กกต.โร่ปัดไร้อำนาจช่วยแก้คำสั่งคสช.53/60 คาดหวั่นถูกการเมืองติงเป็นเครื่องมือรัฐ
รัฐบาลจ่อแก้คำสั่ง คสช.53 /60 ประสาน กกต.เสนอเรื่อง "ศุภชัย"ปฎิเสธวุ่น อ้างไม่มีอำนาจที่จะไปช่วย คสช. คาดหวั่นถูกพรรคการเมืองตำหนิ -ตกเป็นเครื่องมือ
วันที่ 12 ม.ค. 2561 นายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. ปฏิเสธกระแสข่าวที่ะบุว่าทางรัฐบาลมีการประสานขอความเห็น กกต.เพื่อนำไปแก้ไขประกาศ คสช.ที่ 53 /2560 ที่ขยายเวลาการปฏิบัติตามพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองของพรรคการเมือง ว่ายังไม่ทราบเรื่องนี้ และก็ไม่เห็นในการประชุม กกต.ที่ผ่านมา เพราะคำสั่ง คสช.ก็เป็นเรื่องของ คสช. กกต.คงไม่มีอำนาจอะไรที่จะไปช่วยแก้ไขได้ ทั้งนี้การออกกฎหมายต้องทำให้ปฎิบัติได้ ไม่ทำให้มีปัญหาเรื่องการตีความ ถ้ารัฐบาลหารือมา กกต.ก็จะมีข้อสังเกตุให้ได้ แต่จะทำอะไรเกินเลยกว่านี้คงไม่ได้
ส่วนที่พรรคประชาธิปัตย์เตรียมจะขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคำวั่ง คสช.ขัดรัฐธรรมนูญนั้น แม้ประธาน กกต.จะเป็นผู้รักษาการณ์ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง เราก็คงต้องดูในกรอบอำนาจหน้าที่ของเราว่าเป็นอย่างไร แต่และองค์กรก็มีอำนาจต่างกัน ไม่ใช่ผู้ที่รักษาการณ์จะไปก้าวล่วงได้ การใช้สิทธิยื่นของพรรคก็เป็นเรื่องของพรรคการเมืองที่จะทำได้ และถ้าเราไปมีความเห็นแล้วเกิดความแตกแยกก็ไม่ควรทำ เพราะประเทศชาติต้องการความรักความสามัคคี
ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุม กกต.เมื่อวันอังคารที่ 9 ม.ค.ที่ผ่านมา ว่าสำนักงาน กกต. โดยด้านกิจการพรรคการเมือง ได้เสนอวาระการหารือแนวทางปฎิบัติตามคำสั่ง คสช.ที่ 53/2560 ซึ่งเป็นผลมาจากหลัง คสช.ได้ออกคำสั่งดังกล่าวแล้ว นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้ประสานขอให้ผู้บริหารของ สนง.กกต.ไปให้ความเห็น เมื่อวันที่ 3 ม.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งจากการหารือทางรัฐบาลรับทราบว่าคำสั่ง คสช. ที่ 53/2560 มีปัญหาในทางปฎิบัติ และขอให้ทางสำนักงาน กกต.ยกร่างฯ แล้วมาเสนอเพื่อให้รัฐบาลออกคำสั่งอีกครั้ง ทาง สนง.กกต.จึงได้ทำสรุปผลการหารือมาเสนอต่อที่ประชุม กกต. แต่ในที่ประชุมเห็นว่าทางรัฐบาลไม่ได้มีการทำหนังสือมาอย่างเป็นทางการมาถึง กกต. อีกทั้งขณะนี้ ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง นายทะเบียนพรรคการเมือง คือ เลขาธิการ กกต. จึงเป็นเรื่องที่สำนักงานต้องพิจารณา ด้วยความรอบคอบ และให้สำนักงานถอนเรื่องดังกล่าวออกไป
สำหรับในการหารือ รัฐบาลได้ให้แนวทางเสนอข้อแก้ไข 5 ข้อ คือ 1. ให้คงมาตรา 140 ที่กำหนดให้ผู้ที่จะเป็นสมาชิกพรรคต้องยืนยันด้วยตัวเอง 2. แก้ไขมาตรา 141 (1) ถึง (5) ใหม่ให้เป็นธรรมและปฎิบัติได้ทั้งพรรคเก่าที่เล็กและใหญ่ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการแจ้งเปลี่ยนแปลงสมาชิกภายใน 90 วัน การหาสมาชิกพรรคให้ครบ 500 คน ภายใน 180 วัน การให้มีทุนประเดิม 1 ล้านบาทใน 180 วัน การให้สมาชิกจำนวนไม่น้อยกว่า 500 คน ชำระค่าบำรุงพรรคการเมืองภายใน 180 วัน การให้สมาชิก 5พันคน ชำระค่าบำรุงพรรคภายใน 1 ปี และ 1 หมื่นคนภายใน 4 ปี และให้เช็ตสาขาพรรคทั้งหมด โดยการประชุมใหญ่เพื่อแก้ไขข้อบังคับพรรคใหม่ ให้มีตัวแทนสมาชิกจาก 4 ภาค ร่วมประชุมแทนหัวหน้าสาขา 3.แก้ไขมาตรา 144 โดยมีหลักการ คือพรรคเก่า และพรรคที่จัดตั้งขึ้นใหม่ หากยังมีสาขาไม่ครบถ้วน ให้มีคณะกรรมการสรรหาตามบมเฉพาะกาล 11 คน และสามารถส่งผู้สมัครได้เท่าเทียมกัน 4.ค่าบำรุงพรรคการเมือง ให้เก็บ 50 บาท ภายในระยะเวลา 1 ปี ทั้งพรรคเก่าและพรรคใหม่ และ 5.การหารือให้พรรคหารือมา กกต.ก่อน หาก กกต.เป็นว่าเป็นเรื่องของ คสช. ก็ให้ส่งเรื่องให้ คสช.ต่อ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเรื่องดังกล่าว กกต.ได้พิจารณาเป็นเรื่องลับ และอาจจะมีการเสนอกลับเข้าที่ประชุมอีกครั้งหนึ่ง แต่ทั้งนี้ทาง กกต.ไม่อยากเป็นผู้ริเริ่มในการดำเนินการ เพราะกังวลเรื่องความเป็นกลางทางการเมืองขององค์กร รวมทั้งอาจถูกพรรคการเมืองตำหนิว่าเป็นเครื่องมือของทางรัฐบาล