เรืองไกร เตรียมยื่น ป.ป.ช.อายัดนาฬิกาหรู บิ๊กป้อม 8 ม.ค.นี้
วันที่ 7 ม.ค. 2561 นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตสมาชิกวุฒิสภา และคณะทำงานฝ่ายกฏหมายพรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า หลังจากฟังการแถลงข่าวของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เกี่ยวกับการตรวจสอบนาฬิกาหรูราคาแพงกว่าสิบเรือนที่ปรากฏอยู่บนข้อมือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม พบว่ามีข้อกังขาในแนวทางการตรวจสอบหลายประเด็น เมื่อ พล.อ.ประวิตร ส่งหนังสือชี้แจงว่านาฬิกาตามที่เป็นข่าวนั้นมีอยู่จริง และอ้างพยานบุคคลมา 4 ราย เพื่อให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบต่อ สิ่งที่ ป.ป.ช.ต้องทำอันดับแรก คือ ควรขอให้ พล.อ.ประวิตร ส่งมอบนาฬิกาทั้งหมดที่อยู่ในความครอบครอง มาให้ ป.ป.ช.ยึดไว้เพื่อทำการตรวจสอบก่อน และหากจำเป็นก็ควรใช้อำนาจตาม พ.ร.ป.ป.ป.ช. 2542 มาตรา 78 ประกอบมาตรา 79 ยึดหรืออายัดนาฬิกาเพื่อตรวจสอบที่มา ที่ไป หลักฐานการครอบครองไว้ก่อน แล้วจึงไปสอบพยานเอกสารหรือพยานบุคค ซึ่งการยื่นบัญชีทรัพย์สินฯ ต่อ ป.ป.ช.นั้น พล.อ.ประวิตร ทราบดี เพราะเคยเห็นชอบกับเรื่องนี้แล้ว ตามสำเนาเอกสารที่ พล.อ.ประวิตร ลงลายมือชื่อไว้เอง ดังนั้น จะอ้างว่าไม่รู้ ไม่เข้าใจกฎหมายคงไม่ได้
นายเรืองไกร กล่าวว่า หลักฐานสำคัญที่ปรากฏคือนาฬิกาหรูราคาแพงกว่าสิบเรือนนั้น ป.ป.ช.ต้องตั้งประเด็นสอบเพิ่มเติมตั้งแต่ ทำไมไม่มีการยื่นแสดงรายการบัญชีมาก่อน เมื่อพบว่าทรัพย์สินมีอยู่จริง การอ้างพยานหลักฐานมาแก้ต่างฟังขึ้นหรือไม่ หากฟังไม่ขึ้น จะถือว่ามีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติจนเข้าข่ายร่ำรวยผิดปกติหรือไม่ มูลเหตุที่ร่ำรวยผิดปกติเกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจที่ส่อไปในทางมิชอบและเป็นการไปเอื้อประโยชน์บุคคลใดหรือไม่ เรื่องนี้ไม่สลับซับซ้อนแต่อย่างใด หากพิจาณาจากที่ ป.ป.ช.เคยตรวจสอบนาฬิกาของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ขายไปก่อนดำรงตำแหน่งนายกฯ ซึ่ง ป.ป.ช.ก็ยังไปตรวจสอบโดยอ้างว่าเรื่องดังกล่าวปรากฏเป็นข่าวและเป็นที่สนใจของสาธารณชน จึงมีความจำเป็นต้องทราบข้อเท็จจริงและเอกสารที่เกี่ยวกับความมีอยู่จริงของนาฬิกาเพื่อตรวจสอบว่า นาฬิกานั้น ให้ใครไปซื้อ ซื้อยี่ห้อใด รุ่นใด จากที่ใด ต่อมาขายให้ใคร มูลค่าเท่าใด ชำระราคาอย่างไร
ดังนั้น เมื่อเทียบกับกรณีของ พล.อ.ประวิตร ป.ป.ช.ก็ต้องตรวจสอบในทำนองเดียวกันและน่าจะสรุปข้อเท็จจริงได้แล้วว่า ในเมื่อรับว่ามีนาฬิกาอยู่จริงตามที่เป็นข่าว แปลว่าข้อเท็จจริงมีมูลแล้ว ป.ป.ช.ต้องทำตามข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องและไต่สวนชี้มูลต่อไปว่ามีการจงใจปกปิดบัญชีทรัพย์สินหรือไม่ ซึ่งไม่ควรเกิน 30 วันนับจากนี้ เพราะสอบมาแล้วกว่า 30 วัน เพราะข้อเท็จจริงของนาฬิกาที่ปรากฏกว่าสิบเรือนนั้นเกินเพียงพอแล้ว จึงหวังว่า ป.ป.ช.จะทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา โดยตนจะยื่นหนังสือร้องเพื่อให้ ป.ป.ช.ในวันที่ 8 ม.ค.นี้ เวลา 10.30 น.ที่ ป.ป.ช.สนามบินน้ำ เพื่อทำการตรวจสอบตามประเด็นดังกล่าวเพิ่มเติมด้วย โดยเฉพาะการขออายัดนาฬิกาทั้งหมดมาไว้ก่อน