14 ปีไฟใต้...คนพื้นที่วัดใจ รัฐเลิกใช้ ก.ม.พิเศษ ดัชนีชี้ความสงบ
"ทีมข่าวอิศรา" นำเสนอรายงานพิเศษในวาระ 14 ปีไฟใต้ นอกเหนือจากสถิติความรุนแรง ความสูญเสีย และงบประมาณที่ใช้ไปกว่า 3 แสนล้านบาทแล้ว ยังมีเป้าหมายของฝ่ายความมั่นคงที่เชื่อมั่นว่าถ้าไม่มีอะไรผิดพลาด ปีหน้าจะสามารถส่งคืนพื้นที่สันติสุขให้กับประชาชนได้ ตามโรดแมพ "ดับไฟใต้" ที่วางเอาไว้
คำถามคือคนในพื้นที่ที่ต้อง "เจ็บจริง ตายจริง" และอยู่ท่ามกลางเสียงปืนเสียงระเบิดจริงๆ มานานกว่า 1 ทศวรรษ เชื่อมั่นแค่ไหนว่าสถานการณ์ขณะนี้ดีขึ้นจริง และปีหน้าจะสันติสุข
รักชาติ สุวรรณ เครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ มองแบบตรงไปตรงมาว่า ยังไม่มั่นใจว่าสถานการณ์ในพื้นที่จะสงบได้จริงในปี 2562
"ที่บอกว่าทหารจะคืนพื้นที่ ถ้าเราเริ่มด้วยพื้นที่ไหนความรุนแรงลดลง ก็ไม่จำเป็นต้องขยายกฎหมายพิเศษได้หรือไม่ แต่ถ้าพื้นที่ไหนมีเหตุรุนแรงอยู่ ก็โอเค...ยังคงใช้กฎหมายพิเศษต่อไป เพราะต้องยอมรับว่าการบังคับใช้กฎหมายพิเศษ คนที่ไปไหนมาไหนเขาอึดอัด การประกาศจะส่งคืนพื้นที่ปี 62 แปลว่ารัฐมั่นใจว่าเหตุการณ์จะดีขึ้น แต่ส่วนตัวมองว่ายังไม่น่าใช่ เพราะถ้าจะส่งคืนพื้นที่ได้ กฎหมายพิเศษต้องเลิกใช้ก่อน"
ข้อสังเกตของ รักชาติ นับว่าน่าสนใจ เพราะเมื่อเร็วๆ นี้รัฐบาลเพิ่งอนุมัติต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ออกไปอีก 3 เดือน ซึ่งเป็นต่ออายุ-ขยายเวลารอบที่ 50 แล้ว!
ในทัศนะของ รักชาติ ที่อยู่ในพื้นที่มาตลอด เขากลับมองว่าพลังของกลุ่มก่อความไม่สงบไม่ได้ลดลงอย่างที่รัฐมองและประเมิน
"ผมไม่เคยมองว่ากำลังเขาลดลง การปฏิบัติการต่างๆ ของเขาก็ไม่ได้อ่อนแอ ผมเชื่อว่าเขายังมีกำลัง เพียงแต่รอจังหวะ เขากำลังปรับอะไรหรือเปล่า ส่วนเรื่องภัยแทรกซ้อน (กลุ่มธุรกิจเถื่อน) ที่ผสมโรงกับเหตุการณ์ความไม่สงบ ก็มีอยู่แล้ว และที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ก็พยายามป้องกันอยู่"
ข้อสังเกตอีกประการหนึ่งของ รักชาติ ที่ทำให้ไม่เชื่อว่าสถานการณ์ชายแดนใต้ดีขึ้นจริง ก็คือตัวเลขงบประมาณที่กลับเพิ่มขึ้นทุกปี
"ผมคิดว่าน่าแปลกใจ งบเพิ่มทุกปีทั้งที่ออกมาบอกว่าเหตุการณ์ดีขึ้น มีการพูดล้อเล่นกันในพื้นที่ว่า เหตุสงบงบไม่มา เป็นอะไรที่สงสัยกันมานานแล้วสำหรับคนในพื้นที่ เพราะ 13 ปีที่มีเหตุการณ์ความไม่สงบ งบประมาณสูงขึ้นตลอด"
แกนนำเครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังเสนอให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มบทบาทคนในพื้นที่ให้มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหามากขึ้น
"รัฐน่าจะมองบริบทคนในพื้นที่เป็นหลัก เอาเฉพาะคนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ (ปัตตานี ยะลา นราธิวาส) และสี่อำเภอของ จ.สงขลา (อ.จะนะ เทพา สะบ้าย้อย และนาทวี) ที่เกิดเหตุการณ์ เรื่องพวกนี้จำเป็นต้องให้คนพื้นที่สะท้อนปัญหาให้รัฐได้เห็น รัฐเองก็จำเป็นที่จะต้องรับฟัง และปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน"
"อย่างที่ผ่านมา หน่วยงานรัฐและอีกหลายๆ คนมองว่า การใช้ 'ยาแรง' จะได้ผล คือการปราบปรามอย่างจริงจังจะได้ผล การปิดบ้อม การต่อสู้ การวิสามัญฯ แล้วมันจะได้ผล แต่ 13 ปีมาแล้ว เห็นชัดเจนว่าพื้นที่นี้ถ้าใช้ความรุ่นแรงตะไม่ได้ผล แต่ต้องสร้างความเข้าใจให้คนในพื้นที่มากกว่า รัฐต้องเข้าใจบริบทของคนในพื้นที่ ขณะที่คนในพื้นที่เองก็ต้องเรียนรู้ข้อแตกต่างของกันและกัน เพื่อที่จะอยู่ร่วมกัน"
รักชาติ ยังฝากไปถึงหน่วยงานความมั่นคง ทั้งทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครองว่า ไม่อยากให้มีการสับเปลี่ยนกำลังกันบ่อยๆ เพราะนอกจากจะทำให้เกิดปัญหาเรื่องความต่อเนื่องในการทำงานแล้ว ยังเป็นปัญหาทางความรู้สึกของคนในพื้นที่ด้วย เพราะบางคนเป็นคนดี อยู่ไม่นานก็ถูกย้าย
"พื้นที่ตรงนี้รัฐบอกว่าเป็นพื้นที่พิเศษ แต่การโยกย้ายคนทำงาน รัฐทำเหมือนพื้นที่ปกติ ผมคิดว่าจำเป็นต้องปรับวิธีคิด" รักชาติ ระบุ
ฟังเสียงตัวแทนคนพุทธไปแล้ว ไปลองฟังความเห็นของพี่น้องมุสลิมกันบ้าง
อับดุลอซิซ ตาเดอินทร์ ประธานฝ่ายสิทธิมนุษยชน สมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย มองว่า แม้สถานการณ์ไฟใต้ในภาพรวมจะดูดีขึ้นจริงๆ การก่อเหตุรุนแรงลดลงเยอะ แต่ก็ยังมีอีกหลายปัญหาที่รัฐต้องแก้ไข
"มองย้อนกลับไป 2 ปีที่ผ่านมา เรื่องก่อเหตุลดลงเยอะ โดยเฉพาะ 3-4 อำเภอของสงขลา เหตุไม่มีเลย ก็ถือว่าเป็นผลดีจากงานความมั่นคง ส่วนการเจรจาสันติภาพระหว่างผู้ก่อการกับรัฐบาล ถือว่ายังไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร ก่อนหน้านี้รัฐบาลพยายามตกลงกับ มารา ปาตานี ว่าจะร่วมกันสร้างพื้นที่ปลอดภัย แต่ยังเลือกพื้นที่ไม่ได้ ยังตกลงกันไม่ได้ ประชาชนก็ตั้งคำถามว่าเป็นตัวจริงไม่ และในช่วงหลังบีอาร์เอ็นที่สามารถคุมกองกำลังได้ ก็มาขอแยกกลุ่ม แยกโต๊ะพูดคุย ทำให้การเจรจาครั้งนี้ยังไม่คืบหน้าเท่าที่ควร"
"13 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลใช้กฎอัยการศึก ใช้กฎหมายพิเศษ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เข้าควบคุมสถานการณ์ได้บางส่วน แต่ยังไม่สามารถทำให้เกิดความสงบในพื้นที่ได้ ขณะเดียวกันกองกำลังทางทหารก็ยังใช้เกินกว่าที่ควรจะเป็น และมีอำนาจมากเกินไป โดยเฉพาะในการจับกุม สอบสวน สืบสวน ใครถูกจับ รัฐใช้อำนาจขัง 30 วัน ก่อนส่งเข้ากระบวนการตาม ป.วิอาญา (ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา) อีก 84 วัน อยู่ระหว่างรอการฟ้องคดีในเรือนจำอีก 2 ปี ชาวบ้านบ้างคนติดคุกฟรี 2 ปีกว่าจะเสร็จคดีหรือยกฟ้อง"
"ตรงนี้ก็เป็นปัญหากับกระบวนการสันติภาพมาก เพราะว่ามีคดีที่ศาลยกฟ้อง 60-70% แสดงว่าคนที่ถูกจับคือคนบริสุทธ์ แต่กระบวนการยุติธรรมล่าช้า 2 ปีครึ่งเกือบ 3 ปีที่เขาต้องอยู่ในเรือนจำ คนเหล่านี้ไม่ได้รับการเยียวยาอะไรเลย"
ปัญหาการบังคับใช้กฎหมายพิเศษที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างรุนแรง และกระบวนการยุติธรรมที่ยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร เป็นปัจจัยที่ อับดุลอซิซ มองว่าการที่รัฐบาลจะดับไฟใต้ได้ในปีหน้า ไม่น่าจะเป็นไปได้
"รัฐบาลเดินไม่ถูกทาง ถ้ารัฐบาลมั่นใจว่าจะสามารถแก้ปัญหาได้ภายในปีหรือ 2 ปี ก็ควรยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ยกเลิก พ.ร.บ.ความมั่งคง (ใช้ในพื้นที่ 4 อำเภอของ จ.สงขลา และ อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี) แล้วใช้กฎหมายฉบับเดียวกันทั่วประเทศ"
"ภาพที่จะเกิดขึ้นหลังยกเลิกการใช้กฎหมายพิเศษก็คือ ทหารจะไม่สามารถจับประชาชนได้โดยพลการ ถ้าใช้กฎหมายทั่วไปที่ใช้อยู่ทั่วประเทศ ถ้าเจ้าหน้าที่สงสัย ต้องมีหลักฐานในการจับกุม การฟ้องร้องก็ต้องฟ้องด้วยหลักฐาน มีอะไรก็เอาไปสู้กันในศาล แต่ถ้าใช้กฎหมายพิเศษแบบนี้ คนที่บริสุทธิ์ เขาไม่ได้ทำ แต่ถูกจับ ก็จะเกิดความแค้นระหว่างญาติพี่น้อง ไม่สามารถลบล้างความเจ็บช่ำน้ำใจของเขาได้ คนเหล่านี้ญาติพี่น้องเขาเรียกว่า 'รับแขก' ส่งคนที่ไม่หวังดีไปอยู่กับรัฐบาล ถึงแม้รัฐบาลจะมี นโยบายพาคนกลับบ้าน หรือใช้มาตรา 21 พ.ร.บ.ความมั่นคง ให้ผู้หลงผิดเข้ามารายงานตัว แต่ก็ไม่ได้ผล"
อับดุลอซิซ บอกว่า ตัวชี้วัดการส่งคืนพื้นที่สันติสุขคืนให้กับประชาชนตามที่ฝ่ายความมั่นคงให้ข่าว จริงๆ แล้วคือการลดการใช้กฎหมายพิเศษ
"รัฐบาลจะคืนพื้นที่ ผมมองว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะทหารที่หมายถึงกองกำลังติดอาวุธยังมีมากขึ้น ถึงแม้จะไม่ใช่ทหารหลัก แต่เป็นทหารบ้าน ใช้คนในพื้นทีดูแลกันเองก็ตาม แต่นั่นก็สะท้อนว่ามีกองกำลังของรัฐอยู่เยอะมาก ไม่ได้ลดลง ฉะนั้นการคืนพื้นที่จึงไม่ใช่การถอนทหาร แต่ถ้าจะคืนให้เห็นผลจริงๆ ต้องคืนในแง่กฎหมาย ต้องยกเลิกหรือลดการใช้กฎหมายพิเศษ แล้วกลับมาใช้กฎหมายปกติแทน"
สิ่งที่น่ากลัวในสายตาของ อับดุลอซิซ ก็คือ "ธุรกิจความมั่นคง"
"เวลาเกิดเหตุการณ์ คนในพื้นที่สามารถมองได้เลยว่าเหตุการณ์นั้นใครทำ หรือฝ่ายใดทำ บางทีเจ้าหน้าที่ทำเองก็มี มันเกี่ยวกับงบประมาณมหาศาล ฉะนั้นจึงมีทั้งของจริงของปลอม ชาวบ้านมองว่าเกิน 50% ที่ของเป็นปลอม ขณะที่องค์กรของรัฐทำงานซ้ำซ้อน ตรวจสอบไม่ได้ ถ้าเป็นกฎหมายปกติ สามารถตรวจสอบ ยื่นญัตติอะไรได้ แต่นี่ทำไม่ได้เลย นี่คือความบิดเบี้ยวของระบบปัจจุบัน แล้วจะให้มีความเป็นธรรมได้อย่างไร ยิ่งสถานการณ์ในภาคใต้ยิ่งตรวจสอบไม่ได้เลย ทำให้ธุรกิจความมั่นคงยิ่งมีมากขึ้น"
ประธานฝ่ายสิทธิมนุษยชน สมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย ยังมีข้อเสนอถึงกระบวนการพูดคุยสันติสุขว่า รัฐบาลต้องมีความจริงใจในการพูดคุยเจรจาจริงๆ จึงจะสำเร็จ
"เหตุการณ์บ้านเราไม่รุนแรงเหมือนประเทศอื่น ไม่ถึงขั้นกองกำลังติดอาวุธยึดภูเขาได้ทั้งลูก ทำให้เราสามารถนำบทเรียนมาใช้ในบ้านเราได้ แต่เมื่อเปลี่ยนรัฐบาลต้อง เริ่มนับหนึ่งใหม่ตลอด มาถึงรัฐบาลชุดนี้ แม้จะยอมสานต่อการพูดคุย แต่ต้องมีความจริงใจ เพราะหากย้อนไปรัฐบาลชุดก่อน ถ้ารัฐบาลเห็นด้วย สมช. (สภาความมั่นคงแห่งชาติ) เห็นด้วย ศอ.บต. (ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้) เห็นด้วย แต่ทหารไม่เห็นด้วย ก็ทำไม่ได้ แต่ตอนนี้อำนาจเบ็ดเสร็จอยู่ที่ทหาร ถ้าทหารจริงใจก็สามารถเดินหน้าได้เลย"
"ปัจจุบันฝ่ายขบวนการพร้อมจะเจรจา พร้อมลดเงื่อนไขจากแบ่งแยกดินแดน เหลือเป็นเขตปกครองพิเศษ ถ้าลดเหลือเขตปกครองพิเศษแล้วรัฐยยังไม่ให้อีก ก็ไม่รู้จะเจรจาเอาอะไร ถ้ารัฐบาลจริงใจต้องยอมให้มีการเลือกตั้ง คืนอำนาจให้ประชาชนโดยเร็วที่สุด จากนั้นก็ลดการใช้กฎหมายพิเศษ และจัดสรรงบประมาณอย่างโปร่งใสให้ลงถึงชาวบ้านในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้จริงๆ" อับดุลอซิซ ระบุ
ดูเหมือนข้อเสนอจาก "คนพื้นที่" จะสำเร็จยากพอๆ กับคำประกาศของรัฐว่าชายแดนใต้จะสันติสุขในปีหน้า!
----------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : (ซ้าย) รักชาติ (ขวา) อับดุลอซิซ
อ่านประกอบ :
14 ปีไฟใต้ละลายงบ 3 แสนล้าน กองทัพเชื่อมั่นปีหน้าปิดเกม!
14 ปีไฟใต้...แม่ทัพภาค 4 ลั่น "เวลากับใจ" พิสูจน์ใต้สันติสุข!