เช็คคดีค้างป.ป.ช.! โฟกัสปี 61 ล่าเงินทอนวัด-ระบายจีทูจีล็อต2 บี้ทรัพย์สิน ปู-5 รมต.
"...มีกรณีที่น่าจับตาไม่แพ้กัน โดยเฉพาะการตรวจสอบบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินเชิงลึกของอดีตรัฐมนตรี 5 ราย ที่เกี่ยวข้องในโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งเป็นผลพวงมาจากคดีทุจริตการขายข้าวในรูปแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) รอบแรก ที่ ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิดและศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้มีคำพิพากษาไปแล้วนั้น เป็นจุดเริ่มต้นให้ ป.ป.ช.เข้าไปสาวลึกลงไปถึงเส้นทางการเงินจากการทุจริตดังกล่าว จากบรรดารัฐมนตรีที่มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยมีการดำเนินการตรวจสอบทั้งบัญชีเงินฝาก การครอบครองหุ้น บ้าน ที่ดิน ต่าง ๆ เพื่อหาความผิดปกติ และหาความเชื่อมโยงกับทรัพย์สินที่เกิดจากการทุจริต..."
ปี 2561 นี้ นับเป็นปีสำคัญของประเทศไทย เพราะนอกจากจะเป็นปีแห่งการเตรียมความพร้อมเข้าสู่การเลือกตั้งครั้งใหม่ที่จะมาถึงเป็นทางการแล้ว ยังเป็นปี ที่ถูกคาดหมายว่าจะมีคดีใหญ่สำคัญทยอยสรุปผลออกมาเป็นทางการด้วย โดยเฉพาะคดีที่อยู่ในชั้นการสอบสวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบข้อมูลคดีค้างเก่าที่อยู่ระหว่างการดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงของ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ในปี 2560 พบว่ามีจำนวนกว่า 2,793 เรื่อง แบ่งจำแนกออกตามประเภทฐานความผิด คือ คดีเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง หรือเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐ จำนวน 997 เรื่อง คดีเกี่ยวกับการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จำนวน 878 เรื่อง คดีเกี่ยวกับการเบียดบังทรัพยากรของรัฐ จำนวน 449 เรื่อง คดีเกี่ยวกับการเรียกรับสินบน จำนวน 403 เรื่อง คดีเกี่ยวกับการร่ำรวยผิดปกติ จำนวน 44 เรื่อง คดีเกี่ยวกับเรื่องที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ จำนวน 12 เรื่อง และคดีเกี่ยวกับการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 10 เรื่อง
ทั้งนี้ ในส่วนคดีคดีที่ค้างอยู่นี้ มีคดีใหญ่ที่น่าสนใจรวมอยู่ด้วยหลายคดี ปรากฎข้อมูลดังต่อไปนี้
@กรณีการทุจริตการขายข้าวในรูปแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ล็อตที่ 2 กับบริษัท Haikou Liangmao Cereals and Oils Trading Co.,Ltd., บริษัท Haikou Liangyunlai Cereals and Oils Trading Co., Ltd., บริษัท Hainan Province Land Reclamation Industrial Development และบริษัท Hainan Land Reclamation Commerce and Trade Group Co.,Ltd.ซึ่งมีการทำสัญญาซื้อขายรวม 8 สัญญา ปริมาณข้าวทั้งหมด 14 ล้านตัน ในช่วงปี 2556
คดีดังกล่าวมีผู้ถูกกว่าหารวม 35 ราย คือ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และ นางปราณี ศิริพันธ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ รวมทั้งกลุ่มบุคคลและบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตคดีระบายข้าวจีทูจีล็อตแรก (ปี 2554-2555) รวมทั้งบริษัทรัฐวิสาหกิจจากจีนอีก 4 แห่ง และมีผู้ถูกกล่าวหาเป็นคนจีนด้วยเบื้องต้น 8 ราย
โดยสถานะทางคดีในช่วงที่ผ่านมามีการแจ้งข้อกล่าวหา และรับฟังคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา ประกอบการพิจารณาคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาแล้ว รวมทั้งสอบปากคำพยานบุคคล ซึ่งล่าสุดอยู่นั้นของการไต่สวนข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐาน
ก่อนหน้านี้แหล่งข่าวจากสำนักงาน ป.ป.ช. ได้ให้ข้อมูลกับสำนักข่าวอิศรา ว่า ในคดีนี้ ป.ป.ช.มีแนวทางที่จะกันนายบุญทรงไว้เป็นพยาน เพื่อให้สามารถดำเนินการเอาผิดกับผู้ที่อยู่เบื้อหลัง อย่างไรก็ตาม การกันนายบุญทรงไว้เป็นพยานในคดีนั้นเป็นคนละส่วนกับคดีทุจริตการขายข้าวแบบจีทูจีล็อตแรก ที่ศาลฎีกาแผนกคดีแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้ตัดสินจำคุกนายบุญทรง และพวกรวม 28 รายไปแล้ว
แต่หากกรณีนี้นายบุญทรงยอมให้ความร่วมมือกับทาง ป.ป.ช. จนสามารถเอาผิดกับผู้อยู่เบื้องหลังได้ก็จะไม่ถูกส่งฟ้องในกรณีนี้เพิ่มเติม
@กรณีการแทรกแซงตลาดข้าว โดยวิธีการประกันราคาข้าวเปลือก สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในช่วงปี 2552/53 กรณีถูกกล่าวหาว่า กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น เกี่ยวกับการแทรกแซงตลาดข้าว โดยวิธีการประกันราคาข้าวเปลือกแก่เกษตรกรเป็นการทั่วไป ทำให้เกิดความเสียหายต่องบประมาณแผ่นดิน
คดีดังกล่าวมีผู้ถูกกล่าวหาเพียงรายเดียวคือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งเรื่องดังกล่าวเป็นคนละกรณีกับคดีขอให้ถอดถอนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.), นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองประธาน กขช., นางพรทิวา นาคาศัย อดีตรมว.พาณิชย์ และประธานอนุกรรมการ กขช. และนายมนัส สร้อยพลอย อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กรณีการระบายข้าวสารในสต็อกของรัฐบาล เมื่อปี 2552-2553 ที่ ป.ป.ช.มีมติตีตกข้อกล่าวหาไปแล้ว
โดยสถานะทางคดีเมื่อช่วงปีที่ผ่านมาคณะอนุกรรมการไต่สวน มีการสรุปสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริงไปแล้วครั้งหนึ่ง แต่ล่าสุดยังครั้งอยู่ในชั้นของการรวบรวมพยานหลักฐานที่ผู้ถูกกล่าวหาอ้าง หรือพยานหลักฐานอื่น ๆ เพิ่มเติม
@กรณีการจ่ายเงินเยียวยาแก่ผู้ได้รับผลกระทบทางจากการชุมนุมทางการเมืองปี 2548-2553 โดยไม่มีอำนาจ และช่วยเหลือพวกพ้องของตนเอง ในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กรณีถูกกล่าวหาว่า ละเว้นการปฏิบัติไม่ให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2502 ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ทำให้เกิดความเสียหายแก่การเงินการคลังของประเทศ จำนวน 1,921,061,629 บาท โดยออกหลักเกณฑ์และอัตราเยียวยาขึ้นใหม่ ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า มีกฎหมายใดมารองรับการจ่ายเงินเยียวยาดังกล่าว
คดีดังกล่าวมีผู้ถูกกว่าหารวม 34 ราย โดยผู้ถูกกว่าหาที่ 1 คือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี นอกจากนั้นเป็นคณะรัฐมนตรีที่ร่วมมีมติเมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2555 และเมื่อวันที่ 6 มี.ค. 2555 เห็นชอบให้มีการเยียวยาแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมืองปี 2548-2553 และให้ใช้งบประมาณจากงบประมาณรายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงิน 2 พันล้านบาท มาใช้ในการดำเนินการดังกล่าว
โดยสถานะทางคดีเมื่อช่วงปีที่ผ่านมา น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีนี้ เคยออกมาเปิดเผยว่า คดีดังกล่าวเป็นหนึ่งในหลายคดีที่อยู่ระหว่างการไต่สวนของ ป.ป.ช.และใกล้ได้ข้อสรุปแล้ว
@กรณีการออกพระราชกำหนด ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ.2555 จำนวน 350,000 บาท โดยไม่มีการชี้แจงรายละเอียดการใช้จ่ายเงิน ในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยมีข้อกล่าวหาว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ กระทำผิดขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 และกระทำขัดหรือแย้งต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 กรณีการดำเนินการโครงการเพื่อออกแบบและก่อสร้างระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั้งยืนและระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศ วงเงิน 350,000 ล้านบาท โดยมิชอบ และการกู้เงินและลงนามในสัญญากู้เงินกับธนาคาร 4 แห่ง โดยมิชอบ
คดีดังกล่าวมีผู้ถูกกว่าหารวม 17 คน มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ถูกกล่าหารายแรก นอกจากนั้นเป็นรัฐมนตรีและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง อาทิ นายปลอดประสพ สุรัสวดี อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.), นายธงทอง จันทรางศุ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และในฐานะประธานกรรมการพิจารณาคัดเลือกโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท, นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นต้น
โดยสถานะทางคดีเมื่อช่วงปีที่ผ่านมายังอยู่ในชั้นของการไต่สวนข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานที่ผู้ถูกกล่าวหาอ้าง หรือพยานหลักฐานอื่น ๆ เพิ่มเติม พิจารณาพยานหลักฐานที่รวบรวมได้ แต่ล่าสุดยังอยู่ในชั้นการไต่สวนข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานอยู่
@ กรณีบริษัท โรลส์-รอยซ์ ติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อเอื้อประโยชน์กับบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. รวม 3 ช่วงเวลา ตั้งแต่ปี 2534-2535, ปี 2535-2540 และปี 2547-2548 ทั้งนี้แม้การกระทำผิดในปี 2534-2535 และปี 2535-2540 จะหมดอายุความไปแล้ว แต่ก็ยังเหลือการกระทำผิดในช่วงระหว่างปี 2547-2548 รวมวงเงินประมาณ 7.2 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 254 ล้านบาท
คดีดังกล่าวในส่วนกรณีกล่าวหาบริษัท โรลส์-รอยซ์ จ่ายสินบนเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อเอื้อประโยชน์บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ในการจัดซื้อเครื่องยนต์ของบริษัท โรลส์-รอยซ์ ในช่วงที่ 3 เมื่อปี 2547-2548 นั้นมีผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมด 26 ราย อาทิ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อดีต รมว.คมนาคม, นายวิเชษฐ์ เกษมทองศรี อดีต รมช.คมนาคม, นายทนง พิทยะ ประธานคณะกรรมการบริษัท การบินไทยฯ, นายกนก อภิรดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัท การบินไทยฯ พร้อมกับบอร์ดการบินไทยยกคณะในช่วงปี 2547-2548 รวม 15 ราย รวมทั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาแผนการลงทุนระยะยาวของบริษัท การบินไทยฯ อีก 9 ราย ร่วมเป็นผู้ถูกกล่าวหา
โดยสถานะทางคดีเมื่อช่วงปีที่ผ่านมา ป.ป.ช. ได้ตั้งองค์คณะไต่สวน โดยประกอบไปด้วย คณะกรรมการ ป.ป.ช.ทั้ง 9 คน พร้อมยังมีการตั้งคณะกรรมการประสานและเร่งรัดการดำเนินคดีทุจริตระหว่างประเทศโดยดึงเอาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมกันทำงาน เพื่อประสานข้อมูลการทุจริตจากหน่วยงานต่างประเทศ ซึ่งการตรวจสอบของ ป.ป.ช.มีความคืบหน้าเป็นระยะ โดยมีการเปิดเผยว่ารู้ตัวบริษัท และบุคคลที่เป็นคนดีลการจ่ายสินบนแล้ว พบเส้นทางการเงินผ่านบริษัทไปถึงตัวกลุ่มการเมือง แต่ก็ยังคงติดปัญหาที่จะต้องรอเอกสารที่เป็นทางการจากสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตสหราชอาณาจักร (SFO)
@ กรณีการทุจริตเงินงบประมาณโครงการเงินอุดหนุนการบูรณปฏิสังขรณ์วัดและการพัฒนาวัดของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) ที่เกิดขึ้นในช่วงปีงบประมาณ 2556 – 2558 ซึ่งมีคดีที่อยู่ในมือ ป.ป.ช. รวมทั้งสิ้น 97 คดี จากวัด 62 แห่งทั่วประเทศ โดย ป.ป.ช.รับสำนวนต่อมาจากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการทุจริตและประพฤติมิชอบ (ปปป.ตร.)
ซึ่งเมื่อเร็วๆนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ประเดิมมีมติชี้มูลคดีในส่วนของการทุจริตเงินอุดหนุนบูรณปฏิสังขรณ์วัดและพัฒนาวัด สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ณ วัดพนัญเชิงวรวิหาร ตำบลคลองพลู อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่มีการขอเงินคืนจากวัดจำนวน 8 ล้านบาท และ 5 ล้านบาท โดยมีผู้ถูกกล่าวหารวม 4 ราย คือ นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ อดีตผอ.พศ. นายพนม ศรศิลป์ อดีต ผอ.พศ., น.ส.ประนอม คงพิกุล อดีตรองผอ.พศ. และนางชมพูนุท จันฤาไชย (คนใกล้ชิดนายนพรัตน์) ในข้อกล่าวหาเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์สิน กรณีเบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตน
ส่วนสถานะทางคดีในกรณีที่เหลือ มีการไต่สวนไปแล้ว 8 คดี โดยทาง นายวรวิทย์ สุขบุญ รองเลขาธิการ ป.ป.ช. รักษาราชการแทนเลขาธิการป.ป.ช. ได้ออกมาให้ข้อมูลว่า ส่วนใหญ่มีพฤติกรรมการทุจริตมีลักษณะคล้ายคลึงกัน ใช้โมเดลในการทำทุจริตในลักษณะเดียวกัน โดยมีการแบ่งงานกันทำเป็นขบวนการ เริ่มตั้งแต่การส่งคนไปทาบทามวัด ก่อนจะทำข้อตกลงให้วัดโดนเงินหรือจ่ายเงินสดคืนมา และหลายกรณีด้วยกันเป็นตัวละครเดียวกับคดีของวัดพนัญเชิงวรวิหาร ด้วยการนี้ทาง ป.ป.ช.จึงมั่นใจว่า จะใช้เวลาพิจารณาคดีที่เหลือไม่นาน
นอกจากคดีที่นำมาเสนอแล้ว ยังมีกรณีที่น่าจับตาไม่แพ้กัน โดยเฉพาะการตรวจสอบบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินเชิงลึกของอดีตรัฐมนตรี 5 ราย ที่เกี่ยวข้องในโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งเป็นผลพวงมาจากคดีทุจริตการขายข้าวในรูปแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) รอบแรก ที่ ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิดและศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้มีคำพิพากษาไปแล้วนั้น เป็นจุดเริ่มต้นให้ ป.ป.ช.เข้าไปสาวลึกลงไปถึงเส้นทางการเงินจากการทุจริตดังกล่าว จากบรรดารัฐมนตรีที่มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยมีการดำเนินการตรวจสอบทั้งบัญชีเงินฝาก การครอบครองหุ้น บ้าน ที่ดิน ต่าง ๆ เพื่อหาความผิดปกติ และหาความเชื่อมโยงกับทรัพย์สินที่เกิดจากการทุจริต
ส่วนผู้ที่ถูกตรวจสอบประกอบไปด้วย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม, นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์, นายภูมิ สาระผล อดีต รมช.พาณิชย์, นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล อดีต รมว.พาณิชย์ และนายยรรยง พวงราช อดีต รมช.พาณิชย์
โดยสถานะทางคดีล่าสุดได้รับการเปิดเผยจากแหล่งข่าวในสำนักงาน ป.ป.ช.แล้วว่า พบความผิดปกติของทรัพย์สินในส่วนของผู้ถูกกล่าวหาบางรายแล้ว ขณะที่บางรายก็ยังไม่พบความผิดปกติ
ทั้งนี้ คงจะต้องจับตาดูกันต่อไปว่าคดีทั้งหมดข้างต้น จะมีความชัดเจนได้ภายในต้นปี 2561 หรือไม่ ประกอบกับการที่ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. … ที่มีการกำหนดกรอบเวลาในการทำคดีของ ป.ป.ช.นั้น จะช่วยให้คดีต่างๆที่เหลืออยู่ ได้ข้อสรุปเร็วขึ้นหรือไม่
ขณะที่สำนักข่าวอิศรา จะทยอยนำข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการสอบสวนคดีใหญ่ต่างๆ มาเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบเช่นกัน