เปิดผลตรวจวิเคราะห์น้ำผุดนาข้าวรอบเหมืองทองพิจิตร-ไม่พบไซยาไนด์ปนเปื้อน
กรมควบคุมมลพิษร่วมกับ อบต.เขาเจ็ดลูกจัดแถลงผลตรวจวิเคราะห์น้ำผุดที่พบในนาข้าวรอบเหมืองทอง ไม่พบ สารไซยาไนด์หรือสารพิษอื่นที่มีผลเฉียบพลันปนเปื้อน
กรณีชาวบ้านร้องเรียน พบว่า มีน้ำผุดในนาข้าวมีลักษณะสีดำ มีกลิ่นเหม็น บริเวณนาข้าวที่อยู่ทางด้านทิศตะวันตก ห่างจากบ่อเก็บกากแร่แห่งที่ 2 ของ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) เกรงว่าจะมีสารปนเปื้อนลงแหล่งน้ำสาธารณะ ต่อมา กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (ก.พ.ร.) ได้เร่งส่งเจ้าหน้าที่เข้าร่วมลงพื้นที่ตรวจสอบและเก็บตัวอย่างน้ำ ร่วมกับสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดพิจิตร สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดเพชรบูรณ์ สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 4 สำนักงานเกษตรจังหวัดพิจิตร กองกำลังรักษาความสงบจังหวัดพิจิตร ร่วมกับคณะอาจารย์มหาวิทยาลัยนเรศวร ตัวแทนชาวบ้านตำบลเขาเจ็ดลูก ตัวแทนชาวบ้านตำบลท้ายดง และตัวแทนบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) โดยทำการเก็บตัวอย่างน้ำ จำนวน 6 จุด นั้น (อ่านประกอบ:กพร. เร่งดำเนินการตรวจสอบกรณีน้ำผุดในนาข้าว คาดรู้ผลโดยเร็ว)
ผ่านไปเกือบ 2 เดือน ล่าสุด เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2560 ที่องค์การบริหารส่วนตำบลเขาเจ็ดลูก จ.พิจิตร ดร.ชยาวีร์ หวังเจริญรุ่ง ผู้แทนกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แถลงผลการวิเคราะห์ตัวอย่างน้ำบริเวณแปลงนาข้าวด้านทิศตะวันตกของบ่อเก็บกักกากแร่ (TSF 2) บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ที่ได้รับเอกสารแจ้งจาก กพร. หลังได้เก็บตัวอย่างไปตรวจตั้งแต่วันที่ 16 พฤศจิกายน 2560 สรุปผลวิเคราะห์ดังนี้
1. พื้นที่ป่าบัวเป็นพื้นที่ต่ำ จึงมีแนวโน้มที่น้ำในแหล่งกักเก็บบริเวณโดยรอบ และน้ำใต้ดินหรือน้ำซับจะไหลลงพื้นที่ดังกล่าว น้ำที่ผุดขึ้นมาในบริเวณป่าบัว พบว่ามีลักษณะใส แต่มีค่าแมงกานีสเกินเกณฑ์มาตรฐานน้ำผิวดิน ไม่พบว่า สารไซยาไนด์หรือสารพิษอื่นที่มีผลเฉียบพลันปนเปื้อน
2. น้ำที่ไหลลงสู่พื้นที่นาข้าว พบว่า มีสีดำ มีค่าบีโอดีสูง ปริมาณออกซิเจนน้อยและมีสัดส่วนของค่าซีโอดีสูง (น้ำเน่า) ซึ่งน้ำเน่าดังกล่าวเกิดจากการย่อยสลายของสารอินทรีย์ เช่น ตอซังข้าว ใบยูคาลิปตัส เป็นต้น สำหรับผลการตรวจวัดคุณภาพดินในพื้นที่ที่ทำการตรวจมีค่าไม่เกินเกณฑ์มาตรฐาน
3. ท้องถิ่นมีการกักน้ำสีดำดังกล่าวไว้ทำให้เกิดสภาพน้ำท่วม และก่อให้เกิดความเดือดร้อนกับชาวบ้านจำนวนหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตามผลการตรวจสอบไม่พบสารพิษที่เป็นอันตรายที่จะส่งผลต่อสุขภาพอนามัยของชาวบ้านอย่างเฉียบพลัน จึงเสนอว่า ควรมีการระบายน้ำที่กักไว้ ซึ่งมีลักษณะเป็นน้ำเน่าเสียออกอย่างระมัดระวัง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน
3.1 ให้ทยอยระบายน้ำ เนื่องจากน้ำส่วนล่างและตะกอนดำด้านใต้ยังคงเน่าเสียและมีออกซิเจนต่ำ จึงควรระบายน้ำส่วนบนออกก่อน
3.2 อาจใช้น้ำดีไล่น้ำเสีย โดยหากสามารถผันน้ำดีบางส่วนลงในลำเหมือง เพื่อเจือจางน้ำเน่า ก่อนการปล่อยได้
4. เมื่อระดับน้ำลดลง จะสามารถสำรวจได้ง่ายขึ้นว่า มีน้ำผุดขึ้นจากบริเวณใดบ้างและน้ำผุดนั้นใสจริงหรือไม่
ทั้งนี้ ในหนังสือที่ลงนามโดยนายวิษณุ ทับเที่ยง รองอธิบดี รักษาราชการแทนอธิบดี ก.พ.ร.ยังระบุด้วยว่า กพร.พิจารณาแล้ว จึงขอส่งผลวิเคราะห์คุณภาพน้ำจากการเกิดน้ำผุดบริเวณนาข้าว รายละเอียดตามที่ส่งมาด้วยให้องค์การบริหารส่วนตำบลเขาเจ็ดลูก เพื่อนำมาวิเคราะห์คุณภาพน้ำดังกล่าวไปชี้แจงและทำความเข้าใจให้ประชาชนในพื้นที่รับทราบต่อไป
สำหรับการเก็บตัวอย่างน้ำ จำนวน 6 จุด ประกอบด้วย
(1) นาข้าวซึ่งจะใช้เป็นจุดควบคุมอยู่ทางด้านทิศเหนือของประทานบัตร
(2) ต้นน้ำบ้านเนินทอง อยู่ทางทิศใต้ของบ่อกักเก็บกากแร่ที่ 2
(3) บริเวณป่าบัว อยู่ทางทิศตะวันตกของบ่อกักเก็บกากแร่ที่ 2
(4) บริเวณนาข้าวที่น้ำไหล ผ่านอยู่บริเวณทางใต้จุดที่ 3
(5) จุดรวมน้ำจากนาข้าว/บ้านเนินทองและคลองร่องหอย
(6) บริเวณคลองหลังบ้านนายก อบต.เขาเจ็ดลูก
ด้านนายกฤษณะ ก้อนแก้ว นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เขาเจ็ดลูก จังหวัดพิจิตร กล่าวถึงผลการตรวจของทางราชการสรุปออกมาชี้ชัดแล้วว่า น้ำตัวอย่างที่นำไปวิเคราะห์ผลการตรวจสอบไม่พบสารพิษที่เป็นอันตรายที่จะส่งผลต่อสุขภาพอนามัยของชาวบ้านอย่างเฉียบพลัน และไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับการทำเหมืองทอง อยากขอให้ผู้นำชุมชนที่เข้ารับฟังข้อมูลในครั้งนี้ นำข้อมูลจากทางราชการไปทำความเข้าใจกับชาวบ้านในท้องถิ่น โดยทางเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจะเร่งปล่อยน้ำ เพื่อแก้ไขเหตุการณ์ให้กลับคืนสู่ปกติโดยเร็ว