เด็กคือปัจจุบันของสังคม ไม่ใช่อนาคตของชาติ
“เด็กและเยาวชนไม่ได้ต้องพื้นที่เวลาในอนาคต พวกเขา พวกเรา ต้องการพื้นที่ในปัจจุบัน เช่นเดียวกับผู้ใหญ่ที่ต้องการมีปากมีเสียงในการกำหนดทิศทางของสิ่งต่างๆ ก่อนที่จะตายจากไป” Newground
ผลสำรวจชิ้นหนึ่งที่น่าสนใจในช่วงวันเด็ก คือนอกเหนือจากผลสำรวจที่ผู้ใหญ่ทำเพื่อบอกว่าต้องการเด็กแบบไหน หรือคาดหวังเด็กแบบไหนต่อสังคม แต่สิ่งที่ องค์กรนิวกราวด์(New Ground) องค์กรที่ศึกษา วิจัย และสนับสนุนให้เกิดการแก้ปัญหาคุณภาพชีวิต โดยการรวมตัวของเยาวชนรุ่นใหม่ได้ทำการสำรวจเสียงของเด็กว่าพวกเขาคิดเห็นอย่างไรต่อสังคม ต่อผู้ใหญ่
ซึ่งประเด็นที่น่าสนใจคือ ความเป็นตัวของตัวเอง ที่เรามักได้ยินว่าเด็กสมัยนี้(ซึ่งใช้คำว่าสมัยนี้กับทุกสมัย) ไม่เป็นตัวของตัวเอง ไม่รู้จักตัวเอง แต่หากดูในเสียงสะท้อนจากการสำรวจพบว่า พวกเขาเป็นตัวเองน้อยสุดเมื่อต้องอยู่ต่อหน้าผู้ใหญ่
ขณะที่ในชุดคำถามปลายเปิดที่ทางนิวกราวด์เปิดให้เด็กตอบ พบว่า เรื่องดีๆ ที่พวกเขาคิดออกในปีที่ผ่านมา อันดับแรกคือเรื่องงาน ไอเดียการทำธุรกิจเงิน รองลงมาในหมวดการปรับปรุงตัวเองอยากทำอะไรให้ดีขึ้น เขาคิดว่า อยากทำสิ่งใหม่ๆ พัฒนาด้านศิลปะ ครอบครัว อยากมีเวลาที่ดีกับครอบบครัว ทำงานจิตอาสา เรื่องการเรียน เรื่องการมีส่วนร่วม ซึ่งทางองค์กรเผยว่ามักเกี่ยวข้องกับบ้านเมือง โดยกลุ่มคนที่มาตอบแรกๆ จะมีคำประเภทประชาธิปไตย การเลือกตั้งอยู่จำนวนมาก
เด็กไทยไม่มีอำนาจจัดการเงินด้วยตัวเอง
ในขณะที่คำถามว่าของขวัญที่อยากได้จากผู้ใหญ่ อันดับแรกของผู้ตอบคำถามคือ อยากได้การรับฟังแและความเข้าใจให้มากขึ้น และข้อที่ตามคือการเงิน ส่วนนี้น่าสนใจมาก ซึ่ง วริศ ลิขิตอนุสรณ์ แห่งNewground มองว่าเรื่องอยากได้เงินฟังดูเหมือนจะตลก แต่จริงๆ นี่ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ เพราะว่าเด็กบ้านเราไม่มีกระเป๋าตังค์เป็นของตัวเอง คือจะใช้เงินต้องบอกพ่อแม่ การจะใช้เงินทีต้องผ่านการพิจารณาที ทำให้ความเป็นตัวตนของเขาน้อยลงมากๆ อย่างเช่นตอนที่ทางนิวกราวด์เปิดรับสมัครกองทุนเด็กและเยาวชน สงสัยว่าทำไม่มีเด็กสมัคร เพราะตอนนั้นเงื่อนไขคือเด็กที่จะมารับเงินทุน ต้องมีเงินสำรองของตัวเองจำนวนหนึ่ง และค่อยยื่นเรื่องมาแล้วเราจะให้กลับไปสองถึงสามเท่า ปรากฎว่าไม่มีใครส่งมาเลย ทั้งที่เราแจกเงิน เลยตั้งข้อสังเกตว่า เขาไม่มีเงินที่เป็นต้นทุนของตัวเองที่เอาไว้ทำอะไรได้ อยากทำอะไรสักครั้งต้องเดินไปขอพ่อแม่ แบบนี้ทำให้มุมมองอย่าว่าแต่เรื่องการเรียนอย่างเดียว เรื่องศิลปะ เรื่องการเข้าถึงพิพิธภัณฑ์ หรืออยากได้ไม้แบตมินตันใหม่ ต้องไปขอพ่อแม่ ผู้ใหญ่ทุกครั้ง
“ผู้ใหญ่ก็มาบอกว่าเด็กไทยไม่มีความเป็นตัวของตัวเอง หนูค้นหาตัวตนเจอหรือยัง จะไปเจอได้อย่างไรในเมื่อต้นทุนในการค้นหาไม่ได้อยู่กับตัวเรา ทุกครั้งจะใช้ต้นทุนตรงนี้ ต้องไปบอกคนอื่นตลอด” วริศสะท้อนจากประสบการณ์ที่ทำงานกับเด็ก
เรื่องเงินยังไปเกี่ยวข้องกับผลสำรวจที่บอกว่า สิ่งที่คิดออกอันดับแรกคือเรื่องงาน เงิน ซึ่งวริศ คิดว่าใช่ เขาอธิบายว่า ในโลกทุนนิยม เงินคือเชื้อเพลิง คุณจะเป็นตัวเองของเองได้ต่อเมื่อคุณมีเงิน เงินคือพื้นฐานของการใช้ชีวิต เด็กไทยไม่มีกระเป๋าตังค์เป็นของตัวเอง ซึ่งไม่ได้หมายความว่าไม่มีเงินใช้ แต่คือไม่มีอำนาจต่อเงินที่ตัวเองจะใช้ว่าจะเอาไปใช้กับอะไร
เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์ หนึ่งในทีมสำรวจ กล่าวเสริมว่า ปกติประเทศเรามีงบอุดหนุนการศึกษาต่อหัวเยอะมากๆ แต่ปัญหาคือเด็กเยาวชนไม่มีอำนาจว่าจะใช้งบนั้นไปกับอะไร ส่วนใหญ่ผู้บริหาร คุณครูจะคิด เช่นไปกิจกรรมทัศนศึกษา เข้าค่ายลูกเสือ เป็นต้น
ในขณะที่วงการการศึกษากำลังเรียกร้อง การจัดการการเงิน แนวคิดการเป็นผู้ประกอบการ วรวัสสบายใจทีมงานสำรวจอีกคนเห็นว่าโดยพื้นฐานวัฒนธรรมบ้านเราไม่ได้เอื้อให้เกิดสิ่งเหล่านั้นแม้แต่น้อย
เขาเล่าว่าเคยคุยกับเพื่อนสิงคโปร์เรื่องนี้ เพื่อนตกใจว่า เมืองไทยมีพื้นฐานทรัพยากรเยอะ เข้าไปในโรงเรียนมีบ่อปลา มีพื้นที่ปลูกผักได้ แต่ทำไมเด็กๆ ไม่สามารถทำได้ เพราะว่าวัฒนธรรม บ้านเราไม่เอื้อให้เกิดสิ่งเหล่านี้ กลับกันแนวคิดของคนจีน เขาสอนลูกสอนหลานมาในทางการค้า ว่าจะทำเงินจากต้นทุนที่มีอยู่อย่างไร เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราเรียกร้องอยากให้มีเพื่อสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่แทบเกิดขึ้นไม่ได้
ขาดอิสระ เพราะต้องแบกรับความดีแบบผู้ใหญ่
วิภาพรรณ วงษ์สว่าง หนึ่งในทีมงานของ นิวกราวด์ มองว่า อีกประเด็นที่ไม่มีการยื่นขอทุนครั้งนี้เพราะ การเปิดโอกาสโดยไม่มีโจทย์ ว่าต้องทำเรื่องอะไร ซึ่งระบบคิดของเด็กอย่างหนึ่งที่มองว่าต้องมีโจทย์ ฉันถึงจะทำ
ทุกคนชินกับการต้องมีโจทย์ วริศ กล่าวและเล่าว่าในใบสมัครกว่า 60 กลุ่มที่ส่งมา ทุกคนคิดว่าการที่เราจะขอเงินใครต้องมีโจทย์ที่งดงาม ตอบโจทย์สังคม ลักษณะว่าทำเพื่อช่วยเหลือคนพิการ หรือเล่นเกม ROV เพื่อต้านยาเสพติด เราชินกับความกดดันที่ว่าจะขอเงินต้องมีโจทย์ของผู้ใหญ่พ่วงมาด้วย ทำให้ความเป็นตัวของตัวเอง
วัฒนธรรมของผู้ประกอบการโตไม่ได้ เพราะแหล่งทุนมองว่าต้องมีโจทย์ในทำนองพวกนี้ตลอดเวลา อย่างเช่นกลุ่มหนึ่งสมัครมาว่า อยากเอาเงินไปเรียนศิลปะป้องกันตัว แต่เขียนพ่วงมาด้วยว่า เพื่อเอาไว้ป้องกันคนอ่อนแอในสังคม ทั้งที่ถ้าอยากเรียนเทควันโดก็เอาเงินไปเรียนเท่านั้น ไม่ต้องพ่วงคุณธรรมแแบผู้ใหญ่
จนเราคุยกันว่า งั้นเราจะมองข้ามไอ้ส่วนที่พ่วงพวกนี้ เพื่อดูเฉพาะสิ่งที่เขาอยากทำ โดยไม่ต้องตอบโจทย์ชาวบ้าน สังคม เอาแค่ตอบโจทย์ตัวเองซึ่งไม่ค่อยมีใครมาตอบให้อยู่เเล้วในปัจจุบัน
“ซึ่งส่วนหนึ่งไม่ได้เป็นหน้าที่ของเด็กที่จะต้องหาเงินเป็น แต่คือหน้าที่ของรัฐที่ต้องจัดสรรเงินภาษีให้พวกเขา ในฐานะพลเมืองของประเทศเฉกเช่นเดียวกันกลุ่มคนอื่นๆ” เปรมปพัทธ กล่าวเสริม
น้ำใจไม่จำเป็น ถ้าระบบโครงสร้างพื้นฐานดี
หนึ่งเสียงสะท้อนจากการสำรวจครั้งนี้คือ คนไทยน่ารัก นิสัยดีอยู่ด้วยสบายใจ ซึ่งประเด็นนี้วริศ ออกตัวว่าเขาอาจมองโลกในแง่ลบ แต่เห็นว่าคอนเซ็ปต์ความมีน้ำใจ เป็นสิ่งน่าคิด เพราะคนเราไม่จำเป็นต้องมีน้ำใจก็ได้ ถ้าโครงสร้างพื้นฐานเอื้อ และมีความพร้อม ถ้าระบบดี ระบบจะเอื้อให้เราโดยที่เราไม่ต้องเอยปากขอช่วยหรือรอน้ำใจจากใคร เช่นถ้าโรงเรียนมีกล่องยางลบไว้ แล้วยางลบเราหาย เราก็จะไม่รู้สึกต้องการน้ำใจจากเพื่อน เพราะเรามีกล่องยาลบส่วนกลางอยู่เเล้ว การที่สังคมเรามีเด็กจำนวนมากบอกว่าคนไทยน่ารัก มีน้ำใจ อาจมองในแง่ลบได้ว่า โครงสร้างพื้นฐานที่จะช่วยอำนวยความสะดวกนั้นแย่มาก จนเราต้องมาพึ่งสิ่งที่เรียกว่าน้ำใจ
สังคมไทยขาดความเข้าใจวัฒนธรรมเยาวชน
เรื่องนี้ เปรมปพัทธ เล่าว่า เวลามีเพื่อนๆ ทำงานเยาวชน แต่ทำไมเยาวชนหายไปไหน โดยในงานวิจัยที่เคยศึกษาซึ่งดูในทางฝั่งแหล่งทุน และฝั่งเยาวชนว่ามีช่องหว่างอะไรที่ทำให้เกิดการหล่นหาย พบว่าหนึ่งในปัญหา เยาวชนของบ้านเราคือ ประเทศไทยใช้เกณฑ์ทางการแพทย์ และแรงงานในการแบ่งช่วงวัย ทำให้เรามีเด็กที่ทำงานไม่ได้ มีเด็กอายุ 15 ปีที่สามารถทำงานบางประเภทได้ มีเด็กอายุมากกว่า 18 และมาตรฐานทางการแพทย์ที่แบ่งเป็น เด็กตอนต้น กลาง ปลาย แต่สิ่งหนึ่งที่เราลืมไปคือมาตรฐานทางวัฒนธรรม ในหลายๆ ประเทศใช้มาตรฐานด้านนี้มากกว่า เช่นมี twink, teenager, young-adult, adulthood ช่วงวัยเหล่านี้เป็นรอบต่อของช่วงวัยอีกทีหนึ่ง
“เวลาเราทำงานเยาวชนโดยมีช่วงวัยหลากหลายมาก จะช่วยทำให้เกิดโจทย์ที่เหมาะสม เราจะไม่ให้เด็กอายุ 15 มาเต้นไก่ย่างอีกแล้ว เราจะให้งานที่ท้าทายความช่วงวัยที่เหมาะสมมากกว่า” เปรมปพัทธ สะท้อน
ในงานวิจัยชิ้นนี้ ที่เขาหยิบมานำเสนอชี้ให้เห็นว่าระหว่างสองกลุ่ม มีมุมมองต่อโลกอย่างไร โดยพบว่าในเรื่องความสนใจ แหล่งทุนสนใจชุมชนทางกายกาพ เช่นซอยซอยหนึ่ง บ้านหลังนี้ควรรู้จักกับบ้านหลังนี้ รู้จักคนในตำบลเดียวกัน ในขณะที่ความสนใจอันดับแรกของเยาวชนคือ ความสัมพันธ์ในระดับบุคคล หมายความว่า คนคนหนึ่งอาจอยู่คนละจังหวัด แต่สามารถให้ความสำคัญกับคนคนนั้นได้โดยไม่ต้องมีเรื่องชุมชนในทางกายภาพ
ประเด็นที่สอง แหล่งทุน มักให้ความสนใจเรื่องความดีแบบวัตถุวิสัย (ซึ่งที่เป็นวัฒนธรรมแต่เอาไปทำให้เป็นของแข็งในเชิงความรู้สึก) หรือความดีแบบแช่แข็ง หนึ่งเท่ากับสองเท่านั้น แบบนี้เท่ากับดี ขยับเท่ากับออกกำลัง (ซึ่งไม่ได้หมายความว่าผิด) ความดีที่นิยามในแต่ละองค์กรก็จะยึดเอาไว้แน่น เช่นเรื่องสุขภาพ สสส.ก็จะยึดไว้แน่นไม่รื้อถอนว่าสุขภาพจริงๆ คืออะไรในเชิงวัฒนธรรม อะไรคือข้อจำกัดที่ทำให้คนเข้าถึงเรื่องสุขภาพไม่ได้ แล้วทำไมคนอ้วนไม่ยอมลดความอ้วนสักที มีเรื่องวัฒนธรรมไหม อะไรพวกนี้
ในขณะที่ฝั่งเยาวชนกลับมองว่า ต้องรื้อสร้างมายาคติ ซึ่งตรงข้ามกับสิ่งที่แหล่งทุนคิด เขาสงสัยว่าความสามัคคีที่เราใช้กันอยู่นี้ ถูกต้องจริงหรือเปล่า หรือการเป็นคนอ้วนในทางวัฒนธรรมผิดหรือเปล่า
วริศ บอกว่าข้อสังเกตที่น่าสนใจมาก เรื่องชุมชนทางกายภาพและความสัมพันธ์ระหว่างคนเป็นเรื่องเดียวกัน เป็นเรื่องความสัมพันธ์ของมนุษย์เหมือนกัน และการรื้อสร้างจริยธรรม มายาคติ และความดีแบบวัตถุวิสัย ก็ไม่ได้แยกขาดออกจากกัน เป็นไปได้ ที่เด็กจะสร้างสะพานเชื่อมเข้าหากัน แต่พูดกันด้วยคนละภาษาเท่านั้นเอง
เด็กไม่ใส
เปรมปพัทธ เล่าว่าจากการสำรวจคำนิยามที่เด็กไทยชอบ พบคำตอบว่า พวกเขาชอบคำเช่น อิสระ ปลอดปล่อย ค้นหา ก้าวข้าม เปิดกว้าง เป็นตัวของตัวเอง เป็นต้น ส่วนที่ไม่ชอบ เช่น ใส เฟี้ยว แจ๋ว ปลูกปัญญา ร่วมใจ ซึ่งน่าสนใจว่า คำที่เด็กชอบ มักมีลักษณะของคำที่ให้ความรู้สึกพลิ้วไหว เคลื่อนไหวได้ ไม่ได้อยู่นิ่ง
ในส่วนคำที่อยากให้เรียกตัวเอง นักวาดภาพประกอบ ศิลปิน นักเรียน นักศึกษา นักสร้างสรรค์ ส่วนคำที่ไม่ชอบ คือคำว่าเด็ก วัยใส คนพันธุ์ใหม่ วัยซ่า
จะเห็นได้ว่า คำว่าประเภท ใส วัยใส เด็ก เป็นสิ่งที่เด็กส่วนใหญ่ไม่ชอบ นั่นหมายความเด็กรู้ตัวเองว่าไม่ใส และรู้ว่าตัวเองมีความทุกข์ แล้วทำไมผู้ใหญ่ถึงยังคิดว่าเด็กต้องใส
เรื่องนี้ วริศ มองว่า เป็นเรื่องของเวลา เราลืมไปแล้วว่าตอนเด็กเราเป็นทุกข์มาก ตอนเราเป็นเด็กทุกข์มากที่ไม่สามารถหยิบขนมที่แม่เก็บในตู้เย็นได้ เราลืมไปแล้วว่าความทุกข์ตอนนั้นมันเกิดขึ้นกับเราจริงๆ หลายคนจบโรงเรียนไปไม่เคยกลับมาเรียกร้องให้ยกเลิกผมทรงนักเรียน ทั้งๆ ที่ ตอนเป็นเด็กก็เดือดร้อนเรื่องนี้ หรือหลายคนจบ รด. ไป แล้วคิดว่าเป็นเพียงความทรงจำดีๆ ทั้งๆ ที่ตอนนั้นเป็นทุกข์ที่ต้องนอนพื้น โดนครูฝึกดุ
“เวลาผ่านไป ทำให้เด็กตายในตัวผู้ใหญ่คนเดิม ที่เราสัญญาไว้ว่าอนาคตจะเป็นของเด็กและเยาวชนมันไม่มีจริง เพราะว่าเด็กมีอยู่ในตอนนี้ เขามีความต้องการในตอนนี้ เวลาผ่านไปเขาไม่ใช่คนเดิมอีกแล้ว ดังนั้นเรามองว่าเด็กใสเพราะว่าเรารู้จักปัญหานั้นเองเเล้ว เราคิดว่าเราเคยผ่านมาแล้ว แต่จริงๆ แล้ว เราลืมไปแล้วต่างหากว่าขณะนั้นเราเคยรู้สึกอย่างไร มีปัญหามากขนาดไหน พอโตมาแค่รู้สึกว่ารอดแล้ว ก็เลยไม่ต้องสนใจว่าคนที่ยังต้องเจอกับสภาวะเดิมๆ เหล่านี้อยู่”
“เรามักได้ยินว่า อนาคตเป็นของคนรุ่นใหม่ เด็กเป็นอนาคตของชาติ และอาจเป็นเพราะเหตุนั้นทำให้ผู้ใหญ่ ไม่มองว่ามีเด็กอยู่ด้วยในพื้นที่และเวลาปัจจุบันทั้งหมดจึงเป็นเรื่องของผู้ใหญ่ การตัดสินใจด้านนโยบาย ทรัพยากร ไม่มีเด็กที่พูดด้วยน้ำเสียงของตัวเองได้มีส่วนร่วม” วริศ ในฐานะตัวแทนกลุ่มนิวกราวด์สะท้อนให้ฟัง
เด็กและเยาวชนตกหลุมดำแห่งการรอคอย เหมือนการศึกษาที่บังคับให้เด็กเรียนวิชาบังคับเป็นร้อยเป็นพันเนื้อหา และได้รับสัญญาว่าจะให้โอกาสได้คิดเองเล็กน้อย ในช่วงที่ใกล้จะกลายเป็นผู้ใหญ่ และจะไม่ได้พูดอะไรในฐานะเด็กอีกต่อไป เราจึงไม่ได้ยินเสียงอะไรของเยาวชนในสังคมนี้ที่เป็นเสียงเข้มแข็งมากไปกว่าการพร่ำบ่น และสนับสนุนสิ่งที่ผู้ใหญ่มีให้เเล้ว
น่าเศร้าที่เด็กและเยาวชนลงเอยด้วยการมองว่าสิทธิตัวเองเป็นได้แค่เด็ก และเยาวชนการพร่ำบ่น
เวลานานไปเด็กกลายเป็นผู้ใหญ่ เด็กที่รอคอยจะกำหนดทิศทางสังคมได้ตายไปร่างผู้ใหญ่คนใหม่ ก่อนที่จะได้รับการสัญญาว่ามีช่วงหนึ่งของเวลา ที่โลกจะเป็นของพวกเขา และด้วยเหตุนี้ เด็กจึงไม่ควรถูกมองว่าเป็นอนาคตของชาติ เพราะกลายเป็นการกีดกันพวกเขาออกจากพื้นที่ของเวลาของปัจจุบัน
“เด็กและเยาวชนไม่ได้ต้องพื้นที่เวลาในอนาคต พวกเขา พวกเรา ต้องการพื้นที่ในปัจจุบัน เช่นเดียวกับผู้ใหญ่ที่ต้องการมีปากมีเสียงในการกำหนดทิศทางของสิ่งต่างๆ ก่อนที่จะตายจากไป” วริศ กล่าวย้ำทิ้งท้าย