รู้จักภาวะชัตดาวน์ของรัฐบาลสหรัฐฯ ศึกชิงนโยบายงบประมาณที่หยุดพญาอินทรีย์
สภาวะชัตดาวน์ของรัฐบาลสหรัฐฯหรือ Government Shutdownครั้งนี้ และศึกด้านนโยบายของสองฝ่ายระหว่างรีพับลิกัน และเดโมแครตจะจบลงอย่างไร สภาคองเกรสจะปลดล็อคงบประมาณประจำปีออกมาได้หรือไม่ เป็นเรื่องที่น่าติดตาม
20 ม.ค. 2561 นอกจากจะเป็นวันครบรอบหนึ่งปีการดำรงตำแหน่งของโดนัลด์ ทรัมป์ ในฐานะประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ยังเป็นครั้งแรกของรัฐบาลทรัมป์ที่สหรัฐฯเกิดสภาวะชัตดาวน์ของรัฐบาลสหรัฐฯหรือที่เรียกว่า Government Shutdown เนื่องจากสภาคองเกรสไม่สามารถผ่านร่างกฎหมายงบประมาณรายจ่ายได้ทันเที่ยงคืนของวันที่ 20 ม.ค. (ซึ่งตรงกันเที่ยงวันของวันเสาร์ที่ 20 เวลาประเทศไทย) ทำให้หน่วยงานรัฐบาลไม่ได้รับงบประมาณสำหรับการดำเนินการ ต้องเข้าสู่ภาวะชะงักงัน
ผ่านไป 1 วันหลัง เกิดภาวะที่เรียกว่า Government Shutdown ปรากฎการณ์นี้ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใดในระบบการปกครองของสหรัฐฯ เพราะที่ผ่านมาเคยเกิดเหตุการณ์ในลักษณะแบบนี้มาแล้วถึง 17 ครั้ง (เริ่มครั้งแรกปี ค.ศ. 1977 ครั้งที่ยาวนานที่สุดคือสมัย ประธานาธิบดี บลิน คลินตัน นานที่สุดถึง 21 วันนับจากวันที่ 16 ธ.ค. 1995 ถึง 5 ม.ค. 1996) ครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 18 ย้อนกลับไปเมื่อเดือน ต.ค. ปี 2556 รัฐบาลของโอบามาก็เจอกับภาวะนี้ ตอนนั้น หน่วยงานรัฐฯต้องปิดชั่วคราวเป็นระยะเวลา 16 วันนับจากวันที่ 30 ก.ย. 2556 ถึง 17 ต.ค. 2556 ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของชาวอเมริกันต่อตัวโอบามา และพรรคเดโมเครตอยู่มาก
Government Shutdown คืออะไร
เป็นภาวะที่รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ยุติการจ่ายงบประมาณให้กับหน่วยงานต่าง ๆ เป็นการชั่วคราว ยกเว้นหน่วยงานหรือบริการที่สำคัญเท่านั้น โดยหน่วยงานสำคัญที่ว่านี้ อาทิ หน่วยงานด้านสาธารณสุข สำนักงานสภาพอากาศแห่งชาติ บริการไปรษณีย์ กองทัพ หน่วยจัดการจราจรทางอากาศ เป็นต้น และเมื่อรัฐบาลยุติการจ่ายงบประมาณให้หน่วยงานบางหน่วยแล้ว ก็จะทำให้หน่วยงานนั้นต้อง "ปิด" ตัวลงชั่วคราว เพื่อรองรับวิกฤตงบประมาณที่เกิดขึ้น จนกว่าจะได้รับงบประมาณจัดสรรมาสนับสนุน เพื่อให้หน่วยงานดำเนินการหรือเปิดให้บริการต่อไปได้
สำหรับสาเหตุของภาวะหน่วยงานรัฐบาลปิดตัวนั้น มีจุดเริ่มต้นโดยตรงจากการที่วุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ มีความเห็นไม่ลงรอยกัน เมื่อวุฒิสภามีมติคัดค้านเรื่องงบประมาณรายจ่ายประจำปี ก็ทำให้สภาคองเกรสไม่สามารถผ่านร่างงบประมาณฉบับใหม่ได้ และเมื่อความขัดแย้งนี้ยังคงยืดเยื้อและดำเนินมาเรื่อย ๆ จนถึงช่วงครบกำหนดช่วงงบประมาณ หรือช่วงเส้นตายแล้วก็ยังคงไม่ได้ข้อสรุป งบประมาณจึงไม่ได้รับการอนุมัติไปยังหน่วยงานราชการหลายหน่วย ทำให้พนักงานในหน่วยงานนั้นต้องพักงานและไม่ได้รับเงินค่าจ้างในช่วงพักงานนี้
ส่วนหน่วยงานที่ได้รับผลกระทบจากภาวะชัตดาวน์นี้ ก็คือหน่วยงานราชการที่ไม่จำเป็นต่าง ๆ เช่น สวนสัตว์ ศูนย์แสดงพันธุ์สัตว์น้ำ พิพิธภัณฑ์ อุทยานแห่งชาติ เป็นต้น นอกจากนี้ พนักงานจำนวนประมาณ 850,000 คน (0.5% ของกำลังแรงงานสหรัฐฯ) ในตำแหน่งที่ไม่จำเป็นจากกระทรวงต่าง ๆ เช่น กระทรวงกลาโหม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงพลังงาน และกระทรวงคมนาคม ถูกพักงาน และไม่ได้รับเงินเดือน จนกว่าสภาคองเกรสจะตกลงกันได้
(ภาพ CNN)
ชัตดาวน์ของรัฐบาลทรัมป์มีเรื่องอะไรบ้าง
สาเหตุใหญ่ๆ ที่สภาคองเกรสไม่สามารถหาข้อสรุปได้ทันเวลา เพราะความเห็นของสองฝั่ง(ฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน) ไม่ตรงกัน โดยฝ่ายทรัมป์(รีพับลิกัน) ต้องการสนับสนุนการยกเลิกงบประมาณในโครงการดาก้า( Deferred Action for Childhood Arrivals program-DACA) ซึ่งเป็นโครงการในสมัยของบารัค โอบาม่า โครงการนี้มีขึ้นเพื่อคุ้มครองเยาวชนที่ลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายให้มีโอกาสได้รับการศึกษา รวมไปถึงการที่ทรัมป์ต้องการงบไปสร้างกำแพงกั้นชายแดนเม็กซิโกด้วย ทำให้การโหวตเพื่อผ่านงบประจำปีต้องชะงักลง
ถึงแม้ว่าก่อนหน้านั้น สภาล่างหรือ สภาผู้แทนราษฏรสหรัฐจะมีมติเห็นชอบผ่านร่างงบประมาณชั่วคราวในช่วงกลางคืนวันพฤหัสบดีที่ 18 ที่ผ่านมาด้วยคะแนนเสียง 230 ต่อ 197 แต่เมื่อร่างฉบับนี้เข้าสูงสภาคองเกรสหรือที่เรียกว่าสภาสูงกลับถูกโหวตตกไป
เนื่องจากการจะผ่านร่างฉบับนี้ได้ต้องการใช้ 60 เสียง ซึ่งปรากฏว่ามีผู้โหวตไม่เห็นด้วย 50 เสียงจากฝ่ายเดโมแครต 45 เสียงและอีกห้าเสียงจาก รีพับลิกันเอง แต่ทั้งนี้ก็มีสมาชิกวุฒิสภาฝ่ายเดโมแครตซึ่งมาจากรัฐอนุรักษ์นิยมโหวตเอาด้วย 5 เสียงแต่นั่นไม่เพียงพอที่จะทำให้รัฐบาลทรัมป์ผ่านร่างงบประมาณไปได้
ชัตดาวน์ครั้งก่อนส่งผลอะไรต่อเศรษฐกิจ สังคมสหรัฐฯบ้าง
ในการชัตดาวน์สมัยโอบาม่า 16 วัน ส่งผลให้ดัชนีการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐในไตรมาสสุดท้ายของปี 2013 (พ.ศ. 2556 ) ลดลง 0.2-0.6เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ยังส่งต่อการเรียกคืนเงินภาษีรวมเกือบ 4 พันล้านดอลลาร์เป็นไปด้วยความล่าช้า โครงการด้านโภชนาการสำหรับสตรี, ทารกและเด็กไม่ได้รับเงินสนับสนุน การทำงานด้านการตรวจสอบ คุ้มครองสิ่งแวดล้อมต้องหยุดชะงัก 1,200 แห่ง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้อนุมัติยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ล่าช้า สวนสาธารณะแห่งชาติปิดตัวส่งผลให้ผู้บริโภคสูญเสียรายได้ 500 ล้านดอลลาร์จากการท่องเที่ยว นั่นคือหนึ่งในบางส่วนที่ได้รับผลกระทบจากการชัจดาวน์ในยุคของโอบาม่า
(ภาพ Mark Wilson/Getty Images)
ปลดล็อคงบประมาณ หนทางเดียวหยุดภาวะชัตดาวน์
การจะยุติภาวะชัตดาวน์ได้อาศัยแค่สิ่งเดียวคือการผ่านร่างงบประมาณประจำปีออกมา นั่นหมายความว่าสภาคองเกรส สามารถทำได้คือ 1) ผ่านงบประมาณในรูปแบบแพ็คเกจเดียวกันทั้งหมด 11 โครงการ 2) ผ่านงบประมาณที่เรียกว่า “continuing resolution” (CR) ซึ่งจะให้เงินสนับสนุนแก่รัฐบาลในระดับเดียวกับที่ได้รับในปัจจุบัน (คือก่อนจะมีการขออนุมัติงบประมาณใหม่) ซึ่งโดยทั่วไปแล้วการใช้มาตรการนี้จะเป้นการซื้อเวลาในการเจรจางบประมาณจริงที่ต้องการ หมายความว่าออกงบเพื่อไม่ให้ประเทศอยู่ในภาวะชัตดาวน์ และระหว่างนั้นก็เจรจาไปด้วย ซึ่งที่ผ่านมาสภาคองเกรสเคยใช้มาตรการแบบนี้แล้วตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่เเล้ว ซึ่งตอนนั้นก็มีการคาดการณ์ว่าจะเจอภาวะชัตดาวน์
ส่วนข้อเสนอที่ 3) คือ เอาสองวิธีด้านบนมารวมกัน เรียกว่า "CRomnibus" โดยให้ผ่านงบประมาณชั่วคราวและเพิ่มระยะเวลาเส้นตายในการเจรจาออกไปอีกโดยแบ่งตามหน่วยงาน เช่นงบประมาณที่ให้กับกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ (Department of Homeland Security) และขณะเดียวกันก็ให้เงินกับส่วนอื่นๆ ไปก่อน
แต่อย่างไรก็ตาม ความคิดการผ่านงบประมาณระยะสั้นแบบนี้ไปก่อนดูจะไม่ง่ายนัก เพราะในการโหวตล่าสุด ฝ่ายเดโมแครตยืนยันไม่เอาด้วย โดยเฉพาะในประเด็นผู้อพยพ นักวิเคราะห์ก็มองว่า ไม่ว่าจะอย่างไร เดโมแครตจะไม่มีทางลงคะแนนเสียงเห็นด้วยแน่นอนหากไม่มีโครงการ DACA ไม่อยู่ในการพิจารณางบครั้งนี้ ซึ่งนั่นหมายความว่าต่างฝ่ายต่างจ้องจะเอาชนะต่อกัน ดังนั้นโอกาสที่ชัตดาวน์ครั้งนี้จะยืดเยื้อไปอีกหลายวันจึงเป็นไปได้สูง
เปิดศึกโทษกันไปมาระหว่างรีพับลิกันกับเดโมแครต
แน่นอนว่าในสภาคองเกรส ทั้งสองฝ่ายมีความเห็นไม่ตรงกัน จนนำมาสู่การโทษกันไปมาในภาวะที่เกิดการชัตดาวน์ อันส่งผลกระทบต่อคนสหรัฐฯรวมไปถึงนักท่องเที่ยวด้วย เพราะเมื่อหน่วยงานรัฐไม่ทำงานการเดินเรื่องต่างๆ ย่อมหยุดชะงัก เช่นถ้าคุณจะไปขอวีซ่าสหรัฐฯในช่วงนี้ก็ให้ทำใจได้เลย เพราะไม่มีใครทำงานให้คุณแน่นอน หรือแม้กระทั่งการเก็บขยะจากหน้าบ้านคุณเองก็ยุติชะงักเพราะไม่มีเงินไปจ้างนั่นเอง ดังนั้นผลกระทบเหล่านี้ ผู้แทนประชาชนในสภาจึงต้องเปิดศึกโทษกันว่าเป็นเพราะฝ่ายนั้นฝ่ายนี้ที่ทำให้เกิดเรื่อง
ทางฝั่งทรัมป์เองออกมาทวีตข้อความผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัวหลังไม่สามารถผ่านร่างงบได้ทันเวลาว่า เรื่องทั้งหมดนี้เป็นเพราะเดโมแครต ด้านโพลของซีเอ็นเอ็น ซึ่งออกก่อนชัตดาวน์พบว่าครึ่งหนึ่งของคนสหรัฐฯ ระบุว่าพวกเขาจะโทษตัวทรัมป์(21%) ไม่ก็โทษวุฒิสมาชิกของพรรครีพับลิกัน (26%) ขณะเดียวกัน 31% ระบุว่า พรรคเดโมแครตต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น
ขณะที่ทรัมป์และตัวแทนของเขาเรียกเหตุการณ์ครั้งนี้ว่าเป็น "Schumer shutdown" ซึ่งหมายถึงนาย Chuck Schumer วุฒิสมาชิก ผู้นำฝ่ายเสียงข้างน้อยพรรคเดโมแครตจากนิวยอร์ก ต่อมาทางนาย Schumer ออกมาโต้กลับว่า ทั้งหมดเป็นเพราะทรัมป์ และขอเรียกว่านี่คือ "Trump shutdown"
นักวิเคราะห์ก็มองว่า รีพับลิกันซึ่งรู้อยู่เเล้วว่าประเด็นเรื่องของDACA จะคือไม้เด็ดที่ทำให้เกิดภาวะนี้ เพราะยังไงพรรคเดโมแครตไม่มีวันโหวตผ่านงบแน่นอน หากโครงการนี้ต้องยุติลง แต่ทรัมป์เองก็ยังคงดื้อดันที่จะไม่เอานโยบายเกี่ยวกับผู้อพยพนี้เเล้ว ทั้งยังผรุสวาทว่า “shithole” ในที่ประชุม ซึ่งไม้เด็ดนี้แหละที่เราต้องรอดูว่ารัฐบาลโดยการนำของทรัมป์จะไปในทางไหน ไม่เช่นนั้น สหรัฐฯก็จะชัตดาวน์แบบนี้ไปเรื่อยๆ และแน่นอนว่าย่อมไม่เกิดผลดีต่อประเทศ
อ้างอิง
http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/642327
https://www.vox.com/policy-and-politics/2018/1/20/16910722/government-shutdown-2018-shut-down
https://www.posttoday.com/world/news/536414
https://www.scbeic.com/th/detail/product/555
https://www.voathai.com/a/us-government-shutdown-primer-on-world-impact/1760562.html
https://hilight.kapook.com/view/91782