โมเดลรพ.จะนะ เปลี่ยนแดดเป็นไฟฟ้า ลดการพึ่งพาพลังงานได้ปีละแสนบาท
“การติดตั้งโซลาร์ ต้องไม่มองเป็นค่าใช้จ่าย ต้องมองว่าเป็นการลงทุน ได้ประโยชน์สองเด้ง เด้งแรกเราจ่ายค่าไฟน้อยลง เด้งที่สองช่วยลดโลกร้อน ลดการพึ่งพาไฟฟ้าจากฟอสซิล หันมาใช้พลังงานหมุนเวียนแทน”
จากกรณีที่ นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จังหวัดสงขลา ได้โพสต์แชร์เรื่องบิลค่าไฟฟ้าของโรงพยาบาลในเดือนธันวาคม 2560 ที่ผ่านมา สามารถลดต่าไฟฟ้าได้ถึง 53,000 บาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2559
บิลค่าไฟฟ้าที่ลดลงเป็นผลมาจากการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาโรงพยาบาลจำนวน 20 kw(กิโลวัตต์) พร้อมกันนี้ได้เตรียมทำเรื่องเสนอต่อไปยัง นายแพทย์กิตติศักดิ์ กลับดี ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเพื่อหวังให้เป็นโมเดลสำหรับโรงพยาบาลแห่งอื่นๆ ทั่วประเทศ
นพ.สุภัทร ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า การติดตั้งครั้งนี้ใช้งบประมาณ 800,000 บาท โดยเริ่มผลิตไฟได้ตั้งแต่ 22 ตุลาคม 2560 โดยปกติคนมักคิดว่า การติดตั้งด้วยงบประมาณดังกล่าวในสองวิธีคิดคือ หนึ่งคิดว่าเป็นค่าใช้จ่าย เงินแปดแสนบาท ซึ่งถือว่าเป็นรายจ่าย ค่าติดตั้งทั้งระบบ ค่าเดินสายไฟ โรงพยาบาลใช้วิธีซื้อแผ่น ซื้อเครื่องมือ อุปกรณ์ ติดตั้งเองทั้งหมดจากช่างในพื้นที่ โดยมีพี่เลี้ยงจากบริษัทคอยสอน
จากนั้นทางโรงพยาบาลจะนะก็เปิดรับสมัครช่างอาสามาเรียนรู้ด้วยกันเพื่อมาติดตั้ง ส่วนใหญ่เป็นช่างที่ติดตั้งจานดาวเทียม ช่างแอร์ มาเรียนรู้ด้วยกัน ประมาณ 30 คน ใช้เวลาหนึ่งสัปดาห์ นั่นคือวิธีคิดแรก คือค่าใช้จ่าย
(บิลค่าไฟประจำเดือนธันวาคม2560 เทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2559)
วิธีคิดที่สอง นพ.สุภัทร ให้มุมมองว่า การติดโซล่าร์ ไม่ใช่ค่าใช้จ่ายแต่คือการลงทุนที่จะได้ผลตบแทนกลับคืนมา
"อย่างโรงพยาบาลลงทุนแปดแสนบาท ผลตอบแทนเราจะได้กลับจากการลดค่าไฟเดือนละ 1.5 หมื่นบาท การลดค่าไฟคำนวนแล้วประมาณ 5 ปี เราก็คืนทุน ไม่เกินหกปี แถมแผ่นโซลาร์มีอายุ 25 ปี หมายความว่า เราจะได้ใช้ไฟฟรี 20 กิโลวัตต์ในอีก 5 ปีข้างหน้า ซึ่งระหว่างนั้นอาจมีค่าบำรุงรักษาบ้างแต่ไม่เยอะ เงินที่เราประหยัดได้ 1.5หมื่นบาทต่อเดือน ทั้งปีจะประหยัด 1.5-1.8 แสนบาท ก็สามารถนำเอาเงินส่วนนั้นมาใช้พัฒนาการให้บริการของโรงพยาบาลต่อไปได้"
นอกจากนี้ยังสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ในชั้นบรรยากาศ ลดโลกร้อนได้ด้วย
(ภาพจาก gimyong.com)
“การติดตั้งโซลาร์เราต้องอย่ามองว่าเป็นค่าใช้จ่าย ต้องมองว่าเป็นการลงทุน ซึ่งได้ประโยชน์สองเด้ง เด้งแรก เราจ่ายค่าไฟน้อยลง เด้งที่สอง ช่วยลดโลกร้อน ลดการพึ่งพาไฟฟ้าจากฟอสซิล หันมาใช้พลังงานหมุนเวียนแทน” ผอ.โรงพยาบาลจะนะ ระบุ และว่า งบประมาณที่ใช้ติดตั้งก็มาจากงบอุดหนุนโรงพยาบาล เราใช้ประมาณ 0.5-1.0% ของรายรับทั้งหมดเท่านั้น
โรงพยาบาลจะนะมีรายรับ 80 ล้านบาท ไม่รวมรายรับกระทรวงการคลังและเงินเดือน ในส่วนการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์สามารถลดค่าใช้จ่ายเรื่องค่าแรงช่างที่อาสามาเรียนรู้การติดตั้ง
“เอาเข้าจริงๆ แล้วงบแปดแสนบาทไม่ได้เยอะ เพราะซื้อเครื่องมือแพทย์เครื่องหนึ่งก็เป็นล้านบาท แต่ละโรงพยาบาลถ้าค่อยๆ บริหารจัดการก็จะสามารถทำได้ ไม่ได้เบียดบังงบรักษาผู้ป่วยใดๆ”
เมื่อถามว่าโมเดลนี้จะใช้ได้กับทุกบริบทพื้นที่ได้ไหม นพ.สุภัทร เชื่อว่าจะไปได้เรื่องนี้จะค่อยๆ แพร่ไปเอง เพราะตอนนี้การติดโซลาร์เป็นกองทัพมด คือมีบ้านที่ติดตั้งโซลาร์เยอะมาก ทำให้อัตราการใช้ไฟฟ้าของประเทศลดลงอย่างไม่น่าเชื่อในรอบปีสองปีที่ผ่านมา ธุรกิจขายแผ่นโซลาร์เซลล์ก็มีมากขึ้น ถูกลงด้วย
เขาชี้ว่า ทุกอย่างกำลังไปในทิศทางนี้
(ภาพจาก gimyong.com)
“ทุกหน่วยงานราชการควรทำ หลักการง่ายๆ ถ้ามีการใช้ไฟกลางวันจำนวนมาก โดยเฉพาะหน่วยงานราชการใช้ไฟกลางวันแน่นอน นอกจากนี้รวมไปถึงห้างร้านต่างๆ ควรติดตั้งโซลาร์รูฟ เพื่อลดพีคการใช้ไฟฟ้า ถ้าลดพีคไฟได้ เราจะสามารถประหยัดค่าไฟฟ้าได้มาก และลดความจำเป็นในการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าในช่วงเวลาพีคด้วย” นพ.สุภัทร ให้คำแนะนำ
สำหรับระบบที่โรงพยาบาลจะนะทำอยู่ไม่มีแบตเตอรี่ เพราะผลิตแล้วใช้เลย วันหนึ่งโรงพยาบาลใช้ไฟอย่างช่วงพีคถึง 100 กิโลวัตต์ ดังนั้นถ้าทุกแห่งใช้ไฟกลางวันเยอะติดโซลาร์หมด ช่วงพีคก็จะไม่สูง ทำให้ความต้องการไฟฟ้าทั้งประเทศลดลงโดยเฉพาะช่วงพีค
“พีคไฟทั้งประเทศที่ใช้ในปี 2560 ที่ 30,000 เมกกะวัตต์ ช่วงไม่พีคเราใช้ไฟที่ 23,000-24,000 เมกกะวัตต์เท่านั้นห่างกัน 6,000 เมกกะวัตต์ เท่ากับโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา 3 โรง ดังนั้นถ้าเราช่วยลดพีคไฟได้ ก็จะช่วยลดความจำเป็นที่ต้องมีโรงไฟฟ้าฟอสซิลเพิ่ม อยากให้เป็นโมเดที่หน่วยราชการทำ”
นพ.สุภัทร กล่าวทิ้งท้ายว่า ทิศทางโลกเปลี่ยนไปแล้ว วันนี้โลกกำลังลดการใช้พลังงานฟอสซิลและหันมาใช้พลังงานหมุนเวียน ได้แก่ ลม แสงแดด แก๊สชีวภาพ เชื้อเพลิงชีวมวลและพลังงานน้ำ ซึ่งจะช่วยเติมกันได้ เช่นกลางวันแดดดี ลมอ่อน กลางคืนไม่มีแดดแต่ลมดี โมเดลเมืองนอกใช้สี่ห้าพลังงานนี้ช่วยกัน ซึ่งจะสามารถลดฟอสซิลได้
“ยังไงมนุษย์ต้องใช้ไฟฟ้า การจะบอกว่าประหยัดเป็นไปไม่ได้ แต่ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเป็นสิ่งที่ทำได้ ถ้าเชื้อเพลิงฟอสซิลน้อยลง ก็ยังเป็นประโยชน์ให้คนที่รัศมี20-50 กิโลเมตรรอบโรงไฟฟ้าได้ เกิดโรคน้อยลง ก็ช่วยลดค่าใช้ด้านสาธารณสุขได้อีก ในอีกสามปีต่อจากนี้โรงพยาบาลจะนะจะเพิ่มกำลังผลิตให้ได้ 60 kw.” ผอ.โรงพยาบาลกล่าว
(ภาพจาก gimyong.com)
ทั้งนี้นพ.สุภัทร ยังเสนอโมเดลในการลดการใช้ไฟฟ้าในโรงพยาบาลอีกสองข้อหลักๆ นั่นคือ
(1.) การเข้าโครงการของกระทรวงพลังงานในการเปลี่ยนหลอด LED ทั้ง โรงพยาบาลและเปลี่ยนเครื่องปรับอากาศเป็นระบบ invertor ไปถึง 66 ตัว เป็นงบประมาณ 3 ล้านบาท ทั้งนี้ทางโรงพยาบาลต้องสมทบ 30%
(2.) ทางโรงพยาบาลก็ได้ปรับระบบการทำงาน โดยเฉพาะส่วนของซักฟอกและระบบการนึ่งฆ่าเชื้ออุปกรณ์ โดยจัดให้มีการเหลื่อมเวลาการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าพร้อมๆกัน ซึ่งได้ผลลัพธ์ดีกว่าที่คาดหมายมาก
“ผมอยากให้กระทรวงสาธารณสุขพิจารณาสนับสนุนการดำเนินการให้ทุกโรงพยาบาลและ รพ.สต.มีการติดตั้งแผงโซลาร์บนหลังคาให้ครบทุกแห่ง และร่วมมือกับกระทรวงพลังงานในการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ เช่น หลอดไฟและแอร์ให้ครบทุกโรงพยาบาล ซึ่งจะเป็นรูปธรรมการพัฒนาที่สอดคล้องกับการลดโลกร้อนด้วยทั้งนี้ค่าไฟฟ้าที่ประหยัดได้ก็จะได้นำไปใช้จ่ายเพื่อดูแลผู้ป่วยต่อไป เป็นประโยชน์สองต่อ” นพ.สุภัทร กล่าวสรุป พร้อมฝากความหวังนี้ถึงผู้กำหนดนโยบาย