พลิกปมสารพัดปัญหา-ความขัดแย้ง "บึงบอระเพ็ด" ก่อน กษ.เสนองบฯ พัฒนา 2.4 พันล้าน
การใช้ประโยชน์ที่ดินและการประกอบอาชีพในบึงบอระเพ็ดว่า มีการใช้ประโยชน์ที่ทับซ้อนและเชื่อมโยงกันหลายมิติ เนื่องจากเป็นระบบนิเวศน์เดียวกันมีระบบน้ำที่เชื่อมถึงกัน ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐที่ซ้อนทับกันในบางอย่าง จนทำให้เกิคดวามขัดแย้งในบึงบอระเพ็ดอย่างกว้างขวาง
เมื่อต้นปี 2559 มีเสียงชาวบ้านในพื้นที่บึงบอระเพ็ด ออกมาเรียกร้องให้ คสช. ลงมาดูแลแก้ปัญหา ปฏิบัติการยึดคืน "บึงบอระเพ็ด" อย่างเร่งด่วน เพื่อคืนธรรมชาติ พันธุ์ปลา พันธุ์ไม้ และนกน้ำ ให้ทะเลน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดของประเทศกลับคืนมา (อ่านประกอบ:รุมทึ้ง "บึงบอระเพ็ด" สิ้นแหล่งชมนก 1 ใน 9 ของโลก นกเป็ดน้ำหนี –นกฟ้าหญิงสิรินธรสูญพันธุ์ และ ก.เกษตรฯ เตรียมชง ครม.อนุมัติงบกลางขุดลอก 'บึงบอระเพ็ด' เพิ่มปริมาณเก็บกักน้ำ)
บึงบอระเพ็ด บึงทะเลสาบน้ำจืดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ซึ่งมีความสำคัญระดับประเทศ ทั้งด้านการท่องเที่ยว เศรษฐกิจ สังคม และการกักเก็บน้ำ ล่าสุดในการประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งแรกของปี 2561 มีเรื่องการแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการบึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งเป็นผลการประชุมคณะกรรมการฟื้นฟู อนุรักษ์และพัฒนาบึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ ครั้งที่ 1/2560 วันที่ 12 ตุลาคม 2560 เข้าสู่ครม.
ในรายงานที่กระทรวงเกษตรฯ เสนอครม. นั้น ได้โชว์ให้เห็นยุทธศาสตร์การพัฒนาบึงบอระเพ็ดที่เป็นรูปธรรม ประกอบด้วย
@ ยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาการบุกรุกและการใช้ประโยชน์ในบึงบอระเพ็ด
1) การรังวัด จัดทำแผนที่และตรวจสอบสิทธิ์เพื่อจัดให้เช่า วงเงิน 5.7 ล้านบาท ดำเนินการในปี 2561 – 2562 โดยกรมธนารักษ์เป็นเจ้าภาพหลัก
2) การสำรวจ จัดทำแผนที่บึงบอระเพ็ด วงเงิน 25 ล้านบาท ดำเนินการในปี 2561 – 2564 โดยกรมชลประทานเป็นเจ้าภาพหลัก
@ ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำ
1) การขุดลอกตะกอนดินบริเวณหน้าฝาย วงเงิน 1,316.95 ล้านบาท ดำเนินการในปี 2561 – 2564 โดยกรมชลประทานเป็นเจ้าภาพหลัก
2) การศึกษาความต้องการการใช้น้ำในบึงบอระเพ็ด วงเงิน 1 ล้านบาท ดำเนินการในปี 2561 โดยจังหวัดนครสวรรค์เป็นเจ้าภาพหลัก
3) ปรับปรุงฝายเดิมเป็นฝายพับได้ เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกัก จาก 180.29 เป็น 318.66 ล้านลูกบาศก์เมตร วงเงิน 300 ล้านบาท ดำเนินการในปี 2562 – 2564 โดยกรมชลประทานเป็นเจ้าภาพหลัก
4) พัฒนาต้นน้ำ/อาคารดักตะกอน/ปรับปรุงคลอง 11 สาย วงเงิน 675 ล้านบาท โดยกรมชลประทานเป็นเจ้าภาพหลัก
5) แก้มลิงจำนวน 3 แห่ง วงเงิน 95 ล้านบาท ดำเนินการในปี 2561 – 2564 โดยกรมชลประทานเป็นเจ้าภาพหลัก
@ ยุทธศาสตร์การบริหาร ขับเคลื่อนแบบบูรณาการ ได้แก่ การจัดตั้งศูนย์ควบคุมบริหารจัดการพื้นที่บึงบอระเพ็ด (War room) วงเงิน 1 ล้านบาท ดำเนินการในปี 2561 โดยกรมประมงเป็นเจ้าภาพหลัก
รวมวงเงินงบประมาณทั้งสิ้นกว่า 2,419 ล้านบาท
สตง.ตรวจสอบ 10 ปีฟื้นฟู บึงบอระเพ็ดไม่เป็นรูปธรรม
ที่ไปที่มา นำมาสู่การบริหารจัดการแก้ไขปัญหาบึงบอระเพ็ดนั้น สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เคยรายงานการตรวจสอบการดำเนินงานบริหารจัดการบึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ ของกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พบว่า มีข้อตรวจพบและข้อเสนอแนะประเด็น ที่สำคัญ ดังนี้
1.การดำเนินการในพื้นที่บึงบอระเพ็ดของหน่วยงานต่างๆ ไม่เป็นไปตามกฎหมายและมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง โดยพบว่า กรมประมงดูแลและบำรุงรักษาบึงบอระเพ็ดไม่ครอบคลุมทั้งพื้นที่ โดยดูแลและบำรุงรักษาเฉพาะพื้นที่ที่ดำเนินการตามภารกิจประมง ขาดการดูแลพื้นที่ในส่วนอื่นๆ ไม่มีการวางแผนการดำเนินการแก้ปัญหาการบุกรุก ทำให้ประชาชนบุกรุกหรือครอบครองทำประโยชน์ในพื้นที่บึงบอระเพ็ด และหน่วยงานราชต่างๆ มีการใช้ประโยชน์พื้นที่บึงบอระเพ็ดไม่ถูกต้อง
2.คณะกรรมการฟื้นฟู อนุรักษ์และพัฒนาบึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ ไม่ปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ที่กำหนด โดยการดำเนินการของคณะกรรมการฯ ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2549-2558 ประมาณ 10 ปี ไม่เป็นรูปธรรมชัดเจน
และ 3.อาคารหรือสิ่งปลูกสร้างของหน่วยต่างๆ ที่ดำเนินการในพื้นที่บึงบอระเพ็ดไม่มีการใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ โดยหน่วยงานราชการจำนวน 6 หน่วยงาน ไม่มีการใช้ประโยชน์อาคารหรือสิ่งปลูกสร้างตามวัตถุประสงค์ รวม 22 รายการ และมีอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์อื่นๆ ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์จำนวน 2 รายการ ทำให้การใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินในการก่อสร้างอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างเกิดความไม่คุ้มค่า
จากนั้น พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง ได้เชิญอธิบดีกรมประมง รองอธิบดีกรมชลประทาน ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี และผู้เกี่ยวข้อหารือ แนวทางแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการบึงบอระเพ็ด เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2560 พร้อมสั่งการให้กรมประมงสรุปประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้น ตามข้อตรวจพบของ สตง.
มหิดลศึกษาพบสารพัดความขัดแย้ง บึงบอระเพ็ด
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) พบว่า ก่อนหน้านี้มีข้อมูลผลการศึกษา “แผนการจัดการบึงบอระเพ็ด” โดยศูนย์วิจัยและฝึกอบรมบึงบอระเพ็ด โครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่จัดทำขึ้นเพื่อเสนอแนวทางในการบริหารจัดการบึงบอระเพ็ดเสนอสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช. ) เมื่อปี 2558
ผลการศึกษา ค้นพบ การใช้ประโยชน์ที่ดินและการประกอบอาชีพในบึงบอระเพ็ด มีการใช้ประโยชน์ที่ทับซ้อนและเชื่อมโยงกันหลายมิติ เนื่องจากเป็นระบบนิเวศน์เดียวกันมีระบบน้ำที่เชื่อมถึงกัน ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐที่ซ้อนทับกันในบางอย่าง จนทำให้เกิคดวามขัดแย้งในบึงบอระเพ็ดอย่างกว้างขวาง
จะเห็นว่า ยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาการบุกรุกและการใช้ประโยชน์ในบึงบอระเพ็ด ที่คณะกรรมการฟื้นฟู อนุรักษ์และพัฒนาบึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ เห็นชอบให้ดำเนินการมีเรื่องของการรังวัดด้วยนั้น เพื่อจัดทำแผนที่และตรวจสอบสิทธิ์เพื่อจัดให้เช่า สอดคล้องกับผลการศึกษาของศูนย์วิจัยและฝึกอบรมบึงบอระเพ็ด ที่มีการระบุว่า
"ขอบเขตบึงบอระเพ็ดทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและภาคประชาชน ไม่ทราบขอบเขตที่แท้จริง เนื่องจากปัจจุบันหลักหมุดที่เคยปักไว้ ซึ่งมีความสูงต่ำกว่าระดับสายจาได้สูญหายจากการถูกตะกอนดินทับถม การเคลื่อนย้ายโดยมนุษย์ทั้งตั้งใจและไม่ตั้งใจ รวมถึงขอบเขตอื่นๆ เช่น ขอบเขตห้ามล่าบึงบอระเพ็ด เขต 1 และ 2 ในการทำประมงที่ยังไม่ชัดเจนและสามารถลักลอบเคลื่อนย้ายตำแหน่งได้
นอกจากนี้ หน่วยงานของทางราชการมีการรังวัดและปักหมุดเขตตามขอบเขตงานที่หน่วยงานนั้นๆ รับผิดชอบ แต่กลับไม่เป็นที่ยอมรับของประชาชนในพื้นที่"
บึงบอระเพ็ด ซุปเปอร์มาเก็ตของชาวบ้านได้หาอยู่หากินมาหลายชั่วอายุคน แต่การใช้ประโยชน์บึงบอระเพ็ดที่ทับซ้อนกันนี่เองนำมาซึ่งความขัดแย้งในอาชีพ เช่น
- อาชีพประมงกับหน่วยงานราชการ มีการลักลอบเข้าไปหาปลาในเขตหวงห้าม
-อาชีพบัวกับอาชีพเกษตรกรรมนาข้าว บัวส่วนใหญ่จะขึ้นบริเวณน้ำตื้น หรือบริเวณริมตลิ้นชายน้ำของบึงบอระเพ็ด จากกรณีน้ำลดลงทำให้ปรากฎที่ดินขึ้นมาจำนวนมาก มีกลุ่มผู้ประกอบอาชีพนาข้าวได้เข้าไปไถที่ดินเพื่อทำนาเพิ่ม โดยได้ทำลายระบบนิเวศริมน้ำ ซึ่งเป็นบัวและพืชน้ำออกไปจนอาชีพทำนาบัว ลดลงจนแทบไม่มีเหลือ
ผู้ทำนาบัวระบุว่า ระดับความลึกของน้ำที่เหมาะสมสามารถปลูกบัวได้ คือ 3 เมตร ดังนั้นภาวะขาดแคลนน้ำและแย่งกันใช้น้ำ เป็นอุปสรรคอีกสาเหตุที่จำนวนผู้ทำนาบัวลดลง เพราะนกกินฝักบัวและจัดการกับนกไม่ได้ ซึ่งผิดกฎหมายพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า
- อาชีพการท่องเที่ยวกับอาชีพเกษตรกรรมนาข้าว เพราะการสูบน้ำทำนาของเกษตรกรรมนาข้าวทำให้น้ำลดลงอย่างรวดเร็ว จนไม่สามารถเดินเรือท่องเที่ยวได้ กระทบต่อรายได้ ภาพลักษณ์การท่องเที่ยวระดับจังหวัด
- ทุกกลุ่มอาชีพกับหน่วยงานราชการ เช่น การขุดลอกบึงบอระเพ็ดในปี 2555 ที่ส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำเข้าบึงบอระเพ็ด เป็นต้น
ขณะเดียวกัน ยังพบ ความขัดแย้งในอาชีพเดียวกัน ก็มี
กลุ่มเกษตรกรรมนาข้าว เช่น ช่วงมีโครงการรับจำนำข้าว กลายเป็นแรงจูงใจให้มีกลุ่มคนทำนาข้าวลงไปครอบครองและใช้ประโยชน์เพิ่มขึ้นในพื้นที่ใหม่ในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงบอระเพ็ด มีทั้งคนในและคนนอกพื้นที่ มีการทำคันกั้นน้ำเป็นระยะๆ ทำให้การสูบบน้ำมายังชาวบ้านที่ทำนาอยู่เดิม กลายเป็นห่างจากน้ำมากขึ้น สูบน้ำได้ลำบากมากขึ้น เกิดการกระทบกระทั่งแย่งน้ำจนถึงขั้นทะเลาะวิวาท ทำร้ายร่างกายเป็นประจำในฤดูแล้ง
กลุ่มทำประมง เกิดความขัดแย้งระหว่างกลุ่มทำประมงถูกกฎหมายกับผิดกฎหมาย และการออกตรวจจับของเจ้าหน้าที่รัฐ
ความขัดแย้งระหว่างหน่วยงาน การดูแลพื้นที่ตามหน้าที่รับผิดชอบของแต่ละหน่วยงานในบึงบอระเพ็ดมีการทับซ้อนกัน ในบางอย่างจนเกิดความคลุมเครือในการตัดสินใจในการดำเนินงาน เช่น ความต้องการขอเช่าพื้นที่ทำกินของชุน กับหน่วยงานภาครัฐ ยังทำไม่ได้ เพราะคลุมเครือเรื่องสิทธิ์ของที่ดินในบึงบอระเพ็ด กรมประมงขอใช้พื้นที่ทั้งหมดกับกรมธนารักษ์ แต่ภารกิจของกรมประมงดูแลเฉพาะเขตน้ำท่วมเท่านั้น ทำให้เกิดปัญหาในเขตที่น้ำไม่ท่วม ชาวบ้านขอเช่าที่ดินไม่ได้
นอกจากนี้ ยังมีข้อขัดแย้งระหว่างส่วนงานในเชิงปฏิบัติการ เกิดความเข้าใจผิดระหว่างหน่วยงาน ไม่เว้นแม้แต่ปัญหาการใช้กฎหมาย ผลการศึกษา ยังยกตัวอย่าง แค่การขุดลอกบึงบอระเพ็ด ก็ไม่สามารถนำตะกอนออกจากบึงบอระเพ็ดได้ เนื่องจากกฎหมายบางฉบับระบุว่า ห้ามนำดินหรือตะกอนดินออกจากที่ดินของรัฐ ทำให้ที่ผ่านมากรมประมงทำได้เพียงดูดตะกอนมาไว้ด้านข้างและถมทำเกาะกลางบึงเท่านั้น รวมถึงการขุดลอกตะกอนดินครั้งใหญ่ในปี 2555 มีการขุดมาถมกองสูง 20-30 เมตรข้างบึงบอระเพ็ด ซึ่งการดำเนินการลักษณะเช่นนี้ ส่งผลต่อระบบนิเวศในภาพรวมอย่างรุนแรง
ฉะนั้นอย่าได้แปลกใจ ปัญหาบึงบอระเพ็ดที่เรื้อรังมานานนับสิบปี วันนี้เรากำลังเห็นระบบการจัดการบึงบอระเพ็ด พื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติ ที่ทุกฝ่ายมีส่วนรวม ฟื้นฟู อนุรักษ์ พัฒนาร่วมกัน ไม่เฉพาะกระทรวงใดหรือหน่วยงานเดียวเท่านั้น