8 ปีเหตุการณ์กรือเซะกับวิกฤติคาร์บอมบ์ 31 มีนาคม 2555
สถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคกลับมาวิกฤติอีกครั้ง โดยล่าสุดเมื่อวันเสาร์ที่ 31 มี.ค.2555 เกิดระเบิดอย่างรุนแรงหลายจุด ทั้งที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ซึ่งเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของจังหวัดภาคใต้ตอนล่าง และพื้นที่เศรษฐกิจใน อ.เมือง จ.ยะลา รวมทั้งอำเภอที่ยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงโดยอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ที่ อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี
คำอธิบายที่ตามมาภายหลังความตายและความสูญเสียยังคงสับสนอลหม่านและวนเวียนอยู่ภายใต้ "วาทกรรมการปฏิบัติการด้านข่าวสารแบบดั้งเดิม" ขบวนการค้ายาเสพติด อิทธิพลเถื่อน น้ำมันเถื่อน การตอบโต้ การแสดงแสนยานุภาพ และการแสวงหาเงินทุนจากต่างประเทศ
แต่วาทกรรมที่ถูกผลิตใหม่เพื่ออธิบายสาเหตุของความรุนแรงในครั้งนี้คือ "การเจรจา" ระหว่างฝ่ายรัฐกับผู้ก่อการบางกลุ่ม จนเป็นผลให้ผู้ก่อการกลุ่มอื่นไม่พอใจและก่อเหตุขึ้น คำอธิบายเช่นนี้รับฟังได้แต่ยังหาเหตุผลรองรับไม่พบ เพราะตลอด 8 ปีของความรุนแรงที่เกิดขึ้นมีการเปิดการเจรจาในหลายรูปแบบจนนับครั้งไม่ถ้วน แม้นับรวมการดำเนินการของรัฐบาลชุดนี้ด้วยก็ตาม สุดทางของมันคือความล้มเหลว เพราะกลุ่มผู้ก่อการที่ลงมือปฏิบัติการอยู่ ณ ปัจจุบัน ได้ประกาศโดยประจักษ์มานานแล้วว่า "จะไม่มีการเจรจา"
ที่กล้าอ้างอิงเช่นนี้เพราะ ประการแรก มีการระบุไว้ในรายงานของคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) หน้า 53 กล่าวไว้ว่า "การประชุม กอส.เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2549 กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิท่านหนึ่งระบุว่า ผู้นำศาสนาอิสลามหลายท่านได้รับใบปลิวที่มีเนื้อหา '6 ไม่ 1 ต้อง' คือไม่เจรจาประนีประนอมกับรัฐไทย, ไม่ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่, ไม่ยอมรับระบบรัฐสภา, ไม่โยกย้ายหนีไปไหน, ไม่มอบตัว และไม่รับเขตปกครองพิเศษ ส่วน 1 ต้องคือ 'ต้องทำสงครามแบ่งแยก'"
ในขณะที่กรรมการบางท่านเล่าว่า เนื้อหาของใบปลิวที่สมบูรณ์ คือ "6 ไม่ 1 ต้อง 3 ผล" แต่อย่างไรก็ตาม แท้จริงมันคือบทสรุปสำคัญของเอกสารเบอร์ญิฮาด ดิ ปัตตานี ที่พบใกล้ร่างผู้เสียชืวิตที่มัสยิดกรือเซะ
6 ไม่ คือ ไม่ประนีประนอม, ไม่มีการเจรจา, ไม่อพยพ, ไม่มีการมอบตัว, ไม่รับเขตปกครองพิเศษ และไม่ยอมรับระบอบรัฐสภา
1 ต้อง คือ ใช้ญิฮาดเป็นเครื่องมือ (means) ในการต่อสู้เพื่อการปลดปล่อยรัฐปัตตานี
3 ผล คือ ชัยชนะ หรือความพ่ายแพ้ และการสืบทอดภารกิจญิฮาดต่อไป
เหตุผลต่อมาคือ หนึ่งในคณะกรรมการ กอส.ในเวลานั้นเคยพบปะพูดคุยกับอดีตแกนนำผู้ก่อการ (กลุ่มเก่า) เพื่อหวังใช้เป็นสะพานเชื่อมโยงไปสู่ขบวนการใหม่ แต่ได้รับคำตอบกลับมาว่า "คุยกันไม่รู้เรื่อง คนละแนวทาง" และต้องระมัดระวังท่าทีเพราะกลุ่มใหม่ไม่ค่อยพอใจกับบทบาทของอดีตแกนนำที่มีต่อทางการไทย
สุดท้าย กลุ่มผู้ก่อการยังมีฐานะเป็นต่อทั้งทางยุทธศาสตร์และยุทธวิธี (การเมืองและการทหาร) เหนือทางการไทยในเกือบทุกสมรภูมิ โดยเฉพาะในเรื่อง "มวลชน"
การเจรจาปรองดองยังคงเป็นแนวทางหนึ่งที่หวังใช้คลี่คลายสถานการณ์ความรุนแรง แต่ต้องเริ่มที่ "การเจรจาเพื่อสร้างเอกภาพในทางยุทธศาสตร์ นโยบาย และการปฏิบัติระหว่างราชการไทยและฝ่ายการเมืองไทย" เสียก่อน หลังจากนั้นจึงดำเนินการพูดคุยเจรจากับผู้นำและมวลชนอันไพศาลในพื้นที่ด้วยความบริสุทธิ์และจริงใจ ทำได้เช่นนี้แล้วการพลิกกลับของดุลทางยุทธศาสตร์จึงจะเกิดขึ้น และนี่คือ "งานการเมือง" ที่จำเป็นต้องทำ
แต่ข้อควรวิตกกังวลเป็นอย่างยิ่งที่ไม่อาจจินตนาการได้คือ มีการอ้างอิงกันว่า "แนวทางแก้ปัญหาไฟใต้ของรัฐบาลชุดนี้ได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว" ซึ่งมันไม่จริง เพราะข้อวินิจฉัยถึงเหตุของปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ปรากฏอยู่ใน "นโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2555–2557" ของรัฐบาลชุดนี้และผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาไปแล้วนั้น เสมือนหนึ่งไปคัดลอกเนื้อหาทั้งหมดมาจากรายงานของ กอส.ฉบับที่กล่าวถึงข้างต้นที่เขียนในปี 2549 แล้วปรับขยายให้ดูดีขึ้น แต่นัยสำคัญมิได้แตกต่างกันแม้แต่น้อย
กอส.ได้วินิจฉัยเหตุของปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ไว้เป็นลายลักษณ์อักษรว่า มาจากเงื่อนไข 3 ประการคือ
ประการแรก เป็นเงื่อนไขเชิงบุคคล ได้แก่การใช้อำนาจการปกครองในทางที่ผิดเหมือนไม่มีขอบเขต การใช้ความรุนแรงโดยฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบ และการตอบโต้ของฝ่ายรัฐด้วยความรุนแรง
ประการที่สอง เป็นเงื่อนไขเชิงโครงสร้าง อันได้แก่ความไม่เป็นธรรมอันเกิดขึ้นจากกระบวนการยุติธรรมและลักษณะการปกครองที่เป็นอยู่ เศรษฐกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ไม่เข้มแข็ง มีคนจนจำนวนมาก ขณะที่ปัญหาทรัพยากรธรรมชาติกำลังผลักชาวบ้านเข้าสู่ความยากจนและไม่มีทางเลือก การศึกษาที่ไม่เอื้ออำนวยให้ประชาชนส่วนใหญ่มีพลังชนะการท้าทายทางสังคมในรูปต่างๆ ทั้งทางโลกและทางธรรม ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวไทยมุสลิมเชื้อสายมลายู ขณะที่ประชากรส่วนน้อยที่เป็นชาวไทยพุทธลดลงอย่างต่อเนื่อง ปัญหาเกิดขึ้นในบริบทภูมิรัฐศาสตร์บริเวณชายแดนภาคใต้ของไทยและมาเลเซีย ทำให้เกิดการเปรียบเทียบคุณภาพของชีวิตผู้คนระหว่างสองประเทศอย่างแจ่มชัด
ประการที่สาม เงื่อนไขทางวัฒนธรรม ได้แก่ ลักษณะเฉพาะทางศาสนาและชาติพันธุ์ในพื้นที่ คือ ศาสนาอิสลาม ภาษามลายู และประวัติศาสตร์ปัตตานี สิ่งเหล่านี้เป็นเงื่อนไขในสังคมซึ่งทำหน้าที่ให้ความชอบธรรมกับการใช้ความรุนแรงหรือทำให้ผู้คนจำนวนไม่น้อยยอมรับหรือเห็นด้วยกับฝ่ายที่ใช้ความรุนแรง
ทั้งหมดนี้ทำให้ผู้ก่อความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อาศัยเงื่อนไขทางชาติพันธุ์ผสานกับศาสนามาเป็นข้ออ้างให้ความชอบธรรมกับการใช้ความรุนแรงในการต่อสู้เพื่อเป้าหมายของตนในนามของอัตลักษณ์ความเป็นมลายูมุสลิม
ขณะที่ นโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2555–2557 ชี้ว่าเงื่อนไขของการใช้ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เกิดขึ้นและดำรงอยู่จนถึงปัจจุบันเป็นผลมาจากเงื่อนไขที่ซับซ้อนและเชื่อมโยงกัน ทั้งในระดับบุคคล ระดับโครงสร้าง และระดับวัฒนธรรม ซึ่งแทบไม่แตกต่างกับการวินิจฉัยเหตุของปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของ กอส.(อ่านรายละเอียดได้ใน ส่องนโยบาย สมช. หนุน “พูดคุยสันติภาพ” ดับไฟใต้ http://www.isranews.org/south-news/documentary/39-2009-11-15-11-15-13/6241--qq.html)
บทสรุปที่น่าตกใจคือ เงื่อนไขและที่มาของความรุนแรงในปี 2549 ไม่ได้รับการแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นเลยหรือเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2555
อาจอธิบายได้ว่า "ถูกต้อง" เมื่อหันกลับไปดูการไล่ล่ามือระเบิดที่ยะลาเมื่อวันที่ 3 เม.ย.2555 เจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงกว่า 150 นายเข้าทำการปิดล้อมตรวจค้นภายในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามตาร์เบียตุลวาตันมูลนิธิ ที่ ต.บันนังสาเร็ง อ.เมือง จ.ยะลา หลังเจ้าหน้าที่ชุดสืบสวนสอบสวนตรวจสอบจากแหล่งข่าวแล้วเชื่อว่า รถยนต์ที่นำไปเป็นคาร์บอมบ์ทั้ง 2 คันก่อเหตุในย่านถนนรวมมิตร เขตเทศบาลนครยะลา ได้ขับออกมาจากบริเวณของโรงเรียนตาร์เบียตุลวาตันมูลนิธิ
คำถามที่ตามมาคือทำไมต้องเป็น "ตาร์เบียตุลวาตันมูลนิธิ" หรือเพราะมันเป็นฐานที่มั่นของ "อุสตาซโซ๊ะ" (อิสมาแอ ระยะหลง) ผู้นำคนสำคัญของกลุ่ม "อบาดัน" หรือ "อบาแด" ในเหตุการณ์นองเลือด (กรือเซะ) เมื่อ 28 เมษายน 2547 และหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอยจวบจนถึงปัจจุบัน
จนถึงวันนี้เจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงในพื้นที่ยังคงไม่ให้ความไว้วางใจในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาแห่งนี้อีกหรือ ทั้งๆ ที่ได้เฝ้าติดตามมาเกือบ 8 ปีภายหลังเหตุการณ์ความรุนแรง เช่นเดียวกับการปิดล้อมจับกุมอิหม่ามและคอเต็บประจำมัสยิดใน ต.จะกว๊ะ จ.ยะลา ขณะที่ไปปฏิบัติศาสนกิจใน อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส
มันเป็นคำถามที่หาคำตอบไม่ได้เช่นกันว่า รือเสาะซึ่งเป็นฐานของกลุ่มบีอาร์เอ็น (นำโดยอุสตาซการิม) และได้ทำการแตกเสียงปืนครั้งแรกในปี 2503 เพื่อต่อต้านนโยบายการขึ้นทะเบียนปอเนาะของรัฐบาลในขณะนั้น แต่ในปัจจุบันสถานการณ์ยังไม่ยุติ
คำตอบอยู่ที่บางวรรคตอนของ ไชยยงค์ มณีพิลึก (ไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล นายกสมาคมหนังสือพิมพ์ภาคใต้แห่งประเทศไทย) ในบทความเรื่อง "กรือเซะให้บทเรียนอะไรกับกองทัพในการดับไฟใต้" ที่เขียนไว้เมื่อ 27 เมษายน 2554 ดังนี้
...เพราะ 7 ปีที่ผ่านมา คดีที่เกิดขึ้นที่มัสยิดกรือเซะยังกลายเป็นความ "มืดดำ" ที่ไม่มีคำตอบถึงความผิด-ถูก มีแต่การ "เยียวยา" ให้ผู้อยู่หลัง เช่นเดียวกับการตายหมู่กว่า 70 ศพ ที่ "ตากใบ" ที่ไม่เพียงไม่มีคนผิดและคนรับผิด แม้แต่คนที่ควรรับผิด ต่างได้รับการ "อวยยศ" ในตำแหน่งที่ใหญ่กว่าเดิม หรือแม้แต่คดีฆ่าในมัสยิดอัลฟูรกอน ที่สุดท้ายแล้วผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมมาดำเนินคดีต่างได้รับการปล่อยตัวเพราะหลักฐานไม่เพียงพอในการเอาผิด
7 ปี ที่ผ่านมา ในฟากของ "กองทัพ" ที่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้เป็นผู้กำหนดนโยบายในการดับ "ไฟใต้" โดยมีผู้ปฏิบัติอย่าง กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต ) และศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศชต ) ยังไม่สามารถที่จะ "ยุติ" ปัญหาการก่อการร้ายที่เกิดขึ้น โดยยังไม่มีเปรียบ "บีอาร์เอ็นฯ" ทั้งในด้าน "การเมือง" และ "การทหาร" เห็นได้จากความ "ล้มเหลว" ในการป้องกัน "คาร์บอมบ์" และ "จยย.บอมบ์" ในเขตเมือง และการป้องกันการฆ่า "รายวัน" ในเขต "นอกเมือง" การก่อการร้ายในพื้นที่ 3 จังหวัดเกิดขึ้นวันละ 3-4 คดีทุกวัน จนกลายเป็นสิ่งปกติในความรู้สึกที่ "ชาด้าน" ของคนในพื้นที่ไปแล้ว
ดังนั้น 7 ปีที่ "กรือเซะ" จึงเป็น 7 ปี ที่ "รัฐบาล" และ "กองทัพ" ยังไม่ได้สรุป "บทเรียน" เพื่อนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ในการแก้ปมปัญหาความไม่สงบของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ดังนั้นสิ่งที่ "กองทัพ" ทำได้และทำอยู่ คือ ก่อนถึงวันที่ 28 เมษายน ของทุกปี หน่วยข่าวในพื้นที่ก็จะออกมาเตือนให้หน่วยกำลังทุกหน่วยระวังป้องกันการก่อเหตุร้ายครั้งใหญ่ เพื่อเป็นการ "รำลึก" ถึงการตายหมู่ที่มัสยิดกรือเซะ เพื่อร่วมกัน "ตอกย้ำ" บาดแผลแห่งความเจ็บปวดให้เกิดขึ้นทุกปี ทุกปี และอีกนานหลายปี...
ข้อตักเตือนข้างต้นยังคงความเป็นจริงทุกประการ แม้เหตุการณ์กรือเซะจะก้าวเข้าสู่ปีที่ 8 แล้วก็ตาม แต่เหตุการณ์การก่อความไม่สงบจะยังคงทวีความรุนแรงอย่างต่อเนื่องต่อไปอย่างแน่นอน หากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องยังคงจมปลักอยู่กับการหลอกลวงที่ไม่ยอมก้าวข้ามกรอบความคิดความมั่นคงแบบเก่าของแต่ละฝ่าย
ผู้คนทั้งหลายในจังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องการ "ความเปลี่ยนแปลง" แต่ต้องเป็นความเปลี่ยนแปลงที่อยู่บนฐานของการยอมจำนนต่อ "ความเป็นจริง" ที่ดำรงอยู่ในภววิสัย หาใช่มายาคติที่มนุษย์ผลิตซ้ำแล้วซ้ำเล่าเพื่อบอกเล่าผู้คน
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
หมายเหตุ : ปัญญศักย์ โสภณวสุ เคยเป็นนักวิจัยในโครงการความมั่นคงศึกษา ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
บรรยายภาพ : ความเสียหายจากเหตุคาร์บอมบ์กลางเมืองหาดใหญ่ เมื่อวันที่ 31 มี.ค.2555 (ภาพโดย สุเมธ ปานเพชร)