เรื่องจริงของ "ต้มยำกุ้ง" (1) ชีวิตในเงามืดของแรงงานไทยในมาเลย์
หลังเสียงระเบิดกัมปนาทที่เมืองหาดใหญ่และยะลาเมื่อวันที่ 31 มีนาฯ 2555 "ร้านต้มยำกุ้ง" กลายเป็นหัวข้อสนทนาที่ถูกพูดถึงจากหลายฝ่าย โดยเฉพาะการเดินทางไปพบปะพูดคุยกับ "ชมรมต้มยำกุ้ง" ของ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ช่วงไม่กี่สิบวันก่อนหน้านั้น ซึ่งถูกผูกโยงว่าเป็นการไปเจรจากับ "ขบวนการแบ่งแยกดินแดน" จนเป็นที่มาของเสียงระเบิด
ทั้งที่จริงๆ แล้ว ศอ.บต.มีโครงการร่วมกับธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย หรือ "ไอแบงก์" เข้าไปช่วยเหลือผู้ประกอบการและแรงงานไทยในร้านต้มยำที่มาเลย์ซึ่งมีจำนวนหลายพันร้าน กระจายอยู่เกือบทุกรัฐ และมีแรงงานไทยทั้งในและนอกระบบมากกว่าแสนคน
ส่วนใหญ่เป็นชายวัยทำงานจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้...
ข่าวครึกโครมที่เชื่อมโยง "ร้านต้มยำกุ้ง" กับเหตุรุนแรงในดินแดนปลายด้ามขวานไม่ได้เกิดขึ้นครั้งนี้เป็นครั้งแรก เพราะคนในเครือข่าย "ร้านต้มยำ" ถูกมองในมุมลบจากฝ่ายความมั่นคงไทยมาตลอดว่าให้การสนับสนุนทั้งเงินทุนและสถานที่พักพิงแก่กลุ่มก่อความไม่สงบ เพียงแต่ครั้งนี้มีการกล่าวอ้างอย่างเป็นระบบ และนำภาพถ่ายมายืนยัน
ทว่าก็เป็นภาพที่อ้างข้อมูลผิดพลาดอย่างจังจนกำลังกลายเป็นประเด็นฟ้องร้อง!
ขณะที่ในมุมมองของคนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ พวกเขาเห็นว่า "แรงงานต้มยำ" คือผู้เสียสละ ต้องจากบ้านยอมไปลำบากตรากตรำทำงานถึงต่างแดนเพื่อส่งเงินกลับมาเลี้ยงครอบครัว...อารมณ์ไม่ต่างกับหนุ่มสาวชาวอีสานที่ไปขายแรงงานในเมืองใหญ่ เพื่อส่งเงินกลับไปสร้างบ้าน ซื้อรถปิคอัพให้พ่อกับแม่ที่บ้านเกิด...
นี่คือมุมมองที่สวนทางกันอย่างสิ้นเชิงระหว่างหน่วยงานความมั่นคงกับชาวบ้าน ระหว่างคนในสามจังหวัดกับคนนอกพื้นที่
"ทีมข่าวอิศรา" ข้ามฝั่งไปถึงมาเลย์ เพื่อพิสูจน์ความจริงจากร้านต้มยำกุ้ง และเรื่องราวชีวิตของคนไทยไกลบ้าน...
ปากคำเจ้าของร้านต้มยำ...ของจริงไม่ได้สวยหรูอย่างที่เข้าใจ
ที่กัวลาลัมเปอร์ เมืองหลวงของประเทศมาเลเซีย มีร้านต้มยำที่เจ้าของเป็นคนไทยจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในย่านกำปงบารู สาเหตุที่ร้านอาหารประเภท "ต้มยำ" เป็นที่นิยม เป็นเพราะรสชาติ ประกอบกับคนมาเลย์นิยมรับประทานอาหารนอกบ้าน ธุรกิจร้านอาหารจึงเฟื่องฟูเป็นอย่างยิ่ง
นูรีซัน มะสา เจ้าของร้านซีฟู้ดแห่งหนึ่งบนถนนรายามูด้า (rayamuda) ใกล้กับมัสยิดยาแมะ ย่านกำปงบารู เล่าว่า ร้านอาหารไทยในมาเลย์ได้รับความนิยมมานาน อย่างร้านของเธอก็มีอายุถึง 25 ปีแล้ว พี่ชายมาเปิดตั้งแต่ปี 2530
"พี่ชายเข้ามาเป็นเจ้าของก่อน ส่วนฉันเองตอนแรกๆ ก็มาช่วยดูหน้าร้าน ทำได้ 14-15 ปีพี่ชายอยากกลับไปใช้ชีวิตที่บ้าน เพราะคิดว่าหาเงินพอแล้ว ราวๆ ปี 2544 ฉันจึงขึ้นมาเป็นเจ้าของ และลงทุนบริหารเองหมดทุกอย่าง ต้องดูแลเด็กในร้าน 15 คน แบ่งเป็นกุ๊ก 3 คน หน้าร้าน 3 คน ทำร้าน 2 คน อ่านบิลจดรายการอาหาร 3 คน และเสิร์ฟอีก 4 คน"
นูรีซัน ซึ่งมีพื้นเพอยู่ที่ปัตตานี บอกว่า หลายคนในฝั่งไทยมักมองที่ปลายทางว่าการทำธุรกิจร้านต้มยำได้เงินเยอะ มีรถขับ กลับไปปลูกบ้านใหม่ พอถึงเทศกาลรายอก็จะหอบเงินจำนวนมากๆ ไปให้พ่อแม่ได้ ซึ่งเป็นการมองแต่มุมดีๆ แต่ไม่ได้มองว่ากว่าจะทำได้อย่างนี้ เรื่องจริงไม่ได้ง่ายอย่างที่เข้าใจ
"สิ่งสำคัญที่สุดคือเราต้องห่างครอบครัว อย่างฉันก็ให้แฟนดูแลลูกอยู่ที่บ้านที่ปัตตานี เรามีลูกกัน 2 คน ปิดเทอมแฟนถึงจะพาลูกมาหาที่นี่ ส่วนเราเองต้องรอรายอถึงจะได้กลับบ้าน เพราะถ้าเราหยุดเราก็ไม่มีรายได้ ฉะนั้นก็ต้องแยกกันอยู่เพื่ออนาคต"
"จริงอยู่ที่ฉันต้องมีรายรับวันละ 5 หมื่นบาท ดูเผินๆ แล้วเยอะมาก แต่จริงๆ รวมต้นทุนอยู่ในนั้นด้วย โดยใน 5 หมื่นบาทแยกเป็นกำไร 2 หมื่น เงินทุน 3 หมื่น เดือนหนึ่งมีเงินเข้าร้านราว 6 แสนบาท แต่ก็ต้องเข้าใจว่ากำไรที่ได้ต้องนำไปจ่ายค่าใช้จ่ายทุกอย่าง ทั้งค่าเช่าร้าน ค่าเช่าห้องให้ลูกน้องอยู่ ค่าน้ำค่าไฟ สรุปแล้วประมาณ 5 แสน เหลือจริงๆ ที่เป็นเงินเก็บไม่เท่าไหร่ ยิ่งถ้าวันไหนปิดร้านเราก็ไม่มีรายได้ ฉันก็ยิ่งเครียด"
เป็นเรื่องจริงที่ไม่อาจปฏิเสธว่า ร้านอาหารประเภท "ต้มยำ" ส่วนใหญ่มี "คนไทย" ทำงานในร้าน โดยเฉพาะตำแหน่งกุ๊กกับเด็กเสิร์ฟ เพราะคำว่า "ต้มยำ" เป็นตัวแทนของความเป็นไทยอยู่แล้ว และมีจำนวนไม่น้อยที่ไม่มีใบอนุญาตทำงาน หรือ "เวิร์ค เพอร์มิต" (work permit) ที่ผ่านการขึ้นทะเบียนและรับรองอย่างถูกต้องจากทางการมาเลย์ เพราะส่วนใหญ่เป็นการ "ลักลอบทำงาน" โดยใช้วีซ่าท่องเที่ยว อยู่ได้คราวละ 30 วัน จึงต้องไป "จ๊อบ พาสปอร์ต" กันแทบทุกเดือน และทางร้านต้มยำก็ต้องรับภาระที่ว่านี้
"วันที่ไปจ๊อบพาสปอร์ด เราต้องปิดร้าน พาเด็กทุกคนไปจ๊อบ เราก็ต้องมีรายจ่ายอีก ทั้งค่ารถตู้ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ รวมๆ แล้วก็ 2 หมื่นบาทต่อครั้ง ยังไม่รวมถ้าเกิดเราไปไม่ทันแล้วต้องนอนค้างที่ชายแดนอีก ก็ต้องเปิดห้องพัก บางครั้งไปด่านเบตง (จ.ยะลา) ไม่ได้ ก็ต้องไปด่านปาดังเบซาร์ (จ.สงขลา) ถ้าไม่ได้อีกก็ต้องไปด่านสุไหงโก-ลก (จ.นราธิวาส) ก็ต้องวนไปจนกว่าจะได้ ค่าใช้จ่ายทั้งหมดเราออกนะ จะไม่ไปจ๊อบก็ไม่ได้อีก พาสปอร์ตตาย (หมายถึงวีซ่าขาด) ก็เป็นเรื่องใหญ่"
"ที่เห็นๆ กันว่าคนทำงานมาเลเซียร่ำรวย มีเงิน มีรถ ดูแล้วน่าอิจฉา ฉันอยากให้มาดูตอนที่เราทำงานด้วย กว่าจะได้เงินมันเหนื่อยขนาดไหน วันๆ แทบไม่ได้นั่งพัก เพราะต้องดูแลเองทุกอย่าง" นูรีซัน บอก
นอนตี 3 ตื่นตี 5
งานที่ นูรีซัน เล่าว่าเหนื่อยและหนักนั้น เริ่มตั้งแต่ตี 5 ของทุกวัน และไปสิ้นสุดราวๆ ตี 2 กว่าจะได้นอนก็ตี 3 ของอีกวันหนึ่ง
"ฉันต้องไปจ่ายตลาดเอง ต้องตื่นนอนตอนเช้าตรู่ประมาณตี 5 เพื่อไปซื้อของสดที่ตลาดใกล้ๆ ทุกวัน มีทุนซื้อของ 3 หมื่นบาท จากนั้นก็กลับมาเตรียมของ ราวๆ 10 โมงเช้าก็เริ่มมีแขกเข้ามากินข้าวแล้ว เราจะขายอาหารเป็นข้าวราดแกงช่วง 10 โมงถึง บ่าย 3 โมง พอหลังบ่าย 3 ก็จะเริ่มขายอาหารตามสั่ง จนถึงตี 2 ก็จะปิดร้าน ล้างจาน เก็บร้าน กว่าจะเรียบร้อยก็ประมาณตี 3 ถึงจะได้กลับไปนอน พอตี 5 ก็ต้องลุกไปจ่ายตลาดอีก มีเวลางีบช่วงก่อนร้านเปิดนิดหน่อยเท่านั้น ชีวิตก็จะเป็นอยู่อย่างนี้ จนกว่าจะปิดร้านเพื่อพาเด็กไปจ๊อบพาสปอร์ตถึงได้หยุด"
"มันเหนื่อยนะ ไม่ได้สบายเลย แต่ถ้าเราอยู่ที่บ้านก็ไม่มีกิน ก็เลยต้องยอมแลกกับความเหนื่อย เพราะเราต้องกินต้องใช้ ลูกได้เรียนหนังสือ นี่คือแรงผลักดันที่ทำให้เราต้องทำงาน"
นูรีซัน ยังกล่าวถึงข่าวสารในเมืองไทยที่โยงเหตุระเบิดที่หาดใหญ่กับยะลาเมื่อสิ้นเดือนมีนาฯ กับการเดินทางมาพบปะชมรมต้มยำกุ้งของเลขาธิการ ศอ.บต.ว่า จริงๆ แล้วไม่น่าจะเกี่ยวกันเลย
"ศอ.บต.มีความตั้งใจดีที่เข้ามา ไม่ได้มองว่าเราเป็นกลุ่มที่ต้องเจรจา แต่เข้ามาแก้ปัญหาของพวกเราจริงๆ เพราะปัญหาที่เราเจอทุกคนก็รู้ หน่วยงานรัฐทุกหน่วยรู้ แต่ไม่อยากแก้ให้เรา ทุกคนที่นี่มาจากปัตตานี ยะลา นราธิวาส เข้ามาทำงานใช้แรงงานเพื่อเลี้ยงครอบครัว ไม่ได้เข้ามาหาเงินไปสนับสนุนเพื่อก่อเหตุร้าย ที่ผ่านมาแค่เลี้ยงครอบครัวก็ยังไม่รอดถ้าอยู่ประเทศไทย แต่พอมาที่นี่ เราได้ทำงาน ใช้แรงงาน ไม่ได้หลับนอนเต็มที่ ไม่ได้สบายอย่างคนอื่นเขา แต่กลับถูกมองว่าเป็นกลุ่มสร้างปัญหา ก็รู้สึกเสียใจที่มีข่าวแบบนี้ออกมา" นูรีซัน กล่าว
ปากคำแรงงานร้านต้มยำ...จากอุบลฯถึงมาเลเซีย
แท้ที่จริงแล้วแรงงานร้านต้มยำไม่ได้มีแต่ชายฉกรรจ์จากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่มีคนจากภาคอื่นๆ ของประเทศไทยไปขายหยาดเหงื่อและฝีมือทำอาหารด้วย เช่นเดียวกับ "เมธ" หนุ่มใหญ่วัย 43 ปีจาก จ.อุบลราชธานี ซึ่งเป็นกุ๊กมือดีในร้านซีฟู้ดของนูรีซัน
เส้นทางชีวิตของ "เมธ" ต้องบอกว่าพลิกผันอย่างมาก เพราะก่อนจะมาทำงานที่มาเลย์ เขาเคยเป็นกุ๊กร้านอาหารและสถานบันเทิงชื่อดังของเมืองไทยอย่าง "ป.กุ้งเผา" ริมถนนรัชดาภิเษก แต่ด้วยสภาพของร้านที่เป็นแหล่งรวมของ "คนกลางคืน" ทำให้เขาติดเหล้าจนชีวิตล่มอย่างไม่เป็นท่า
"ตอนเป็นกุ๊กที่ ป.กุ้งเผา ผมมีรายได้ดี แต่การมีเงินเยอะก็ทำให้เราเที่ยวจนติดเหล้า พอติดเหล้าก็ไม่มีเงินส่งกลับบ้าน จนมีเพื่อนแนะนำให้เข้ามาทำงานในมาเลเซีย"
มาเลย์เป็นประเทศมุสลิม จึงค่อนข้างเคร่งครัดเรื่องอบายมุข โดยเฉพาะการดื่มสุราที่ไม่ได้เสรีอย่างเมืองไทย และนั่นได้กลายเป็นแรงกดดันให้หนุ่มใหญ่จากอุบลฯเลิกเหล้าได้สำเร็จ
"ผมเข้ามาอยู่ที่นี่ จากที่เป็นคนติดเหล้า สูบบุหรี่หนัก ตอนนี้เลิกได้ทุกอย่าง ใช้เวลาในการปรับสภาพไม่นานเลย ก็รู้สึกแปลกใจตัวเองเหมือนกันว่าเราทำได้ ครอบครัวก็มีความสุข เพราะเราเป็นคนดีได้ มีเงินส่งให้แฟนและลูก รู้สึกมีความสุขที่ได้อยู่ที่นี่ แม้จะเหนื่อยหน่อย ต้องอยู่แบบหลบๆ ซ่อนๆ ก็ถือว่าแลกแล้วคุ้มกว่าอยู่ที่บ้านเรา"
ทุกวันนี้ "เมธ" ส่งเงินให้แฟนทุกเดือน เดือนละ 2-3 หมื่นบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในครอบครัว และค่าเล่าเรียนของลูกๆ 2 คน เขาใช้ชีวิตอยู่ในมาเลย์ถึง 12 ปีแล้ว
"เราโทรศัพท์คุยกันทุกคืน พอหายคิดถึงก็วางสาย คิดถึงเราก็โทร.หาอีก จะกลับบ้าน 6 เดือนครั้ง อยู่ที่บ้านราวๆ 2 อาทิตย์ ทุกครั้งที่กลับบ้านก็จะมีเงินก้อนใหญ่กลับไปฝากแฟนกับลูกอีก จะพาเขาไปเที่ยว ซื้อของที่อยากได้ ถึงเวลาก็ข้ามมาทำงานต่อ"
"เมื่อก่อนตอนแรกๆ ที่เข้ามาทำงาน ผมเคยมีเวิร์ค เพอร์มิต นะ อยู่อย่างสบายเหมือนทุกๆ คน แต่ภายหลังรัฐบาลที่นี่จัดระเบียบใหม่ การทำเวิร์ค เพอร์มิตก็ยากขึ้น มีปัญหาทุกครั้งที่ขอ ก็เลยต้องยอมไม่มี นี่ได้ยินว่าทาง ศอ.บต.กำลังขอความร่วมมือกับรัฐบาลมาเลเซียเพื่อช่วยเหลือพวกเราให้สามารถขอเวิร์ค เพอร์มิต ได้ง่ายขึ้น และยังร่วมมือกับธนาคารอิสลามเรื่องเงินกู้มาทำเวิร์ค เพอร์มิต ด้วย ได้ยินแบบนี้ก็รู้สึกดีใจ ทุกคนในร้านเลี้ยงฉลองกันเลย เพราะจะได้ไม่ต้องอยู่แบบหลบๆ ซ่อนๆ กันอีก" หนุ่มอุบลฯ กล่าว
ปีหนึ่งได้เจอครอบครัวแค่ 2 ครั้ง
เรื่องราวชีวิตของหนุ่มใหญ่จากอุบลฯ ในแง่ของความหวังและความฝัน ไม่ต่างอะไรกับหนุ่มฉกรรจ์จากสามจังหวัดใต้อย่าง แจะแว ฮะยีแว วัย 28 ปี ลูกจ้างร้านมัรกัส ไม่ใกล้ไม่ไกลจากร้านซีฟู้ดของนูรีซัน
แจะแว เริ่มชีวิตในร้านต้มยำด้วยการเป็นบริกรตั้งแต่อายุ 17 ปี
"แรกๆ ผมมาเที่ยวร้านพี่ชายของเพื่อน พอมาแล้วก็เห็นว่างานแบบนี้เราก็ทำได้ เลยขอเพื่อนทำ เพื่อนก็ไปบอกพี่ชาย ก็เลยได้ล้างจานก่อน ตอนนั้นได้วันละ 100 บาท ทำได้ไม่นานก็ขยับมาอยู่หน้าร้าน รับบิลอาหาร ได้วันละ 200 บาท ตอนนั้น 200 บาทก็เยอะมากแล้ว เก็บเงินกลับบ้านปีละ 1-2 ครั้ง เอาเงินไปให้แม่ 7-8 หมื่นทุกครั้ง ถ้าไม่ได้เงินจำนวนนี้จะไม่กลับ ตอนนี้ผมเป็นกุ๊ก มีรายได้วันละ 700 บาท"
"เรื่องรายได้อาจจะถูกเยอะ แต่งานก็หนักพอดู ทุกๆ วันเราต้องตื่นนอนตอน 10 โมง เตรียมของเรื่อยไปจนถึงบ่าย 2 ก็เริ่มมีลูกค้าเข้าร้าน ตั้งแต่จานแรกที่ลูกค้าเข้ามาในร้านแล้วสั่ง จนถึงจานสุดท้ายก่อนปิดร้าน ผมไม่ได้นั่งเลย นี่คือ 700 บาท มันไม่ได้สบาย ต้องอยู่อย่างหลบๆ ซ่อนๆ กลัวเจ้าหน้าที่มาจับส่งกลับบ้าน เกือบ 10 ปีที่อยู่ในประเทศมาเลเซียผมไม่ได้ไปเทียวที่ไหนเลย ออกจากร้านคือกลับบ้านที่ปัตตานี กลับมาก็เข้าร้านทำงาน ไม่ว่าจะอยู่ร้านไหน ผมและเพื่อนๆ ที่มาทำงานที่นี่ก็จะใช้ชีวิตแค่นี้ในแต่ละวัน"
"ที่พักของเรา เถ้าแก่เป็นคนจัดให้ ห้องหนึ่งอยู่กัน 3 คนบ้าง 4 คนบ้าง แล้วแต่ความกว้างของห้อง ส่วนใหญ่จะอยู่กัน 3 คน อยู่ด้วยกันเราก็จะหารค่าสบู่ ค่าผงซักฟอก ค่ายาสีฟัน ตกเดือนหนึ่งไม่กี่บาท ส่วนเงินที่เหลือก็จะเก็บกลับไปให้เมีย เราอยู่ที่นี่เราสบายใจ มีเงินเลี้ยงครอบครัว เหนื่อยหน่อยก็ต้องอดทนเพื่อครอบครัว"
"ผมเคยทำงานมาหลายร้าน ร้านไหนเจ้าของคุยง่ายอยู่แล้วสบายใจก็อยู่นานหน่อย ร้านไหนที่เจ้าของพูดยาก อยู่ไม่ถึงปีก็มี เรามาที่นี่มีอาชีพที่เราเลือกได้ มีอนาคตที่เรากำหนดเอง แต่ถ้าเป็นที่บ้านเรา (ปัตตานี) ไม่มีทางที่เราจะเลือกได้แบบนี้"
"จริงๆ ผมอยากกลับไปทำงานที่บ้าน จะได้อยู่ดูแลแม่ ดูแลครอบครัว ดูแลลูกเมีย เพราะเราต้องแยกกันอยู่ ปีหนึ่งได้เจอหน้ากันแค่ 2 ครั้ง (ช่วงเทศกาลฮารีรายอ ซึ่งมีปีละ 2 ครั้ง) แต่ถ้าเราเลือกอยู่บ้าน ทุกคนก็จะไม่มีกิน ก็เลยต้องยอมอยู่แบบนี้ดีกว่า หลายคนมองว่าผมสบาย ทำงานได้เงินเยอะ แต่ไม่มีใครเข้าใจเลยว่าการที่ต้องอยู่แยกจากครอบครัวมันทรมานขนาดไหน ทุกครั้งที่มีเวลาว่างก็อยากเห็นหน้าลูกเมีย โชคดีที่เดียวนี้มีโทรศัพท์ใช้ ทำให้สามารถคุยกับลูกและเมียได้ทุกคืน แต่เมื่อก่อนไม่มีโทรศัพท์ใช้สะดวกขนาดนี้ เป็นเดือนถึงจะได้คุยกัน คุยกันแต่ละครั้งก็คุยได้ไม่นานเพราะค่าโทศัพท์มันแพง แต่เดี๋ยวนี้คุยได้คืนหนึ่งเป็นชั่วโมง หายคิดถึงเราก็วางสาย พรุ่งนี้ก็โทรอีก"
แจะแว บอกตรงๆ ว่า หากอยู่ที่เมืองไทยซึ่งไม่มีโอกาสเรื่องการทำงาน เขาคงอยู่ในขบวนการค้ายาเสพติด หรือไม่ก็เป็นแนวร่วมก่อความไม่สงบไปแล้ว
"เคยมานั่งคิดเหมือนกันว่า ถ้าเราไม่ได้มาทำงานที่นี่ ช่วงที่มีเหตุการณ์แบบนี้ที่บ้านเรา ถ้าเราไม่ไปเป็นเด็กส่งยา ก็คงต้องเป็นแนวร่วม มาทำงานที่นี่ดีหลายอย่าง ได้เงินเลี้ยงครอบครัว แถมไม่ต้องเป็นคนไม่ดีด้วย"
สถานะต่างด้าวไม่ได้สุขสบาย...
ยูโซ๊ะ (นามสมมุติ) เด็กเสิร์ฟในร้านต้มยำอีกร้านหนึ่งใกล้ๆ กัน เล่าว่า ตอนนี้พาสปอร์ตของเขาตาย (วีซ่าขาดอายุ) ต้องอยู่หลบๆ ซ่อนๆ ยิ่งกว่าการไม่มีใบอนุญาตทำงานเพียงอย่างเดียวเสียอีก
"ตอนแรกผมทำงานหน้าร้าน พอพาสปอร์ตตายต้องเข้าไปทำในร้าน ล้างจาน เป็นผู้ช่วยกุ๊ก ทุกครั้งที่มีเวลาว่างก็ต้องหลบอยู่แต่ในห้อง แม้แต่กินข้าวก็ไม่สามารถออกมากินพร้อมเพื่อนๆ ทุกคนหน้าร้านได้ มิฉะนั้นเจ้าหน้าที่จะมาจับตัวส่งกลับบ้าน"
"ผมทนอยู่แบบนี้มา 2 เดือนแล้ว เวลาเดินทางกลับบ้านก็ต้องหลบอีก ถ้าถูกจับก็ต้องเข้าคุกเขาก่อน มันลำบากมาก แต่เพื่อเงิน เราต้องอดทน มีบางคนพลาดต้องยอมให้จับ ทุกคนที่มาอยู่ที่นี่จะรู้สึกเหมือนเป็นคนต่างด้าว ไม่ได้มีความสุข ไม่ได้สบาย แต่ถึงอย่างไรก็ต้องทน เพื่อส่งเงินกลับบ้านไปดูแลครอบครัว" ยูโซ๊ะ บอก
ทั้งหมดนี้คือความในใจและชีวิตในเงามืดของแรงงานไทยร้านต้มยำกุ้งมาเลเซีย...
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 และ 3 ร้านต้มยำกุ้งของนูรีซัน มองเห็น "ตึกแฝด" สัญลักษณ์ของกัวลาลัมเปอร์อยู่ด้านหลัง
2 นูรีซัน สาวแกร่งจากปัตตานี
4 เมธ หนุ่มใหญ่จากอุบลฯที่เปลี่ยนชีวิตตัวเองจากหน้ามือเป็นหลังมือ