GMS อนุมัติแผนงานสิ่งแวดล้อมลุ่มน้ำโขง เน้นลงทุนสีเขียว-ยั่งยืน มูลค่า540 ล้านดอลลาร์
ที่ประชุม รัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมกลุ่มประเทศในลุ่มแม่น้ำโขง เซ็นอนุมัติแผนลงทุนสีเขียว เพื่อดูเเลภูมิภาคระยะเวลาปี 5 ปี มูลค่า540 ดอลลาร์สหรัฐ เอดีบีเผยผลงานที่ผ่านมาช่วยผู้ยากไร้แล้ว 3หมื่นราย หลุดพ้นความยากจน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในการประชุม รัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมจาก 6 ประเทศสมาชิกอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงครั้งที่ 5 หรือ Greater Mekong Subregion (GMS) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 มกราคม - 1 กุมภาพันธ์ 2561 ณ จังหวัดเชียงใหม่ ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารพัฒนาเอเชีย หรือ เอดีบี
โดยครั้งนี้ที่ประชุมได้ร่วมกันรับรองแผนงานด้านสิ่งแวดล้อมระยะเวลา5 ปี รวมถึงโครงการเร่งด่วนต่าง ๆ มูลค่ารวม 540 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อช่วยกระตุ้นการลงทุนสีเขียวและความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะช่วยให้อนุภูมิภาคสามารถบรรลุเป้าหมายการเติบโตอย่างยั่งยืน รัฐมนตรีได้อนุมัติกรอบยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติงาน พ.ศ. 2561-2565 สำหรับแผนงานหลักด้านสิ่งแวดล้อม (the Core Environment Program (CEP) Strategic Framework and Action Plan 2018-2022) ที่กำลังเข้าสู่ระยะที่ 3 ของแผนงาน โดยได้ช่วยเหลือประชาชนผู้ยากไร้แล้วกว่า 30,000 คน ในเขตชนบทของอนุภูมิภาคให้หลุดพ้นจากความยากจน
พลเอกสุรศักดิ์ กาญจนรัตน์รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย กล่าวว่า CEP เป็นเครื่องมือในการสร้างความไว้วางใจและความเข้าใจสำหรับความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ สมาชิก GMS และเราจะร่วมทำงานด้วยกันต่อไปเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่ความร่วมมือในอนุภูมิภาคในการรับมือกับความ ท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม การประชุมครั้งนี้ได้เปิดโอกาสให้เราได้หารือกันเกี่ยวกับความก้าวหน้าและสิ่งที่ประสบผลสำเร็จแล้ว รวมถึงได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้และหารือเกี่ยวกับแนวโน้มทิศทางและปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมในขณะนี้อีกด้วย
เอดีบีรายงานว่า นอกจากการลงทุนมูลค่า 540 ล้านเหรียญสหรัฐที่เน้นเรื่องการบริหารจัดการพื้นที่ใช้สอย การจัดการของเสีย การควบคุมมลพิษ และการลดความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโครงสร้างพื้นฐานในเขตชนบท แผนยุทธศาสตร์5 ปีนี้ยังปูทางให้กับการเตรียมความพร้อมและการจัดหาเงินทุนสำหรับโครงการใหม่ ๆ ซึ่งจะช่วยให้กลุ่มประเทศ GMS สามารถลดช่องว่างในการลงทุนสีเขียวได้ ระบบเทคโนโลยีสีเขียว (green technology platform) ได้ถูกสร้างขึ้นเพื่อทำหน้าที่เป็นตลาดเชื่อมโยงระหว่างผู้จัดหาเทคโนโลยีและกลุ่มผู้ใช้ ซึ่งเน้นเรื่องเทคโนโลยีสำหรับการจัดการของเสีย พลังงาน ทดแทน การใช้พลังงานเชื้อเพลิงอย่างมีประสิทธิภาพ การปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง การบริหารจัดการความ เสี่ยงจากภัยธรรมชาติและอื่นๆ
ภายใต้ CEP ได้มีการระดมทุนเพิ่มเติมมากกว่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐ โดย 98 ล้านเหรียญสหรัฐ ใช้สำหรับโครงการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งได้ก่อให้เกิดระเบียงความหลากหลายทางชีวภาพ (biodiversity corridors) ขนาด 2.6 ล้านเฮกตาร์ ในพื้นที่ข้ามพรมแดน 7 เขต และยังได้ฝึกอบรมผู้มีส่วนได้เสียมากกว่า 19,000 คน ในงานสัมมนาเพื่อแบ่งปันองค์ ความรู้ต่างๆ มากกว่า 500 งาน
ด้าน นาย Ramesh Subramaniam ผู้อำนวยการสำนักเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของเอดีบี กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา CEP ได้กลายมาเป็นความริเริ่มด้านสิ่งแวดล้อมที่มีความสำคัญมากที่สุดใน GMS เราจะเดินหน้าผลักดันแผนปฏิบัติงาน หลักที่ได้ถูกสรุปไว้ในการประชุมครั้งนี้ต่อไป เพื่อช่วยให้ประเทศสมาชิก GMS สามารถบรรลุการพัฒนาอย่างยั่งยืนและ ครอบคลุมทุกภาคส่วน
สำหรับงานประชุมในหัวข้อ ‘การเติบโตสีเขียวอย่างทั่วถึง: การลงทุนเพื่อความยั่งยืนในอนาคต’ ครอบคลุมระยะเวลา 2 วัน โดยเน้นเรื่องการหารือเชิงนโยบายในด้านเทคโนโลยีสีเขียว พลังงานสีเขียว โครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืน การปรับตัวต่อสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง และการลงทุนด้านทรัพยากรธรรมชาติ ประเทศสมาชิกอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ประกอบด้วย กัมพูชา สาธารณรัฐประชาชนจีน (เฉพาะมณฑลยูนนานและ เขตปกครองตนเองกว่างซี) ลาว พม่า ไทย และเวียดนาม