เปิดผลวิจัย “ภาคเกษตร” ในเออีซี นักลงทุนไทยปรับตัว “ปฏิรูป” โครงสร้าง-รายสินค้า
“ทีดีอาร์ไอ” เปิดผลการศึกษาการปรับตัวภาคเกษตรรองรับเออีซี พบผลกระทบการลงทุน คนไทยหวังแสวงหาตลาดอาเซียน สินค้าหลัก กุ้ง ยางพารา ไก่ “ซีพี” เจ้าใหญ่ตั้งฐานในเวียดนาม พม่า อินโดนีเซีย แนะภาคเกษตรไทยต้องปรับตัว หลังความสามารถแข่งขันลดลง ต้องปฏิรูปโครงสร้างทั้งระบบ-รายสินค้า
วันที่ 16 ม.ค. 2561 สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) นำเสนอ “โครงการศึกษาเเนวทางการปรับตัวของภาคเกษตรเพื่อรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันของไทย” ณ โรงแรมเซ็นจูรี่ ปาร์ค กรุงเทพฯ
ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ คือ ผลกระทบการลงทุน พบว่า ที่ผ่านมานักลงทุนไทยจำนวนมากไปลงทุนในอาเซียน เพื่อแสวงหาตลาดเป็นวัตถุประสงค์หลัก เพราะสมาชิกอาเซียนต่างก็มีนโยบายส่งเสริมการลงทุนในประเทศ และหลายประเทศมีนโยบายกีดกันการนำเข้า
ทั้งนี้ สินค้าหลักที่ไทยไปลงทุน เช่น กุ้ง ยางพารา ไก่ อาหารสัตว์ บะหมี่สำเร็จรูป อาหารแปรรูป อย่างไส้กรอก โดยมีเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) เป็นนักลงทุนรายใหญ่ทั้งใน เวียดนาม พม่า และอินโดนีเซีย ซึ่งสำหรับอินโดนีเซียนั้น ปัจจุบันแยกตัวเป็นซีพีอินโดนีเซียแล้ว
ขณะที่นโยบายของ "เวียดนาม" พบว่า เอื้อต่อการลงทุนของต่างชาติ เช่น การขยายพื้นที่เลี้ยงกุ้ง โดยลดพื้นที่ทำนา เกษตรเขียว “กิจการกุ้งในเวียดนามจึงแซงหน้าไทย ทั้งการผลิต การแปรรูปกุ้งมูลค่าสูง และการส่งออกกุ้งแปรรูปมูลค่าสูง” ทำให้นักลงทุนต่างชาติเห็นโอกาสการลงทุน และมีความเชื่อมั่นในนโยบายและโอกาสการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนาม
จะเห็นได้จากการขยายตัวของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment:FDI) ในช่วงการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิค (Trans-Pacific Partnersip:TPP) กับสหรัฐอเมริกา
เมื่อศึกษาอันดับการลงทุนของไทยในอาเซียน ไทยเข้าไปลงทุนสะสมในพม่าทุกสาขา เป็นอันดับ 3 และอันดับ 4 ในปีล่าสุด ลงทุนสะสมในเวียดนามในทุกสาขา เป็นอันดับ 10 และลงทุนสะสมในอินโดนีเซียในทุกสาขา เป็นอันดับ 15 และอันดับ 5 ในสาขา Rubber & Plastics
ด้านอินโดนีเซียมีนโยบายปฎิรูปกฎระเบียบที่ยุ่งยาก integrated industry การขยายการผลิตกุ้ง แบบ intensive ฯลฯ แต่การลงทุนในอินโดนีเซียยังมีปัญหาหลายประการ โดยเฉพาะนโยบายรัฐที่ไม่เอื้อต่อนักลงทุน เช่น การกำหนดให้โรงงานซื้อยางจากฟาร์มบริษัท เกษตรกรเลี้ยงกุ้งยังใช้ยาปฏิชีวนะมาก นโยบายผลิตเพื่อเลี้ยงตัวเอง และความล่าช้าของระบบราชการ โดยเฉพาะราชการในท้องถิ่น
ขณะที่รัฐบาลพม่าออกกฎหมายลงทุนอนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติร่วมทุนกิจการค้าปลีก-ค้าส่งกับนักลงทุนในประเทศ และมีกฎหมายส่งเสริมการลงทุน รวมทั้งได้รับการช่วยเหลือจากญี่ปุ่นพัฒนา ท่าเรือ-นิคมอุตสาหกรรมใหม่ที่เมืองติราวา แต่การลงทุนในพม่ายังติดปัญหาบางประการ
ดังเช่น รัฐจำกัดการเปลี่ยนที่ทำนาไปทำเกษตรอื่น ใช้เวลาเป็นปี นักลงทุนมีปัญหาการหาที่ดินสร้างโรงงาน ที่ดินราคาแพงมาก ปัญหาโครงสร้างพื้นฐาน ถนนแคบ ไฟฟ้าดับประจำ และซีพียังต้องเล่นบท low profile ในพม่า เพราะหวั่นเกรงกระแสชาตินิยม
ท้ายที่สุด ผลสรุปว่า ภาคเกษตรไทยจำเป็นต้องปรับตัว เพราะความสามารถในการแข่งขันกำลังลดลงเรื่อย ๆ จาก 4 สาเหตุหลัก ๆ คือ ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น Non-traded inputs เช่น แรงงาน ที่ดิน โลจิสติกส์ นอกจากนี้ต้นตอของความสามารถในการแข่งขันที่ไทยเคยมี และเคยได้เปรียบกำลังถูกชาติคู่แข่งไล่ทัน และคู่แข่งหันมาใช้การค้าเสรี การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเกษตรและการวิจัย ขณะที่ไทยลดการวิจัยภาคเกษตร และมีนักวิจัยรุ่นใหม่ที่เก่งๆ น้อย เพราะขาดแรงจูงใจ และข้อจำกัดของระบบประเมินผลงานวิชาการจากบทความที่ตีพิมพ์ในวารสาร และไทยหันมาใช้นโยบายอุดหนุนราคาสินค้าเกษตรมากขึ้น เกษตรกรไม่ปรับตัว เกิดความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ
ทั้งนี้ ทีดีอาร์ไอ มีข้อเสนอให้ปฏิรูปโครงสร้างเกษตรทั้งระบบ โดยปฏิรูประบบวิจัยเกษตรไทยร่วมกับมหาวิทยาลัย ภาคเอกชน กลุ่มเกษตรกร สนับสนุนการลงทุนวิจัย และ นำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ โดยเฉพาะ precision agriculture รัฐต้องมีนโยบายคัดเลือกและนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ รวมทั้งการพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยี โดยการติดตามเทรนการใช้เทคโนโลยีในต่างประเทศ
ส่งเสริมการลดต้นทุนการใช้ precision agriculture สำหรับกลุ่มเกษตรกร และเกษตรกรรายเล็ก พร้อมปรับปรุงและเปิดเผยระบบฐานข้อมูลเกษตรให้แม่นยำและทันเวลา อีกทั้งยกมาตรฐานสินค้าเกษตรไทยสู่มาตรฐานโลกของเอกชน และสร้างความเชื่อถือในความปลอดภัยของครัวไทย (trust) ปรับบทบาทหน่วยราชการจากผู้กระทำเป็นผู้ให้ทุนสนับสนุน faciliator และประเมินผล โดย เน้นการสนับสนุนเกษตรกรซึ่งปลูกพืชที่ไทยไม่เก่ง ปรับตัวไปทำกิจกรรมที่มีรายได้มากขึ้น
ตลอดจนพัฒนาเมืองใหญ่-เมืองรอง เพื่อสร้างงานนอกภาคเกษตร และพัฒนาความรู้และทักษะแรงงาน จ ากัดการแทรกแซงตลาดสินค้าเกษตร และจำกัดการอุดหนุนราคา พร้อมลงทุนอนุรักษ์ทรัพยากรเกษตร โดยให้แรงจูงใจแก่เกษตรกรและธุรกิจการเกษตร
นอกจากนี้ ยังต้องปฏิรูปนโยบายรายสินค้า ใน 8 ชนิด
- กุ้ง ให้ร่วมกับเอกชนตั้งศูนย์วิจัย-ปรับปรุงพันธุ์กุ้ง/ปลา และวิจัยสาเหตุโรคตายด่วน EMS (Early Mortality Syndrome)
- นม ต้องส่งเสริมบริษัทเอกชน/กลุ่มผู้เลี้ยงโค ใช้เทคโนโลยีใหม่ ปรับเปลี่ยน cultural practices และการใช้อาหารหยาบ เพื่อเพิ่มผลผลิตนำนม และคุณภาพนม
- ปาล์ม ร่วมกับมหาวิทยาลัย/เอกชนตั้งศูนย์วิจัย-ปรับปรุงพันธุ์ โดยใช้ความรู้ วิทยาศาสตร์ด้าน bio-physical & bio-chemical เพื่อเพิ่มผลผลิตและวิจัย ผลิตภัณฑ์ โดยสร้างแรงจูงใจให้นักวิจัยสามารถทำวิจัยต่อเนื่อง
- ข้าวโพด ทบทวนนโยบายราคาข้าวโพด เพราะการนำเข้าเสรีถูกกว่า และช่วยเสริมความสามารถแข่งขันของการเลี้ยงไก่ และการช่วยเกษตรกรบนภูเขาเปลี่ยนอาชีพที่มีรายได้สูงขึ้น
- ไก่ ภาคเอกชนสามารถจัดการได้ รัฐดูแลเรื่องป้องกันไข้หวัดนกและเกษตรพันธะสัญญาที่ไม่เป็นธรรม
- ข้าว ร่วมกับมหาวิทยาลัย/เอกชน วิจัยข้าวที่มีคุณสมบัติตามความต้องการ ของตลาดหลัก ๆ ในต่างประเทศ และส่งเสริมการประหยัดน้ำ โดยเก็บค่าชลประทาน และสนับสนุนการปรับตัวไปปลูกพืชอื่นที่มีมูลค่าสูงกว่า
- อ้อย เป็นพืชที่มีความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีมากที่สุด แต่ควรสร้างแรงจูงใจให้บริษัทน้ำตาลอื่น ๆ หันมาสนับสนุนชาวไร่ให้ใช้ precision agriculture และปรัปรุงระบบขนส่ง อ้อย และประเมินแนวทางการปรับระบบอุดหนุนอ้อยตามที่ถูกบราซิลกดดัน
- ผักผลไม้ และดอกไม้ ถือเป็นอนาคตที่รุ่งเรือง แต่ควรสนับสนุนให้เกษตรกรต้องใช้ความรู้วิทยาศาสตร์ โดยให้กลุ่มมหาวิทยาลัยรับผิดชอบการวิจัยร่วมกับเกษตรกร ดังเช่นการวิจัยของมังคุดที่นครศรีธรรมราช เพื่อสร้างความเชื่อมั่นของ ผู้บริโภคต่อครัวไทย และใช้มาตรฐาน Private Global GAP และส่งเสริมให้เกิดบริษัทเอกชนทำหน้าที่ออกใบรับรอง โดยกรมวิชาการเกษตรทำหน้าที่ accredit ผู้ออกใบรับรอง .