เปิดเส้นทางรวยหมื่นล.‘เสี่ยแอร์-ธนสรร ไรซ์’ บิ๊กส่งออกข้าวเบอร์3 รบ.ประยุทธ์
“...ลักษณะการทำธุรกิจของนายศุภชัย นอกจากจะใจใหญ่ กล้าเสี่ยงแล้ว ยังกล้าลงทุนด้วย ต่างจากพ่อค้ารายอื่นๆที่ไม่กล้าเสี่ยง หรือแม้แต่พ่อค้าส่งออกข้าวรายใหญ่ในตอนนี้ บางคนได้กำไรไปมาก ทั้งจากสต็อกข้าวรัฐบาลและการได้โควตาข้าวของคอฟโก้ เพียงแต่เขารวยแบบเงียบๆ บางบริษัททำข้าวถุงในประเทศเป็นหลัก แต่อยู่ดีๆกลายเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ เพราะว่ากันว่ามีการนำโควตาข้าวคอฟโก้ไปขายต่อแล้วกินหัวคิว ต่างจากนายศุภชัยที่ต้องถือเป็นหนามยอกอกพวกพ่อค้าส่งออก และยังมีข่าวเรื่อยๆว่าไปลงทุนทำนั่นทำนี่ จนถูกโจมตีว่ารวยมาได้อย่างไร...”
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำเสนอข้อมูลไปก่อนหน้านี้ ว่า บริษัท ธนสรร ไรซ์ จำกัด คือพ่อค้าข้าวหน้าใหม่ ที่กำลังมาแรงที่สุดในช่วงยุคการบริหารรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพราะมีการตรวจสอบข้อมูลพบว่า นับตั้งแต่ช่วงปลายปี 2557 จนถึงปัจจุบัน บริษัทธนสรรไรซ์ จำกัด ปรากฏชื่อเป็นคู่สัญญารับซื้อข้าวในสต็อกรัฐบาล เป็นจำนวนเงินหลายพันล้านบาท
นอกจากนี้ บริษัทในเครืออย่าง บริษัท พรีเมียม ไรซ์ เอ็กซ์ปอร์ต และ บริษัท อีสเทิร์นไรซ์มิลล์ จำกัด ก็ปรากฏชื่อเป็นคู่สัญญารับซื้อข้าวในสต็อกรัฐเป็นจำนวนมากด้วยเช่นกัน(อ่านประกอบ : พบเครือข่าย 'ธนสรรไรซ์' ซื้อข้าวรัฐเพิ่ม2สัญญา เงินพุ่ง 3.1พันล.-ผงาดเบอร์ 2 ยุค 'บิ๊กตู่', ไขที่มาไทยแกรนซ์ลักซ์ฯม้ามืดคว้าข้าวรัฐพันล.ที่แท้เครือเดียว 'เอเซียโกลเด้นไรซ์')
ล่าสุด จากการตรวจสอบฐานข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างหน่วยงานรัฐ พบว่า บริษัท ธนสรร ไรซ์ จำกัด บริษัท พรีเมียม ไรซ์ เอ็กซ์ปอร์ต และ บริษัท อีสเทิร์นไรซ์มิลล์ จำกัด ปรากฏชื่อเป็นคู่สัญญาซื้อข้าวในสต็อกรัฐบาลเป็นจำนวนรวมกว่า 12 สัญญา รวมวงเงิน 3,263 ล้านบาท (เท่าที่ตรวจสอบพบ) นับเป็นพ่อค้าข้าวรายใหญ่ อันดับ 3 จะเป็นรองก็แค่ บริษัท แคปปิตัลซีเรียลส์ จำกัด และบริษัท เอเซีย โกลเด้นไรซ์ จำกัด พ่อค้าข้าวรายใหญ่อันดับ 1 และ 2 เท่านั้น (ดูตารางประกอบ)
หากย้อนกลับไปดูเส้นทางของบริษัท ธนสรร ไรซ์ จำกัด จากฐานข้อมูลการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าที่แจ้งไว้ จะพบข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้
บริษัท ธนสรร ไรซ์ จำกัด จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2555 แจ้งประกอบกิจการสีข้าว ตั้งอยู่เลขที่ 196 หมู่ที่ 2 ตำบลคุ้งสำเภา อำเภอมโนรมย์ จังหวัดชัยนาท เป็นธุรกิจของคนสกุล 'วรอภิญญาภรณ์'
ปรากฎชื่อ นาย ศุภชัย วรอภิญญาภรณ์ และ นาง ดวงทิพย์ วรอภิญญาภรณ์ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจและผู้ถือหุ้นใหญ่
ประเดิมทุนครั้งแรก 5 ล้านบาท จากนั้นเพิ่มทุนจดทะเบียนอีก 4 ครั้ง 21 กุมภาพันธ์ 2555 เพิ่มเป็น 50 ล้านบาท 18 กรกฎาคม 2555 เพิ่มเป็น 400 ล้านบาท 2 มิถุนายน 2559 เพิ่มเป็น 700 ล้านบาท ล่าสุด 31 มีนาคม 2560 เพิ่มเป็น 1,000 ล้านบาท
นำส่งข้อมูลงบการเงินแสดงผลประกอบการธุรกิจ ดังนี้
ปี 2555 แจ้งว่า มีรายได้รวม 106,263,383.91 บาท รวมรายจ่าย 100,775,021.30 บาท กำไรสุทธิ 786,599.27 บาท
ปี 2556 แจ้งมีรายได้รวม 1,457,378,548.91 บาท รวมรายจ่าย 1,409,313,180.96 บาท กำไรสุทธิ 20,508,652.59 บาท
ปี 2557 แจ้งมีรายได้รวม 2,270,907,126.93 บาท รวมรายจ่าย 2,202,429,646.96 บาท กำไรสุทธิ24,061,452.84 บาท
ปี 2558 แจ้งว่ามีรายได้ 9,156,032,129.99 บาท รวมรายจ่าย 8,982,932,532.92 บาท กำไรสุทธิ 59,663,594.70 บาท
ปี 2559 แจ้งว่า มีรายได้รวม 12,648,287,470.62 บาท รวมรายจ่าย 12,440,331,736.38 บาท กำไรสุทธิ 63,165,627.87 บาท
หากพิจารณาจากข้อมูลการเพิ่มทุนจดทะเบียน และตัวเลขรายได้ที่งบการเงินที่ปรากฏ จะพบว่า มีเติบโตที่ค่อนข้างสูงมาก โดยเฉพาะรายได้ จากปีแรกหลักร้อยล้าน ปัจจุบันพุ่งไปสูงถึงหลักหมื่นล้าน แม้ตัวเลขกำไรตอบแทนจะอยู่ที่หลักสิบล้านบาทเท่านั้น
จากการสืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับ นายศุภชัย วรอภิญญาภรณ์ เพราะว่ามีชื่อเรียกว่า 'เสี่ยแอร์' เป็นนักธุรกิจรุ่นเก๋าในวงการโรงสีของประเทศ เริ่มต้นทำธุรกิจโรงสีข้าวในจ.ชัยนาท เมื่อ10 ปีก่อน ก่อนจะขยายฐานโรงสีไปยังจังหวัดต่างๆ อาทิ พิจิตร กาฬสินธุ์ ปัจจุบันมีโรงสีอยู่จำนวน 4 โรง กำลังการผลิตรวมวันละ 5,000 ตัน มีบริษัทที่สัมพันธ์เชื่อมโยงอีกหลายแห่ง อาทิ บริษัท ธนกร บรรจง สรร จำกัด บริษัท ทรัพย์สมบูรณ์ ไรซ์ จำกัด บริษัท ล้อพูนผลไรซ์มิลล์ จำกัด บริษัท สรรรวมผล 999 โลจิสติคส์ จำกัด ห้างหุ้นส่วนจำกัด สรรรวมผล 999 ล้วนทำธุรกิจเกี่ยวข้องกับเรื่องข้าวทั้งหมด
โดย 'เสี่ยแอร์' เริ่มเข้าสู่วงการค้าข้าวตั้งแต่วัยหนุ่ม เป็นพ่อค้ารับซื้อข้าวเปลือกในพื้นที่ จ.ชัยนาท และ จ.พิจิตร แล้วส่งข้าวเปลือกต่อให้โรงสี ก่อนที่ธุรกิจค้าข้าวเปลือกจะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นผู้ค้าข้าวเปลือกรายใหญ่ ที่มีรถพ่วงเป็นของตัวเอง 20-30 คัน
ต่อมาในช่วงปี 2549 ธุรกิจค้าข้าวเปลือกของ 'เสี่ยแอร์' ได้รับสินเชื่อจากแบงก์เพิ่มขึ้น ทำให้กลายเป็นพ่อค้าข้าวเปลือกรายใหญ่ในแถบภาคกลาง พร้อมๆกับการเริ่มต้นเข้าสู่ธุรกิจโรงสีข้าวเต็มตัว โดยเข้าไปเทคโอเวอร์โรงสีแห่งหนึ่งใน จ.ชัยนาท มาทำเอง และยังได้เริ่มต้นเข้าสู่ธุรกิจส่งออกข้าวไปต่างประเทศ หลังจากแต่งงานกับลูกสาวเจ้าของโรงสีในแถบนั้น และให้ภรรยาที่เรียนจบจากต่างประเทศทำหน้าที่ดูแลธุรกิจส่งออกข้าวให้
จากนั้นในปี 2553 'เสี่ยแอร์' ได้ร่วมกับทุนค้าข้าวใน จ.ชัยนาท และจ.พิจิตร สร้างโรงสีและโรงทำข้าวนึ่งที่ จ.พิจิตร และได้รับสินเชื่อจากแบงก์กรุงไทย 500 ล้านบาท ตอนนั้นโรงสีแห่งนี้มีกำลังการผลิต 1,000 ตันต่อวัน ซึ่งถือว่าเป็นโรงสีที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศ ก่อนที่ปัจจุบันโรงสีแห่งนี้จะขยายกำลังการผลิตเป็นกว่า 2,000 ตันต่อวัน
ต่อมาในเดือนต.ค.ปี 2556 นายศุภชัยได้เปิดโรงสีขนาดกำลังการผลิต 1,000 ตันต่อวัน อีก 1 แห่งที่ จ.กาฬสินธุ์ เพื่อสีแปรและส่งออกข้าวหอมมะลิไปต่างประเทศ แต่กว่าโรงสีแห่งนี้จะเปิดดำเนินการได้ก็มีอุปสรรค เพราะในขณะนั้น จ.กาฬสินธุ์ ยังไม่ใช่พื้นที่ที่ได้รับอนุญาตจากกรมการค้าต่างประเทศให้ส่งออกข้าวหอมมะลิได้ ทำให้ 'เสี่ยแอร์' เดินเรื่องเข้าติดต่อกรมการค้าต่างประเทศ และในที่สุดพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ก็ได้รับอนุญาตให้ส่งออกข้าวหอมมะลิได้ตามที่ขอ
ในขณะเดียวกัน 'เสี่ยแอร์' ยังร่วมกับทุนค้าข้าวอื่นๆ สร้างโรงสีในพื้นที่ต่างๆ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อดักซื้อข้าวเปลือกเพื่อสีทำกำไรตั้งแต่ต้นทาง ก่อนที่ข้าวเปลือกเหล่านั้นจะไหลลงสู่พื้นที่ภาคกลาง ซึ่งตอนนั้นก็ทำให้ธุรกิจโรงสีข้าวในภาคกลางได้รับผลกระทบไปบ้างพอสมควร
แหล่งข่าวในวงการค้าข้าวระบุว่า “แอร์ (นายศุภชัย) เริ่มต้นธุรกิจค้าข้าวตั้งแต่ยังเป็นหนุ่มๆ และเป็นคนที่ใจใหญ่ ใจถึง กล้าได้กล้าเสี่ยง และอ่านตลาดขาด และด้วยความที่มีลูกน้องเก่งๆในพื้นที่ ทำให้มีข้อมูลที่สามารถคาดการณ์ได้แม่นยำว่า ปีนั้นปีนี้ข้าวเปลือกจะมีมากหรือน้อย ทำให้เมื่อเข้าไปซื้อข้าวเปลือกแล้วนำมาขายแต่ละครั้งจะได้กำไร และเมื่อมีกำไรนายศุภชัยก็จะลงทุนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ”แหล่งข่าวกล่าว
แหล่งข่าวยังระบุด้วยว่า ในช่วง 3-4 ปีที่แล้ว ธุรกิจส่งออกข้าวของนายศุภชัยมาถึงจุดเปลี่ยน และทำให้นายศุภชัยและบริษัท ธนสรรไรซ์ เปลี่ยนสถานะจากพ่อค้าข้าวที่คนทั่วไปแทบไม่รู้จัก กลายเป็นพ่อค้าส่งออกข้าวรายใหญ่ติด “ท็อปเท็น” ของประเทศ
คือ ในช่วงที่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ทำสัญญาขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ให้กับรัฐวิสาหกิจค้าข้าวของจีน หรือ “คอฟโก้” ช่วงปี 2558-2559 ปริมาณ 2 ล้านตัน และปรากฏว่ากระทรวงพาณิชย์ที่มีพ่อค้าข้าวทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา สามารถเจรจาขายข้าวให้คอฟโก้ได้ในราคาที่สูง คือ 440-450 เหรียญสหรัฐต่อตัน เทียบกับราคาตลาดในขณะนั้นที่อยู่ที่ 370-380 เหรียญสหรัฐต่อตัน หรือมีส่วนต่างๆ 50-60 เหรียญสหรัฐต่อตัน
“ตอนนั้นเป็นช่วงเดียวกับที่มีการเจรจาสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีนพอดี และมีการพูดกันว่าราคาข้าวที่ไทยขายได้สูงดังกล่าว เพราะเป็นการแลกเปลี่ยนกับโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน และในสัญญาขายข้าวจีทูจีที่ไทยและจีนได้เซ็นไปนั้น ปรากฎว่ากระทรวงพาณิชย์ให้มอบหมายให้สมาคมผู้ส่งออกข้าว ไทย จัดหาข้าวใหม่ในประเทศเพื่อส่งออกไปให้กับทางคอฟโก้”แหล่งข่าวกล่าว
เมื่อหน้าที่จัดส่งข้าวให้คอฟโกตกมาอยู่ในความรับผิดชอบของสมาคมฯ ทำให้กลุ่ม 5 เสือค้าข้าวรายใหญ่ของประเทศ และพ่อค้าข้าวที่มีอิทธิพลในสมาคมส่งออกข้าวไทย ได้นำโควตาข้าวคอฟโก้มาจัดสรรกันเองภายในสมาคมฯ ซึ่งในขณะนั้นเองทาง บริษัท ธนสรรไรซ์ ก็เข้าไปขอโควตาส่งออกจากคอฟโก้ด้วยเช่นกัน แต่เนื่องจากมีการเขียนในทีโออาร์ว่าผู้ประกอบการค้าข้าวที่จะได้รับการจัดสรรโควตาข้าวของคอฟโกจะมีต้องมีประสบการณ์ส่งออกข้าวไปจีนมาก่อน ทำให้บริษัท ธนสรรไรซ์ ไม่ได้โควตาตรงนี้ เพราะไม่มีประสบการณ์ จึงต้องกลับไปขายข้าวในตลาดปกติ
“ในขณะที่พ่อค้าข้าวรายใหญ่ได้โควตาส่งออกข้าวให้คอฟโก้ และได้ส่วนต่างมากกว่า 50 เหรียญต่อตัน ทำให้พ่อค้ารายใหญ่แทบจะไม่สนใจผู้ซื้อข้าวต่างประเทศรายอื่นๆ โดยเฉพาะผู้ซื้อที่ขอต่อรองลดราคาซื้อข้าวลงมา เพราะลำพังขายให้คอฟโก้รวมๆแล้วเดือนละ 1 แสนตันก็กำไรมากอยู่แล้ว ซึ่งตรงนี้เองที่ทำให้บริษัท ธนสรรไรซ์ มีโอกาสได้ขายข้าวให้ผู้ซื้อต่างประเทศมากขึ้น แม้ว่าผู้ซื้อจะต่อรองขอให้ลดราคาจากราคาตลาด 2-5 เหรียญสหรัฐต่อตัน แต่นั่นก็ทำให้ในปี 2558 บริษัท ธนสรรไรซ์ เป็นผู้ส่งออกข้าวติดอันดับ 1 ใน 10 ของประเทศ”แหล่งข่าวกล่าว
ต่อมาในปี 2559 ต่อเนื่องถึงปี 2560 พ่อค้าข้าวรายใหญ่ยังคงได้รับการจัดสรรโควตาข้าวคอฟโก้เดือนละเกือบ 1 แสนตัน และลำพองใจกับกำไรที่ได้รับจากการส่งออกข้าวแบบจีทูจี และก็เป็นช่วงเดียวกับที่ทางบริษัท ธนสรรไรซ์ ได้แย่งลูกค้าต่างประเทศไปจากผู้ซื้อรายใหญ่เพิ่มขึ้นจนกลายเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ติด 1 ใน 5 และกลายเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่อันดับ 3 ของประเทศในตอนนี้
นอกจากนี้ นายศุภชัย และธนสรรไรซ์ เห็นว่าเมื่อสถานการณ์ตลาดส่งออกข้าวเริ่มจะเข้าสู่ภาวะปกติ หลังจากสัญญาขายข้าวให้คอฟโก้หมดลงแล้ว ตลาดค้าข้าวแข่งขันกันมากขึ้น และการตัดราคาขายข้าวแข่งกันเริ่มกลับมา บริษัท ธนสรรไรซ์ ได้ลงทุนก่อสร้างท่าเรือขนส่งข้าวเป็นของตัวเอง อ.สามโคก จ.ปทุมธานี โดยกู้เงินจากแบงก์กว่า 1,000 ล้านบาท และเปิดดำเนินการแล้วเมื่อปลายปี 2559 เพื่อลดต้นทุนให้แข่งขันได้ เพราะหากไปใช้ท่าเรือของผู้ส่งออกรายใหญ่ๆก็จะมีต้นทุนสูงทำให้แข่งขันไม่ได้
โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดเหตุการณ์ราคาข้าวหอมมะลิตกต่ำในช่วงก.ย.-ต.ค.2559 เป็นช่วงที่บริษัท ธนสรรไรซ์ ได้กำไรมหาศาลจากตลาดที่เป็นอย่างนี้ ทำให้ตอนนี้ธนสรรไรซ์ มีศักยภาพทั้งในแง่การจัดหาข้าว และมีแหล่งทุนมากพอ ทำให้มีกำลังพอฟัดพอเหวี่ยงที่จะแข่งกันพ่อค้าข้าวรายใหญ่อื่นๆ จนทำให้ขณะนั้นต่างฝ่ายก็เกรงใจกัน
“ตอนนั้นราคาข้าวหอมมะลิในตลาดโลกอยู่ที่ 800 เหรียญสหรัฐต่อตัน ทางผู้ซื้อต่างประเทศได้ขอลดราคาลดลงมาเหลือ 780 เหรียญสหรัฐต่อตัน ซึ่งก็มีแต่ทางนายศุภชัยและธนสรรไรซ์ที่กล้าเสี่ยงทำสัญญาขายข้าวในราคานั้น และขายเป็นล็อตใหญ่ด้วย จนถูกต่อว่าต่อขานจากคนในวงการว่าตัดราคาส่งออกข้าว และที่นายศุภชัยกล้าขายข้าวในราคา 780 เหรียญสหรัฐต่อตันในตอนนั้น น่าจะเป็นเพราะมีข้อมูลว่าปีนั้นข้าวหอมมะลิจะออกมามาก จะว่าคาดการณ์แม่นก็ได้ พอเข้าช่วงกลางฤดูราคาข้าวหอมมะลิตกลงมามากจริงๆ พ่อค้าบางคนยอมขายข้าวให้ผู้ซื้อต่างประเทศที่ระดับ 550-560เหรียญสหรัฐต่อตันก็ยังมี ทำให้นายศุภชัย และธนสรรไรซ์ ได้กำไรไปมหาศาล” แหล่งข่าวกล่าว
แหล่งข่าวกล่าวย้ำว่า ในช่วงที่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ เร่งรัดให้นำข้าวสารในสต็อกมาเปิดประมูล กระทรวงพาณิชย์ก็สนองนโยบายนำข้าวมาเปิดประมูลเป็นจำนวนมาก ซึ่งตอนแรกๆกลุ่มที่เข้าประมูลจะเป็นกลุ่มพ่อค้าส่งออกเป็นส่วนใหญ่ และตอนหลังผู้ค้ารายอื่นๆก็มาร่วมประมูลมากขึ้น รวมทั้งบริษัท ธนสรรไรซ์ ซึ่งประมูลข้าวได้เป็นจำนวนมากเช่นกัน ท่ามกลางกระแสข่าวโจมตีบริษัท ธนสรรไรซ์ เป็นระยะๆ เช่น ธนสรรไรซ์ ร่ำรวยจากโครงการรับจำนำข้าว และการส่งมอบข้าวผิดสเปค ในขณะที่ข้าวสารที่กระทรวงพาณิชย์นำออกมาประมูลนั้น ต้องถือว่าพ่อค้าที่ได้ข้าวไปต่างก็มีกำไรพอสมควร
“ลักษณะการทำธุรกิจของนายศุภชัย นอกจากจะใจใหญ่ กล้าเสี่ยงแล้ว ยังกล้าลงทุนด้วย ต่างจากพ่อค้ารายอื่นๆที่ไม่กล้าเสี่ยง หรือแม้แต่พ่อค้าส่งออกข้าวรายใหญ่ในตอนนี้ บางคนได้กำไรไปมาก ทั้งจากสต็อกข้าวรัฐบาลและการได้โควตาข้าวของคอฟโก้ เพียงแต่เขารวยแบบเงียบๆ บางบริษัททำข้าวถุงในประเทศเป็นหลัก แต่อยู่ดีๆกลายเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ เพราะว่ากันว่ามีการนำโควตาข้าวคอฟโก้ไปขายต่อแล้วกินหัวคิว ต่างจากนายศุภชัยที่ต้องถือเป็นหนามยอกอกพวกพ่อค้าส่งออก และยังมีข่าวเรื่อยๆว่าไปลงทุนทำนั่นทำนี่ จนถูกโจมตีว่ารวยมาได้อย่างไร”แหล่งข่าวระบุ
ทั้งหมดนี่ คือ เส้นทางของ นายศุภชัย หรือ 'เสี่ยแอร์' และบริษัทธนสรรไรซ์ ที่สามารถรวบรวมได้ในขณะนี้ ส่วนอนาคตหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร จะเดินซ้ำรอยชะตากรรมพ่อค้าข้าวรายใหญ่บางรายก่อนหน้านี้หรือไม่ ต้องคอยติดตามดูกันอย่างใกล้ชิดต่อไป
อ่านประกอบ :
คุก54 ปี ยึดทรัพย์1.5หมื่นล.! ย้อนข้อมูล 'เสี่ยเปี๋ยง' บุคคลทุจริตแห่งปี60