เปิด "ช่องโหว่" บึ้มตลาดยะลา...เขย่าขวัญใต้สันติสุข!
ต้องยอมรับว่า เหตุระเบิดที่เกิดขึ้นในตลาดพิมลชัย กลางเมืองยะลา ซึ่งนับเป็นระเบิดลูกแรกที่เกิดขึ้นในย่านเศรษฐกิจของเทศบาลนครยะลาในรอบเกือบ 3 ปี สะท้อนถึงความเปราะบางของพื้นที่ และช่องโหว่บางประการของมาตรการรักษาความปลอดภัย จนทำให้คนร้ายเล็ดลอดเข้าไปวางระเบิดได้
อำเภอเมืองยะลา ถือเป็น 1 ใน 7 หัวเมืองเศรษฐกิจสำคัญที่ฝ่ายความมั่นคงใช้มาตรการป้องกันเหตุรุนแรงอย่างเข้มงวดเป็นพิเศษ เพื่อไม่ให้กระทบกับเศรษฐกิจภาพรวมในพื้นที่
โดย 7 หัวเมืองเศรษฐกิจชายแดนใต้ ประกอบด้วย เมืองหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา อำเภอเมืองปัตตานี อำเภอเมือง และอำเภอเบตง จังหวัดยะลา อำเภอเมือง อำเภอตากใบ และอำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส ซึ่งจากมาตรการที่ผ่านมาก็สามารถป้องกันเหตุรุนแรงขนาดใหญ่ได้ โดยไม่เคยเกิดเหตุระเบิดในเขตเมืองยะลาเลย ตั้งแต่เดือน พ.ค.58
เทศบาลนครยะลามีพื้นที่เศรษฐกิจ เรียกว่า "ย่านถนนรวมมิตร" เป็น "พื้นที่ไข่แดง" ถูกจัดระเบียบให้เป็น "เซฟตี้ โซน" ที่ใช้มาตรการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด ส่วนพื้นที่โดยรอบในเขตเทศบาล ใช้มาตรการรักษาความปลอดภัยระดับทั่วไป แต่ในตลาดพิมลชัย ซึ่งเป็นตลาดสด มีประชาชนเข้าไปจับจ่ายซื้อของจำนวนมาก จึงเป็นข้อจำกัดในการคัดกรองผู้ไม่หวังดี ถือเป็นช่องโหว่ที่คนร้ายสามารถลักลอบเข้าไปก่อเหตุได้
พงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา ให้ข้อมูลกับ "ทีมข่าวอิศรา" ว่า ตลาดพิมลชัยถือเป็นพื้นที่อ่อนไหว เพราะเทศบาลไม่สามารถเข้าไปจัดระเบียบได้ เนื่องจากเป็นพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย เอกชนผู้รับสัมปทานนำพื้นที่ไปปล่อยเช่าแผงอย่างเสรี ทำให้มีปัญหาทั้งเรื่องสุขอนามัย เรื่องการทำผิดกฎหมายควบคุมอาคาร และการจัดระเบียบต่างๆ โดยเฉพาะที่จอดรถ ไม่สามารถดำเนินการได้เลย ทำให้ตลาดมีสภาพยุ่งเหยิงสับสนไปหมด กระทั่งเป็นช่องโหว่ให้คนร้ายเข้าไปก่อเหตุ
ที่ผ่านมาเทศบาลพยายามทำเรื่องขอรับโอนพื้นที่ หรือแม้กระทั่งซื้อสัมปทานเพื่อให้เทศบาลเข้าไปจัดระเบียบ แต่ก็ติดปัญหาต่างๆ มาหลายปีแล้ว ส่วนมากเป็นปัญหาเรื่องระเบียบกฎหมายต่างๆ และที่ผ่านมาก็เคยเกิดเหตุระเบิดในตลาดแห่งนี้หลายครั้ง
"ตลาดแห่งนี้เคยให้เอกชนเข้าไปทำ แต่เอกชนทำไม่ได้ ถูกฟ้องจนกระทั่งมีการขายทอดตลาด เทศบาลขอเข้าไปดำเนินการ ก็มีเสียงวิจารณ์ว่าเทศบาลจะไปแข่งกับเอกชน ทางเทศบาลก็เลยทำหนังสืออุทธรณ์ไป บอกว่าไม่ได้ต้องการจะแข่งขัน และก็มีการทำหนังสือไปยังหลายหน่วยงานเพื่อทำความเข้าใจ แต่ก็ยังไม่มีอะไรคืบหน้า กรณีแบบนี้มองว่าอาจต้องให้รัฐบาลใช้อำนาจตามมาตรา 44 สั่งให้เทศบาลเข้ามาดำเนินการ" นายกเทศมนตรีนครยะลา กล่าว
ข้อมูลของ พงษ์ศักดิ์ หรือ "นายกฯอ๋า" สอดคล้องกับความเห็นของฝ่ายความมั่นคงอย่าง พล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 4
"หลังจากนี้ต้องเรียกผู้ประกอบการทั้งหมดมาพูดคุยกัน เพราะตลาดพิมลชัย เป็นพื้นที่ของรถไฟที่ยังไม่ให้เข้าไปจัดระเบียบ แต่พื้นที่อื่นมีการจัดระเบียบกันหมดแล้ว ตลาดแห่งนี้เอกชนที่ได้สัมปทาน ไม่ได้ให้เจ้าหน้าที่เข้าไปจัดระเบียบ จึงมีช่องโหว่ ทางเจ้าหน้าที่ก็มีความพยายามที่จะปิดช่องโหว่ให้ได้ ก็ต้องขอโทษพี่น้องประชาชนกับสิ่งที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะความสูญเสีย ฉะนั้นจะมีการพูดคุยจัดระเบียบเพิ่มขึ้น เช่น เมื่อเลิกตลาดก็ต้องเก็บของ และจะมีเจ้าหน้าที่มาดูแล ส่วนในช่วงเช้าก็จะต้องช่วยกันดูว่ามีสิ่งแปลกปลอมหรือไม่" พล.ท.ปิยวัฒน์ ระบุ
ล่าสุด ช่วงเช้าของวันอังคารที่ 23 ม.ค.61 หลังเกิดระเบิดเพียง 1 วัน ก็มีการปรับมาตรการรักษาความปลอดภัยตลาดพิมลชัยแล้ว โดยสำนักข่าวเนชั่นรายงานว่า ฝ่ายความมั่นคงได้ส่งกำลังทหารจากหน่วยเฉพาะกิจยะลา 12 พร้อมด้วยอาสารักษาดินแดน (อส.) ตำรวจ และกำลังจากไทยอาสาป้องกันชาติ (ทสปช.) กระจายกันดูแลความปลอดภัยรอบบริเวณตลาด ทั้งยังมีการจัดระบบจราจรใหม่ ด้วยการให้พ่อค้า แม่ค้า และประชาชน ขับรถทุกประเภทผ่านเข้าไปในตลาดได้ 3 เส้นทาง และทุกเส้นทางจะมีเจ้าหน้าที่คอยตรวจรถทุกคัน ส่วนทางออกจากตลาด สามารถขับรถออกได้ 4 เส้นทาง
สำหรับความคืบหน้าคดีลอบวางระเบิดตลาดพิมลชัย เจ้าหน้าที่ได้ข้อมูลเกี่ยวกับรถจักรยานยนต์ที่คนร้ายนำมาประกอบระเบิดเป็น "มอเตอร์ไซค์บอมบ์" พบว่าเป็นรถจักรยานยนต์ยี่ห้อฮอนด้า รุ่นสกู๊ปปี้ไอ เจ้าของตัวจริงแจ้งหายไว้ที่ สภ.เมืองยะลา เมื่อวันที่ 21 ม.ค.60
เหตุระเบิดที่ตลาดพิมลชัย เมื่อวันจันทร์ที่ 22 ม.ค.61 ต้องบันทึกไว้ว่าเป็นระเบิดแบบ "มอเตอร์ไซค์บอมบ์" ลูกแรกของปี เกิดขึ้นในช่วงที่รัฐบาลและฝ่ายความมั่นคงพยายามตีข่าวว่าสถานการณ์ในพื้นที่ดีขึ้น และสถิติเหตุรุนแรงลดลงอย่างมาก ถึงขั้นประกาศว่าปีหน้าอาจเป็นปี "ส่งคืนพื้นที่สันติสุข" ถอนทหารทั้งหมดออกจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ แล้วส่งมอบพื้นที่ให้ภาคประชาชนดูแลกันเอง
ขณะเดียวกัน กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่รัฐบาลเปิดโต๊ะพูดคุยกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐที่ใช้ชื่อว่า "มารา ปาตานี" ก็มีความคืบหน้า โดยเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ ออกแถลงการณ์ยืนยันว่าได้นัดพบปะกับผู้นำฝ่ายทหารของบีอาร์เอ็น และการพูดคุยมีแนวโน้มที่ดี คาดว่าจะประกาศตั้ง "พื้นที่ปลอดภัยอำเภอแรก" ได้ในช่วงกลางปีนี้
จากความเคลื่อนไหวทั้งหมด ทำให้มีการวิเคราะห์กันว่า เหตุระเบิดครั้งรุนแรงในพื้นที่เศรษฐกิจกลางเมืองยะลา น่าจะเป็นความพยายามของกลุ่มก่อความไม่สงบที่ต้องการตอบโต้ความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาของฝ่ายความมั่นคง ทำลายพื้นที่เศรษฐกิจ ท้าทายอำนาจรัฐ รวมทั้งอาจเป็นการแสดงจุดยืนไม่ยอมรับการพูดคุยเพื่อสันติสุข และการสร้างพื้นที่ปลอดภัยด้วย
------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : ความสับสนอลหม่านและความพลุกพล่านของผู้คนที่ตลาดพิมลชัย
อ่านประกอบ :