การศึกษาแนวเสรีช่วยฝึกระบบคิด-สร้างสรรค์ ทักษะแห่งโลกอนาคตที่หุ่นยนต์ทำไม่ได้
ในวันที่หุ่นยนต์ และปัญญาประดิษฐ์กำลังมาแทนที่แรงงานจำนวนหลายล้านตำแหน่ง สิ่งที่คนรุ่นใหม่ต้องการคือทักษะความคิดสร้างสรรค์ แล้วทำไมเศรษฐี นักการเมืองแนวหน้าที่ขับเคลื่อนโลกถึงจบสายสังคม ปรัญชา ศิลปศาสตร์
พูดเรื่องการศึกษา จากกรณีที่ นายกรัฐมนตรีมีข้อสั่งการเพิ่มเติมในเรื่องให้มีการควบคุมสาขาที่ไม่มีงานทำ/ไม่ตรงความต้องการ การลดเงินอุดหนุนหรือไม่ให้ ซึ่งเป็นคำสั่งผ่านโครงการพัฒนาศักยภาพของทรัพยากรมนุษย์ในอุดมศึกษา เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของบริบทโลก (ทุนพัฒนาอาจารย์) พ.ศ.2561-2580 (อ่านประกอบ นายกฯ สั่งเพิ่มเติม ‘ทุนพัฒนาอาจารย์’ คุมงบฯ อุดมศึกษา สาขาไม่มีงานทำ-ไม่ตรงความต้องการ)
คำถามชวนคิดต่อคือในโลกยุคใหม่ที่เราเรียกว่า เป็นโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจากเทคโนโลยีดิจิทัลที่พัฒนากันไปไม่หยุดยั้ง หลายๆ คนพูดถึงว่า อีกไม่นานหุ่นยนต์จะเข้ามาแทนที่วิชาชีพแบบรูทีนจำนวนมาก แล้วเด็กรุ่นใหม่จะเรียนอะไรเพื่อมีชีวิตสอดคล้องกับโลกอนาคต
เมื่อเร็วๆ นี้นักการเงินชื่อดังของโลกอย่าง บิล มิลเลอร์ (Bill Miller) บริจาคเงินจำนวน 75 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ให้กับภาควิชาปรัชญาของมหาวิยาลัยจอห์น ฮอปกิ้น ซึ่งแน่นอนว่าข่าวการบริจาคเงินก้อนโตครั้งนี้ กลายเป็นข่าวหน้าหนึ่งของสื่อหลายหัว แต่สิ่งที่ ซาร่า เชิร์ชสเวลล์ (Sarah Churchwell) หัวหน้าภาควิชา public understandingคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยลอนดอน ระบุว่า คนที่เรียนในสาขาวิชาอย่างปรัชญา พบว่า คนเหล่านี้เมื่อจบออกไปสามารถนำความรู้ไปต่อยอดและสร้างโอกาสทางธุรกิจเฉลี่ย 1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เลยทีเดียว
น่าสนใจคือว่าทำไมการเรียนปรัชญาที่ฟังดูเเล้วไม่น่าจะกลายเป็นเศรษฐี แต่ทำไมผลการศึกษาถึงพบข้อเท็จจริงที่ต่างกัน
ซาร่า บอกว่า ถ้าอยากรู้ว่าจะสร้างสินทรัพย์ได้มากมายมหาศาลแบบนั้นทำได้ยังไง ให้ดูตัวอย่าง จอร์จ โซรอส ซึ่งเรียนจบด้านปรัชญา หรือนักลงทุนพันล้านอย่าง Carl Icahn อดีตที่ปรึกษาประธานาธิบดีสหรัฐ โดนัลด์ ทรัมป์ ที่วิทยานิพนธ์ สมัยเรียนที่Princeton เรื่อง “ The Problem of Formulating an Adequate Explication of the Empiricist Criterion of Meaning”: another philosopher” ซึ่งเขาเห็นว่าไม่ใช่นักปรัชญาทุกคนจะมีจริยธรรม แต่สิ่งที่ทุกคนมีคือกระบวนการคิด
สมองของคนเราก็เหมือนกับกล้ามเนื้อมัดอื่นๆ ในร่างกาย การออกแรงขยับบ่อยๆ ช่วยทำให้กล้ามเนื้อมัดนั้นแข็งแรงขึ้น ทำงานได้คล่องขึ้น และมีความยืดหยุ่นมากขึ้น ดังนั้นสมองก็เช่นกันที่จำเป็นต้องใช้งานบ่อยๆ การที่คนเราจะสามารถตั้งสมมติฐาน กระบวนการคิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุผลขึ้นมาจากเรื่องสักหนึ่งเรื่องไม่ใช่ง่าย แต่ต้องอาศัยการฝึกฝน ผ่านกระบวนการทางทฤษฎี ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีสอนในคณะที่เกี่ยวข้องกับมนุษยศาสตร์
แต่ก็ไม่ใช่เพียงแค่นั้น ซาร่า ยังบอกเราอีกว่า ในงานขั้นสูงที่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญในสาขาอย่างคณิตศาสตร์นั้นยิ่งจำเป็นที่ต้องทำงานอยู่บนสิ่งที่ไม่มีจริง หมายถึงว่า การคำนวนต่างๆ เกิดขึ้นบนพื้นฐานการตั้งสมมติฐานทั้งสิ้น ไม่มีตัวเลขจริงๆ นั่นคือความยากนั่นคือความยากในการคิด เนื่องจากขอบเขตของจินตนาการมักไปขัดแย้งกับความคิดเชิงตรรกะ
ซาร่า ยังบอกว่าอีกว่า การแบ่งศาสตร์ระหว่างศิลปะกับวิทยาศาสตร์นั้น ถือว่าเป็นความเชื่อที่ผิดๆ ความรู้ในโลกนี้ อย่างคำว่า “ศิลปะ-Art” เป็นการยืมมาจากรากศัพท์ของภาษาฝรั่งเศสที่หมายถึง “วิธีการ -Method” หรือ “ความรู้-Knowledge” และเช่นกันกับคำว่า “วิทยาศาสตร์-Science” ก็ยืมมาจากศัพท์ของฝรั่งเศสที่หมายถึง “ความรู้-knowledge”
จากข้อจำกัดที่กล่าวมาข้างต้น จึงเกิดแนวคิดของ การศึกษาแบบเสรี (liberal education) ในตอนนั้นนักปรัชญาและนักวิทยาศาสตร์ ได้ผลิตคิดค้นแนวคิดสมัยใหม่มากมายที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์และศิลปะ
สฤณี อาชวาทนันกุล นักวิชาการอิสระ อธิบายนิยามของ Liberal Education หรือ การศึกษาแนวเสรี ไว้ว่า เป็นปรัชญาการศึกษาระดับอุดมศึกษาปรัชญาหนึ่ง ที่มีอิทธิพลครอบงำมหาวิทยาลัยเก่าแก่ชื่อดังของอเมริกาหลายแห่ง ปรัชญานี้ตั้งอยู่บนความเชื่อที่ว่า นอกเหนือจากวิชาเฉพาะด้านที่เลือกเรียน นักศึกษาปริญญาตรีควรได้รับความรู้เบื้องต้นในสาขาวิชาพื้นฐานต่างๆ ที่หลากหลาย ครอบคลุม ตลอดจนมีความสนใจ เข้าใจ และนับถือในวิธีคิดของแต่ละสาขาวิชาเหล่านั้น เพื่อให้สามารถคิดได้อย่าง "บูรณาการ" คือสามารถนำความรู้จากสาขาวิชาอื่นมาประยุกต์ใช้ในสาขาที่ตนมีความชำนาญ [1]
ในความหมายของปรัชญานี้ "liberal arts" จึงไม่ได้หมายความเฉพาะวิชาด้าน "ศิลปศาสตร์" ดังคำแปลปกติของศัพท์คำนี้ในภาษาไทย แต่มีความหมายครอบคลุมวิชาด้านวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ด้วย ซึ่งเป็นแนวคิดที่สะท้อนข้อเท็จจริงว่า "วิทยาศาสตร์" และ "ศิลปศาสตร์" นั้น ไม่สามารถแยกจากกันได้โดยเด็ดขาด โดยเฉพาะในโลกปัจจุบันอันซับซ้อน ที่ต้องอาศัยความรู้ และความเชี่ยวชาญหลายแขนงประกอบกัน ในการเข้าถึงสัจธรรมที่เป็นองค์รวม แก้ไขปัญหา และคิดค้นกระบวนการพัฒนาโลก ทั้งในมิติด้านวัตถุ และมิติด้านจิตใจ [2]
จึงไม่แปลกที่มหาวิทยาลัยหลายแห่งในสหรัฐอเมริกา ในหลักสูตร “liberal arts” ต้องการให้ผู้เรียนที่จบไปมีวุฒิทั้งสายศิลปศาสตร์และสายวิทยาศาสตร์
อย่างที่เราทราบกันดีว่าหุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์(AI) จะเข้ามาแทนที่งานรูทีน หรืองานทั่วๆ ไป ดังนั้นการพัฒนาบุคลากร พัฒนาบัณฑิตที่จะออกไปสู้กับโลกในอนาคต ทักษะที่หุ่นยนต์และ AI ทั้งหลายไม่มีคือ ทักษะการคิดเชิงสร้างสรรค์ จินตนาการ มีเหตุมีผล ดังนั้นการปล่อยให้นักศึกษาไม่พร้อมที่จะมีทักษะเหล่านี้ หรือมีทักษะที่แคบ (narrow skill) แบบที่สังคมเห็นว่าดีย่อมเป็นเรื่องเสี่ยงสำหรับอนาคตของตัวพวกเขา
Robert Halfon อดีตรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการของอังกฤษ ออกมาพูดเมื่อช่วงกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมาว่า ทุกหลักสูตรต้องมีสิ่งที่เป็นทักษะขั้นสูงตามที่นายจ้างต้องการ เขายังบอกด้วยว่า หากใครต้องการที่จะเรียนเรื่องประวัติศาสตร์ยุคกลางก็ได้ แต่สิ่งที่รัฐบาลและประเทศต้องการคือคนที่สามารถจบออกมาตอบสนองต่อความต้องการของประเทศ ดังนั้นการเรียนในสายวิชามนุษยศาสตร์เป็นสิ่งที่ไร้ประโยชน์อย่างยิ่ง
ซาร่า ผู้เขียนบทความที่มีชื่อว่า หากต้องการขับเคลื่อนโลกใบนี้ ต้องเรียนวิชาไร้ประโยชน์ (If you want to run the world, study a ‘useless’ subject) เธอวิจารณ์ความคิดที่ว่าเรียนสายมนุษยศาสตร์นั่นไร้ประโยชน์ไว้น่าสนใจว่า เหตุที่เราต้องเรียนเรื่องราวในอดีตอย่างวิชาประวัติศาสตร์ก็เพราะนั่นคือสิ่งที่เรามีในวันนี้ คุณไม่สามารถเรียนเรื่องอนาคตได้จริงๆ สิ่งที่เราทำได้คือการจินตนาการถึงมัน เธอยังบอกด้วยว่า นาย Halfon นั่นแหละที่สมควรไปเรียนอะไรที่มีประโยชน์เพื่อไปเป็น สมาชิกวุฒิสภา (MP-Member of Parliament)
ลองมาดูอย่างผู้นำโลกอย่าง เอ็มมานูเอล มาครง(Emmanuel Macron) ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ขวัญใจใครหลายๆ คนก็เป็นศิษย์จากคณะปรัชญาเช่นกัน ในส่วนรัฐสภาอังกฤษในช่วงตลอด 50 ปีที่ผ่านมา นักการเมืองในสภามักจบมาจากสามสาขา ได้แก่ ปรัชญา รัฐศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์ หรือเรียกรวมๆ ว่า PPE (ย่อมาจาก philosophy, politics and economics)
นางอังเกลา แมร์เคิล (Angela Merkel) ผู้นำเยอรมนี ที่แม้จะจบปริญญาเอกในสาขา เคมีควันตัม แต่หากดูลึกลงไปในวิชานี้ เราจะเห็นว่าเป็นการเรียนในเรื่องของทฤษฎี ดังนั้นข้อแตกต่างจึงไม่ใช่เรื่องของหลักสูตรมีประโยชน์ หรือไร้ประโยชน์ หากแต่คือการสร้างทักษะอันเกิดขึ้นจากการฝึกทักษะที่อิงกับทฤษฎีและการใช้ความคิดที่เป็นอิสระ
ซาร่า ยังวิพากษ์ถึงประธานาธิบดีสหรัฐ โดนัลด์ ทรัมป์ ว่า ถึงแม้จบมาจากสายเศรษฐศาสตร์ โดยเขาเลือกเรียนในสาขาสิ่งที่เรียกว่ามีประโยชน์อย่างมากอย่าง การบริหารอสังหาริมทรัพย์ แต่ดูสิ่งที่เขาพูด ที่เขาทำตัวในวันนี้ไม่ต่างอะไรจากคนไม่ได้รับการศึกษา
บทสรุปที่ ซาร่าบอกไว้ในบทความของเธอ เธอย้ำว่าไม่ได้จะสื่อสารว่า เห้ย!! ทุกคนไปเรียนปรัชญากันเถอะ เปล่าเลย สิ่งที่เธอกำลังสื่อสารนั่นคือ หากคุณต้องการจบมาแล้วมีงานทำ ให้เรียนในสาขาที่มีประโยชน์ แต่หากจะเป็นคนที่ขับเคลื่อนโลกใบนี้ ไปลงเรียน liberal education
อ้างอิง
[1] [2] การศึกษาแนวเสรี บูรณาการความรู้ ทักษะทางปัญญา และนิสัยทางความคิด