‘ช่องว่างทักษะ’ กับคุณภาพแรงงานไทย ยุค 4.0
“เราพบว่า บ้านเมืองพัฒนา เศรษฐกิจพัฒนา แต่แรงงานตามไม่ทัน และแม้จะพัฒนาก็ช้ากว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และหากเทคโนโลยีเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ย่อมเกิดช่องว่างทักษะ”
ปัจจุบันเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไปมาก และมีแนวโน้มที่จะรวดเร็วขึ้นในอนาคต ฉะนั้นหากทักษะแรงงานไทยเติบโตไม่ทัน จะส่งผลจนนำไปสู่ปัญหาเกี่ยวกับช่องว่าง “ทักษะแรงงาน” ที่รุนแรงเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
เมื่อเร็ว ๆ นี้ ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ (มธ.) ได้นำเสนองานศึกษา ในหัวข้อ “ช่องว่างทักษะกับนัยยะที่มีต่อการพัฒนากำลังคนของประเทศไทย” ในเวทีสัมมนาวิชาการประจำปี 2561 ครั้งที่ 40 ของคณะเศรษฐศาสตร์ มธ. ภายใต้ชื่องาน Re-design Thailand ทำอย่างไรให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างยั่งยืน ณ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ดร.เกียรติอนันต์ กล่าวถึงช่องว่างทางทักษะแรงงานที่พบเจอ ว่าสถานการณ์ขณะนี้ความสามารถของแรงงานอย่างหนึ่ง ขณะที่นายจ้างคาดหวังอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งเมื่อใดที่ความห่างหรือความเสี่ยงที่คาดหวังเกิดขึ้นมาก ยิ่งจะส่งผลไม่ดีต่อธุรกิจ เช่น นายจ้างคาดหวังแรงงานที่สื่อสารภาษาอังกฤษได้ แต่แรงงานที่มีอยู่ไม่สามารถสื่อสารได้
เพราะฉะนั้นทุกครั้งที่พูดถึงความสามารถในการ “แข่งขัน” เพื่อขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้านั้น จำเป็นต้องทราบศักยภาพความสามารถของคนในประเทศเสียก่อน
นักเศรษฐศาสตร์ มธ. หยิบยกตัวเลขเมื่อ 10 ปีก่อน ซึ่งเป็นของข้อมูลองค์กรระดับโลกสำรวจไว้เกี่ยวกับ “ธุรกิจที่ขาดแรงงานที่มีทักษะตามต้องการ” พบว่า ธุรกิจไทยขาดคนมากที่สุดในอาเซียน ร้อยละ 39 (มาเลเซียร้อยละ 20, ลาว ร้อยละ 19, กัมพูชา ร้อยละ 16, เวียดนาม ร้อยละ 9, ฟิลิปปินส์ ร้อยละ 8 และอินโดนีเซีย ร้อยละ 5 ตามลำดับ)
ขณะที่ข้อมูลจากธนาคารโลกเกี่ยวกับ “สัดส่วนแรงงานไร้ฝีมือ” จบปริญญาตรีไม่ตอบโจทย์ความต้องการนายจ้าง พบสัดส่วนตัวเลขน่าตกใจ! เพราะไทยมีสัดส่วนแรงงานไร้ฝีมือสูงสุดในอาเซียน ร้อยละ 84 (มาเลเซีย ร้อยละ 65, กัมพูชา ร้อยละ 26, เวียดนาม ร้อยละ 21, อินโดนีเซีย ร้อยละ 20 และฟิลิปปินส์ ร้อยละ 10 ตามลำดับ)
ดร.เกียรติอนันต์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้เราเตรียมจะผลิตคนให้ตอบโจทย์ S-curve/New S-Curve เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และมีการผลิตคนในสายอาชีพเพิ่มขึ้น ถามว่า ได้มีการศึกษาข้อมูลขั้นต้นแล้วหรือไม่
ข้อมูลจากเวิลด์อีโคโนมิกฟอรั่ม (The World Economic Forum:WEF) ระบุว่า ไทยมีสัดส่วนแรงงานฝีมือเทียบกับต่างชาติแล้วแค่ร้อยละ 14 ในเวลาเดียวกัน สวีเดน เยอร์มัน สิงคโปร์ และฟินแลนด์ มีค่าเฉลี่ยรวมกันมากถึงร้อยละ 48 แสดงว่า คนครึ่งประเทศเป็นแรงงานฝีมือ
เมื่อสถานการณ์ของไทยเป็นเช่นนี้แล้ว โอกาสจะก้าวไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 มีมากน้อยเพียงใด เขาบอกต้องยอมรับว่า นโยบายของไทยมีการผลิตคนที่มีการศึกษาสูงออกมาจำนวนมาก แต่นั่นเป็นเพียงปริมาณ ขณะที่นิยามคำว่า “ทักษะฝีมือ” นั้น หมายถึงทักษะฝีมือต้องสูงกว่าวุฒิการศึกษา ฉะนั้นสิ่งที่กำลังทำอาจไม่ตอบโจทย์ ทำให้เกิดช่องว่างทางทักษะแรงงาน
“เราพบว่า บ้านเมืองพัฒนา เศรษฐกิจพัฒนา แต่แรงงานตามไม่ทัน และแม้จะพัฒนาก็ช้ากว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และหากเทคโนโลยีเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ย่อมเกิดช่องว่างทักษะ”
ดร.เกียรติอนันต์ กล่าวว่าจะลดช่องว่างของทักษะแรงงานได้ ในต่างประเทศมีโมเดลขับเคลื่อนชัดเจน ดังนั้น ประเทศไทยที่มีกรมพัฒนาฝีมือแรงงานเป็นหน่วยงานหลัก จำเป็นต้องทำงานร่วมกันมหาวิทยาลัย สถาบันอาชีวศึกษา และสถานประกอบการ ผ่านโมเดลขับเคลื่อน เช่นเดียวกับมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินเดีย ที่ดำเนินการแล้ว
ทั้งนี้ บริบทของประเทศมีความหลากหลาย จำเป็นต้องมีหลักสูตรสำเร็จของตนเองด้วย โดยการสร้างระบบนิเวศเรียนรู้สำหรับช่องทางอาชีพที่ต้องการ และระบบดึงความรู้จากคนออกมาใช้ ด้วยการสร้างบรรยากาศเอื้อให้แรงงานดึงความสามารถที่มีอยู่มาใช้
ด้าน ดร.ไกรยส ภัทราวาท สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) บอกเล่าถึงสถานการณ์วิกฤต หากทักษะแรงงานของไทยมีน้อย โดยยกตัวอย่างโลกอนาคตของโรงงานผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้า “เทสล่า” ว่าทุกวันนี้แทบไม่มีแรงงานเหลืออยู่ในสายการผลิตแล้ว หากวันหนึ่งย้ายฐานการผลิตมาในไทย ชิ้นส่วนรถจากที่เคยใช้ 1 หมื่นชิ้น เหลือเพียง 1 พันชิ้น อีกร้อยละ 70-80 ของชิ้นส่วนที่หายไป เจ้าของกิจการยานยนต์ในประเทศจะเอาอะไรไปจ้างแรงงาน
ทั้งนี้ หากในอีก 10 ข้างหน้า ไทยติดตั้งแหล่งชาร์ตไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ ซึ่งอุตสาหกรรมรถยนต์กำลังตัดสินใจครั้งสำคัญที่จะปรับสายพานการผลิตอยู่นั้น เขามองว่ากำลังเป็นช่องว่างที่มองเห็นได้ในไทย ซึ่งเราเตรียมตัวแล้วหรือไม่
นักวิชาการ สสค. ระบุอีกว่า 5 ปีที่ผ่านมา บัณฑิตตกงานจำนวนมาก เป็นสัญญาณที่ชัดเจน และเหตุผลที่นายจ้างมักปฏิเสธแรงงานที่จบปริญญาตรี ผู้บริหารบริษัทอสังหาริมทรัพย์แห่งหนึ่งให้ข้อมูลว่า องค์กรต้องการแรงงานที่จบ ปวส. เพราะมีทักษะฝีมือมากกว่า
“ไม่กี่วัน สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ประกาศหลักสูตรไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน เป็นสัญญาณชัดเจนว่า ระดับอุดมศึกษาที่ใช้งบประมาณ 1 แสนล้านบาท/ปี ในการผลิตบัณฑิต หรือ ‘กระดาษ’ กันแน่ ที่นายจ้างต้องการ” ดร.ไกรยส กล่าว และว่า ข้อมูลจากเวิลด์อีโคโนมิกฟอรั่มยังชี้ว่า งานที่จะเกิดขึ้นในอีก 10 ปีข้างหน้า ร้อยละ 65 ยังไม่เกิดขึ้นในวันนี้ เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญที่สุด คือ “การปรับตัว” ไม่ใช่สิ่งที่จะสอนในสาระวิชา เพราะอาชีพในวันนี้ อาจไม่มีในอนาคต
เขากล่าวด้วยว่า คุณภาพแรงงานไทยในปัจจุบันยังไปไม่ถึงไทยแลนด์ 4.0 เพราะประเทศที่มีเศรษฐกิจ 4.0 อย่างสวีเดน เยอรมัน สิงคโปร์ และฟินแลนด์ มีสัดส่วนกำลังคนที่มีทักษะแรงงานขั้นสูงมากถึงร้อยละ 40-50 ของประชากรวัย แต่จากผลสำรวจสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในปี 2557 พบว่า เยาวชนวัยแรงงานรุ่นใหม่อายุ 20-24 ปี จำนวน 4.89 ล้านคน ออกจากระบบการศึกษา และเข้าสู่ตลาดแรงงานแล้ว 3.86 ล้านคน ด้วยวุฒิการศึกษาไม่เกิน ม.6 หรือ ปวช. กลายเป็นแรงงานกึ่งทักษะกว่าร้อยละ 79 ของประชากรวัยนี้
ขณะที่เยาวชนวัยเรียน อายุ 15-19 ปี จำนวน 4.74 ล้านคน ออกจากระบบการศึกษา และเข้าสู่ตลาดแรงงานแล้ว 1.41 ล้านคน ด้วยวุฒิการศึกษา ม.3 หรือต่ำกว่า กลายเป็นแรงงานไร้ฝีมือ กว่าร้อยละ 29.63 ของประชากรวัยนี้
ดร.ไกรยส เสนอว่าจะพัฒนาทักษะแรงงานในปัจจุบันสู่อนาคต ต้องพัฒนาคนให้มีทักษะที่ไม่สามารถทดแทนได้ด้วยเทคโนโลยี (non-routine skills) เช่น หุ่นยนต์ คอมพิวเตอร์ และเป็นทักษะที่สามารถใช้ร่วมกับเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่ได้ เน้นการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ ให้แก่องค์กรและเศรษฐกิจสังคม รวมถึงต้องมีความยืดหยุ่นในการปรับตัว
กล่าวได้ว่า ทักษะที่ศึกษาในวันนี้ อีก 30 ปี ในตลาดแรงงานต้องปรับตัวอีก ฉะนั้นการปรับตัวเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เพราะ "ความแน่นอน" ในตลาดแรงงานคือ "ความไม่แน่นอน" นั่นเอง .
ภาพประกอบหลัก:https://dsd.job.thai.com/
http://www.xn--12cmk8bfr5clca4f1aib2ljo21a.com