ภาษาไทย มลายู อังกฤษและจีน กับประชาคมอาเซียน (จบ)
ความเดิมตอนที่แล้ว กัณหา แสงรายา อรรถาธิบายค้างไว้ถึงชนชาติไตหรือไท ที่อยู่นอกประเทศไทย และใช้ "ภาษาไท" ในการสื่อสาร ซึ่งมีอีกนับสิบๆ ล้านคน สารคดีชุด "ภาษาอาเซียน" ในตอนจบจะมาว่ากันต่อ พร้อมกับบทสรุปแนวโน้มความเป็นไปของภาษาและวัฒนธรรมหลังนับหนึ่งประชาคมอาเซียน
สำหรับชนชาติไต (ไท) ในพม่าก็สามารถตั้งรัฐของตนรวมอยู่ในสหภาพพม่าเรียกว่า รัฐฉาน (Shan State) เดิมเป็นรัฐอิสระ (นครรัฐ) ของพวกเงี้ยวหรือพวกไตใหญ่ ตั้งบ้านเมืองของตนขึ้นคือ อาณาจักรแสนหวี เคยเป็นอาณาจักรที่รุ่งเรืองมาก่อนนับพันปี ซึ่งก็ใกล้ชิดกับอาณาจักรล้านนาเป็นพิเศษ
ชนชาติไตอีกพวกหนึ่งเรียกว่า ไตอาหม ได้เคลื่อนย้ายเข้าไปในแคว้นกามรูป (อัสสัมโบราณ) ตั้งแต่ราว พ.ศ.1800 สามารถตั้งรัฐอิสระของตนคือ เมืองถ้วนสวนคำ มีเจ้าเมืองหรือกษัตริย์เรียกว่า ขุนเสือ หรือเจ้าฟ้าปกครองบ้านเมืองหลายชั่วอายุคน ปัจจุบันอยู่ในรัฐอัสสัม (กลายเป็นส่วนหนึ่ง) ของอินเดียไปแล้ว
ที่สาธยายมาทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้เห็นว่า คนเชื้อชาติไตหรือไทซึ่งมีลักษณะทางชนชาติที่สำคัญคือพูดภาษาไต-ไทสาขาต่างๆ มีถิ่นที่อยู่กระจายไปทั่วนอกประเทศไทยหรือนอกราชอาณาจักรไทย (ปัจจุบัน)
กล่าวโดยสรุปก็คือ มีคนชนชาติไต-ไทตั้งถิ่นฐานค่อนไปทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือไปจนจรดมณฑลยูนนานทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศจีน ในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของเวียดนามเป็นพวกไทดำ ไทขาว ไทแดง ไทแสก ฯลฯ ส่วนทางภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือของสหภาพพม่า ได้แก่ พวกฉาน (เงี้ยวหรือไตใหญ่) และในรัฐอัสสัมของอินเดียคือ พวกไตอาหม
ภาษาและชนชาติไต-ไท
บัดนี้เราคงทราบถึงการกระจายตัวของชนชาติไต-ไทซึ่งตั้งหลักแหล่งอยู่ทั้งภายในและภายนอกราชอาณาจักรไทยในดินแดนต่างๆ มากมายอย่างชนิดที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อน เราทราบอีกว่าชนชาติเหล่านี้ถูกเรียกว่าชนชาติไต (ไท) ก็เพราะใช้ภาษาไต-ไท (Tai/Dai languages) สาขาใดสาขาหนึ่งในการสื่อสารติดต่อระหว่างกันในชีวิตปกติประจำวันนั่นเอง
ดังที่ทราบกันแล้ว เนื่องจากชนชาติไต-ไทตั้งถิ่นฐานกระจายตัวตามที่ต่างๆ ทั่วไปอย่างกว้างขวาง มิได้กระจุกตัวอยู่ในบริเวณหรือพื้นที่เล็กๆ หย่อมเดียว ดังนั้นจึงมีการปะทะสังสรรค์กับกลุ่มชนเผ่าพันธุ์อื่นซึ่งใช้ภาษาและมีขนบธรรมเนียมประเพณีที่ต่างกัน รวมทั้งสภาพธรรมชาติวิทยาของแต่ละท้องถิ่นก็ย่อมต่างกันไปอย่างหลากหลายอีกด้วย
"การปะทะสังสรรค์" (interaction) กันย่อมเกิดขึ้นโดยมีทั้งการร่วมถิ่นที่อยู่เดียวกัน มีการโอภาปราศรัย อยู่กินแต่งงาน แลกเปลี่ยนสินค้า ฯลฯ และร่วมอยู่ภายใต้การปกครองเดียวกัน (ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ปกครองและผู้ถูกปกครอง หรือคละกัน) ซึ่งย่อมส่งผลให้เกิดการถ่ายเททางด้านภาษา วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี ความเชื่อ ศิลปะ รสนิยม องค์ความรู้ ยีน และอื่นๆ ระหว่างกันมาโดยตลอด
กาลเวลาที่ผ่านไปนานเข้า ชนชาติไต-ไทกลุ่มต่างๆ ซึ่งอาศัยต่างถิ่นฐานออกไปจึงย่อมสร้างลักษณะเฉพาะหรืออัตลักษณ์ของตนเองขึ้นมา แต่ละกลุ่มจึงอาจสร้างภาษาที่มีวงศัพท์ โครงสร้าง สำเนียงเฉพาะถิ่นของตน รวมทั้งมีขนบธรรมเนียม ประเพณี และความเชื่อที่ผิดแปลกแตกต่างกันไปบ้าง จนแม้กระทั่งรูปพรรณสัณฐานและสีผิวก็อาจแตกต่างกันออกไปด้วย
ยกตัวอย่างเช่น ในการพูดถึงหัวข้อนี้ คงมีหลายคนสังเกตเห็นแล้วว่า ในบทความนี้มีการใช้คำที่หมายถึงชนชาติและภาษาถึง 3 คำด้วยกัน คือ ไต ไท และ ไทย ซึ่งแสดงถึงความแตกต่างหรือความหลากหลายที่เกิดขึ้นในหน่วยใหญ่ ขอให้ท่านทราบเสียก่อนว่า คำหลักจริงๆ ก็คือคำว่า ไต และ ไท ส่วนคำว่า ไทย นั้นเป็นคำที่เกิดขึ้นในภายหลัง
ภาษาไตหรือภาษาไทกันแน่?
จากการที่ชนชาติไต-ไทกระจายกันอยู่ทั่วไปนี่เอง บางกลุ่มก็มีข้อจำกัดในการออกเสียง เช่น พวกชนชาติไตในภาคเหนือ (ล้านนา) ไตลื้อในสิบสองปันนา (ปัจจุบันอยู่ในประเทศจีน) ไตลื้อในแขวงพงสาลี (อยู่ในประเทศลาว) ไตโหลง (ไตใหญ่) ในรัฐฉาน (อยู่ในสหภาพพม่า) ฯลฯ จะเปล่งเสียงพยัญชนะ ก จ ต ป อันเป็นเสียงเบา (สิถิล) ไม่มีการกระแทกลมที่ลำคอ (non-aspirated) เช่นเดียวกับภาษามอญ-เขมร แต่ไม่สามารถออกเสียงพยัญชนะเสียงธนิตหรือเสียงหนักซึ่งมีลมกระแทกที่คอ (aspirated) คือ ค ช ท พ ได้
ดังนั้นคำว่า ไท, ภาษาไท เขาจะออกเสียงว่า ไต, ปาสาไต, ช้าง ก็เป็น จ้าง หรือ จ๊าง, ทาง เป็น ตาง, ทาน เป็น ตาน, ท้าว เป็น ต๊าว, พี่ เป็น ปี้ ฯลฯ ดังนี้เป็นต้น ส่วนชนชาติไท-ไตซึ่งเป็นชาว "ไทย" ไปแล้ว ทั้งในภาคกลาง ภาคอีสาน และภาคใต้ของประเทศไทย รวมทั้งชาวลาวเหนือ ลาวกลาง ลาวใต้ในประเทศลาว ชาวผู้ไท ไทดำ ไทแดง ไทขาว แสก ในประเทศลาวและเขตสิบสองจุไทในประเทศเวียดนาม สามารถเปล่งเสียงพยัญชนะ ค ช ท พ อันเป็นเสียงธนิตได้ จึงพูดคำว่า ไท ทาง พี่ ช้าง ท้าว ฯลฯ ได้สบายๆ
จึงสรุปในที่นี้ได้ว่า คำว่า ไต ไท ภาษาไท ภาษาไต หมายถึงชนชาติและภาษาเดียวกัน คำนี้ในภาษาอังกฤษเขียนเป็น Tai หรือ Dai (ไต เสียงสิถิล) ในที่นี้หมายถึง ชนชาติไท-ไต หรือภาษาตระกูลไท-ไต คือใช้ในความหมายกว้าง หากเขียน Thai (ไท เสียงธนิต) ตรงกับ ไทย หมายถึง ภาษาไทยหรือคนไทยในประเทศไทย (Thailand) ซึ่งถือเป็นสาขาหนึ่งของชนชาติหรือภาษาตระกูลไต-ไทซึ่งอยู่ในประเทศไทย
จากไต-ไท เป็นไทย มี "ย ยักษ์"
ได้กล่าวถึงภาษาไต-ไทว่าครอบคลุมภาษาในตระกูลไต-ไททุกภาษาทั้งในและนอกราชอาณาจักรไทย สำหรับภาษาประจำชาติของประเทศไทยนั้นคือ ภาษาไทย ซึ่งก็เป็นสาขาหนึ่งของภาษาในตระกูลไต-ไท ในประเทศไทย ภาษาไทยเป็นภาษาราชการและภาษากลางในการติดต่อสื่อสารระหว่างกัน
ที่เขียน "ไทย" ที่จริงก็คือรูปใหม่ของคำว่า ไต-ไท นั่นเอง นี่ในแง่ของการเขียน แต่ในเชิงมานุษยวิทยาแล้วคำว่า "ไทย" กลับมีความหมายเฉพาะซึ่งได้แสดงอัตลักษณ์ของตนเองอย่างอย่างโดดเด่นชัดเจน การเขียนคำว่า "ไทย" ที่มีตัว "ย" สะกดนั้นรูปเดิมก็คือ "ไท" (ไม่มี ย) นั่นแหละ จากจารึกสุโขทัยหลักที่ 1 (จารึกพ่อขุนรามคำแหง) เขียน "ไท" เฉยๆ (ไม่มี ย) คำว่า "ไทย" (มี ย) เพิ่งปรากฏในจารึกสมัยพญาลือไทย (หรือฦๅไทย) ซึ่งเป็นยุคที่ภาษาบาลีเฟื่องฟูมาก ภาษาบาลีไม่มีสระ "ไ" ดังนั้นเมื่อจะเขียน "ไท" ด้วยภาษาบาลีจึงต้องแผลง "ไท" เป็น "เทยย"; พญา "ลือไท" จึงเขียน "ลีเทยย" เมื่อเปลี่ยนกลับมาเป็นภาษาไทยจึงเขียนเป็นรูปใหม่คือ "พญาลิไทย" (ปัจจุบันแปลงกลับเป็น พญาลิไท อีก) เช่นเดียวกับคำว่า "ไท" จึงมีรูปใหม่เป็น "ไทย" (มี ย) ขึ้นมา กลายเป็นชื่อเผ่า "ไต-ไท" ในประเทศ "ไทย" ดังนี้
ดังได้สาธยายไว้ข้างต้น จะต้องทำความเข้าใจให้ได้ว่า ภาษาไทยในปัจจุบันนั้นที่จริงก็เป็น "ภาษาร่วม" ของผู้คนหลากหลายเผ่าพันธุ์ซึ่งต่างก็มีส่วนเสริมรวมทั้งปรับเปลี่ยนภาษาเสียใหม่ทั้งในแง่คำ โครงสร้างและความหมาย ตลอดจนบริบทอื่นๆ โดยมีอำนาจทางการเมืองที่ปกครองจากส่วนกลางเป็นหลักในการประคับประคองให้ดำรงอยู่ตลอดห้วงประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา
ภาษาไต-ไท โดยเฉพาะสาขา ภาษาไทย ที่ใช้ในประเทศไทยปัจจุบัน จึงเป็นผลรวมของภาษาซึ่งมีที่มาจากหลากหลายภาษา อาทิ บาลี-สันสกฤต ทมิฬ อาหรับ เปอร์เซีย จีน มอญ-เขมร มลายู-จาม (มลาโย-โพลีนีเซียน) พม่า เวียดนาม อังกฤษ ฝรั่งเศส โปรตุเกส ฯลฯ จำนวนมาก ส่วนทางด้านความเป็นชนชาติ (race) ของคนไทย (ปัจจุบัน) ก็ไม่อาจยืนยันถึงความเป็น "เผ่าพันธุ์บริสุทธิ์" ได้อีกต่อไป
จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงๆ ในห้วงเวลาตั้งแต่ราว 1,500-1,000 ปีลงมานี้ ดินแดนที่เป็นประเทศไทยปัจจุบันแท้ที่จริงคือ "เบ้าหลอม" ของชนชาติไต-ไทที่เป็น "เผ่าพันธุ์ผสม" ระหว่างชนชาติไต-ไท ลาว มอญ-เขมร จาม-มลายู (มลาโย-โพลีนีเซียน) จีน เวียดนาม พม่า และชนเผ่าอื่นๆ
เผ่าพันธุ์ผสมซึ่งสมมุติชื่อเรียกว่า "คนไทย" นี้ นักวิชาการบางคน เช่น อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม แสดงทัศนะว่าควรเรียก "คนไทย" พวกนี้ว่า "คนสยาม" หรือ "ไทยสยาม" จะเป็นการเหมาะสมกว่า เพื่อแยกให้แตกต่างจากชนชาติไต-ไทที่อยู่นอกราชอาณาจักรไทยออกไป โดยกลุ่มชนที่นับว่าเป็นชนชาติไต-ไท นั้นอาศัยอยู่ระหว่างเส้นรุ้งที่ 19-26 องศาเหนือ ส่วน "คนไทย" ในประเทศไทยหรือ คนสยาม, เสียม หรือ เซียม นี้ส่วนใหญ่ตั้งถิ่นฐานอาศัยอยู่ใต้เส้นรุ้งที่ 19 องศาเหนือลงมา ซึ่งส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดเป็นกลุ่มชนที่เกิดจากการผสมผสานของชนชาติไต-ไทกับบรรพชนเผ่าอื่นๆ หรือชนชาติอื่น ทั้งที่เป็นชนพื้นเมืองเดิมอยู่แล้ว กับพวกที่เคลื่อนย้ายเข้ามาใหม่ โดยปัจจัยที่คุมกันเป็น "ไทยสยาม" ก็คือ ภาษา (ไทย) และศาสนา (พุทธและพราหมณ์ ต่อมาศาสนาอิสลามและคริสต์) ซึ่งแตกต่างจากวิถีของชาวไต-ไทนอกประเทศไทยซึ่งส่วนใหญ่ยังคงรักษาอัตลักษณ์เฉพาะตน เช่น ความเชื่อต่อผีบรรพบุรุษ (ด้ำ), ผีฟ้าหรือ "แถน" ของพวกไทดำและเผ่าไททั้งหลายทางเหนือของเวียดนามและบริเวณอื่นๆ เป็นต้น
เราจึงต้องสำเหนียกให้จงได้ว่า ภาษามิใช่เครื่องกำหนดความเป็นชนชาติ (race) ที่ถูกต้องเที่ยงตรงตามที่มองอย่างผิวเผิน เพราะชนชาติไม่ใช่สิ่งเดียวกับภาษา ความเป็นชนชาติ (ของบุคคล) อาจสลายหรือสลับสับเปลี่ยนกันได้ภายในชั่วอายุคนรุ่นเดียว แต่ภาษา (language) ยังคงสืบเนื่องต่อไปในสังคมอย่างยาวนาน จึงเป็นเหตุให้เข้าใจได้ว่า ผู้ที่พูดภาษาซึ่งแต่เดิมเป็น "ของ" กลุ่มชนชาติใดก็ถือเป็นสมบัติ "ติดตัว" ของคนชนชาตินั้น (ซึ่งไม่จริงเสมอไป)
ยิ่งเวลาผ่านไปหลายชั่วรุ่นคน เมื่อมีการยอมรับศาสนาและวัฒนธรรมประเพณีของสังคมที่เป็นใหญ่ด้วย ในที่สุดเราจึงไม่มีทางทราบได้เลยว่า แท้ที่จริงคนที่พูดภาษาประจำชาติในสังคมหนึ่งสังคมใดมีที่มาที่ไปหรือสายเลือด "แท้ดั้งเดิม" มาจากกลุ่มชนชาติใดกันแน่? หรือมาจากกลุ่มชนชาติใดกันบ้าง?
ตัวอย่างเช่น กลุ่มชนในอำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา ซึ่งจากการวิจัยทางภาษาศาสตร์ทราบว่าเป็นกลุ่มคนเชื้อสายเขมรที่ตกค้างอยู่ที่นั่น แต่ได้กลายชาติมาเป็น "คนไทย" ทั้งๆ ที่คำว่า "คนไทย" (ซึ่งเป็นคำที่สังคมเรียก) ที่จริง (เดิม) ก็อาจเป็นคนเขมร คนพม่า คนมลายู คนมอญ ฯลฯ ที่ (ได้หันมา) พูดภาษาไทย (ซึ่งก็เป็นภาษาที่ปนๆ กันอยู่ดี) และที่สำคัญได้ยอมรับสืบทอดขนบธรรมเนียมประเพณีแบบ "ไทยๆ" ไปแล้วอย่างสมบูรณ์
เมื่อเปรียบเทียบกับคนเชื้อสายมอญในภาคกลางของประเทศ แม้ว่าจะกลายเป็น "ไทย" มาแล้วหลายชั่วอายุคน แต่ยังคงสืบทอดขนบธรรมเนียมประเพณีของตนอยู่ ความเป็นชนชาติมอญของตนก็ยังอยู่ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคนมอญที่กลายเป็นไทยไปแล้วร้อยเปอร์เซ็นต์จะไม่ใช่คนมอญ หรือไม่ใช่คนไทย
ตามที่กล่าวมาแล้วว่า "คนไทย" ก็คือคนที่มีที่มาจากหลากหลายชาติพันธุ์ที่คุมกันมาเป็นชนชาติไทยและร่วมกันสร้างชาติไทยเป็นของทุกคนตามทัศนะของ รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม นักมานุษยวิทยา-ประวัติศาสตร์ชั้นนำของประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้นนี้อาจถือว่า ภาษาเป็นเครื่องจำแนกชนชาติของกลุ่มชนอย่างหยาบๆ ไปพลางๆ ก่อน เอาไว้เวลาเหมาะๆ จะได้หันมาพูดและลงลึกในเรื่องนี้มากกว่านี้
ภาษาไทยในประชาคมอาเซียน
การผสมผสานกันของสังคมยุคโบราณมีผลทำให้มีการยืม (borrowing) กันไปมาระหว่างแต่ละภาษาที่อยู่ใกล้เคียงกันดังกล่าวมาแล้ว ดังตัวอย่างคำซ้อนจำนวนมากในภาษาไทย เช่น คำว่า "บ้านช่อง"; คำว่า "บ้าน" เป็นคำภาษาไทย แต่มีรากศัพท์มาจากภาษาโปรโต-ออสโตรนีเซียน ส่วนคำว่า "ช่อง" เป็นภาษาเวียดนามแปลว่า บ้าน; คำว่า "ดั้งจมูก" มาจากคำว่า "ดั้ง" ภาษาไต-ไท มีรากศัพท์มาจากภาษาโปรโต-ออสโตรนีเซียน แปลว่า "จมูก" ส่วนคำว่า "จมูก" เป็นภาษาเขมร; คำว่า "ร่ายรำ" นั้น "ร่าย" เป็นภาษาไทย และมีรากศัพท์มาจากภาษาโปรโต-ออสโตรนีเซียน ส่วนคำว่า "รำ" เป็นภาษาเขมร ฯลฯ
คำในภาษาไทยจำนวนมากที่เราใช้กันในชีวิตประจำวัน ถ้าเราศึกษาให้ดีจะพบว่ามีที่มาจากภาษาอื่นๆ เช่น ผิว และ เปลือก มาจากภาษาจีนโบราณ เช่นเดียวกับคำว่า "ม้า" และ "อาน"รวมทั้งจำนวนนับตั้งแต่ เอ็ด (หนึ่ง) สาม สี่ เจ็ด แปด เก้า และสิบ แต่เมื่อเอาเข้าจริงๆ แล้ว คำว่า หนึ่ง สอง แปด และสิบ หรือสิบเอ็ด ก็เป็นคำร่วมเชื้อสายกับภาษาจีนและออสโตรนีเซียน เช่น หนึ่ง มลายู-ชวาว่า ตุงกัล หรือ นุงกัล (ดูพยางค์หน้า) แปลว่า หนึ่ง ขณะที่จำนวนนับจริงๆ ใช้คำว่า ซาตู หรือ ซา (หรือ ซอ) มาจากรากศัพท์ภาษาโปรโต-ออสโตรนีเซียนว่า เอซา หรืออิซา (*esa/isa); ส่วนคำว่า สอง เป็นคำภาษาไท-จีน ตรงกับมลายูว่า ปาซัง (pasang) แปล คู่กัน (ซึ่งแปลว่า สอง เช่นกัน) แม้ว่าจะไม่ได้ใช้ในแง่จำนวนนับ ซึ่งปกติใช้คำว่า ดูวา (dua) มาจากรากศัพท์ภาษาโปรโต-ออสโตรนีเซียนว่า ดูซา (*duSa)
คำภาษาไทยอื่นๆ เช่น เดิน ดำเนิน เป็นภาษาเขมร คำว่า หน้าไม้ ใช้ร่วมกันทั้ง ไทย (ปืนผาหน้าไม้) พม่า มลายู (ปานาห์); ส่วนคำว่า ครบ ครอบ ซ้อน ซับ ซาบ ตัด กระดูก ฯลฯ ใช้ร่วมกับมลายู (สาขาหนึ่งของตระกูลภาษาออสโตรนีเซียน) ว่า จูกบ (cukup), เปอกบ (pekup), ซูซน (susun), เซอรับ (serap), ตัส หรือจาตัส (tas, catas), ตันดุก (tanduk) โดยยอมให้มีการย้ายความหมายได้บ้าง; ปลิง ลิ้น ทาก มาจากคำภาษาโปรโต-ออสโตรนีเซียนที่สืบสร้างโดย ดร.พอล เค.เบเนดิกท์ ว่ามาจากคำว่า pelindak เป็นภาษาไทยว่า ปลิง ลิ้น และทาก และในภาษามลายูปัจจุบันว่า ลิ้น (lidah) ฯลฯ
อีกไม่นาน ประเทศไทยและประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นๆ ก็จะเปิดประเทศมีลักษณะร่วมกันเป็น "ประชาคม" ที่เป็นหนึ่งเดียวกันมากยิ่งขึ้น การถ่ายเทในเรื่องภาษา วัฒนธรรมประเพณี และค่านิยมระหว่างกันจะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ภาษาไทย ลาว มาเลย์ เขมร เวียดนาม อังกฤษ จีน อินโดนีเซียน... ก็จะใช้ทับศัพท์กันและ "ยืมยุ่งอีนุงตุงนัง" กันทีเดียวโดยเฉพาะในหมู่วัยรุ่น หลายคนที่รู้ภาษาอาเซียนจะพูดและใช้ภาษาแบบปนๆ กันน่าดูชม ส่วนคนหนุ่มสาวเองก็จะร่วมเผ่าพงศ์กันมากขึ้นเป็น "เผ่าพันธุ์อาเซียน" อย่างไรล่ะ นี่แหละประชาคมอาเซียน พ.ศ.2558 ที่กำลังจะมาถึง...
เราเตรียมพร้อมกันหรือยัง!
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 รัฐฉาน ของพวกไตใหญ่ (อาณาจักรแสนหวีเดิม)
2 แผนที่แสดงบริเวณถิ่นที่อยู่ของชนไทขาว ไทดำ และไทแดงในเวียดนาม ภาพจาก http://board.postjung.com/m/531765.html
3 โลโก้ประชาคมอาเซียนในประชาคมโลก