ดัน 'ตำรวจประจำการ' แก้ขาดแคลน ดึง 'ทหารเกณฑ์' สมัคร
กรรมการปฏิรูปตำรวจ รับลูกดึง "ทหารเกณฑ์" สมัคร "ตำรวจกองประจำการ" ทำหน้าที่ รปภ.-คุมฝูงชน-ลาดตระเวน แก้ปัญหาขาดแคลนกำลังพล ด้านที่ประชุมอนุตำรวจชงปรับหลักเกณฑ์นักเรียนนายสิบจาก 12 เดือน เป็น 18 เดือน หวังพัฒนาคุณภาพ-ฝึกวินัย
นายมานิจ สุขสมจิตร ประธานคณะอนุกรรมการด้านสื่อสารกับสังคม คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม(ตำรวจ) เปิดเผยความคืบหน้าคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจเกี่ยวกับข้อเสนอเรื่องตำรวจกองประจำการว่า หลังจากพิจารณามาแล้ว 2 ครั้ง โดยเป็นไปตามที่เลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้ส่งมาตั้งแต่วันที่ 21 พ.ย. 2560 เพื่อให้ดำเนินการปฏิรูปในคราวเดียวกัน ซึ่งแนวคิดดังกล่าวริเริ่มตั้งแต่พ.ศ.2553 จากนั้นเมื่อวันที่ 4 ส.ค. 2558 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจร่างแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 ให้มีตำรวจกองประจำการ
นอกจากนี้สำนักงานตำแหน่งชาติ(สตช.) ได้รายงานตัวเลขความขาดแคลนกำลังพลต่อคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ โดยล่าสุดเมื่อเดือนส.ค. 2560 ตำรวจมีตำแหน่ง 296,314 ตำแหน่ง แต่ปรากฏมีกำลังพลเพียง 219,564 ตำแหน่ง ซึ่งส่งผลต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ดังนั้น สตช.จึงเสนอให้แก้ไขปัญหาด้วยการสรรหากำลังพลทดแทนให้มีตำรวจกองประจำการ
“คณะกรรมการปฏิรูปตำรวจเห็นด้วยกับข้อเสนอที่จะรับทหารเกณฑ์เป็นตำรวจประจำการ เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนกำลังพลสะสมถึง 7 หมื่นคน โดยมีหน้าที่รักษาความปลอดภัยอาคารสถานที่ งานรักษาความสงบเรียบร้อย หรือคุมฝูงชนในการชุมนุม งานลาดตระเวนการออกตรวจพื้นที่และการบริการประชาชน ตามที่ผู้บังคับบัญชามีคำสั่ง และการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจกองประจำการนี้ต้องมีข้าราชการตำรวจควบคุมและร่วมปฏิบัติหน้าที่ด้วยทุกครั้ง” นายมานิจ กล่าว
อย่างไรก็ตามทุกอย่างให้เป็นไปตามความสมัครใจทหารอบรม 3 เดือน ตำรวจอบรมอีก 3 เดือน แล้วจึงให้ทำหน้าที่เป็นตำรวจปีครึ่ง แล้วปลดประจำการ ทั้งนี้ จะต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.บ.ตำรวจฯ ให้เรียกชื่อตำรวจประเภทนี้ว่า ตำรวจกองประจำการด้วย
ชงปรับหลักสูตรนายสิบตร.
ด้านพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการปฏิรูประบบงานความมั่นคง ครั้งที่ 1/2561ว่าที่ประชุมมีการรับทราบความคืบหน้าการปฏิรูปองค์กรตำรวจตามข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ในการประชุม ครม.เมื่อวันที่ 22 พ.ย.2559 ที่มอบให้ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ดำเนินการใน 6 ประเด็น ได้แก่ 1.การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ 2.การปฏิรูปเชิงโครงสร้าง 3.งานสอบสวนและการบังคับใช้กฎหมาย 4.การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน 5.การตรวจสอบและกำกับการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปด้วยความโปร่งใส และ 6.การนำระบบเทคโนโลยีดิจิทัลมาสนับสนุนด้านการรักษาความปลอดภัย
โดยมีความคืบหน้าในประเด็นสำคัญอาทิ การผลิตข้าราชการตำรวจภายหลังการบรรจุ ปีงบประมาณ 2561 เริ่มใช้หลักสูตรนักเรียนนายสิบ ที่ได้รับการปรับปรุงจาก 12 เดือนเป็น 18 เดือน ทั้งนี้ ในที่ประชุมยังได้แนะนำว่า น่าจะปรับปรุงหลักสูตรให้ถึง 2 ปี ซึ่งเหมือนกับการฝึกนายสิบของทหาร เพื่อที่จะได้บุคลากรที่มีคุณภาพออกมาใช้งาน เนื่องจากเข้ามาฝึกไม่กี่เดือนแล้วออกไปถือปืนใกล้ชิดประชาชนจะล่อแหลม น่าจะมีการฝึกจริยธรรมและวินัย ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายด้วย
ส่วนการปฏิรูปเชิงโครงสร้าง การสร้างเส้นทางการเจริญเติบโตของข้าราชการตำรวจ ประกอบด้วย ตำแหน่งสายปฏิบัติการ ตำแหน่งสายอำนวยการและสนับสนุนและตำแหน่งสายเทคนิค ส่วนเรื่องตำรวจกองประจำการ หรือ ตำรวจเกณฑ์ น่าจะสามารถแก้ปัญหาความขาดแคลนบุคลากรระดับของตำรวจในที่ทำงานกับสถานีตำรวจ หรือที่อื่น ๆ ที่มีความขาดแคลนรุนแรง ทั้งนี้ เพื่อให้ตำรวจสามารถทำงานใกล้ชิดกับประชาชนได้มากที่สุด โดยอาจพิจารณาให้ ทบ.เป็นผู้เรียกเกณฑ์ อย่างไรก็ตามยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องเพื่อดูรายละเอียดต่อไป
อย่างไรก็ดีที่ประชุมมีการเสนอว่า กระบวนการยุติธรรมต้องนำเอานิติวิทยาศาสตร์มาใช้ให้มากขึ้นและกระจายออกสู่ภูมิภาค ไม่ใช่กระจุกตัวอยู่ส่วนกลาง รวมทั้ง การนำระบบเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ประยุกต์ในด้านการรักษาความปลอดภัย ให้กว้างขวาง ซึ่งจะเกิดประโยชน์ภาพรวมของการดูแลประชาชน นอกจากนี้ ยังมีการรายงานความคืบหน้าการปฏิรูประบบงานความมั่นคง เกี่ยวกับ การจัดทำฐานข้อมูลด้านความมั่นคง และการปฏิรูประบบงานข่าวกรองของชาติตามสั่งการของรองนายกรัฐมนตรีอีกด้วย