กมธ.คงหลักการเดิม ยืดเวลาบังคับใช้ร่าง พ.ร.บ.เลือกตั้ง ส.ส.90 วัน
กมธ.พิจารณาร่าง พ.ร.ป.ส.ส.มีมติยืนยันหลักการเดิม ยืดเวลาบังคับใช้ร่างกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.90 วัน นับจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา
เมื่อวันที่ 24 ม.ค.61 ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยมี นายวิทยา ผิวผ่อง ประธาน กมธ.วิสามัญฯ ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อพิจารณาทบทวนร่าง พ.ร.บ.เป็นครั้งสุดท้าย ก่อนจะมีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้วาระ 2-3 ในวันที่ 25 ม.ค.นี้
ภายหลังการประชุม นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ กมธ.วิสามัญฯ กล่าวว่า ที่ประชุมได้ทบทวนเนื้อหาร่าง พ.ร.บ.การเลือกตั้ง ส.ส.เป็นครั้งสุดท้าย โดยมีมติยืนยันตามเนื้อหาเดิมที่ กมธ.เคยมีมติไปทุกอย่าง ไม่มีการปรับปรุงแก้ไขใดๆ โดยยังยืนยันหลักการตามมาตรา 2 เรื่องการขยายระยะเวลาบังคับใช้กฎหมายให้มีผลเมื่อพ้นจาก 90 วัน นับจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา ไม่มีการแก้ไขหลักการขยายเวลาบังคับใช้กฎหมายออกไปเป็น 120 วัน ตามที่มีกระแสข่าว โดยให้ผู้ที่เสนอขยายเวลาเป็น 120 วัน ไปสงวนคำแปรญัตติต่อที่ประชุม สนช.ในวันที่ 25 ม.ค.ทั้งนี้ประเด็นที่ประชุมคาดว่า จะมีการถกเถียงกันอย่างมากมี 3 เรื่องคือ 1. มาตรา 2. เรื่องการขยายเวลาบังคับใช้กฎหมายเป็น 90 วัน 2. มาตรา 35 เรื่องการตัดสิทธิการเข้าสมัครรับราชการสังกัดรัฐสภา เป็นเวลา 2 ปี ต่อผู้ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ส.ส. 3. การให้แสดงมหรสพระหว่างการหาเสียงได้ อย่างไรก็ตามยังเชื่อมั่นว่า ที่ประชุม สนช.จะให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวในวันที่ 25 ม.ค.
ขณะที่ นายทวีศักดิ์ สูกวาทิน โฆษก กมธ.วิสามัญฯ กล่าวว่า เป็นการประชุมเพื่อเตรียมกำหนดตัวบุคคลทำหน้าที่นำเสนอเหตุผลการแก้ไขกฎหมายในแต่ละมาตรา โดยสรุปจะมีแก้ไขทั้งสิ้น 30 มาตรา โดยการเสนอแก้ไขมาตรา 2 ที่ให้ขยายเวลาบังคับใช้กฎหมายออกไป 90 วันนั้น ยืนยันว่ามีเหตุผลจริงๆ เป็นเรื่องการปฏิรูปการเมือง แต่ขอติงการนำเสนอข่าวของสื่อที่หลงประเด็นไปตามพรรคการเมือง ที่จ้องโจมตีประเด็นการยื้อเวลาอย่างเดียว แต่ไม่มองเรื่องความพยายามปฏิรูปพรรคการเมืองให้ประชาชนเป็นเจ้าของพรรคอย่างแท้จริง ในการเข้าไปเป็นสมาชิกพรรค กำหนดตัวผู้สมัครอย่างแท้จริง ตามหลักการไพรมารีโหวต ที่พรรคการเมืองเขาไม่อยากปฏิรูปเปลี่ยนแปลงอะไร