‘100 คนไทย’ ผู้สร้างแรงบันดาลใจ ‘นวัตกรรม’ 360 องศา
เปิดตัวหนังสือ “ร้อยคนไทยหัวใจนวัตกรรม” นำเสนอแรงบันดาลใจจากบุคคลต่างสาขาอาชีพ ผู้สร้างการเปลี่ยนแปลง จัดเเสดงนิทรรศการ 24-28 ม.ค. 61 ณ เซ็นทรัล เอ็มบาสซี กรุงเทพฯ
“คนที่จะประสบความสำเร็จ มันต้องดูว่าทำงานอะไรมาบ้าง คนไทยมักจะพูดถึงในแง่ที่ชนะรางวัลมา แต่เราจะพูดถึงการชนะอย่างเดียวไม่ได้ ต้องพูดถึงผลงานที่ผ่านมาด้วย การที่ชนะมา ก็ไม่ได้น่าตื่นเต้นเท่างานที่เคยทำมา”
โค้ดคำพูดของ ‘ทฤษฎี ณ พัทลุง’ วาทยากรไทยอายุน้อยที่สุดในโลก เพียง 32 ปี หนึ่งในสุดยอดผู้นำด้านนวัตกรรม จาก 100 คน ในหลากหลายอาชีพ ที่คอยสร้างแรงบันดาลใจให้แก่คนไทยในปัจจุบัน ได้ถูกนำเสนอไว้ในหนังสือ “ร้อยคนไทยหัวใจนวัตกรรม” (100 Faces of Thailand’s Innovation Inspirers)
โดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือสนช. กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้จัดเปิดตัวไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัล เอ็มบาสซี กรุงเทพฯ มีดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผอ.สนช. และสุดยอดผู้นำด้านนวัตกรรม เช่น ธีรภาพ โลหิตกุล นักเขียนสารคดี ประวัติ วะโฮรัมย์ แชมป์เหรีญทองพาราลิมปิกเกมส์ จตุรงค์ สุขเอียด นักข่าว และอีกมากมาย เข้าร่วม
ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยถึงหนังสือที่ตีพิมพ์เพียง 1,000 เล่ม มีเนื้อหาเกี่ยวกับแรงบันดาลใจของผู้นำนวัตกรรมทางความคิดทั้ง 100 คน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า นวัตกรรมเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่ มีความหลากมิติ ครอบคลุมทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 ทุกคนจึงต้องการ ‘แรงบันดาลใจ’ ในการดำเนินชีวิต
“หนังสือได้เจียระไนเพชรเม็ดงามทั้ง 100 เม็ด ซึ่งแต่ละคนถือเป็นผู้สร้างสรรค์แรงบันดาลใจนวัตกรรม นับว่ามีประโยชน์มาก ทำให้พวกเรารู้สึกว่า ความจริงแล้วประเทศไทยจะขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้อีกไกล หากมีต้นแบบในสาขาวิชาชีพต่าง ๆ เพียงได้สัมผัสกับโค้ดคำพูดที่สื่อสารออกมา”
รมว.วิทยาศาสตร์ฯ ยกตัวอย่าง ‘พารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา’ ในฐานะผู้บุกเบิกดรุณสิกขาลัย โรงเรียนนวัตกรมแห่งการเรียนรู้ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ว่าเป็นบุคคลให้ความสำคัญสังคมแห่งอนาคตที่ขับเคลื่อนด้วยคน เพราะท่านเชื่อว่า ‘ทุนมนุษย์’ นั้นเป็นเรื่องใหญ่ และหากคนคุณภาพดีแล้ว เทคโนโลยีจะตามมาเอง
อีกคนหนึ่ง คือ ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปีติพร ผู้ริเริ่มการพัฒนาผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพรในการแพทย์แผนปัจจุบัน รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร ดร.สุวิทย์ บอกว่า เป็นรุ่นพี่สมัยเรียนมหาวิทยาลัย เป็นผู้หญิงที่มุ่งมั่นในการเรียนเภสัชกรรม และคาดหวังต้องการทำอะไรเพื่อสังคม กลายเป็นจุดเปลี่ยนทำให้สมุนไพรไทยพลิกโฉมครั้งสำคัญ
ด้าน ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผอ.สนช. กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังตกอยู่ในกับดักรายได้ปานกลาง ค่าครองชีพสูง เศรษฐกิจชะลอตัว รูปเบบสินค้าไม่หลากหลาย การส่งออกสินค้าลดลง ในขณะที่สินค้าและบริการจากต่างประเทสกำลังหลั่งไหลเข้ามาพร้อมกับแนวคิดการค้าเสรี ดังนั้น หากคนไทยยังไม่ปรับตัว และลุกขึ้นมาสร้างสรรค์สิ่งใหม่ด้วยตนเอง อาจจะไม่สามารถแข่งขันบนเวทีโลกได้
ทั้งนี้ นวัตกรรม จึงเป็นเสมือนเครื่องมือที่สำคัญที่จะนำประเทศให้ก้าวข้ามปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ ซึ่งต้องอาศัยการใช้ความรู้ให้หลากหลายสาขาอย่างบูรณาการในการสร้างสรรค์ ‘สิ่งใหม่’ ที่สร้างให้เกิดคุณค่าที่ดีกว่าเดิม เพื่อประโยชน์ทั้งด้านสังคม และเศรษฐกิจ และเกิดการเปลี่ยนแปลงที่เป็นประโยชน์ที่ดียิ่งขึ้น ไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นสินค้าที่มีเทคโนโลยีนวัตกรรม จึงถือเป็นอีกกลไกหนึ่งที่จะผลักดันให้ประเทศไทยสู่ประเทศนวัตกรรม และไทยแลนด์ 4.0
“คนเราจะประสบความสำเร็จ ต้องมีความเชื่อ และเมื่อมีความเชื่อแล้ว จะสามารถเดินไปตามหัวใจของเรา โดยไม่ถูกครอบงำจากใคร” ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปีติพร หรือหมอต้อม เริ่มต้นบอกเล่าถึงการสร้างแรงบันดาลใจในชีวิต
นอกจากเธอจะเป็นผู้ริเริ่มการพัฒนาผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพรในการแพทย์แผนปัจจุบัน โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เหมือนดังที่รมว.วิทยาศาสตร์ฯ กล่าวไว้แล้ว ‘ภญ.ดร.สุภาภรณ์’ ยังเป็นบุคคลดีเด่นด้านการแพทย์แผนไทย เภสัชกรดีเด่นเพื่อสังคม และบุคคลดีเด่นของชาติ ด้วย
กว่าที่จะก้าวมาสู่จุดนี้ได้ ทุกอย่างได้อาศัยความเชื่อ ได้แก่ ความเชื่อว่ามนุษย์เกิดจากธรรมชาติ ความเชื่อว่าภูมิปัญญาและความหลากหลายทางชีวภาพเป็นเอกลักษณ์ของไทย และความเชื่อสุดท้าย คือ การพัฒนาสมุนไพรเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม
...หมอต้อม จึงเป็นอีกหนึ่งบุคคลที่นำพาภูมิปัญญาสมุนไพรก้าวข้ามยุคขาดพร่องในรอยต่อให้มีอนาคตบนโลกต่อไป ดังนั้นผู้หญิงคนนี้จึงเป็นดังแรงบันดาลใจผู้กระตุกและกระตุ้นให้คนไทยหันกลับมามองภูมิปัญญาที่งดงามและมีคุณค่า ซึ่งกำลังจะจางหายไปจากชาติพันธุ์
ขณะที่ รศ.สพ.ดร.นันทริกา ชันซื่อ นางฟ้าของสัตว์น้ำ หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยสัตว์น้ำสวยงามและสัตว์น้ำเพื่อการอนุรักษ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า “ความอิ่มเอิบใจในการที่เราได้ช่วยเหลือชีวิตอื่น ๆ เป็นรางวัลที่เงินซื้อไม่ได้ ได้เรียนรู้ยิ่งกว่าการรักษาสัตว์ แต่เป็นการเคารพต่อชีวิตของสัตว์”
โดยการทำหน้าที่นี้มีแรงบันดาลใจมาจากเราสงสารสัตว์และอยากให้พวกมันมีชีวิตอยู่ต่อไป ดังนั้นเวลาที่เห็นสัตว์อยู่ในพื้นที่ไม่ควรอยู่ มีอาการเจ็บป่วยและเสียชีวิต จึงตั้งใจจะใช้ความรู้ที่มีอยู่ช่วยเหลือ
“ทุกครั้งที่เราได้ทำให้คนเห็นว่าปัญหาอยู่ตรงไหน จะได้รับความร่วมมืออย่างดีในสังคม และทำให้เรารู้สึกดี จริง ๆ แล้วในเมืองไทยมีคนที่มีจิตใจดีเยอะมากและพร้อมช่วยเหลือ เพียงแต่ต้องมีคนมาสะกิดว่าตรงนี้มีปัญหา เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้เป็นกำลังใจให้เรา และคิดว่า ค่าตอบแทนที่คุ้มมากคือการรักษาชีวิตสังคมโดยมาก”
รศ.สพ.ดร.นันทริกา บอกอีกว่า ที่จริงแล้วสัตว์รักเราอย่างไม่มีเงื่อนไข ไม่ว่าเราจะเป็นคนดีหรือไม่ก็ตาม ฉะนั้นสิ่งที่เราจะตอบแทนให้ได้ คือ การห่วงใย และดูแลอย่างถูกวิธี ซึ่งความรักอย่างเดียวไม่
นี่คือตัวอย่างความสำเร็จของบุคคลจริงที่มีความโดดเด่นสร้างอาชีพมั่งคั่งจากการสร้างความเปลี่ยนแปลง หรือเรียกว่า นวัตกรรม
ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถเข้าชมนิทรรศการเรื่องราวของบุคคลทั้ง 100 คน และเสวนาเรื่อง การสร้างการเปลี่ยนแปลง ของตัวแทนบุคคลที่จะผลักเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาบอกเล่าประสบการณ์ในช่วงเย็นของทุกวัน ตั้งแต่วันที่ 24-28 ม.ค. 2561 ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัล เอ็มบาสซี กรุงเทพฯ .