เปิดบทลงโทษ 'ดร.เก๊' รายล่าสุดใช้วุฒิปลอมสมัครอาจารย์ได้ 'ผศ.' ที่ราชมงคลล้านนา
"...เมื่อมหาวิทยาลัยฯ ได้มีคำสั่งให้นายรัฐนันท์ฯ พ้นสภาพจากการเป็นพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา โดยให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่มีคำสั่งจ้าง และมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งที่แต่งตั้งให้นายรัฐนันท์ฯ ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ โดยให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่มีคำสั่งแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวแล้ว มหาวิทยาลัยฯ ย่อมสามารถเรียกให้นายรัฐนันท์ฯ คืนเงินประจำตำแหน่งทางวิชาการที่ได้รับไปในระหว่างวันที่ 2 ตุลาคม 2558 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2560 ได้ ตามมาตรา 51 วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ซึ่งให้นำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้บังคับโดยอนุโลม..."
ดูเหมือนว่า ปัญหาการใช้หลักฐานการศึกษา หรือ ใบปริญญาบัตรปลอมระดับปริญญาเอก ของ บุคคลเพื่อสมัครเข้าเป็นอาจารย์ ในสถาบันการศึกษาประเทศไทย ยังคงปรากฎให้เห็นต่อเนื่อง
ล่าสุด มีกรณีเกิดขึ้นที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ภาคพายัพ เชียงใหม่ เป็นเรื่องของอาจารย์รายหนึ่ง ได้รับการตำแหน่งดำรงตำแหน่งเป็น ผู้ช่วยศาสตราจารย์ (ผศ.) แต่่ถูกตรวจสอบพบว่า ไม่ได้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยชื่อดังในประเทศอังกฤษจริง ใช้หลักฐานทางการศึกษาและใบปริญญาบัตรปลอมในการสมัครเป็นพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา ตำแหน่งอาจารย์ วุฒิปริญญาเอก (บัญชีและการเงิน) มหาวิทยาลัยฯ จึงได้มีคำสั่ง ที่ 208/2560 เรื่อง การพ้นสภาพการเป็นพนักงาน และกำลังถูกพิจารณาเรียกคืนเงินประจำตำแหน่งทางวิชาการย้อนหลังด้วย
เรื่องราวทั้งหมด ถูกเปิดเผยขึ้นตามบันทึกคณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง ของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่ตอบข้อหารือการเรียกคืนเงินประจำตำแหน่งทางวิชาการที่พนักงานในสถาบันอุดมศึกษา ได้รับไปในระหว่างดำรงตำแหน่งโดยใช้วุฒิการศึกษาปลอม ของ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา
ระบุเนื้อหาว่า ในช่วงเดือนมิ.ย.2560 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ได้ทำหนังสือขอหารือปัญหาเกี่ยวกับการเรียกคืนเงินประจำตำแหน่งทางวิชาการ จากนายรัฐนันท์ พงศ์วิริทธิ์ธร พนักงาน ในสถาบันอุดมศึกษา ตำแหน่งอาจารย์ วุฒิปริญญาเอก (บัญชีและการเงิน) สังกัดคณะบริหารธุรกิจและศิลปศาสตร์ ที่ได้รับการตั้งแต่วันที่ 3 ต.ค.2554 และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาได้แต่งตั้งให้นายรัฐนันท์ฯ ดำรงตำแหน่งทางวิชาการ ระดับผู้ช่วยศาสตราจารย์ สาขาวิชาบริหารธุรกิจ สังกัดคณะบริหารธุรกิจและศิลปศาสตร์ ตั้งแต่วันที่ 2 ตุลาคม 2558
ต่อมามหาวิทยาลัยฯ ตรวจสอบพบว่านายรัฐนันท์ฯ ไม่ได้สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาเอกจาก University of Hertfordshire ประเทศอังกฤษ แต่ได้ใช้หลักฐานทางการศึกษาและใบปริญญาบัตรปลอมในการสมัครเป็นพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา ตำแหน่งอาจารย์ วุฒิปริญญาเอก (บัญชีและการเงิน) มหาวิทยาลัยฯ จึงได้มีคำสั่งให้นายรัฐนันท์ฯ พ้นสภาพจากการเป็นพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา ตั้งแต่วันที่ 3 ตุลาคม 2554 นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยฯ ได้มีคำสั่ง ที่ 789/2560 เรื่อง เพิกถอนคำสั่งแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการ ลงวันที่ 7 มิถุนายน 2560 เพิกถอนคำสั่งที่แต่งตั้งให้นายรัฐนันท์ฯ ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ สาขาวิชาบริหารธุรกิจ สังกัดคณะบริหารธุรกิจและศิลปศาสตร์ ย้อนหลังไปถึงวันที่ 2 ตุลาคม 2558
แต่มีประเด็นทางข้อกฎหมาย ที่ต้องพิจารณาว่า กรณีที่นายรัฐนันท์ฯ ได้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ และได้รับเงินประจำตำแหน่งดังกล่าวไปตั้งแต่วันที่ 2 ตุลาคม 2558 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2560 ถือเป็นประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นที่ได้รับหรือมีสิทธิจะได้รับจากทางราชการก่อนมีคำสั่งให้เพิกถอนตำแหน่งทางวิชาการดังกล่าว ซึ่งไม่สามารถเรียกคืนประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นที่ได้รับหรือมีสิทธิจะได้รับจากทางราชการใช่หรือไม่ หากมีกฎหมายใดกำหนดให้เรียกคืนประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นที่ได้รับหรือมีสิทธิจะได้รับจากทางราชการ มหาวิทยาลัยฯ ขอทราบแนวทางปฏิบัติในเรื่องดังกล่าวเพื่อจะได้ดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายต่อไป
เบื้องต้น คณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองได้พิจารณาข้อหารือของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา โดยมีผู้แทนกระทรวงศึกษาธิการ (สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา) และผู้แทนมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เป็นผู้ชี้แจงรายละเอียดข้อเท็จจริงแล้ว เห็นว่า มาตรา 65/2 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. 2547 บัญญัติให้พนักงานในสถาบันอุดมศึกษามีสิทธิที่จะได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งวิชาการหรือตำแหน่งอื่นใดตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับของสภาสถาบันอุดมศึกษา ประกอบกับข้อ 31 แห่งข้อบังคับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ว่าด้วยการบริหารงานบุคคลสำหรับพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. 2553 กำหนดให้พนักงานในสถาบันอุดมศึกษาผู้ดำรงตำแหน่งวิชาการนอกจากจะได้รับค่าจ้างตามตำแหน่งแล้วให้ได้รับเงินประจำตำแหน่งตามอัตราที่คณะกรรมการบริหารงานบุคคลประจำมหาวิทยาลัยกำหนดอีกส่วนหนึ่ง จึงเห็นได้ว่า เงินประจำตำแหน่งทางวิชาการเป็นสิทธิประโยชน์ที่พนักงานในสถาบันอุดมศึกษาจะได้รับเมื่อดำรงตำแหน่งวิชาการ ซึ่งการดำรงตำแหน่งดังกล่าวไม่ได้มีผลทำให้ผู้ดำรงตำแหน่งมีภาระงานที่เพิ่มขึ้นแต่อย่างใด จึงแตกต่างจากเงินเดือนที่เป็นค่าจ้างหรือค่าตอบแทนซึ่งพนักงานในสถาบันอุดมศึกษาจะได้รับเพื่อตอบแทนการทำงานตามสัญญาจ้างให้แก่สถาบันอุดมศึกษา ดังนั้น เงินประจำตำแหน่งทางวิชาการจึงมิใช่เงินที่ได้รับเพื่อตอบแทนการทำงานดังเช่นเงินเดือน
สำหรับปัญหาว่ามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาจะสามารถเรียกคืนเงินประจำตำแหน่งทางวิชาการที่นายรัฐนันท์ฯ ได้รับไปในระหว่างดำรงตำแหน่งโดยใช้วุฒิการศึกษาปลอมได้หรือไม่นั้น เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่านายรัฐนันท์ฯ ไม่ได้สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาเอก แต่ได้ใช้หลักฐานทางการศึกษาและใบปริญญาบัตรปลอมในการสมัครเป็นพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา ตำแหน่งอาจารย์ วุฒิปริญญาเอก และได้ใช้หลักฐานดังกล่าวประกอบ
การยื่นขอกำหนดตำแหน่งวิชาการในตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ ตามข้อ 8 (3) แห่งข้อบังคับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์ พ.ศ. 2557 การกระทำของนายรัฐนันท์ฯ จึงเป็นการกระทำโดยไม่สุจริตเพื่อให้ตนเองได้รับประโยชน์จากทางมหาวิทยาลัยฯ
ดังนั้น เมื่อมหาวิทยาลัยฯ ได้มีคำสั่งให้นายรัฐนันท์ฯ พ้นสภาพจากการเป็นพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา โดยให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่มีคำสั่งจ้าง และมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งที่แต่งตั้งให้นายรัฐนันท์ฯ ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ โดยให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่มีคำสั่งแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวแล้ว มหาวิทยาลัยฯ ย่อมสามารถเรียกให้นายรัฐนันท์ฯ คืนเงินประจำตำแหน่งทางวิชาการที่ได้รับไปในระหว่างวันที่ 2 ตุลาคม 2558 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2560 ได้ ตามมาตรา 51 วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ซึ่งให้นำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้บังคับโดยอนุโลม (อ่านความเห็นฉบับเต็มที่นี่ http://app-thca.krisdika.go.th/Naturesig/CheckSig?whichLaw=cmd&year=2560&lawPath=c2_1403_2560)
อย่างไรก็ดี ในบันทึกตอบข้อหารือกฎหมายเรื่องนี้ มิได้มีการระบุตัวเลขจำนวนเงิน ที่ นายรัฐนันท์ฯ จะถูกเรียกคืนไว้ด้วย อยู่ที่ตัวเลขเท่าไร
แต่สิ่งสำคัญที่ได้สาธารณชนรับทราบจากบันทึกตอบข้อหารือกฎหมายเรื่องนี้ คือ บทลงโทษสำหรับบุคคล ที่กระทำการไม่สุจริต ใช้หลักฐานทางการศึกษาและใบปริญญาบัตรปลอม เข้ามาสมัครเป็นอาจารย์ในสถาบันการศึกษาว่า นอกจากจะต้องเสื่อมเสียชื่อเสียงแล้ว ยังจะโดนเรียกเงินคืนย้อนหลังทุกบาททุกสตางค์ที่เคยได้รับไปทุกตำแหน่งด้วย