ญี่ปุ่นมึน รัฐบาลไทยเสนอลดความเร็ว “ชินคังเซนเชียงใหม่” หวังลดต้นทุน
สื่อมวลชนญี่ปุ่นรายงานว่า รัฐบาลไทยเสนอลดความเร็วของรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ที่ใช้เทคโนโลยี “ชินคังเซน” จาก 300 กม.ต่อชั่วโมง เหลือ 180-200 กม.ต่อชั่วโมง เพื่อลดต้นทุนค่าดำเนินการ
หนังสือพิมพ์นิเคอิของญี่ปุ่นรายงานอ้างอิงจากแหล่งข่าวในรัฐบาลไทยว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาเกี่ยวกับการลดความเร็วของรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ หลังจากฝ่ายญี่ปุ่นส่งมอบรายงานต่อรัฐบาลไทยคำนวนค่าใช้จ่ายในโครงการนี้ว่าอยู่ที่ราว 420,000 ล้านบาท ซึ่งรัฐบาลไทยมองว่าสูงเกินไป
สื่อมวลชนญี่ปุ่นระบุว่า ท่าทีของรัฐบาลไทยสร้างความแปลกใจให้กับฝ่ายญี่ปุ่น ซึ่งใช้เวลาถึง 3 ปีทำงานกับเจ้าหน้าที่และวิศวกรของไทยเพื่อหวังจะแนะนำเทคโนโลยี “ชินคังเซน” ไปทั่วโลก โดยหากลดความเร็วลงก็จะผิดไปจากความมุ่งหมายของฝ่ายญี่ปุ่น เพราะจะไม่ใช่สุดยอดเทคโนโลยีอีก
การลดความเร็วของรถไฟจะช่วยลดค่าใช้จ่ายได้ เช่น การสร้างแผงกั้นเสียง แต่ต้นทุนที่สำคัญที่สุดคือ การสร้างรางใหม่ 670 กม. จะไม่แตกต่างกันมากไม่ว่าจะเป็นรถไฟความเร็วสูงหรือความเร็วปานกลาง แต่รถไฟที่ช้าลงจะทำให้เสียโอกาสในการแข่งขัน เพราะผู้โดยสารจะหันไปใช้บริการเครื่องบินแทน
ประสบการณ์ของญี่ปุ่นที่ให้บริการรถไฟหัวกระสุนมาตั้งแต่ทศวรรษ 1960 ระบุว่า รถไฟความเร็วสูงจะสูญเสียลูกค้าให้กับเครื่องบินหากต้องใช้เวลาเดินทางมากกว่า 3 ชั่วโมง โดยหากใช้ความเร็วที่ 300 กม.ต่อชั่วโมง เส้นทางจากกรุงเทพถึงเชียงใหม่ก็ยังต้องใช้เวลาเดินทางราว 3 ชั่วโมงครึ่ง ผู้โดยสารจำนวนมากจึงอาจเลือกใช้บริการสายการบินโลว์คอสแทนหากต้องใช้เวลาเดินทางนานขึ้น
รัฐบาลไทยประเมินค่าโดยสารรถไฟความเร็วสูงเส้นทางนี้ไว้ที่ 1,200 บาท ซึ่งถูกกว่าค่าโดยสารรถไฟชินคังเซนราว 1 ใน 3 ในระยะทางเท่ากัน เนื่องจากค่าครองชีพที่ต่างกันของ 2 ประเทศ
นอกจากข้อเสนอลดความเร็วเพื่อลดต้นทุนแล้ว รัฐบาลไทยยังต้องการให้ฝ่ายญี่ปุ่นร่วมลงทุนในโครงการนี้ เพื่อเป็นหลักประกันในระยะยาว และลดความเสี่ยงจากการที่ฝ่ายไทยไม่มีประสบการณ์ในการควบคุมรถไฟความเร็วสูง
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมต.คมนาคม ให้สัมภาษณ์กับสื่อญี่ปุ่นว่า โครงการนี้เป็น "win-win solution." หรือ สมประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย โดยบอกว่า เพื่อรับประกันว่าเทคโนโลยีชินคังเซนจะถูกใช้ตลอดไป ทำไมฝ่ายญี่ปุ่นจึงไม่เข้ามาและทำโครงการร่วมกัน?
ฝ่ายญี่ปุ่นมองว่า เกมการเมืองก็อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้พลเอกประยุทธ์ระมัดระวังในการตัดสินใจโครงการใหญ่นี้ หลังจากอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถูกพิพากษาจำคุก 5 ปีจากโครงการรับจำนำข้าว จนต้องลี้ภัยจนถึงทุกวันนี้ และพลเอกประยุทธ์คงไม่ต้องการเดินซ้ำรอยอดีตนายกฯหญิง
รัฐบาลไทยมีกำหนดจะส่งข้อเสนอโครงการรถไฟความเร็วสูงเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีในปลายเดือนมีนาคม จึงยังมีเวลาสำหรับการต่อรองระหว่าง 2 ประเทศ และยังยากจะฟันธงได้ว่า รถไฟหัวกระสุนของญี่ปุ่นจะมีโอกาสแล่นในแผ่นดินไทยหรือไม่.