สองพรรคใหญ่จับมือกัน... เดิมพัน 'ปรองดอง' ของจริง!
ยิ่งการสืบทอดอำนาจของ คสช. และปฏิบัติการสานฝันสู่การเป็นนายกรัฐมนตรีรอบ 2 ของ "บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ชัดเจนมากขึ้นเท่าไหร่ ความเป็นไปได้ของ "สูตรการเมือง" ว่าด้วยการจับมือกันของ 2 พรรคการเมืองใหญ่อย่าง "เพื่อไทย" กับ "ประชาธิปัตย์" เพื่อต่อสู้กับ "ขั้วการเมืองใหม่ที่สนับสนุนทหาร" ก็ยิ่งมีมากขึ้นเท่านั้น
แม้ในทางปฏิบัติจะไม่ใช่เรื่องง่ายนักก็ตาม!
นักวิชาการรุ่นใหม่ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการปรองดอง ดร.นิชานท์ สิงหพุทธางกูร มองว่า นี่คือจุดเริ่มต้นเล็กๆ ของ "ความสมานฉันท์ทางการเมือง" ที่ทุกฝ่ายเพรียกหามานาน แต่สิ่งที่พึงระมัดระวังก็คือ ต้องไม่ให้จุดเริ่มต้นดีๆ นี้ เป็นเพียง "โมเดลปรองดองระยะสั้น" ในลักษณะ "ปฏิกิริยาโต้กลับทางการเมือง" เหมือนกับที่กำลังเกิดปรากฏการณ์คล้ายๆ กันนี้ในประเทศมาเลเซีย
"การเมืองมาเลเซียตอนนี้ มหาธีร์ มูฮัมหมัด (อดีตนายกรัฐมนตรี) กำลังสร้างพรรคขึ้นมาใหม่ และจับมือกับพรรคของ อันวาร์ อิบราฮิม (อดีตรองนายกฯ) ทั้งๆ ที่คู่นี้เคยมีปัญหาขัดแย้งกัน จนฝ่ายอันวาร์ต้องติดคุกติดตะราง แต่ตอนนี้หันหน้ามาจับมือกันแล้ว และจับมือกับอีก 2 พรรคเล็ก มารวมกันเป็น 4 พรรคฝ่ายค้าน เพื่อต่อสู้กับพรรคอัมโน ที่นำโดยนาจิบ ราซัค นายกฯคนปัจจุบัน นี่คือความเคลื่อนไหวทางการเมืองในประเทศเพื่อนบ้านที่น่าสนใจ คล้ายๆ กับบ้านเราตอนนี้ แต่ก็ยังเหมือนเป็นแค่ปฏิกิริยาโต้กลับทางการเมืองปกติเท่านั้น"
แม้ปฏิกิริยาโต้กลับทางการเมืองจะเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับการช่วงชิงคะแนนเสียงจากสนามเลือกตั้ง แต่ ดร.นิชานท์ มองว่า หากการจับมือกันของพรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาธิปัตย์ เป็นได้แค่ "ภารกิจชั่วคราว" เพียงเพื่อช่วงชิงที่นั่งในสภา ต่อสู้กับ "ขั้วการเมืองของ คสช." ก็ถือเป็นเรื่องน่าเสียดายมาก เนื่องจากการปรับท่าทีของ 2 พรรคการเมืองใหญ่ของประเทศเพื่อทำงานร่วมกันให้ได้ในบริบทการเมืองที่เคยมีแต่ความขัดแย้ง จะเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิรูปการเมืองที่แท้จริงของไทย เป็นการสร้างการเปลี่ยนผ่านความขัดแย้งสู่ประชาธิปไตย ด้วยการย้อนกลับไปแก้ที่ต้นเหตุ ก็คือความขัดแย้งของพรรคการเมืองนั่นเอง
"อย่าลืมว่าตลอดระยะเวลาที่ความขัดแย้งเกิดขึ้น ก็เกิดจากพรรคการเมือง ฉะนั้นก็ต้องกลับมาคุยกันที่พรรคการเมืองนั่นแหละ ถ้าพรรคการเมืองสามารถร่วมมือกันได้ ก็จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงความขัดแย้งทางการเมืองไทยที่น่าสนใจมากๆ ผมจึงอยากเน้นย้ำไปถึงพรรคการเมืองว่า นี่คือการปฏิรูปการเมืองที่แท้จริงของไทย สร้างการเปลี่ยนผ่านความขัดแย้งสู่ประชาธิปไตย และความขัดแย้งจะถูกพัฒนาจากเชิงลบไปสู่เชิงบวกมากขึ้น" นักวิชาการที่เชี่ยวชาญด้านการปรองดอง ระบุ
แต่ประเด็นที่ทุกฝ่ายต้องทำความเข้าใจร่วมกันก็คือ การปรองดองไม่ใช่การ “ฮั้วกันทางการเมือง” จุดนี้เองที่ ดร.นิชานท์ เน้นว่า การที่ 2 พรรคการเมืองใหญ่จะสานสัมพันธ์กัน จึงไม่ต้องขีดกรอบแค่การตั้งรัฐบาลร่วมกันเท่านั้น แต่หมายถึงการ "แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง" และนี่ต่างหากคือการปรองดองที่แท้จริง ซึ่งไม่จำเป็นต้องทำให้คนทุกคนรักกัน แต่สามารถทำให้ทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันได้บนความแตกต่างมากกว่า
“เราอยากเห็นมาตลอด ให้ 2 พรรคการเมืองใหญ่ผูกพันกันได้ ถ้า 2 พรรคการเมือง ทั้งประชาธิปัตย์และเพื่อไทย ไม่ว่าจะจัดตั้งรัฐบาลร่วมกันได้หรือไม่ และไม่ว่านายกฯจะมาจากคนนอก หรือใครจะเป็นนายกฯ แต่ 2 พรรคการเมืองใหญ่สามารถอยู่ร่วมกันบนจุดยืนที่เริ่มจะเข้าหากันได้มากขึ้น ผมคิดว่าตรงนี้แหละที่น่าสนใจ น่าจะเรียกว่าเป็นการปรองดองในระบบพรรคการเมืองที่แท้จริงได้เลย”
"การปรองดองหมายความว่า เราสามารถอยู่ร่วมกันได้บนความขัดแย้ง ไม่ใช่ความขัดแย้งจะไม่มี หรือไม่รับฟังกัน แค่การปรองดองคือ ความขัดแย้งยังดำรงอยู่ แต่เราสามารถอยู่ร่วมกันได้ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันบนพื้นฐานของเหตุผลเหนืออารมณ์ ฉะนั้นการปรองดองระยะยาวจึงมีความสำคัญและน่าสนใจมากกว่าการปรองดองระยะสั้นที่ไม่ทนนาน"
ดร.นิชานท์ สรุปว่า วันนี้โมเดลการจับมือกันของ 2 พรรคการเมืองใหญ่จึงไม่ควรเป็นแค่การสกัด "พรรคทหาร" หรือปิดโอกาสการต่อท่ออำนาจของ คสช.เท่านั้น แต่ยังควรเป็นการฉุดสังคมไทยให้ขึ้นจากหล่มของความขัดแย้งที่ทำให้ประเทศเสียโอกาสมานานกว่า 1 ทศวรรษ