คุก54 ปี ยึดทรัพย์1.5หมื่นล.! ย้อนข้อมูล 'เสี่ยเปี๋ยง' บุคคลทุจริตแห่งปี60
"...หากนายอภิชาติ เลือกที่จะหยุด ไม่เลือกที่จะเดินหน้ากลับไปทำความผิดซ้ำรอยแบบเดิมอีก ใช้โอกาสครั้งใหม่ที่ได้รับ กลับมาสร้างความยิ่งใหญ่ ให้กับตนเองและพรรคพวก ด้วยวิธีการทำธุรกิจตามช่องทางปกติทั่วไป ขณะวันนี้ เราอาจจะได้เห็นชื่อของ บริษัทสยามอินดิก้าฯ ทายาทแต่ละคนของนายอภิชาติ กลายเป็นนักธุรกิจรุ่นใหม่ที่น่าจับตามอง ในวงการข้าว และอสังหาริมทรัพย์เมืองไทย ก็เป็นได้ ..."
ในช่วงปี 2560 ที่ผ่านมา มี นักการเมือง ข้าราชการ นักธุรกิจ จำนวนหลายราย ที่ตกเป็นผู้ต้องหาในคดีทุจริตสำคัญของประเทศไทย ซึ่งหลายคดีถูกศาลพิพากษาความตัดสินความผิดรับลงโทษไปแล้ว บางรายก็เดินทางหลบหนีออกนอกประเทศไทย ตัวอย่างเช่น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ตกเป็นผู้ต้องหาในคดีปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริตในโครงการระบายข้าวจีทูจี ที่ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษาจำคุก เป็นเวลา 5 ปี โดยไม่รอลงอาญา ซึ่งปัจจุบันถูกออกหมายจับ หลังไม่เดินทางไปรับฟังคำพิพากษาของศาล และยากที่จะเดินทางกลับเข้ามาในประเทศได้อีกต่อไปแล้ว
ขณะที่ อดีตรัฐมนตรี ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ และเอกชน ที่เกี่ยวข้องกับโครงการระบายข้าวจีทูจี ก็ถูกศาลตัดสินลงโทษ พร้อมสั่งให้ชดใช้เงินค่าเสียหายเป็นจำนวนรวมหลายหมื่นล้านบาทเช่นกัน (อ่านประกอบ: ไม่ให้ประกันหวั่นหนี!คุก'บุญทรง'42ปี 'ภูมิ'36ปี'เสี่ยเปี๋ยง'48ปีคดีจีทูจี-ชดใช้1.6หมื่นล.)
ด้วยเหตุและผลเช่นนี้ หากจะกล่าวอ้างว่า ข่าวการตัดสินคดีทุจริตระบายข้าวจีทูจี ของรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นข่าวเกี่ยวกับคดีทุจริตที่ใหญ่โตที่สุดในปี 2560 ที่ผ่านมา ของประเทศไทย คงไม่มีใครกล้าปฏิเสธได้
อย่างไรก็ดี ในคำตัดสินของศาลฎีกาฯ คดีนี้ บุคคลที่ดูเหมือนจะได้รับโทษมากที่สุด คงนี้ไม่พ้นนักธุรกิจคนสำคัญที่ชื่อว่า นายอภิชาติ จันทร์สกุลพร หรือเสี่ยเปี๋ยง เพราะถูกศาลฯ ตัดสินลงโทษเป็นระยะเวลากว่า 48 ปี นอกจากนี้ ยังถูกสั่งให้ชดใช้ค่าเสียหาย พร้อมกับ บริษัท สยามอินดิก้า จำกัด และ นายนิมล รักดี (โจ) คนใกล้ชิด เป็นจำนวนเงินกว่า 1.69 หมื่นล้านบาท
ขณะที่ในช่วงเวลาเดียวกัน สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ยังมีคำสั่งอายัดทรัพย์นายอภิชาติ คนใกล้ชิด และธุรกิจที่เกี่ยวข้องไปแล้วไม่ต่ำกว่า 10 ครั้ง คิดเป็นจำนวนเงินรวมกว่า 1.53 หมื่นล้านบาท มิหน่ำซ้ำ คนสำคัญในครอบครัว อย่าง นางสาวธันยพร จันทร์สกุลพร ลูกสาว ก็ถูกศาลฯ สั่งจำคุกลงโทษในคดีทุจริตระบายข้าว และปัจจุบันก็อยู่ระหว่างหลบหนีด้วย (อ่านประกอบ : ย้อนข้อมูลบ.ลับลูกเสี่ยเปี๋ยง! ปปง.สั่งอายัด2.3 พันล.-ความพยายามที่ไม่สูญเปล่าของ'อิศรา')
ทั้งหมดนี่คือบทลงโทษที่ นายอภิชาติ ได้รับไปจากคดีทุจริตระบายข้าวจีทูจี ที่หนักหนาแสนสาหัสเป็นอย่างมาก
แต่ดูเหมือนบทลงโทษของนายอภิชาติ จะไม่ได้มีแค่นั้น
เพราะก่อนหน้านี้ นายอภิชาติ ก็ได้ถูกศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาจำคุก เป็นเวลา 6 ปี โดยไม่รอลงอาญา จากคดีทุจริตยักยอกข้าวรัฐ หลังตกเป็นจำเลยร่วมกับบริษัทเพรสซิเดนท์ อะกิ เทรดดิ้ง จำกัด ของเขาเอง ในความผิดฐานยักยอกทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคแรก โดยศาลพิพากษายืนให้ลงโทษจำคุกนายอภิชาติ สำนวนละ 3 ปี ปรับสำนวนละ 6,000 บาท รวมจำคุกสองสำนวนเป็นเวลา 6 ปี ไม่รอลงอาญา และปรับ 12,000 บาท และให้จำเลยทั้งสองร่วมคืนข้าวสารที่ยักยอกไปในสำนวน อ.833-834/2558 จำนวน 16,400 ตัน หรือใช้เป็นเงินแทนจำนวน 175,480,000 บาท ให้กับกรมการค้าต่างประเทศกระทรวงพาณิชย์ ผู้เสียหาย และให้ร่วมกันคืนข้าวสารในสำนวน อ.835-836/2558 จำนวน 4,742.96 ตัน หรือใช้เงินแทน 54,385,902.07 บาท (รวมวงเงิน 229,865,902.07 บาท) และถูกส่งตัวเข้าขุมขังในเรือนจำ ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2559 ขณะที่มีกระแสข่าวปรากฎออกมาเป็นระยะๆ ว่า นายอภิชาติ มีอาการเจ็บป่วยรุมเร้าอยู่ตลอด ถึงขนาดต้องส่งเข้ามารักษาที่โรงพยาบาลส่วนกลาง (อ่านประกอบ : ชีวิตในเรือนจำปากน้ำแดน 3 'เสี่ยเปี๋ยง' หลังเจอคุก 6 ปี ยักยอกข้าวรัฐ ,อยู่แดน 3! จนท.เรือนจำปากน้ำ ยันศาลสั่งจำคุก 'เสี่ยเปี๋ยง' คดีข้าวยุค'เพรสซิเดนท์'')
เมื่อรวมโทษ 2 คดีเข้าด้วยกัน โทษจำคุกของนายอภิชาติ จะอยู่ที่ 54 ปี นับว่าเป็นบทลงโทษที่สูงมาก สำหรับนายอภิชาติ ที่อยู่ช่วงวัยชรา ร่างกายสังขาร ที่ทรุดโทรมลงไปตามกาลเวลา
แต่จะว่าไป เส้นทางชีวิตของนายอภิชาติ ก่อนที่จะมาเผชิญชะตากรรมในลักษณะ หากมองย้อนกลับไปในช่วงอดีตที่ผ่านมา จะพบข้อมูลที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะในเรื่องของ คำว่า 'ใช้โอกาส' และ คำว่า 'หยุด'
กล่าวคือ ในช่วงสมัยรัฐบาล นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี นายอภิชาติ ถูกระบุว่าเป็นนักธุรกิจที่ทรงอิทธิพลคนหนึ่งในยุคนั้น โดยเฉพาะเรื่องข้าว ภายใต้การทำธุรกิจในชื่อ บริษัทเพรสซิเดนท์ อะกิ เทรดดิ้ง จำกัด ซึ่งผูกขาดการรับซื้อข้าวจากรัฐบาลเพียงรายเดียวในยุคนั้น
แต่หลังจากนั้นไม่นาน บริษัทเพรสซิเดนท์ฯ ก็ปรากฎชื่อเข้าไปพัวพันกับคดีทุจริตหลายเรื่อง โดยเฉพาะคดีบ้านเอื้ออาทร ที่คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ช่วงหลังเหตุการณ์รัฐประหาร 19 ก.ย. เข้ามาตรวจสอบและส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สอบสวนต่อ ฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานปฎิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กรณีเรียกรับเงินผู้ประกอบการเอกชนในโครงการบ้านเอื้ออาทร
ขณะที่ บริษัทเพรซิเดนท์ฯ ตกเป็นหนี้ธนาคาร 8 แห่งเป็นเงินกว่า 12,000 ล้านบาท และมีการแจ้งความดำเนินคดีต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ)ฐานฉ้อโกงทรัพย์ ก่อนจะโดนคำพิพากษาให้ล้มละลาย ในเวลาต่อมา
และนั้น เป็นจุดสิ้นสุดยุครุ่งเรื่องของบริษัทเพรสซิเดนท์ฯ ที่จบลงไปพร้อมรัฐบาลนายทักษิณ และความเคลื่อนไหวของ นายอภิชาติ ก็เงียบหายไป
จนกระทั่งก้าวเข้าสู่ยุครัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ชื่อของนายอภิชาติ ก็กลับมาผงาดและอยู่ในความสนใจอีกครั้ง โดยเฉพาะคนในวงการค้าข้าว
เมื่อบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด ปรากฎรายชื่อเป็นผู้ชนะการประมูลรับปรุงคุณภาพข้าวสารส่งมอบองค์การสำรองอาหารแห่งประเทศอินโดนีเซีย (บูล็อก) จำนวน 300,000 ตัน ของ องค์การคลังสินค้า (อคส.) รัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงพาณิชย์
พร้อมเสียงครหาว่า ได้รับการเอื้อประโยชน์ เนื่องจากการประมูลงานนี้ คนวงการค้าข้าวส่วนใหญ่ไม่ได้รับรู้อย่างกว้างขวาง จึงทำให้มีบริษัทยื่นซองประมูลเพียง 2 บริษัทเท่านั้นคือ บริษัท สยามอินดิก้า จำกัด กับบริษัท นครสวรรค์ค้าข้าว จำกัด และเมื่อนับจากวันประกาศประมูลรวมระยะเวลาไม่ถึง 10 วัน อคส.ก็ประกาศบริษัทชนะประมูลคือบริษัท สยามอินดิก้า
ก่อนที่บริษัท สยามอินดิก้า จำกัด ถูกตรวจสอบพบว่า มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับบริษัท เพรซิเดนท์ อะกริ เทรดดิ้ง จำกัดเนื่องจากกรรมการและผู้ถือหุ้นหลายคน ในบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด เคยเป็นกรรมการและผู้ถือหุ้นในบริษัท เพรซิเดนท์ อะกริ เทรดดิ้ง มาก่อน อาทิ นายอภิชาติ จันทร์สกุลพร อดีตกรรมการและผู้ถือหุ้นใหญ่ บริษัท เพรซิเดนท์ อะกริ เทรดดิ้ง จำนวน 43,739,000 หุ้น เป็นอดีตผู้ก่อตั้ง กรรมการ และผู้ถือหุ้นใหญ่ บริษัท สยามอินดิก้า จำกัด จำนวน 232,560 หุ้น นายอนุ จารุศิลาวงศ์ และนางสาวเรืองวัน เลิศศลารักษ์ เคยถือหุ้นในบริษัท บริษัท เพรซิเดนท์ เกรนไซโล จำกัด ในเครือ บริษัท เพรซิเดนท์ อะกริ เทรดดิ้ง ก่อนจะเข้ามาถือหุ้นในบริษัท สยามอินดิก้า
หลังจากนั้น ไม่นานความไม่ชอบมาพากล ในการระบายข้าวจีทูจี ก็ถูกเปิดประเด็นขึ้นมาจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ของนายแพทย์วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ ในช่วงปลายปี 2555 มีการตรวจสอบพบพิรุธในการขายข้าวจำนวน 7.32 ล้านตัน ให้กับบริษัทต่างประเทศในรูปแบบรัฐต่อรัฐ หรือ จีทูจี โดยบริษัทจากจีนชื่อ “GSSG IMP AND EXPORT CORP” อยู่ที่เมืองกวางเจา เข้ามาทำสัญญาค้าข้าวกับกรมการค้าต่างประเทศ 5 ล้านตัน และมีการสอบสวนขยายประเด็นต่อมา จนกระทั่งเรื่องเข้าสู่การพิจารณาในชั้นศาลฯ และนายอภิชาติถูกตัดสินลงโทษจากคดีความดังกล่าว (ยังมีคดีการปรับปรุงคุณภาพข้าวสารส่งมอบองค์การสำรองอาหารแห่งประเทศอินโดนีเซีย (บูล็อก) จำนวน 300,000 ตัน ของ อคส. ที่ค้างอยู่อีกหนึ่งคดี)
หากพิจารณาในแง่มุมคำว่า 'ใช้โอกาส' และ คำว่า 'หยุด' ของนายอภิชาติ จะพบว่า ในช่วงหลังจากสิ้นสุดยุครัฐบาล นายทักษิณ เข้าสู่ยุคน.ส.ยิ่งลักษณ์
นายอภิชาติ เลือกที่จะใช้โอกาส ในการเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ทางธุรกิจใหม่อีกครั้ง หลังจากการล้มสลายของบริษัทเพรสซิเดนท์ อะกิ เทรดดิ้ง จำกัด โดยการจดทะเบียนตั้งบริษัทใหม่ ขึ้นมาใช้ชื่อ บริษัท สยามอินดิก้า เข้ามาดำเนินการ ขณะที่ตนเองก็หลบไปอยู่เบื้องหลังฉาก ปล่อยให้บุคคลใกล้ชิดเข้ามาดำเนินการแทน
นายอภิชาติ ไม่หยุด เลือกที่จะเดินหน้าต่อไป ใช้โอกาสครั้งใหม่ ที่ได้รับกลับมาสร้างความยิ่งใหญ่ให้กับตนเองและพรรคพวกอีกครั้ง
อะไรจะเกิดขึ้น ในทางตรงกันข้าม หากในช่วงสิ้นสุดยุครัฐบาล นายทักษิณ เข้าสู่ยุคน.ส.ยิ่งลักษณ์ นายอภิชาติ เลือกที่จะใช้โอกาสใหม่ ปรับปรุงแก้ไขตนเองนำบทเรียนประสบการณ์ จากคดีความต่างๆ ที่ต้องประสบพบเจอ จากการดำเนินงานของบริษัทเพรสซิเดนท์ อะกิ เทรดดิ้ง จำกัด มาเป็นบทเรียนในการบริหารงานธุรกิจใหม่ มุ่งทำธุรกิจปกติ หลีกเลี่ยงหนีห่างไกลจากคำว่า 'ผลประโยชน์' พอเพียงในผลประโยชน์กำไรที่ได้รับ ไม่มากไม่น้อยจนเกินไป
หากนายอภิชาติ เลือกที่จะหยุด ไม่เลือกที่จะเดินหน้ากลับไปทำความผิดซ้ำรอยแบบเดิมอีก ใช้โอกาสครั้งใหม่ที่ได้รับ กลับมาสร้างความยิ่งใหญ่ ให้กับตนเองและพรรคพวก ด้วยวิธีการทำธุรกิจตามช่องทางปกติทั่วไป
ขณะวันนี้ เราอาจจะได้เห็นชื่อของ บริษัทสยามอินดิก้าฯ ทายาทแต่ละคนของนายอภิชาติ กลายเป็นนักธุรกิจรุ่นใหม่ที่น่าจับตามอง ในวงการข้าว และอสังหาริมทรัพย์เมืองไทย ก็เป็นได้
แต่นั้นคงเป็นได้เพียงแค่ความคิดที่ไม่มีวันเป็นจริง เพราะ ณ วันนี้ ทุกอย่างมันสายเกินไปแล้ว เมื่อนายอภิชาติ เลือกเส้นทางชีวิตแบบนี้ ก็เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้นายอภิชาติ ต้องเดินทางมาถึงบทสรุปสำคัญ ต้องเข้าไปใช้เวลาช่วงบั้นปลายชีวิต ในคุกในตะราง ทรัยพ์สินทุกยึด ธุรกิจพังพินาศ คนใกล้ชิด ต้องพลอยมารับโทษรับกรรมต่อเนื่องตกไปตามกันแบบที่เป็นอยู่ในขณะนี้
ก็ได้แต่หวังไว้ลึกๆ ว่า บทเรียนชีวิตของนายอภิชาติ อดีตนักธุรกิจ ราชาค้าข้าวเมืองไทย น่าจะช่วยเป็นอุทาหรณ์ 'เตือนใจ' นักธุรกิจ รวมถึงนักการเมือง ข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐ รายอื่น ให้ระมัดระวังการชีวิต ในช่วงปี 2661 ที่ถึงนี้ รวมถึงปีต่อไป
โปรดอย่าลืมว่า ชีวิตคนเรามีโอกาสที่ดีๆ เข้ามาได้ไม่บ่อยครั้งนัก ก่อนจะลาจากโลกใบนี้ไป !