‘เพื่อไทย’ เล็งร้องศาลรธน. ปมคำสั่ง53/2560 ภายในม.ค.นี้
‘ชูศักดิ์’ เผย ‘เพื่อไทย’ เล็งร้องศาลรธน. กรณีคำสั่ง53/2560 ภายในเดือนม.ค.นี้ ย้ำ ขัดแย้งรธน.หลายจุด- ลิดรอนสิทธิ-ใช้อำนาจตามอำเภอใจ
เมื่อวันที่ 5 ม.ค. 2561นายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย (พท.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 4 ม.ค. มีการหารือกันของฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย โดยขณะนี้ทีมกฎหมายของพรรคอยู่ระหว่างการยกร่างคำร้องเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของคำสั่ง คสช. ที่ 53/2560 เท่าที่หารือร่วมกันเห็นว่าคำสั่งดังกล่าวขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญหลายบทหลายมาตรา ทั้งในส่วนกระบวนการและเนื้อหา ซึ่งเป็นการใช้อำนาจตามอำเภอใจ มีการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของพรรคและสมาชิกพรรคการเมือง เพิ่มภาระให้แก่สมาชิกเกินความจำเป็น ซึ่งคาดว่าในสัปดาห์หน้าทีมกฎหมายกจะยกร่างคำร้องเสร็จ และส่งให้กับผู้ใหญ่ในพรรคที่เป็นนักกฎหมายตรวจสอบในขั้นสุดท้าย และคาดว่าประมาณสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนมกราคมจะสามารถยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้
นายชูศักดิ์ กล่าวว่า เราเห็นว่าการออกคำสั่งดังกล่าวขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญหลายประเด็น อาทิ 1.มิได้เข้าเงื่อนไขตามมาตรา44 มิได้เป็นไปเพื่อการปฏิรูป การสร้างความสามัคคีปรองดอง หรือป้องกันภยันตรายด้านความสงบเรียบร้อยของประเทศ คำสั่งจึงไม่เป็นที่สุด สมควรที่ศาลรัฐธรรมนูญจะตรวจสอบได้ เพื่อป้องกันการใช้ ม.44 อย่างไร้ขอบเขต ปราศจากเหตุผล 2.เป็นอำนาจหน้าที่ของสนช.ในการตราและแก้ไขเพิ่มเติมพรป.พรรคการเมือง การใช้อำนาจของคสช.เป็นการเอาอำนาจของผู้อื่นมาใช้ ทั้งยังแก้ไขหลักการตามที่พรป.กำหนดไว้แต่แรก เท่ากับคสช.อยู่เหนือรัฐธรรมนูญ จึงขัดกับหลักความเป็นก.ม.สูงสุดของรัฐธรรมนูญ ตามม.5 และ 3.คำสั่งดังกล่าวเป็นกฎหมายที่จำกัดสิทธิของพรรคและสมาชิกพรรคการเมือง ซึ่งม.26รัฐธรรมนูญกำหนดเงื่อนไขไว้ว่าต้องไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม ไม่เพิ่มภาระหรือจำกัดสิทธิเสรีภาพเกินกว่าเหตุ กระทบศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ คำสั่งดังกล่าวขัดต่อม.26อย่างชัดแจ้งทุกกรณี ทั้งยังขัดต่อหลักทั่วไปเรื่องเสรีภาพของบุคคลในการรวมตัวกันจัดตั้งพรรคการเมืองตามรัฐธรรมนูญม.45 และอีกหลายประการ ซึ่งรายละเอียดขณะนี้อยู่ระหว่างการยกร่างคำร้องเพื่อยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญจะรับหรือจะเห็นเป็นประการใดเป็นดุลยพินิจ แต่ก็หวังว่าท่านจะคุ้มครองรัฐธรรมนูญและเสรีภาพของบุคคล
นายชูศักดิ์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังพบว่าคำสั่งที่ 53/2560 มีความขัดแย้งกันเองหลายจุด เข้าใจว่าทีมยกร่างเป็นคนละชุดกับของกรรมาธิการ สนช. ตัวอย่างเช่น คำสั่งกำหนดให้ยืนยันความเป็นสมาชิกพร้อมเสียค่าบำรุงพรรคภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ 1 เมษายน 2561 แสดงว่าจะมีสมาชิกที่ยืนยันอยู่ส่วนหนึ่ง สมมุติว่ามีการยืนยันและเสียค่าบำรุงมา 50,000 คน เกินจำนวนสมาชิกที่กำหนดให้มีภายใน 4 ปี แสดงว่าที่เหลือต้องพ้นจากสมาชิกหรือ อย่างนี้แล้ว พรรคจะต้องมีหน้าที่เรียกเก็บค่าบำรุงพรรคจากสมาชิกภายใน 180 วัน ให้ได้ 500 คน ภายใน 1 ปี ให้ได้ 5,000 คน และภายใน 4 ปี ให้ได้ 10,000 คน ตามที่เขียนไว้ อยู่อีกหรือไม่ นอกจากนี้ ตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง ซึ่งถูกแก้ไข อนุญาตให้พรรคการเมืองที่จัดตั้งขึ้นใหม่ส่งผู้สมัครได้ แม้จะจัดตั้งสาขาพรรคการเมืองไม่ครบตามมาตรา 144 มีการแก้ไขมาตรา 144 ให้ทั้งพรรคเก่าและพรรคที่จัดตั้งขึ้นใหม่ ส่งผู้สมัครได้ด้วยกัน แต่พรรคเก่ากลับติดปัญหาเงื่อนไขตามมาตรา 141 ที่เขียนไว้ ว่าต้องมีสาขาให้ครบถ้วนอย่างน้อยสี่สาขาตามภูมิภาคต่างๆ และระบุว่าถ้าตั้งสาขาไม่ครบจะส่งผู้สมัครมิได้ เข้าใจว่า คงยกร่างกันมาโดยรีบร้อน ทีมงานคนละชุดไม่เข้าใจถึงเจตนารมณ์ของ พ.ร.ป.พรรคการเมืองอย่างแท้จริง