กระทรวงวิทย์ ปั้น “กรุงเทพฯ เมืองแห่งการเริ่มต้นสตาร์ทอัพ” ลงพื้นที่สำรวจความพร้อมก่อนผุดย่านนวัตกรรม
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ชู “กรุงเทพฯ เมืองแห่งการเริ่มต้นสตาร์ทอัพ” ศูนย์กลางพื้นที่นวัตกรรมธุรกิจคนรุ่นใหม่ จับมือกับมหาวิทยาลัยและภาคเอกชนสร้างระบบนิเวศรองรับการเติบโตของสตาร์ทอัพ โชว์ความพร้อม พื้นที่สร้างกำลังคนสู่ธุรกิจสตาร์ทอัพ “เคเอ็กซ์”(KX) มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี ศูนย์บ่มเพาะเพื่อเริ่มต้นธุรกิจสตาร์ทอัพ “ทรู อินคิวบ์” (True Incube) และ พื้นที่สร้างเครือข่ายสตาร์ทอัพ “วีโคซิสเต็ม”(Wecosytem) เตรียมผุดย่านนวัตกรรมกรุงเทพ อาทิ โยธี ปทุมวัน คลองสาน รัตนโกสินทร์ กล้วยน้ำไท ลาดกระบัง ปุณณวิถีและบางซื่อ ดึง 10 บริษัทดังปั้น 5 พันสตาร์ทอัพโกอินเตอร์
เมื่อวันที่ 22 ม.ค. 2561 ดร.สุวิทย์เมษินทรีย์ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(วท.) พร้อมผู้บริหารสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ(สนช.) นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่สำรวจความพร้อมในการส่งเสริมธุรกิจสตาร์ทอัพของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ที่สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ(สนช.) (องค์การมหาชน) ให้การสนับสนุนใน 3 จุดสำคัญ ประกอบด้วย พื้นที่ในการสร้างกำลังคนสู่ธุรกิจสตาร์ทอัพ “เคเอ็กซ์”(KX) มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี ศูนย์บ่มเพาะเพื่อเริ่มต้นธุรกิจสตาร์ทอัพ “ทรู อินคิวบ์”(True Incube)และ พื้นที่สร้างเครือข่ายสตาร์ทอัพ “วีโคซิสเต็ม”(Wecosytem) เพื่อส่งเสริมกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองแห่งการเริ่มต้นของธุรกิจสตาร์ทอัพ
โดยจุดแรก ดร.สุวิทย์ ได้ไปชมพื้นที่ในการสร้างกำลังคนสู่ธุรกิจสตาร์ทอัพ “เคเอ็กซ์” มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี(มจธ.) ซึ่ง มจธ.เป็น 1 ใน 30 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศที่ร่วมมือกับกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ในการพัฒนาหลักสูตรเพื่อสร้างภาวะความเป็นผู้ประกอบการ และเป็นศูนย์การพัฒนาแนวความคิดสู่ธุรกิจนวัตกรรมรายใหม่ โดยมุ่งพัฒนาศักยภาพนักศึกษา อาจารย์ บุคลากรของมหาวิทยาลัย ผู้ประกอบการที่ทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัย ให้มีทักษะในการประกอบธุรกิจสตาร์ทอัพหรือธุรกิจนวัตกรรมที่มีศักยภาพในการเติบโตสูง และสร้างมหาวิทยาลัยให้เป็นพื้นที่สำหรับการแลกเปลี่ยนความรู้ ทั้งนี้ มีเป้าหมายคือการนำความรู้และนวัตกรรมไปใช้งานจริงในการทำธุรกิจสตาร์ทอัพ
จากนั้น ดร.สุวิทย์ ได้นำสื่อมวลชนขึ้นรถไฟฟ้าบีทีเอสจากสถานีวงเวียนใหญ่ไปสู่สถานีสยามสแควร์ เยี่ยมชมศูนย์บ่มเพาะเพื่อเริ่มต้นธุรกิจสตาร์ทอัพ “ทรู อินคิวบ์” ซึ่งศูนย์บ่มเพาะแห่งนี้ เป็นผู้นำด้านสตาร์ทอัพที่ครบวงจรที่สุดในการให้บริการและส่งเสริมสตาร์ทอัพไทยให้ก้าวไกลสู่ระดับโลกด้วยระบบนิเวศระดับภูมิภาคในการส่งเสริมนวัตกรรมและธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ ทั้งการสร้างแรงบันดาลใจ สร้างนวัตกรรม บ่มเพาะธุรกิจ และการลงทุน
ต่อมา ดร.สุวิทย์ ได้นำคณะไปยังจุดที่สามคือพื้นที่สร้างเครือข่ายสตาร์ทอัพ “วีโคซิสเต็ม” พื้นที่สร้างวัฒนธรรมใหม่การดำเนินธุรกิจให้กับผู้ประกอบการ โดยได้นำแนวคิดการสร้างผู้ประกอบการจากหลักสูตรต่าง ๆ ของสถาบันการศึกษาทั่วโลกรวบรวมมาจัดการสอนในรูปแบบการฝึกอบรม เพื่อสร้างไอเดียใหม่ให้ผู้ประกอบการให้สามารถปรับกระบวนการคิด การออกแบบ การใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี และเลือกใช้เครื่องมือให้เหมาะสมต่อการทำธุรกิจ เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ธุรกิจถูกทำลายด้วยเทคโนโลยี โดยกลุ่มเป้าหมายของวีโคซิสเต็มได้แก่ ผู้ประกอบการทุกกลุ่ม ทั้งสตาร์ทอัพ , เอสเอ็มอี และนักวิจัย รวมถึงนักเรียนและนักศึกษาที่ต้องการเป็นผู้ประกอบการที่รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี
ดร.สุวิทย์ ให้สัมภาษณ์ว่า ทั้ง 3 จุด คือ เคเอ็กซ์ มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี ศูนย์บ่มเพาะเพื่อเริ่มต้นธุรกิจสตาร์ทอัพ ทรู อินคิวบ์และพื้นที่สร้างเครือข่ายสตาร์ทอัพ วีโคซิสเต็มถือเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศและจุดเริ่มต้นในการผลักดันให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองแห่งการเริ่มต้นสตาร์ทอัพ เนื่องจาก กรุงเทพฯ ถือเป็นอันดับ 1 เมืองที่ดีที่สุดสำหรับชาวสตาร์ทอัพในเอเชีย และเป็นอันดับ 7 ของโลกเพราะมีตัวเลขของการเติบโตของธุรกิจสตาร์ทอัพที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ กรุงเทพฯ ได้รับความสนใจในกลุ่มเทคโนโลยีทางการเงิน : FinTechและในกลุ่มอื่นๆ ด้วย ซึ่งทำให้กรุงเทพฯ กลายเป็นศูนย์กลางที่เหมาะสมสำหรับการผลักดันธุรกิจดังกล่าวสู่ภูมิภาคอาเซียนไปพร้อมกับประชากรจำนวนมหาศาลและการเติบโตของชนชั้นกลางที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยย่านนวัตกรรมของกรุงเทพฯ ที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จะผลักดันให้เป็นเมืองแห่งการเริ่มต้นสตาร์ทอัพ อาทิ โยธี ปทุมวัน คลองสาน รัตนโกสินทร์ กล้วยน้ำไท ลาดกระบัง ปุณณวิถีและบางซื่อ จากนั้นจะขยายไปสู่ย่านนวัตกรรมในแนวระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก อีก 4 ย่าน ได้แก่ บางแสน ศรีราชา พัทยา อู่ตะเภา – บ้านฉาง ก่อนจะขยายไปสู่กลุ่มเครือข่ายย่านนวัตกรรมภูมิภาค ได้แก่ เชียงใหม่ ขอนแก่น ภูเก็ตและฉะเชิงเทรา
รมว.วิทยาศาสตร์ฯ กล่าวต่อว่า สำหรับผู้ประกอบการสตาร์ทอัพขณะนี้มีประมาณ 8 พันราย โดยจะยกระดับสตาร์ทอัพ 5 พันรายปั้นให้เป็นกองทัพแห่งเศรษฐกิจอนาคตที่ขับเคลื่อนด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ขณะนี้ กระทรวงฯ ได้ประสานกับบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลก 10 ราย อาทิ เครื่อเจริญโภคภัณฑ์ บริษัทเบทาโกร จำกัด บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด บริษัท ปตท.จำกัด เป็นต้นให้ร่วมขับเคลื่อนสตาร์ทอัพไทยให้ก้าวสู่ระดับโลกต่อไป