รัฐยันงบกลางปีรวม1.5แสนล.ไม่ประชานิยม
สำนักงบฯ ยันงบกลาง ปี 1.5 แสนล้าน ไม่ใช่ประชานิยม ชี้มีขั้นตอนการเสนอใช้งบ พร้อม ตรวจสอบได้
รายงานข่าวจากสำนักงบประมาณได้ชี้แจงเรื่องการจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ 2561 ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี วันที่ 16 ม.ค. 2561 มีวงเงิน 1.5 แสนล้านบาท ว่า ไม่ใช้งบที่ออกมาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่มุ่งเป้าที่เรื่องการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง 4.96 หมื่นล้านบาท ซึ่งดำเนินการตาม พ.ร.บ.เงินคงคลัง พ.ศ. 2491 ที่กำหนดไว้ว่าเมื่อได้จ่ายเงินคงคลังไปจะต้องตั้งชดใช้ใน พ.ร.บ.รายจ่ายประจำปี หรือ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม จึงเห็นว่าในส่วนนี้ได้ดำเนินการเพื่อเป็นการรักษาวินัยการเงินการคลัง มิให้ยอดสะสมของเงินคงคลังลดลง
สำหรับส่วนที่ 2 คือ ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลอีกกว่า 1 แสนล้านบาท โดยให้หน่วยงานที่ เกี่ยวข้องเสนอคำของบประมาณเฉพาะโครงการ/รายการที่มีความพร้อมสามารถดำเนินการภายในปีงบประมาณปี 2561 ตามแนวทางสำคัญ 3 แนวทาง ได้แก่ การพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก การพัฒนา เชิงพื้นที่ รวมถึงการเข้าถึงแหล่งทุน วิสาหกิจชุมชน การท่องเที่ยวชุมชน และการปฏิรูปโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรทั้งระบบ
อย่างไรก็ดี การจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบ 2561 มีการกำหนดแนวทางและกรอบหน่วยงาน ผู้ปฏิบัติชัดเจน โดยหน่วยงานจะเป็น ผู้จัดทำคำขออย่างละเอียดชัดเจนตรวจสอบได้ตั้งแต่ขั้นตอนของสำนักงบประมาณและฝ่ายนิติบัญญัติ มิใช่อยู่ในรูปของงบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อการฉุกเฉิน ซึ่งเป็นเงินที่ตั้งไว้เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายกรณีฉุกเฉินสำหรับเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นโดยมิได้คาดหมาย เช่น ภัยพิบัติ เป็นต้น โดยจะเน้นโครงการที่ดำเนินการแล้วเสร็จในปีนี้ ไม่ใช่รายการผูกพัน ข้ามปีงบประมาณ
ทั้งนี้ งบดังกล่าวไม่ใช่การแจกเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่เป็นการจัดทำ ตามนโยบายรัฐบาลในการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศลดความเหลื่อมล้ำ การก้าวไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล การพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก จึงไม่ใช่นโยบายประชานิยมอย่างแน่นอน