอยู่ถึง 3 เดือน และต้องขึ้นโรงขึ้นศาลด้วย ก็ถือว่าโชคดีที่เจอเถ้าแก่ใจดี" ยาใจ บอก
ชีวิตเครียดในห้องขัง...
ที่ร้ายก็คือ จังหวะที่พวกเขาโดนแจ้งจับนั้น เป็นช่วงก่อนจะเดินทางกลับบ้านเพียงไม่กี่วันเท่านั้นเอง
"เรากำลังจะกลับอยู่แล้ว แต่โดนจับเสียก่อน กำลังเจ้าหน้าที่ที่เข้ามาจับเป็นกำลัง 3 ฝ่าย ทั้งอาสาสมัคร ตม.(ตรวจคนเข้าเมือง) และเทศกิจ เขากรูเข้ามาที่ร้านในช่วงที่ลูกค้าเต็มร้าน พวกเราพยายามหนีแต่หนีไม่พ้น ลูกค้าส่วนใหญ่เข้ามาพูดให้กำลังใจ เพราะเรื่องแบบนี้ทุกคนเข้าใจและถือเป็นเรื่องปกติไปแล้วที่คนไทยมาทำงานในมาเลเซีย"
หลังถูกจับกุม 3 หนุ่มก็ถูกส่งเข้า "แคมป์" พวกเขาเล่าว่าชีวิตที่อยู่ในแคมป์ลำบากเสียยิ่งกว่าตอนที่อยู่อย่างหลบๆ ซ่อนๆ ระหว่างทำงานเสียอีก
"เข้าไปในแคมป์วันแรกๆ เจ้าหน้าที่จะให้ผ้าจาเดาะ (ผ้ารองละหมาด) และยาซีน (หนังสืออัลกุรอาน บทยาซีน) แล้วก็ให้เสื้อยึดสีขาวกับกางเกงขาสั้นสีขาวคนละ 1 ชุด เอาไว้ใส่ตลอดเวลาที่อยู่ในแคมป์ ส่วนชุดของเราที่ใส่วันถูกจับ เจ้าหน้าที่ให้เราเก็บไว้ จะได้ใส่วันออกจากแคมป์"
"กิจวัตรแต่ละวันภายในแคมป์ คือต้องตื่นนอนตอนเช้า ละหมาด แล้วก็ได้กินโรตีจืดๆ กับน้ำชาจืดๆ และเย็นเหมือนน้ำก๊อก จากนั้นเจ้าหน้าที่จะเรียกตัวทุกคนไปเช็คยอดว่าอยู่ครบหรือไม่ เสร็จแล้วก็ปล่อยให้เราทำอะไรก็ได้ บางคนจะนอนก็นอนได้ บางคนจะไปพูดคุยกับคนที่อยู่นานๆ แล้วก็ได้ บางคนก็ไปหัดทำอาชีพเสริม"
"ตอนอยู่ข้างในบางคนใช้เวลาว่างไปหัดทำงานฝีมือ โดยทางแคมป์จะมีข้าวเที่ยงให้กิน จากนั้นก็จะละหมาดเที่ยง พอหลังเที่ยงก็จะว่างอีกจนถึงตอนเย็นก็มีข้าวให้อีก 1 มื้อ อยู่ในนั้นส่วนใหญ่ไม่ได้ทำอะไรมาก มีภารกิจแค่นอนกับกิน แต่เป็นการนอนที่ทรมาน เพราะคิดมาก นอนไม่ค่อยหลับ คิดว่าเมื่อไหร่เถ้าแก่จะมาช่วยสักที เราจะได้ออกเมื่อไหร่ ส่วนการกินก็เป็นการกินที่แย่สุดๆ อาหารไม่ดีเลย เราก็เข้าใจเจ้าหน้าที่นะ ที่เขาทำแบบนั้นเพราะเขาต้องการให้เราจำ จะได้ไม่ลักลอบเข้ามาทำงานอีก"
ชายแดนใต้ไม่มีงาน...
และแล้วการรอคอยของ 3 หนุ่มจากชายแดนใต้ก็สิ้นสุดลง
"วันที่เถ้าแกมาบอกว่า วันที่ 23 มี.ค.เราจะได้กลับบ้านแล้ว ความรู้สึกตอนนั้นดีใจมาก เหมือนกับที่เรารอคอยวันรายอ ยิ่งเมื่อได้ออกมาและรอเครื่องบินไปหาดใหญ่ ความรู้สึกยิ่งดีใจ ตื้นเต้นอย่างบอกไม่ถูก แทบจะระบายออกมาเป็นคำพูดไม่ได้เลย"
แม้ต้องเจอกับเรื่องร้ายๆ แต่ทั้ง 3 คนยังยืนยันว่าอย่างไรเสียก็ต้องหาทางกลับเข้าไปทำงานในมาเลเซียอีก
"พวกเราเพิ่งถูกจับเป็นครั้งแรก แต่มีคนข้างในแคมป์ที่โดนมาบ่อยๆ แล้ว เขาสอนวิธีการที่จะกลับเข้าไปทำงานในมาเลยเซียได้อีก เพราะการถูกจับแต่ละครั้งจะมีชื่อขึ้นในแบล็คลิสต์ (บัญชีดำ) 4 เดือน เราก็เลยตั้งใจว่าเมื่อกลับบ้านแล้วจะไปกู้เงินจากธนาคารอิสลามที่มีโครงการร่วมมือกับ ศอ.บต.(ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้) เพื่อขอใบอนุญาตทำงานให้ถูกต้อง แล้วกลับไปทำงานอีกครั้ง เพราะได้สัญญากับเถ้าแก่แล้วว่าจะเข้าไปอีก"
ยาใจ เล่าเสริมว่า ทุกคนคงรู้สึกเหมือนกับเขา คือจริงๆ แล้วไม่ได้อยากข้ามไปทำงานฝั่งมาเลย์ แต่ที่ทำก็เพราะความจำเป็น
"ผมมีภรรยาคอยอยู่ที่บ้าน มีแม่ที่อายุมากแล้วรอให้เรากลับไปดูแล ใจจริงผมอยากทำงานที่บ้าน แต่เมื่ออยู่ที่บ้านเราไม่มีกิน ก็เลยต้องยอมลำบากไปทำงานที่มาเลย์ งานที่นั่นเราเลือกได้ ร้านไหนที่ไม่ดี เถ้าแก่คุยไม่รู้เรื่อง หรือให้เงินน้อย เราก็ไม่อยู่ แต่ถ้าเป็นบ้านเรา ไม่สามารถทำแบบนั้นได้เลย"
ยาใจ บอกอีกว่า ก่อนจะไปมาเลเซีย เขาและเพื่อนๆ พยายามทุกวิถีทางแล้วในการทำงานที่ฝั่งไทย แต่รายได้มันไม่พอกินจริงๆ
"ผมเคยทำงานบริษัทจัดจำหน่ายรถจักรยานยนต์แห่งหนึ่ง เป็นบริษัทใหญ่ ทำทั้งที่สาขาปัตตานีและยะลา เขาให้เงินเดือน 4,500 บาทเท่านั้น แม้จะได้แต่งชุดสวย สะอาด แต่เงินไม่พอกับรายจ่าย ก็เลยอยู่ไม่ได้ จากนั้นเคยลองไปใช้ชีวิตที่กรุงเทพฯ ทำงานใช้แรงงาน ได้เงินเดือน 5,000 บาท รายจ่ายเยอะยิ่งกว่าตอนอยู่ที่ยะลากับปัตตานีเสียอีก สุดท้ายก็เลยตัดสินใจว่ามาเลเซียเท่านั้นที่จะทำให้ชีวิตเรารอด เห็นเพื่อนๆ ทุกคนที่ไปมาก็มีเงินก้อนกลับมาทุกครั้ง จึงลองเข้าไปเมื่อปี 2548 ตอนนี้ก็ 7 ปีแล้ว"
"จะให้อยู่บ้านเราก็กลัว เหตุการณ์ความไม่สงบยังไม่น่ากลัวเท่าเราอดและเป็นหนี้เขา แต่ถ้าไปทำงานมาเลเซีย เงินเดือนที่เราได้เราสามารถเก็บได้ทั้งหมด เพราะเราแทบไม่มีค่าใช้จ่าย เนื่องจากเดินทางไปไหนแทบไม่ได้เลย แต่ละเดือนก็เสียแค่ค่าสบู่ ยาสีฟัน และผงซักฟอก ที่เหลือก็เก็บกลับบ้านหมด ส่วนค่าที่พักและอาหาร เถ้าแก่เป็นคนออกให้ มันต่างกันจริงๆ กับบ้านเรา"
"แต่ผมยืนยันว่าถ้าที่บ้านมีงานพออยู่ได้ แต่ละเดือนไม่ต้องติดหนี้เขา ก็จะเลือกอยู่ที่บ้าน เพราะไม่มีที่ไหนสบายเท่าบ้านเรา" ยาใจ กล่าวทิ้งท้าย โดยมีวันชัย และซัยซู พยักหน้าเห็นด้วย
"ทีมข่าวอิศรา" โบกมือลา 3 หนุ่มเมื่อรถแล่นถึงปัตตานี หลังจากได้ขึ้นเครื่องบินลำเดียวกันจากกัวลาลัมเปอร์ และต่อรถจากหาดใหญ่เข้าปัตตานีด้วยกัน...
เมื่อใดหนอที่ชายแดนใต้จะมีตำแหน่งงานมากพอสำหรับคนหนุ่มมุสลิม เพื่อที่พวกเขาจะได้ไม่ต้องกลายเป็นคนไทยไกลบ้าน ต้องไกลห่างจากคนรักเพื่อทำงานหนักเลี้ยงตัวเองและครอบครัว...
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 เสื้อยืดสีขาวที่ 3 หนุ่มใส่เป็นเครื่องแบบขณะถูกคุมขังอยู่ในแคมป์ที่มาเลย์
2 แปรงสีฟันด้ามหักและขนแปรงแทบใช้การไม่ได้ แต่พวกเขาก็ต้องใช้ระหว่างถูกกักตัว
3 ร้านต้มยำกุ้งในละแวกที่ 3 หนุ่มถูกรวบตัว