สั่ง50เขตเข้มต้นตอมลพิษทำฝุ่นละอองพุ่ง
กทม.สั่ง50เขตคุมเข้ม13มาตรการโครงการก่อสร้าง-ควันดำแก้ฝุ่นละอองสูงเกินมาตรฐาน-กรมควบคุมมลพิษชี้สถานการณ์คลี่คลายลงยอมรับตั้งแต่ปี58เกินค่ามาตรฐานทุกปี
ความคืบหน้ากรณีสภาพอากาศในเขตกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 24 ม.ค. 2561 ซึ่งถูกปกคลุมด้วยหมอกทั่วพื้นที่ เมื่อตรวจวัดพบว่ามีสภาพมลพิษสูงเกินค่ามาตรฐานนั้น ล่าสุดวันที่ 25 ม.ค. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวถึงมาตรการดูแลสภาพอากาศในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่พบว่ามีค่าฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานว่า กทม.ได้มีบันทึกสั่งการ เรื่องการแก้ไขและป้องกันปัญหาเรื่องฝุ่นละอองและผลกระทบจากสิ่งแวดล้อม ให้สำนักงานทุกเขตดำเนินการ ตั้งแต่ปี 2555 โดยทางเขตจะต้องปฏิบัติ 13 ข้อ อาทิ บริเวณก่อสร้างจะต้องจัดทำรั้วทึบสูง 2 เมตร ต้องมีการป้องกันหรือวัสดุป้องกันจากฝุ่นละออง บริษัทผู้รับเหมาต้องทำความสะอาดพื้นที่ก่อสร้างทุกชั้น ห้ามก่อสร้างตั้งแต่เวลา 22.00-06.00 น. รถเข้าออกระหว่างบริเวณก่อสร้างต้องมีวัสดุปกคลุมมิดชิดและล้างล้อรถยนต์ บริเวณก่อสร้างต้องทำความสะอาดทุกวัน
“กทม.ยอมรับว่าในช่วงหลังทางเจ้าหน้าที่ไม่ได้ปฏิบัติตามคำสั่งอย่างเคร่งครัดพอ เพราะโดยปกติจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่ช่วงหน้าร้อนเป็นต้นไป แต่ปัจจุบันได้กำชับให้ทุกเขตดำเนินการตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร โดยได้ให้อำนาจสำนักงานเขตเข้าระงับกำชับเจ้าของโครงการก่อสร้าง หากมีผลกระทบก่อให้เกิดฝุ่นละออง ซึ่งมีโทษทั้งจำทั้งปรับ” รองผู้ว่าฯ กทม.กล่าว
นายจักกพันธุ์ กล่าวอีกว่าเมื่อปี 2557 ได้ให้งบประมาณ 395 ล้านบาท เพื่อให้สำนักสิ่งแวดล้อมติดตั้งจุดตรวจอากาศ ลักษณะของเสาเหล็ก 46 ชุดและรถตรวจอากาศ 4 คัน เมื่อปี 2559 และในปี 2561 ได้จัดสรรงบประมาณ 24.5 ล้านบาท เป็นค่าจ้างเหมาและค่าบำรุงรักษาสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศเสาเหล็ก หลังได้ผู้รับจ้างแล้วมีหน้าที่รายงานผลให้กทม.ทราบเพื่อนำข้อมูลลงผ่านเว็บไซต์แจ้งประชาชนทั่วไปทราบเพิ่มเติมเพื่อให้ระมัดระวัง ขณะเดียวกันสำนักสิ่งแวดล้อมต้องประสานงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ การตรวจควันดำต้องประสานกับตำรวจทางบกและกองบังคับการตำรวจจราจร(บก.จร.)เพื่อดำเนินการตาม พ.ร.บ.จราจรและพ.ร.บ.ขนส่งทางบก รวมถึงประสานงานกับฝ่ายสิ่งแวดล้อมและฝ่ายเทศกิจของแต่ละเขตให้ร่วมกันกำหนดวันตรวจควันดำซึ่งพบว่าพื้นที่กรุงเทพฯ ค่าฝุ่นละออง PM2.5 และ PM10 มีค่าเฉลี่ยเกินมาตรฐานจริง ส่วนการล้างทำความสะอาด พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. ได้มีนโยบายให้ทุกเขต จัดวันทำความสะอาดใหญ่ หรือบิ๊กคลีนนิ่งเดย์ ให้ครบทุกเขต เริ่มตั้งแต่ปี 2560 ซึ่งจะทยอยดำเนินการต่อไป
ที่กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) นายเถลิงศักดิ์ เพ็ชรสุวรรณ ผอ.สำนักจัดการคุณภาพอากาศและเสียง เปิดเผยว่า สถานการณ์มลพิษในพื้นที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 24 มกราคมที่ผ่านมา ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) สูงเกินค่ามาตรฐานที่ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศ์กเมตร(มคก./ลบ.ม.) เนื่องด้วยสภาพอากาศนิ่ง ลมสงบ ไม่มีแสงแดด และชั้นอากาศผกผันใกล้พื้นดิน ทำให้มลพิษทางอากาศเกิดการสะสมตัวในปริมาณมากและไม่เกิดการระบาย จึงมีค่าฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน และมีผลกระทบต่อร่างกาย หลายๆ คนจึงอาจมีอาการระคายคอหายใจไม่สะดวก
สำหรับสถานการณ์มลพิษในวันที่ 25 ม.ค. เริ่มคลี่คลายเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ทั้งนี้จากการตรวจสอบสถานการณ์ฝุ่นละออง 2.5 ไมครอน พบว่าฝุ่นละอองมีแนวโน้มลดลงทุกพื้นที่ อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ยกเว้น บริเวณริมถนนอินทรพิทักษ์ เขตธนบุรี ตรวจวัดได้ 57 ไมโครกรัมต่อลูกบาศ์กเมตร ทั้งนี้ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน จะมีค่าพุ่งสูงในช่วงปลายหนาวต้นร้อนในช่วงปลายเดือนมกราคม ซึ่งจากสถิติตั้งแต่ปี 2558-2561 ก็มีค่าเกินมาตรฐานทุกปี แต่เป็นแค่ช่วงระยะเวลาสั้น ซึ่งในปีนี้ตั้งแต่วันที่ 18 มกราคมที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ มีค่าเกินมาตรฐาน 5 วัน
นายเถลิงศักดิ์ กล่าวด้วยว่า สำหรับค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 10 ไมครอน และไม่เกิน 2.5 ไมครอน หากมีค่าเกินมาตรฐานย่อมส่งผลกระทบต่อร่างกาย เนื่องจากเป็นฝุ่นละอองที่สามารถเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจของมนุษย์ได้ เมื่อเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจจะเกาะตัวหรือตกตัวได้ในส่วนต่างๆของระบบทางเดินหายใจ ก่อให้เกิดการระคายเคืองและทำลายเนื้อเยื่อของอวัยวะนั้นๆ เช่น เนื้อเยื่อปอด ซึ่งหากได้รับในปริมาณมากหรือในช่วงเวลานานจะสะสมในเนื้อเยื่อปอด เกิดเป็นพังผืดหรือแผลขึ้นได้ และทำให้การทำงานของปอดเสื่อมประสิทธิภาพลง ทำให้หลอดลมอักเสบ เกิดหอบหืด ถุงลมโป่งพอง และโอกาสเกิดโรคระบบทางเดินหายใจเนื่องจากติดเชื้อเพิ่มขึ้นได้
"ในส่วนการสังเกตว่าเป็นหมอกหรือควัน หากเป็นหมอกจะมีสีขาว แต่หากมีฝุ่นละอองปนมาด้วยจะออกสีขาวปนน้ำตาล ซึ่งหากประชาชนเห็นว่าเริ่มมีฝุ่นละอองก็ควรหลีกเลี่ยงการเผชิญอากาศภายนอก” ผอ.สำนักจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กล่าว
ด้าน นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สภาพอากาศที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ และปริมณฑลมาจากหลายสาเหตุ เช่น การจราจร อุตสาหกรรม และการเผาในที่โล่ง เป็นต้น ซึ่งในสภาพอากาศลักษณะนี้ กลุ่มเสี่ยงที่น่าเป็นห่วง คือ ประชาชนที่ป่วยด้วย 4 กลุ่มโรคสำคัญ ได้แก่ 1.โรคระบบทางเดินหายใจ 2.โรคหัวใจและหลอดเลือด 3.โรคเยื่อบุตาอักเสบ และ 4.โรคผิวหนัง รวมถึงผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ เด็กเล็ก และผู้ที่มีโรคประจำตัว ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงที่อาจเกิดอาการกำเริบได้ง่ายจากการสูดดมฝุ่นขนาดเล็ก
พญ.ฉันทนา ผดุงทศ ผู้อำนวยการสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค(คร.) กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สำหรับค่ามาตรฐานขององค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ว่าค่าฝุ่นละอองไม่ควรเกิน 25 มคก./ลบ.ม. ในเวลา 24 ชั่วโมง แต่ค่าของประเทศไทยกำหนดไว้ว่า ไม่ควรเกิน 50 มคก./ลบ.ม. ซึ่งตัวเลขเหล่านี้คำนวณมาแล้วว่า หากประชาชนได้รับค่าฝุ่นละอองที่ตัวเลขดังกล่าวจะพบว่าร้อยละ 80 จะไม่มีอาการป่วย แต่อาจมีประมาณกว่าร้อยละ 10 จะป่วยได้ ซึ่งจะเป็นในกลุ่มเสี่ยง อย่างไรก็ตาม ตัวแปรสำคัญต้องดูเรื่องของเวลา ซึ่งจะอยู่ที่ 24 ชั่วโมง โดยต้องดูว่า หากอยู่กลางแจ้งก็เสี่ยงเยอะ เช่น คนงานก่อสร้าง หรือตำรวจจราจร แต่หากนั่งอยู่ในที่ทำงานเปิดแอร์และเจอฝุ่นละอองประมาณ 1-2 ชั่วโมงก็จะไม่กระทบ
“สิ่งสำคัญอยู่ที่ว่าเราเป็นกลุ่มเสี่ยงหรือไม่ เช่นมีโรคประจำตัว อย่างโรคทางเดินหายใจ หลอดลมอักเสบ หอบหืด หัวใจขาดเลือด ถุงลมโป่งพอง ก็อาจได้รับผลกระทบง่ายกว่า รวมไปถึงผู้สูงอายุหรือเด็กเล็ก หรือในกลุ่มคนสูบบุหรี่จัด ทำงานกลางแจ้งตลอดเวลา ซึ่งหากเราต้องทำงานกลางแจ้งนานเป็นครึ่งวันก็ควรสวมหน้ากากอนามัยชนิด N 95 ซึ่งจะกรองฝุ่นละอองขนาดเล็กได้มาก” พญ.ฉันทนา กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่ากรณีที่พบค่าฝุ่นละอองในกรุงเทพฯ เกินมาตรฐานจะส่งผลอย่างไร ถึงขั้นก่อมะเร็งจริงหรือไม่ พญ.ฉันทนา กล่าวว่า การก่อมะเร็งเป็นเรื่องระยะยาวและมีหลายปัจจัยร่วม แต่สำหรับค่าฝุ่นละอองจะเป็นผลกระทบระยะสั้น ซึ่งปกติแล้วสำหรับค่าที่เกินขึ้นมา เช่น กรุงเทพฯ ที่พบว่าเกินมาประมาณ 50-90 มคก./ลบ.ม. เมื่อเทียบกับจีน และอินเดียพบถึง 200 มคก./ลบ.ม. ซึ่งหนักกว่าบ้านเรา แต่เมื่อเพิ่มขึ้นก็ไม่อยากให้กังวลมาก ยกเว้นกลุ่มเสี่ยง และผลระยะสั้นก็ไม่ใช่ว่ารับฝุ่นแล้วเกิดขึ้นเลย เพราะอาการจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อหลังจากรับฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานมาแล้ว 12-72 ชั่วโมง หรือประมาณ 1-2 วันก็เป็นได้
“จริงๆ สภาพอากาศที่เกิดขึ้น ส่วนตัวมองว่าอาจเกิดขึ้นนานแล้ว ไม่ใช่ของใหม่ก็เป็นได้ เพียงแต่เรามีเครื่องตรวจวัดค่าทำให้เห็นตัวเลข อย่างไรก็ตาม หากเป็นไปได้ควรมีการตรวจวัดค่าเหล่านี้ต่อเนื่องตลอดทั้งปี และเปิดเผยต่อสาธารณะ เพื่อจะได้ทราบว่า หากปริมาณฝุ่นละอองสูงขึ้น เพราะสาเหตุใด และหาทางป้องกันหรือลดปัญหาดังกล่าว ซึ่งจะทำให้ค่ามาตรฐานของไทยอาจลดลง จากต้องไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม. อาจลดลงเกือบถึงค่าขององค์การอนามัยโลกที่ระบุไว้ที่ 25 มคก./ลบ.ม. ก็ได้” พญ.ฉันทนา กล่าว
ทั้งนี้ กรมควบคุมโรค ได้แนะนำการดูแลและป้องกันสุขภาพเมื่อเกิดฝุ่นขนาดเล็ก ดังนี้ 1.ให้อยู่ภายในอาคารบ้านเรือน ถ้าไม่จำเป็นอย่าออกนอกบ้าน โดยเฉพาะประชาชนกลุ่มเสี่ยง 2.อาคารบ้านเรือน ให้ปิดประตูหน้าต่างป้องกันฝุ่นเข้า หากปิดไม่ได้ ให้ใช้ผ้าชุบน้ำทำเป็นม่านปิดแทน เพื่อเป็นตัวกั้นฝุ่นไม่ให้เข้าบ้าน 3.หากจำเป็นต้องออกนอกอาคาร ให้ใช้ผ้าชุบน้ำบิดพอหมาดๆ ปิดจมูกและปาก ถ้าอยู่ในที่ที่มีฝุ่นหนาแน่นให้ใช้หน้ากากกรองฝุ่นหรือหาผ้าเปียกมาปิดจมูก 4.หลีกเลี่ยงการออกกำลังกาย และการทำงานหนักที่ออกแรงมาก เพราะการหายใจเร็วในระหว่างการออกกำลังกายจะทำให้ร่างกายรับฝุ่นละอองเข้าไปมาก 5.ให้ดื่มน้ำมากๆ และไม่สูบบุหรี่ในช่วงที่มีปัญหาฝุ่นขนาดเล็ก
6.ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ และเด็กเล็ก จะต้องดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ โดยปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ ในการรับประทานยา การรักษาพยาบาลอย่างต่อเนื่อง และรีบปรึกษาแพทย์ทันทีเมื่อมีอาการทรุดลง และหลีกเลี่ยงไม่ให้สัมผัสกับอากาศที่มีฝุ่นละออง หรือมีการใช้หน้ากากกันฝุ่น 7.ไม่เผาขยะ โดยเฉพาะขยะที่เป็นสารพิษ เช่น พลาสติก ยางรถยนต์ รวมทั้งขยะทั่วไป และ 8.ลดการใช้รถยนต์ หรือใช้เท่าที่จำเป็น เพื่อไม่ให้มลพิษจากท่อไอเสียรถยนต์ก่อปัญหาซ้ำเติม หรือทำให้คุณภาพอากาศแย่ลงอีก