“เครือข่ายชุมชนพอเพียง” รับมือวิกฤติทุนนิยม สวนกระแสประชานิยม
ความยั่งยืนในการพัฒนาไม่ได้เกิดจากการ “หยิบยื่น” หรือคำว่า “เอาอยู่” ท่ามกลางประชานิยมที่หลายคนบอกไม่ตอบโจทย์การพัฒนา ชุมชนฐานรากจะอยู่รอดเช่นไร?
แม้รัฐบาลจะมีนโยบายยกระดับคุณภาพชีวิตคนรากหญ้า ทั้งกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี กองทุนหมู่บ้าน บัตรสินเชื่อเกษตรกร ขึ้นค่าจ้างแรงงานเป็นวันละ 300 บาท แต่นักพัฒนาชุมชนหลายคนเห็นพ้องกันว่าสิ่งเหล่านั้นมิได้มีอะไรมากไปกว่าประชานิยมฉาบฉวยเพื่อการสร้างฐานคะแนนทางการเมือง คำว่า “เอาอยู่” จากปากผู้นำรัฐนาวา “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี จึงมิได้ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน รวมถึงพึ่งพิงตนเองของชุมชนฐานราก โดยเฉพาะในยุคข้าวยากหมากแพง
หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานให้คนไทยมาเนิ่นนาน และถูกหยิบยกขึ้นมาสู้กับวิกฤติเศรษฐกิจประเทศครั้งแล้วครั้งเล่า โดยเฉพาะเมื่อฟองสบู่แตกปี 2540 ยังคงทันสมัยใช้ได้อยู่เสมอ ส่งเสริมให้ทุกคนอยู่อย่าง “พอมี พอกิน และ พอประมาณ”
ในเวทีวิชาการ “อะไรคือเศรษฐกิจพอเพียงภาคประชาชนและชุมชน” จัดโดยมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาประเทศตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ได้ร่วมกันถอดบทเรียนพื้นที่รูปธรรมต่างๆ โดยมุ่งหวังช่วยกันขับเคลื่อนการพัฒนาและสร้างเครือข่ายเศรษฐกิจพอเพียงของชุมชน
“เครือข่ายปราชญ์หนองสูง มุกดาหาร” ชี้ความยั่งยืนไม่ได้เกิดจากการ “หยิบยื่น”
มาโนช โพธิ์เมือง ผู้อำนวยการศูนย์เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้าน อ.หนองสูง จ.มุกดาหาร ผู้น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิต มองว่าปัจจุบันสังคมไทยหลงระเริงในวัตถุนิยมและเห็นแก่ตัวมากขึ้น ไม่ได้ใช้ชีวิตให้เกิดประโยชน์กับประเทศ หากเป็นเช่นนี้ต่อไปในอนาคตคนรุ่นหลังจะลดทอนความดี ขาดความเอื้อเฟื้อ ยึดเพียงเงินเป็นพระเจ้า
ฉะนั้นควรปลูกฝังนิสัยให้เด็กยุคใหม่ตั้งแต่เล็ก ให้ “พอเพียง พอดี สมดุล และไม่เบียดเบียนกันเอง” เพื่อให้เกิดความเข้าใจจนเป็นพื้นฐานการขับเคลื่อนวิถีชีวิตที่สมดุลระหว่างความเจริญทั้งทางวัตถุและจิตใจ
ผอ.ศูนย์เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้าน ยังเล่าประสบการณ์การดำเนินชีวิตภายใต้วิถีความพอเพียงว่า ตนเป็นคนภาคกลาง แต่ย้ายถิ่นฐานตามครอบครัวไป จ.มุกดาหาร จากที่เคยทำงานบริษัทเอกชนมองว่าเป็นอาชีพไม่ยั่งยืน จึงเสาะหาอาชีพที่ไม่มีวันเกษียณอายุ หนึ่งในนั้นคือ “เกษตรกรรม”
“ผมเป็นเกษตรกรรมมา 10 ปีแล้ว บนพื้นที่ สปก.4-01 จำนวน 48 ไร่บนเนินเขาสูง ไม่มีแหล่งน้ำ ไม่มีระบบสาธารณูปโภค แต่อยู่ได้ด้วยธรรมชาติ มีน้ำฝนใช้ในชีวิตประจำวันและเพาะปลูกพืช”
การปลูกพืช ก็ใช้ระบบธรรมชาติดูแลธรรมชาติ โดยให้ต้นไม้ขนาดใหญ่ดูแลต้นไม้ขนาดเล็ก ซึ่งจะสามารถประหยัดน้ำได้ เพราะต้นไม้เล็กจะรอรับน้ำที่ค้างบนส่วนต่างๆของลำต้นไม้ใหญ่ สร้างความชุ่มชื้น
มาโนช ยังบอกว่า ขณะนี้ปลูกพืชทนแล้ง ได้ผลิตดีจนสามารถส่งทำน้ำผลไม้ตามโรงงาน เช่น ต้นมะขาม 400 ต้น, น้อยหน่า 500 ต้น, ลิ้นจี่และส้มเขียวหวานอย่างละ 300 ต้น นอกจากนี้ยังมีมะม่วง ฟักแฟง ผักสวนครัวอีกมากมาย ตั้งใจปลูกพืชให้ได้สัดส่วน 3 ใน 4 ของพื้นที่ทำกินทั้งหมด ไม่ใช้สารเคมี แต่ประยุกต์ใช้ปุ๋ยอินทรีย์โดยการตัดหญ้าคลุมดิน ซึ่งแต่ละครั้งเสมือนการเติมปุ๋ยสดลงสู่ดิน ทั้งยังเป็นการซึมซับน้ำฝนให้พื้นที่ชุ่มชื้น และไม่ต้องกลัวจะทำให้ดินถล่ม เพราะปลูกหญ้าแฝกเช่วยยึดหน้าดินด้วย
“ข้อดีของการไม่ใช้สารเคมี จะทำให้มีสัตว์น้อยใหญ่เข้ามาสร้างความสมดุลให้กับพื้นที่ เช่น กิ้งก่า แมลงหลากชนิด ไก่ป่า หรือตัวบึ้งที่เข้ามาขุดหลุมอาศัยทำให้เป็นท่อออกซิเจนแก่รากต้นไม้”
ปราชญ์ชาวบ้านทิ้งท้ายว่า การส่งเสริมให้คนมีเศรษฐกิจพอเพียง จำเป็นต้องสร้างความเชื่อให้เกิดขึ้นในตัวคนก่อน ซึ่งต้องอาศัยทั้งภาคทฤษฎีและปฎิบัติ มีเครือข่ายเกี่ยวโยงอุดมการณ์ร่วมกัน และยึดธรรมชาติเป็นศูนย์กลางเป็นครูสอนเรา ซึ่งความสำเร็จจำเป็นต้องใช้เวลาในการพิสูจน์ เพราะความยั่งยืนมิได้มาโดยง่ายเฉกเช่นวัตถุที่คนหยิบยื่นให้
“บาล” แนะสร้างทฤษฎีเกษตรครบวงจร ลดภาระการเงินได้
บาล บุญก้ำ ประธานชุมชนบ้านดอกบัว จ.พะเยา แลกเปลี่ยนประสบการณ์ว่าปี 2532 ชาวบ้านในพื้นที่มีความเชื่อว่าพืชผักจะให้ผลิตผลดี ราคาดี ก็ต้องใช้สารเคมีในการเพาะปลูก จนครั้งหนึ่งมีคนในหมู่บ้านเจ็บป่วยและมีความจำเป็นต้องรับบริจาคเลือดเพิ่มเติม ชาวบ้านหลายคนพากันไปช่วยบริจาคเลือดที่โรงพยาบาล แต่ผลที่ออกมากลับใช้เลือดได้เพียง 1 คน จากทั้งหมด 10 คน เพราะเลือดส่วนใหญ่ปนสารพิษ
จึงเกิดเวทีชุมชนเพื่อแลกเปลี่ยนปัญหาและนำไปสู่กระบวนการชุมชนดูแลกันเองภายใต้เศรษฐกิจพอเพียง เริ่มตั้งแต่กระบวนการผลิตที่ลดละเลิกการใช้สารเคมี รณรงค์ให้ทานอาหารปลอดสารพิษ ส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ไว้รับประทาน ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ในการปลูกข้าวจากเมีนาข้าวเพียง 50 ไร่ แต่ปัจจุบันมีถึง 1,000 ไร่
“อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) คอยจัดเก็บข้อมูลผู้สูงอายุที่ป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน และโรคอื่น ๆ เนื่องจากรับประทานอาหารเค็ม ดังนั้นเมื่อมีงานต่าง ๆ ในชุมชน จึงไม่มีการตั้งน้ำปลาบนโต๊ะอาหารเพื่อปรุงรส แต่จะให้แม่ครัวปรุงให้กลมกล่อมสำเร็จรูป เพื่อลดภาวะเสี่ยง”
ประธานชุมชนบ้านดอกบัว ยังเล่าต่อว่านอกจากสร้างความยั่งยืนด้านสุขภาพคนในชุมชนแล้ว ยังส่งเสริมให้เกิดอาชีพในท้องถิ่น โดยการปลูกไผ่นำมาสานเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น ตะกร้า สุ่มไก่ เพื่อเพิ่มรายได้ให้ชาวบ้าน จากเดิมขายไผ่ได้ในราคาเพียงลำละ 13 บาท อีกทั้งเลี้ยงวัวกว่า 400 ตัว เพื่อนำมูลมาทำแก๊สใช้จ่ายในชุมชน และทำปุ๋ยอินทรีย์อีกด้วย
“ชุมชนบ้านดอกบัวรักษ์ธรรมชาติมาก จึงมีโครงการทำฝายชะลอน้ำ เพื่อป้องกันน้ำธรรมชาติไหลเร็วลงสู่กว๊านพะเยา ชาวบ้านจะได้มีน้ำไว้ใช้เมื่อถึงฤดูแล้ง”
จากการเดินตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ส่งผลให้ในแต่ละวันแทบไม่ต้องใช้จ่ายเงินจับจ่ายหาซื้อสิ่งของเลย เพียงแต่เดินไปในชุมชนก็สามารถหยิบจับมาเป็นของใช้ของกินได้แล้ว ส่งผลให้ปัจจุบันมีคณะเดินทางมาศึกษาถึง 343 คณะ เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนและถอดบทเรียนมากมาย ชาวบ้านจึงเชื่อว่าหากนำหลักปรัชญาดังกล่าวใช้ในชีวิตคู่ขนานกับระบบทุนนิยมปัจจุบันอย่างรู้คุณค่าและสมดุล จะทำให้เมืองไทยและโลกน่าอยู่ยิ่งขึ้น อีกทั้งปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติที่หลายคนกลัวอาจจะลดน้อยลงไปก็ได้
.....................................................
รูปธรรมจากชุมชนพอเพียงอาจไม่ได้ยิ่งใหญ่เหมือนโครงการประชานิยมระดับชาติ แต่ผ่านการพิสูจน์แล้วว่าสามารถทำให้ชุมชนพึ่งพิงตนเองได้อย่างแท้จริง “ไม่ได้อยู่แบบกระเบียดกระเสียร” แต่ “พออยู่พอกิน มีรองรับอนาคต” โดยไม่ต้องรอรับของบริจาค ไม่ต้องรอการหยิบยื่นจากรัฐบาล และยังสร้างความมั่นใจในความมั่นคงของวิถีชีวิต วิถีชุมชน และอนาคตลูกหลาน.