ทุจริตงบ-โครงการพัฒนา...ชาวบ้านกังขาอุตสาหกรรมความไม่สงบ?
การแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ดูจะเป็นภารกิจที่รัฐบาล คสช.ภาคภูมิใจว่า "เดินทางมาถูกทาง" และใกล้ประสบความสำเร็จ
ดร.ปณิธาน วัฒนายากร ที่ปรึกษารองนายกฯฝ่ายความมั่นคง (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) บอกกับ "ทีมข่าวอิศรา" ว่า ขณะนี้รัฐบาลสร้างกลไกในการขับเคลื่อนงาน 3 ด้านพร้อมๆ กัน
ด้านหนึ่ง คือ งานความมั่นคง ในความรับผิดชอบของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า
ด้านหนึ่ง คือ งานพัฒนา ภายใต้การขับเคลื่อนของ ศอ.บต.
ด้านหนึ่ง คือ งานเชื่อมประสานและเสริมพลังกับภาคประชาสังคม โดยผู้แทนพิเศษของรัฐบาล หรือ ครม.ส่วนหน้า
นี่ยังไม่นับกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขที่มีการตั้ง "คณะทำงาน" ขึ้นมาพูดคุยกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ สร้างความเชื่อมั่นในการใช้แนวทางสันติวิธีในการดับไฟความรุนแรงที่ปลายด้ามขวาน
จุดเปลี่ยนจาก "ความไม่สงบ" สู่ "ความสันติสุข" หนีไม่พ้นการสร้างความเข้าใจและพัฒนาร่วมกัน แต่ปัญหาคือโครงการพัฒนาต่างๆ ที่ลงไปในพื้นที่ พร้อมงบประมาณจำนวนมหาศาล กำลังถูกตั้งคำถามเรื่องความโปร่งใส และการมีส่วนร่วมจากประชาชนคนในพื้นที่อย่างแท้จริง
เพราะที่ผ่านมามีหลายโครงการถูกตรวจสอบ ถูกแฉถึงความไม่ชอบมาพากล ถึงขั้นที่ต้องมีการตั้งคณะกรรมการระดับชาติลงมาตรวจสอบ แม้สุดท้ายจะเอาผิดใครไม่ได้ แต่ก็เป็นภาพสะท้อนความจริงในพื้นที่ และความรู้สึกอึดอัดคับข้องใจของพี่น้องประชาชน
การเรียกความเชื่อมั่นเรื่อง "ธรรมาภิบาล" ให้คืนกลับมา จึงน่าจะเป็น "จุดเปลี่ยน" สถานการณ์สู่สันติสุขอย่างแท้จริง
โครงการพัฒนา...ทุจริตอื้อ!
ผู้บริหารองค์กรปกครองท้องถิ่น (อปท.) รายหนึ่งใน จ.ยะลา ให้ทัศนะว่า การทุจริตโครงการต่างๆ ที่ลงมาในพื้นที่ มีอย่างแน่นอน ทั้งในรูปแบบของการจัดซื้อจัดจ้างในพื้นที่เอง เเละโครงการที่รัฐสนับสนุน
"งบลงมาทีเป็นร้อยเป็นพันล้าน มีการทุจริตแน่นอน เพราะว่าโคงการเหล่านี้ประชาชนไม่มีส่วนร่วมในการดูแลงบประมาณ และไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดการ บ้างครั้งก็ไม่รู้ด้วยว่ามีงบลงมาเพื่ออะไร เท่าไหร่ หรือชาวบ้านก็ไม่ได้สนใจเลยว่ามีงบประมาณลงมาในพื้นที่เป็นจำนวนมาก เพราะว่าการจัดซื้อจัดจ้างในพื้นที่ ภาครัฐเป็นคนคิดไม่ใช่ชาวบ้าน"
เขายกตัวอย่างโครงการติดตั้งเสาไฟและโคมไฟส่องสว่างพลังงานแสงอาทิตย์ หรือ โซลาร์เซลล์ ที่ใช้งบประมาณจำนวนมาก (กว่า 1 พันล้านบาท) แต่โครงการกลับมีปัญหา ใช้การไม่ได้ เหมือนอนุสาวรีย์ที่ชาวบ้านไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย รวมทั้งโครงการก่อสร้างสนามฟุตซอล 1 ตำบล 1 สนามฟุตซอล ที่ถูกทิ้งร้างเป็นจำนวนมาก
"ผมคิดว่าเป็นการลงทุนที่สูงสำหรับประชาชนธรรมดา เพราะว่าสนามฟุตซอลต้องมีคนดูแลเหมือนสนามหญ้าเทียม ถ้าชุมชนเป็นคนทำ ต้นทุนมันสูง ผมว่าในชุมชนแค่มีพื้นที่ให้เล่นฟุตบอลก็พอแล้ว แค่ 2 โครงการนี้รัฐต้องสูญงบประมาณไปจำนวนมาก แต่ประชาชนกลับไม่ได้ประโยชน์เลย"
ต้องเคารพอัตลักษณ์-ชาวบ้านมีส่วนร่วม
เขายังเสนอว่า การพัฒนาต่างๆ ต้องให้ท้องถิ่นเป็นคนคิดและดำเนินการ เพราะรู้ถึงความต้องการของชุมชนอย่างแท้จริง ที่สำคัญจะช่วยประหยัดงบประมาณของรัฐด้วย ทั้งยังสามารถตรวจสอบได้ง่าย อย่าลืมว่าพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีอัตลักษณ์ต่างจากพื้นที่อื่นๆ ของประเทศ รูปแบบการพัฒนาต่างๆ ต้องมาจากความต้องการของชุมชนจริงๆ ไม่อย่างนั้นงบประมาณที่ลงมาก็จะสูญเปล่า ไม่ได้ประโยชน์ เพราะรัฐส่วนกลางเป็นคนคิด ก็ไม่เกิดประโยชน์กับชาวบ้านจริงๆ
"ดูง่ายๆ อย่างที่กรมทางหลวงสร้างศาลาริมทางรูปแบบเดียวกันทั่วประเทศ ทำให้คนในพื้นที่ไม่มีความรักความผูกพัน ไม่เสียดายไม่หวงเเหน โจรเอาระเบิดไปวางก็ไม่มีใครสนใจ เพราะชาวบ้านไม่ชอบในสิ่งที่รัฐให้มา ถ้าจะให้ชาวบ้านหวงแหนต้องสร้างศาลาด้วยศิลปะแบบมลายู แล้วพื้นที่คนไทยพุทธก็สร้างศาลาแบบวัดให้เขาไป ก็จะทำให้เกิดความหลากหลายทางวัฒนธรรม และประชาชนก็อยากดูแลทรัพย์สินสาธารณะเหล่านี้"
ในฐานะที่เป็นผู้บริหารองค์กรปกครองท้องถิ่นระดับ อบต. (องค์การบริหารส่วนตำบล) เขาบอกว่า อบต.วันนี้ไม่สามารถทำอะไรได้มาก เพราะรัฐส่วนกลางเข้ามาแทรกแซง ไม่ได้มีการกระจายอำนาจอย่างแท้จริง
"ให้ลองสังเกตงบประมาณ จะเห็นว่างบที่กระจายลงมาตามสัดส่วนที่กฎหมายกำหนดมีน้อยมาก แต่งบประมาณเฉพาะกิจเยอะกว่า แล้วยังมาทำให้เกิดความขัดแย้งกับท้องถิ่นกันเอง เทศบาลเมืองมีการพัฒนากว่า อบต.เล็กๆ เนื่องจากเทศบาลเมืองอยู่ใกล้ผู้หลักผู้ใหญ่ มีโอกาสวิ่งของบเฉพาะกิจได้ดีกว่า อบต.ที่อยู่ตามชนบท ที่สำคัญงบเฉพาะกิจตัวนี้หากไม่มีเส้นสาย ไม่มีการวิ่งเต้น ไม่มีใต้โต๊ะ ไม่มีทางได้แน่นอน" ผู้บริหาร อปท.ใน จ.ยะลา กล่าว
ปั้นโครงการปั่นเงินเข้ากระเป๋า
นางแมะ (สงวนนามสกุล) ชาว จ.ปัตตานี กล่าวว่า ปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ หลักๆ มาจากผลประโยชน์ ทั้งเรื่องของขบวนการค้ายาเสพติด น้ำมันเถื่อน ของเถื่อน เรื่องของงบประมาณโครงการต่างๆ ที่สามารถทำให้เกิดการทุจริตแบบถูกกฎหมาย แล้วปั่นออกมาเป็นการสร้างความรุนแรงในพื้นที่ ทำให้ยากต่อการมองถึงรากเหง้าของปัญหา
ขณะที่กลุ่มการเมืองก็เป็นตัวหลักที่ปั่นสถานการณ์ เพื่อให้กลุ่มต่างๆ ทั้งหมดที่กล่าวมาคล้อยตาม ทำให้สถานการณ์ที่เกิดขึ้นดูวุ่นวายซับซ้อน เหมือนยากที่จะแก้ ส่วนรัฐก็บ้าจี้ไปด้วยเพราะได้ประโยชน์ สามารถทำโครงการยัดเยียดให้ชาวบ้าน โดยที่ชาวบ้านไม่ได้ต้องการ โครงการที่ทำจะได้ผลหรือไม่ได้ผลไม่สนใจ ขอแค่สามารถปั่นเงินเข้ากระเป๋าได้เป็นพอ เพราะกว่าจะได้มารับตำแหน่งแต่ละตำแหน่ง ต้องแลกกับเงินจำนวนมหาศาลที่ให้ผู้บังคับบัญชา เมื่อเข้าไปได้ก็ต้องปั่นเงินกลับคืนมาก่อนที่จะพ้นหน้าที่ อย่างน้อยถ้าไม่ได้กำไรก็ขอให้คืนทุน
"มันเป็นค่านิยมของคนทำงานที่นี่ แถมมาทำในภาคใต้ สามารถคุมงบประมาณจำนวนมาก ใครบ้างจะไม่มา ใครบ้างไม่ต้องการเงินและอำนาจ" นางแมะ ตั้งคำถาม
คนของรัฐขอเปอร์เซ็นต์ชาวบ้าน
ชาวบ้านจาก จ.ปัตตานี บอกอีกว่า ทุกวันนี้ประชาชนเดือดร้อนจากโครงการของรัฐพอๆ กับความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ เรียกว่าเดือดร้อนทั้งทางตรงและทางอ้อม
"บางเรื่องเห็นชัดๆ ว่ามีการโกง คนของรัฐขอเปอร์เซ็นต์กับชาวบ้านตรงๆ อย่างไม่อาย อย่างหน้าด้าน แต่ชาวบ้านต้องยอม เพราะไม่ให้ก็จะไม่ได้อะไรเลย ชาวบ้านบางกลุ่มมองว่าได้มาบ้างยังดีกว่าไม่ได้เลย เลวร้ายยิ่งกว่านั้น บางโครงการต้องแบ่งให้ผู้นำในพื้นที่อีก ทั้งจากจังหวัด อำเภอ ตำบล กว่าจะถึงหมู่บ้าน เคราะห์ซ้ำอีกบางพื้นที่ต้องแบ่งให้คนในขบวนการอีก (หมายถึงขบวนการแบ่งแยกดินแดน) สุดท้ายงบก้อนหนึ่งแทบจะเอามาทำอะไรไม่ได้เลย"
เมื่อถามถึงความเชื่อมโยงกับกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดน กับกลุ่มผู้ค้ายาเสพติด ค้าน้ำมันเถื่อน และสินค้าเถื่อน ชาวบ้านรายนี้มองว่า เป็นเนื้อเดียวกันอยู่แล้ว จำได้ว่าแกนนำขบวนการในพื้นที่เคยชี้ขาดว่า ชาวบ้านที่ร่วมขบวนการสามารถค้ายาเสพติด เพื่อนำเงินมาซื้อกระสุน ซื้อระเบิดเพื่อทำลายหรือฆ่าเจ้าหน้าที่และคนที่อยู่ตรงข้ามได้
"คำชี้ขาดนี้ แสดงให้เห็นชัดว่า กลุ่มทั้งหมดคือเนื้อเดียวกัน แถมโครงการรัฐยังมาสนับสนุนให้กับคนกลุ่มนี้อีก มันก็เลยทำให้สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดในพื้นที่ เหมือนจะพันกัน แล้วแก้ยาก หาทางออกไม่เจอ" นางแมะ ระบุ
แฉกลุ่มแสวงประโยชน์จากความรุนแรง
นายนิมุ มะกาแจ ผู้ทรงคุณวุฒิ จ.ยะลา ยอมรับว่า ภัยแทรกซ้อนในพื้นที่มีมาตลอด เพราะมีผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐหลายกลุ่ม ไม่น้อยกว่า 13 กลุ่ม แม้จะรวมเป็น "มารา ปาตานี" บ้างแล้ว (หมายถึงกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ 6 กลุ่มที่ร่วมโต๊ะพูดคุยเพื่อสันติสุขกับรัฐบาล) แต่ในพื้นที่ยังมีกลุ่มเล็กๆ เป็นกลุ่มย่อยอีกมาก
ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มก่อความรุนแรงที่เกิดจากการไม่ได้รับความเป็นธรรม ก็ยังมีอยู่, กลุ่มค้าของเถื่อน, กลุ่มยาเสพติด, กลุ่มการเมืองท้องถิ่น, กลุ่มการเมืองระดับสูง, กลุ่มทุจริตคอร์รัปชั่น กลุ่มเหล่านี้ปราบไม่เคยหมด กลุ่มขัดแย้งผลประโยชน์ส่วนตัว และกลุ่มผู้ฉวยโอกาส แสวงประโยชน์จากเหตุการณ์ในพื้นที่ ทั้งหมดนี้คือประเด็นปัญหาที่จะต้องร่วมมือกันแก้ไข เจ้าหน้าที่ทุกระดับนิ่งเฉยไม่ได้ ต้องได้รับความร่วมมือจากประชาชน และต้องร่วมมือกันพัฒนาให้เกิดการลงทุนในพื้นที่
"งบประมาณที่ทุ่มลงมาจำนวนมหาศาลนั้น ถ้าถึงเป้าหมายจริง คงมีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนากว่าที่เป็นอยู่ แต่กระบวนการคอร์รัปชั่นและตัดส่วนเป็นเปอร์เซ็นต์ของหน่วยงานในแต่ละระดับ ทำให้กว่างบจะไปถึงเป้าหมาย จึงเหลือเพียงน้อยนิด" นายนิมุ ระบุ
อุตสาหกรรมความไม่สงบ
นายอิบรอเฮง (นามสมมติ) อดีตแนวร่วมขบวนการบีอาร์เอ็น ตั้งข้อสังเกตว่า การทุจริตโครงการในพื้นที่มีอยู่แล้ว เห็นได้จากงบประมาณในการแก้ปัญหาความไม่สงบจำนวนไม่สามารถทำให้ชาวบ้านพอใจได้แม้แต่โครงการเดียว หนำซ้ำยังขาดการตรวจสอบที่ดี เกิดปัญหามือใครยาวสาวได้สาวเอา ส่วนชาวบ้านจริงๆ ก็อยู่แบบเดิม ไม่มีการพัฒนาอะไรเลย แล้งเงินที่ลงมาไปไหนหมด
"เมื่อก่อนผมเคยเป็นไกด์นำเที่ยว รับงานของหน่วยงานรัฐก็หลายโครงการ ส่วนใหญ่ราคารถบัสที่จ่ายจริง 13,000 บาทต่อวัน แต่ทางเจ้าหน้าที่ให้ทำราคา 17,000-20,000 บาท เฉพาะรถ ไม่รวมค่าที่พัก โดยค่าที่พักก็ให้คิด 3,000 บาทต่อห้องต่อวัน ทั้งที่จริงๆ แค่ 1,500 บาทต่อวัน นี่แค่โครงการศึกษาดูงาน คิดดูว่ารัฐต้องสูญเสียเงินจำนวนมากขนาดไหนในการคอร์รั่ปชั่น แล้วโครงการอื่นๆ ที่ลงมาในพื้นที่จำนวนมาก เจ้าหน้าที่เข้าไปเกี่ยวข้องทั้งหมด จะมีการคอร์รัปชั่นมากเท่าไหร่"
"นอกจากนั้นยังมีเรื่องส่วยน้ำมันเถื่อนจากอำเภอตามแนวชายแดน ที่มีขบวนการค้าน้ำมันเถื่อนขนเข้ามาขายเป็นจำนวนมาก หากไม่มีเจ้าหน้าที่เข้าไปเกี่ยวข้อง ของเถื่อนผิดกฎหมายย่อมไม่สามารถวางขายได้ ยาเสพติดก็เหมือนกัน หาง่ายขึ้นมาก ปัจจุบันนี้เด็กอายุ 10 ขวบก็เริ่มเล่นยาเป็นแล้ว สิ่งที่ชาวบ้านเป็นห่วงมากคือเรื่องยาเสพติดที่หาง่ายขึ้น ยิ่งมีสถานการณ์ความไม่สงบ ยิ่งมีเจ้าหน้าที่เยอะเท่าไหร่ ทำไมของเถื่อนเหล่านี้ยิ่งมากขึ้น ชาวบ้านเขาวิจารณ์ว่าหากไม่มีเจ้าหน้าที่เข้าไปเกี่ยวข้องคงทำยาก"
"ที่เห็นชัดๆ คือขบวนการค้ามนุษยโรฮิงญา มีเจ้าหน้าที่ นักการเมื่องท้องถิ่น เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องมากมาย (คดีตัดสินแล้ว) แล้วเรื่องคอร์รั่ปชั่นโครงการพัฒนาต่างๆ จะไม่มีเจ้าหน้าที่เกี่ยวได้อย่างไร 13 ปีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้น รัฐต้องหมดเงินไปจำนวนมาก แต่ชาวบ้านยังใช้ชีวิตอยู่เหมือนเดิม ที่เปลี่ยนก็มีแต่ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ผู้นำชุมชนทุกระดับ กลุ่มคนระดับนำพวกนี้แหละที่ไม่อยากให้เหตุการณ์ความไม่สงบจบลง"
"ส่วนขบวนการแบ่งแยกดินแดน หรือที่รัฐเรียกขบวนการก่อความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็มีความกังวลอยู่เหมือนกัน เพราะโครงการต่างๆ ที่ลงในพื้นที่สร้างความแตกแยก บางหมู่บ้านชาวบ้านแตกเป็น 2-3 พวก ปัญหามาจากผลประโยชน์และคอร์รัปชั่น จะเรียกว่าเป็นอุตสาหกรรมความไม่สงบก็เรียกได้ โดยทุกคนใช้ชาวบ้านเป็นเครื่องมือ แม้แต่ขบวนการเองก็ใช้เหตุการณ์ความไม่สงบไปหาแหล่งทุนสนันสนุน คนที่เดือดร้อนจริงๆ คือชาวบ้านทีไม่รู้เรื่องว่างบประมาณพัฒนาที่ลงมาในพื้นที่หมดไปเท่าไหร่แล้ว เรื่องที่ชาวบ้านมองเห็นเป็นเรื่องตลกก็คือ การซื้อเรือเหาะที่ใช้การไม่ได้ นี่เขาเรียกว่าคอร์รัปชั่นไหม พื้นที่สามจังหวัดเรียกได้ว่าเป็นพื้นที่หากินสำหรับคนที่มีอำนาจ แล้วใครอยากให้สงบ"
ยืนรอหักหัวคิวหน้าธนาคาร!
นางสาวคอรีเยาะ หะหลี ประธานกลุ่มในตง และหนึ่งในผู้สูญเสียจากเหตุการณ์กรือเซะ (เหตุการณ์วันที่ 28 เม.ย.2547) กล่าวว่า โครงการไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ที่ลงมาในพื้นทีต้องมีการคอร์รัปชั่นอยู่แล้ว เพียงแต่จะใช้วิธีไหน อย่างปัจุจบันนี้ที่เห็นอยู่คือโครงการ 9101 จริงอยู่บางพื้นที่โอนเงินเข้าบัญชีชาวบ้านโดยตรง แต่มีบางพื้นที่ทำข้อตกลงกับชาวบ้านว่าจะหักเงินเท่านั้นเท่านี้ บางพื้นที่ถึงขนาดไปรอหน้าธนาคารเลย รอชาวบ้านถอนเงินมาให้
"บอกเลยว่าการตรวจสอบของภาครัฐยังไม่มีความเข็มแข็งมากพอ และอีกส่วนที่เห็นชัดๆ คือการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบโครงการ เพราะจริงๆ แล้วรัฐเป็นคนใช้เงิน รัฐอนุมัติงบ และรัฐเองก็เป็นคนตรวจสอบ หากเป็นไปได้ คนตรวจสอบควรเป็นคนอื่นที่ไม่ใช้รัฐ แค่มองภาพก็มองออกแล้วว่ามีการคอร์รัปชั่นในพื้นที่แน่นอน แต่ทุกวันนี้รูปแบบการคอร์รัปชั่นเปลี่ยนไปจากอดีต และทุกๆ โครงการมีการคอร์รัปชั่น เพราะไม่อย่างนั้นเงินที่ลงมาจำนวนมากและเพิ่มขึ้นทุกปี คุณภาพชีวิตของชาวบ้านตัองดีขึ้นแล้ว แต่วันนี้ชาวบ้านไม่รู้ว่างบอยู่ตรงไหน และประสิทธิภาพประสิทธิผลของโครงการต่างๆ อยู่ตรงไหน"
ยัดเยียดโครงการ-ชาวบ้านจนเหมือนเดิม
คอรีเยาะ ชี้ว่า ผลกระทบโดยตรงที่เกิดกับชาวบ้านคือ ได้รับโครงการที่ไม่ยังยืน
"อย่างโครงการแจกแพะ ถามว่าชาวบ้านต้องการทุกคนเลยหรือเปล่า บางคนไม่ถนัดเลี้ยงแพะ แล้วให้แพะไปก็ไม่เกิดประโยชน์ เพราะแพะโครงการที่แจกให้ชาวบ้านเป็นแพะที่นำมาจากภาคอื่นซึ่งไม่ถูกกับสภาพพื้นที่และสภาพอากาศ การเลี้ยงดูมันต่างกันหมดเลย ชาวบ้านไม่มีความรู้ด้วย ทำให้แพะตายเยอะมาก บางคนได้รับแจกแพะไป พอเอาแพะลงจากรถ ก็หาคนซื้อกันแล้ว"
"โครงการของรัฐจะมาในรูปแบบที่มาบอกว่าชาวบ้านต้องการ แต่ที่จริงไม่รู้ว่าใครต้องการกันแน่ เหมือนโครงการติดตั้งเสาไฟโซลาร์เซลล์ ซึ่งเดิมก็มีอยู่แล้ว ทางภาครัฐก็เอาโครงการนี้เข้ามาอีก และไปติดตั้งในพื้นที่ที่มีไฟฟ้าอยู่แล้ว ทำไมบางพื้นที่ที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ถึงไม่ไปติดตั้งตรงนั้น มันเหมือนเป็นโครงการยัดเยียด เป็นเหมือนกันทุกโครงการ"
ในฐานะที่ผันตัวจากผู้สูญเสีย จนเป็นผู้นำกลุ่มผู้หญิงในชุมชน คอรีเยาะบอกว่า ทุกวันนี้ชาวบ้านยังคงใช้ชีวิตแบบเดิม ทั้งๆ ที่รัฐหมดงบประมาณไปเป็นจำนวนมาก
"ชาวบ้านก็อยู่ตามประสาเขา เคยอยู่อย่างไรก็อยู่อย่างนั้น โครงการที่จะลงมาในพื้นที่ ชาวบ้านไม่มีส่วนร่วม รัฐและผู้นำบอกให้ชาวบ้านเข้าไปนั่งฟัง แต่ไม่ได้มีการนำเสียงสะท้อนหรือความต้องการจากชาวบ้านไปพิจารณาทบทวน เวทีประชาคมที่มีตอนนี้เป็นแค่เวทีจัดฉาก ทำให้มีเพื่อเอาภาพ ส่วนความต้องการ รัฐจะยัดเยียดให้เลย ชาวบ้านเขาไม่เคยรู้ด้วยซ้ำว่างบที่จะเข้ามาในชุมชนมีมากเท่าไหร่ เขาได้ประโยชน์อย่างไร บางคนเพิ่งมารู้ตอนที่เขาให้ไปเอาแพะเอาไก่"
คอร์รัปชั่นโยงความไม่สงบ!
คอรีเยาะ ยังฟันธงด้วยว่า การคอร์รัปชั่นในพื้นที่มีส่วนเกี่ยวโยงกันกับสถานการณ์ความไม่สงบอย่างแน่นอน
"ไม่ว่าความขัดแย้ง เรื่องส่วนตัว ผลประโยชน์ สินค้าหนีภาษี น้ำมันเถื่อน ยาเสพติด ก็โยนไปให้สถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้น ทำให้ยากต่อการตรวจสอบ มันเชื่อมโยงกันหมด ทั้งคนทำ คนก่อเหตุ คนถูกกระทำ และคนเคลียร์สถานการณ์ รวมทั้งโครงการคอร์รัปชั่นต่างๆ ในพื้นที่ล้วนเกี่ยวพันโยงใยกันจนแยกออกจากกันยาก"
"ทุกวันนี้ได้ข่าวว่ามีเจ้าหน้าที่เข้าไปมีส่วนร่วมในเรื่องของเถื่อน รวมทั้งยาเสพติดด้วย สิ่งเหล่านี้เราเชื่อว่ามีอยู่แล้ว ไม่อย่างนั้นไม่มีเยอะแบบนี้ เพราะหากเจ้าหน้าที่ไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวคงทำไม่ได้ ปัญหาเหล่านี้ถูกยกระดับขึ้น คนก็เริ่มขาดสติ ขาดจริยธรรมมากขึ้น การรับส่วยของเจ้าหน้าที่มีอยู่แล้ว แม้แต่การรับสมัคร อส. (อาสารักษาดินแดน) มีการเรียกเงินเป็นแสนจากคนที่อยากเป็น ทุกส่วนได้ผลประโยชน์กันทั้งนั้น ยกเว้นชาวบ้านจริงๆ ที่ไม่ได้อะไรเลย"
"เหมือนกับโครงการช่วยคนจน หากเราเป็นรัฐบาล เราเลือกที่จะให้เงินกับชาวบ้านโดยตรงเลยดีกว่า อย่างน้อยชาวบ้านเอาเงิน 300 บาทไปทำอะไรที่จำเป็นจริงๆ ดีกว่า เพราะความต้องการของคนเรามันแตกต่างกัน นี่แค่ยกตัวอย่างแค่โครงการเดียว มันไม่สวยหรูเหมือนกับที่รัฐพูดเลย นี่คือสิ่งที่เราเห็นกับตา และโครงการอื่นๆ มันก็มีอยู่แล้ว โครงการที่ลงมาในหมู่บ้าน บางพื้นที่ทำให้เกิดความแตกแยก พวกใครพวกมัน เจ้าหน้าที่ทั้งสามฝ่าย ทหาร ฝ่ายปกครอง ตำรวจเองก็ไม่บูรณาการกันจริงๆ ต่างคนต่างกิน แต่รูปแบบการคอร์รัปชั่นเปลี่ยนไป เจ้าหน้าที่ไม่รับเงินเอง แต่ให้จ่ายให้นอมินี หรือจ่ายให้ตัวแทน ทำให้ตรวจสอบอย่างไรก็ไม่ถึงตัวเจ้าหน้าที่ระดับบน" คอรีเยาะ กล่าว
---------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : กราฟฟิกงบดับไฟใต้จากรายการล่าความจริง เนชั่นทีวี 22