โรงเรียน 'ตู้คอนเทนเนอร์' เพื่อเด็กข้ามชาติ
สถานที่แห่งนี้จึงเป็นเสมือนศูนย์รวมให้เด็กเรียนรู้และให้ความปลอดภัยจากอันตรายที่เกิดจากสภาพแวดล้อม จากโครงสร้างของบ้านพักคนงานไม่แข็งแรงเท่าที่ควร เด็กบางคนเมื่อพ่อแม่ออกไปทำงาน เด็กจะถูกกักอยู่ในห้องพักตามลำพัง เพราะฉะนั้นอันตรายจะเกิดขึ้นกับเด็กอย่างมาก เช่น เด็กถูกละเมิดในที่พักอาศัย
จากถนนสิรินธรมุ่งหน้าก่อนถึงแยกบางกรวย ช่วงสถานีรถไฟบางบำหรุ อบอวลไปด้วยฝุ่นตลบจากเขตก่อสร้าง แต่เมื่อขับรถเลยขึ้นไปจากสถานีรถไฟฯไปเพียงเล็กน้อย คงไม่ยากที่จะสังเกตเห็นลานกว้าง ที่รายล้อมด้วยตู้คอนเทนเนอร์รูปร่างประหลาดฉาบด้วยสีเหลืองสดกองพะเนินกันอยู่ ประกอบกับบานหน้าต่าง และหลังคา ลักษณะคล้ายหอพัก 3 ชั้นที่ตั้งเรียงรายกันอย่างเป็นระเบียบ
สถานที่แห่งนี้ถูกสร้างขึ้นมาสำหรับการตั้งแคมป์พักอาศัยชั่วคราวให้แก่เหล่าคนงานที่ส่วนใหญ่เป็นคนงานข้ามชาติ ทั้งกัมพูชา พม่า และเวียดนามปะปนกัน บ้างก็มาทำงานเพียงลำพัง บ้างจะพบว่ามากันทั้งครอบครัว จึงไม่ใช้เรื่องแปลกที่จะเห็นเด็ก ๆ ลูกหลานคนงานข้ามชาติเหล่านี้อยู่ในแคมป์เป็นจำนวนมาก และสถานที่การรวมตัวของเด็ก ๆ เหล่านี้ อยู่ที่ “โรงเรียนตู้คอนเทนเนอร์”
โรงเรียนแห่งนี้ถูกปูด้วยพื้นหญ้าเทียม และเครื่องเล่นหลากชิ้นวางกระจัดกระจาย มีเสาธงชาติ ใช้ตู้คอนเทนเนอร์เพียง 1 ตู้ แทน 1 ห้องเรียน ภายในมีกระดานสีขาว และครูบุรุษสูงวัยเพียงคนเดียวกำลังสอนเด็กข้ามชาติอย่างมุ่งมั่นตั้งใจ
คุณครูไพโรจน์ จันทะวงษ์ อาจารย์ศูนย์เด็กก่อสร้าง (โรงเรียนตู้คอนเทนเนอร์) กล่าวเปรียบเปรยให้ฟังว่า สถานที่แห่งนี้จะเป็นโรงเรียนก็ไม่เชิง ที่จริงแล้วที่นี่เป็นศูนย์เด็กก่อสร้างหรือศูนย์ความปลอดภัยให้กับเด็กชนบทหรือเด็กข้ามชาติที่ตามพ่อแม่มาทำงาน ปัจจุบันมีเด็กอายุ 2 ขวบ ถึง 16 ปี นั่งเรียนรวมกันราว ๆ 10 คน ภายในศูนย์จึงมีกิจกรรมในการนำเด็ก ๆ ให้มีส่วนในการได้รับสวัสดิการทางสังคม ได้แก่
1.เด็กทารกที่เกิดในไทย ควรได้รับใบเกิด
2.เด็กช่วงอายุตั้งแต่ 2-9 ขวบ ควรมีการจัดการเรียนการสอนในลักษณะของทักษะชีวิตและพัฒนาการ แต่หากเด็กถึงวัยเรียน ตั้งแต่ 6 ขวบขึ้นไป ในส่วนของคนที่มีเอกสาร และมีทักษะพื้นฐานด้านภาษาไทย ก็สามารถเรียนหลักสูตรในภาษาไทยได้ และต้องทำการส่งเด็กเหล่านี้เข้าเรียนในโรงเรียน
3.ให้บริษัทหรือผู้รับเหมาก่อสร้าง ต้องมาร่วมกิจกรรมเพื่อทำประโยชน์ให้แก่สังคม เช่น การดูแลลูกหลานของบุคคลที่เข้ามาทำงานให้
คุณครูไพโรจน์ จันทะวงษ์ อาจารย์ศูนย์เด็กก่อสร้าง (โรงเรียนตู้คอนเทนเนอร์)
“เมื่อก่อนผมเป็นคนสอนเร่ร่อนข้างถนนมาก่อน สอนเด็กเร่ร่อนในที่ต่าง ๆ จนมูลนิธิสร้างสรรค์เด็กมีโครงการศูนย์เด็กก่อสร้างขึ้นมา จึงได้ชักชวนผมไปเป็นครู เมื่อก่อนสถานที่ไม่อำนวยในการสอนเท่าทุกวันนี้ จะทำอะไรก็ค่อนข้างลำบาก แต่สิ่งที่ผมได้ คือความน่ารักของเด็กเหล่านี้”
สถานที่แห่งนี้จึงเป็นเสมือนศูนย์รวมให้เด็กเรียนรู้และให้ความปลอดภัยจากอันตรายที่เกิดจากสภาพแวดล้อม จากโครงสร้างของบ้านพักคนงานไม่แข็งแรงเท่าที่ควร เด็กบางคนเมื่อพ่อแม่ออกไปทำงาน เด็กจะถูกกักอยู่ในห้องพักตามลำพัง เพราะฉะนั้นอันตรายจะเกิดขึ้นกับเด็กอย่างมาก เช่น เด็กถูกละเมิดในที่พักอาศัย
เขากล่าวว่า เมื่อมีครู มีโรงเรียนหรือศูนย์ในลักษณะนี้ อย่างน้อยเด็กได้อยู่กับคนที่ไว้ใจได้ รวมถึงมีการทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์กับตัวเขาเอง อีกทั้งยังได้รับความปลอดภัยในระดับหนึ่ง “การมอบความรู้ให้เด็กเหล่านี้คือ การให้การศึกษา การให้คุณธรรม ให้เขาดำรงชีวิตอยู่ได้ในสังคมไทย เอาตัวรอดได้ ขณะที่พวกเขาตามพ่อแม่มาอยู่ที่นี่” แต่เมื่อเขาออกไปจากแคมป์นี้ ย้ายไปอยู่แคมป์อื่น เด็ก ๆ ก็จะไม่ได้รับการดูแลแบบนี้อีก
เนื่องจากศูนย์เด็กก่อสร้าง หรือโรงเรียนตู้คอนเทนเนอร์ มีเพียงที่นี่แห่งเดียวจากพื้นที่ก่อสร้างทั้งหมดอีกประมาณ 8,000-9,000 แห่ง ทั่วประเทศ
ขณะที่รูปเเบบการเรียนการสอน คุณครูไพโรจน์ยกตัวอย่างแบบฝึกหัดให้วาดรูป และฝึกเขียนพยัญชนะไทย มีเเค่กระดาษ A4 สีขาวแผ่นหนึ่ง กับปากกาหรือดินสอ ก็สามารถทำกิจกรรมได้เเล้ว
เด็กหญิงชาวกัมพูชาวัย 15 ปี ใช้สีเทียนวาดตัวการ์ตูนผู้หญิงยืนถือไม้ ชี้ไปที่ “กระดาน” ข้างในมีตัวอักษร ก ข ค เธอบอกว่า “หนูวาดครูค่ะ เพราะอยากเป็นครูสอนหนังสือ หนูตามพ่อแม่มาอยู่ไทย 3 ปีแล้วค่ะ ถ้ามีโอกาสได้เรียน หนูก็อยากไปเรียนเหมือนเด็กคนอื่น แต่คงไปไม่ได้ พ่อแม่ไม่ให้หนูไป เขาอยากให้หนูอยู่ช่วยงานที่บ้าน อยู่ไทยก็ไม่ลำบากเท่าไหร่ค่ะ แต่ก็อยากกลับบ้านเหมือนกัน หนูไม่ได้กลับบ้านมานานแล้ว หนูไม่อยากได้อะไรมากหรอกค่ะ แค่มีชีวิตอยู่ มีความสุขก็พอแล้ว”
ขณะที่ น.ส.ทองพูล บัวศรี (ครูจิ๋ว) ผู้จัดการโครงการครูข้างถนน ผู้จัดการโครงการโรงเรียนเคลื่อนที่ และที่ปรึกษาศูนย์เด็กก่อสร้าง มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก กล่าวว่า การศึกษาเป็นเรื่องที่คุยได้ยากมาก ประเทศของเด็ก ๆ ข้ามชาติไม่ค่อยได้ให้ความสำคัญกับการศึกษา เพราะคิดว่าเดี๋ยวเด็กก็โตขึ้นมาเป็นแรงงาน แต่ก็มีบางส่วนที่อยากให้ลูกเรียน พอได้เรียนได้รับโอกาสเด็กเหล่านี้ก็จะขยันขันแข็งในการเรียนเป็นพิเศษ
กล่าวได้ว่าเด็กข้ามชาติ จะมีความตั้งใจเรียนกว่าเด็กไทยร้อยละ 100 เลย เมื่อเด็กได้เรียนแล้ว ในอนาคตจะมีโอกาสเลือกงานได้มากขึ้น และจะกลายเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพของอาเซียน ซึ่งไม่ได้มองเพียงแค่ในไทยเท่านั้น เมื่อได้โอกาสในส่วนของการเปิดประชาคมอาเซียนเข้ามา เด็ก ๆ จะสามารถเรียนในประเทศใดก็ได้ บางคนอาจจะไม่ได้เรียนอยู่ที่ประเทศบ้านเกิด แต่เมื่อเขาได้มีโอกาสเรียนในประเทศไทย วันข้างหน้าเราอาจได้ไปทำงานที่ประเทศบ้านเกิดของเขา ซึ่งพวกเขาจะสามารถเป็นล่ามให้กับการทำงานให้คนไทยได้
“รัฐบาลไทยควรให้จดทะเบียน ชุมชนที่พักอาศัยผู้ใช้แรงงานก่อสร้างที่มีครอบครัวจำนวนตั้งแต่ 80 ครอบครัวขึ้นไป และมีเด็กติดตามมาด้วย หรือระยะการก่อสร้างตั้งแต่ 8 เดือนขึ้นไป ควรจะมีศูนย์เด็ก หรือถ้าไม่มีศูนย์เด็กก็อาจจะเป็นรถเคลื่อนที่ ในช่วงสัปดาห์ละ 1 ครั้งหรือ 2 สัปดาห์ครั้ง เพื่อให้เด็ก ๆ ได้รับอาหาร ได้รับการดูแล รวมถึงตรวจสุขภาพบ้าง เพราะหากมีคนเข้าไปในแหล่งก่อสร้าง จะเหมือนเป็นการช่วยเป็นหูเป็นตาเฝ้าระวังความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับเด็ก”
ครูจิ๋ว บอกเล่าถึงปัญหาที่พบในที่พักอาศัยผู้ใช้แรงงานก่อสร้างกับเด็กแบ่งออกเป็น 2 ด้านใหญ่ คือ 1. เด็กข้ามชาติไม่ได้รับการศึกษาต่อเนื่อง สำหรับในประเทศไทยปี 2548 เด็กทุกคนต้องได้เรียนตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงชั้นอุดมศึกษา แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับผู้อำนวยการโรงเรียนด้วยว่าจะรับหรือไม่รับเด็ก
อีกส่วนก็เป็นเรื่องของตัวเด็กเอง การเรียนหนังสือในประเทศจะต้องเรียนหลักสูตรไทย เด็กข้ามชาติถ้าไม่สามารถพูดหรือเขียนไทยได้ การส่งเด็กเข้าไปในโรงเรียนก็เหมือนกับการทรมานเด็ก ในอนาคตข้างหน้าเราจึงพยายามจะเสนอให้เด็กทุกคนควรได้มีโอกาสได้เข้าเรียนตามหลักสูตรท้องถิ่นของประเทศนั้น ๆ แต่ประเทศไทยยังไม่ยอมในเรื่องนี้
2.สำหรับเรื่องการรักษาพยาบาล ผู้ใดที่เข้าประเทศถูกต้องตามทะเบียนหรือได้ขึ้นทะเบียน เด็กต้องซื้้อบัตรสุขภาพ ซึ่งในการซื้อจะมีด้วยกัน 3 เรื่อง เด็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 8 ขวบ จะซื้อได้ในราคา 360 บาท อายุ 8 ขวบขึ้นไปถึง 15 ปี จะซื้อได้ในราคา 1,440 บาท และอายุ 15 ปีขึ้นไป จะซื้อได้ราคา 2,200-2,400 บาท ซึ่งแรงงานเหล่านี้ไม่ได้มีเงินมากพอที่จะลงทุนในส่วนตรงนี้ เขาจึงถือว่าเรื่องของการรักษาพยาบาลเป็นประเด็นสุดท้าย พอถึงเวลาเจ็บป่วยก็ยากที่จะมีหน่อยงานไหนรองรับ
เธอยังกล่าวว่า ในอนาคตสิ่งที่เราพยายามเสนอกระทรวงสาธารณสุขคือเด็กที่เกิดในประเทศไทย ไม่ว่าสัญชาติไหนควรได้กับการฉีดวัคซีน อีกเรื่องคือไม่ว่าจะมีเอกสารหรือไม่มีเอกสาร เด็กควรที่จะได้รับการรักษาพยาบาลขั้นพื้นฐาน
...เด็กในวันนี้ คือผู้ใหญ่ในวันหน้า และเป็นกำลังสำคัญในอนาคตต่อการพัฒนา ฉะนั้นรัฐบาลไทยควรตระหนักและผลักดันนโยบายที่ช่วยหนุนเสริมสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานต่อเด็กทุกคนขั้นสูงสุด โดยเฉพาะเรื่องการศึกษา ซึ่งจะช่วยจุดประกายให้พวกเขาได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างไม่เลือกชนชั้นหรือวรรณะ ต่อให้เป็นเด็กข้ามชาติ ไม่ใช่เด็กไทยก็ตาม เพราะเด็กทุกคนเกิดมาย่อมมีสิทธิที่จะมีชีวิตอยู่ที่ดีเสมอ .