ส่องนโยบาย สมช. หนุน "พูดคุยสันติภาพ" ดับไฟใต้
ผ่านไปแล้ว 1 สัปดาห์สำหรับเหตุ "คาร์บอมบ์" ครั้งรุนแรงในย่านธุรกิจกลางเมืองหาดใหญ่ จ.สงขลา และ อ.เมือง จ.ยะลา แต่แทนที่ฝ่ายการเมืองและหน่วยงานที่รับผิดชอบจะพยายามเร่งควานหาสาเหตุหรือจุดโหว่จุดพลาดว่าอะไรที่ทำให้กลุ่มคนร้ายลอบวางระเบิดจนสร้างความเสียหายระดับนี้ได้ ทว่ากลับต้องมาทะเลาะเบาะแว้งกันเรื่อง...ใครไปเจรจากับแกนนำขบวนการแบ่งแยกดินแดน!?!
ทั้งๆ ที่การ "พูดคุยสันติภาพ" หรือ peace talk ได้รับการรับรองตาม นโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2555-2557 ว่าสามารถดำเนินการได้ เพียงแต่ต้องทำอย่างมี "เอกภาพ" และไม่นำไปสู่การแบ่งแยกดินแดนเท่านั้น
แต่คำว่า "เอกภาพ" ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ยังมีปัญหาอีก...นี่แหละหนาประเทศไทย
กระนั้นก็ตาม ไม่ว่า 7-8 ปีที่ผ่านมาจะแก้ปัญหากันมาอย่างไร ใครเป็นพระเอก หรือใครถูกทำให้เป็นผู้ร้าย แต่วันนี้เมืองไทยมี "นโยบายดับไฟใต้" ซึ่งเป็น "นโยบายกลาง" ที่ทุกหน่วยต้องถือปฏิบัติแล้ว เพราะเป็นนโยบายที่จัดทำขึ้นตามกฎหมายการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 มาตรา 4 ที่ให้สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) จัดทำนโยบายทั้งด้านความมั่นคงและการพัฒนาโดยให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม จากนั้นก็เสนอ สมช.และส่งให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบ ก่อนจะนำเสนอรัฐสภาเพื่อรับทราบเป็นขั้นตอนสุดท้าย
นโยบายนี้มีอายุ 3 ปี เมื่อครบ 3 ปีแล้วต้องทบทวน แต่หาก ครม.เห็นสมควรหรือสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยยะสำคัญ จะเสนอให้ทบทวนก่อน 3 ปีก็ได้
ปัจจุบันรัฐสภาได้รับทราบนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2555-2557 เรียบร้อยแล้วเมื่อไม่นานมานี้เอง ซึ่งรายละเอียดในนโยบายมีหลายส่วนที่น่าสนใจ โดยเฉพาะการระบุถึงสภาพของปัญหาและสถานการณ์ในปัจจุบัน, เงื่อนไขที่ทำให้เกิดความรุนแรง และแนวนโยบายเพื่อแก้ไข โดยเนื้อหาหลายส่วนสามารถอธิบายเหตุรุนแรงครั้งใหญ่เที่ยวล่าสุดได้เป็นอย่างดี
"ทีมข่าวอิศรา" สรุปเนื้อหาในส่วนต่างๆ มานำเสนอ...
วิเคราะห์สถานการณ์
ในหัวข้อ "สถานการณ์ในภาพรวม" ได้วิเคราะห์เอาไว้ว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปัจจุบัน ความยืดเยื้อของปัญหาส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงแรงจูงใจของการใช้ความรุนแรงและผู้อยู่เบื้องหลังการใช้ความรุนแรง จากเดิมที่ส่วนใหญ่มาจากการกระทำของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงที่มีอุดมการณ์ต่างจากรัฐ มาเป็นการก่อเหตุจากแรงจูงใจอื่นในสัดส่วนที่มากขึ้น โดยบางส่วนมีความเชื่อมโยงและเอื้อประโยชน์กับกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่ ทั้งความขัดแย้งในเรื่องผลประโยชน์ของกลุ่มอิทธิพล ความแค้นจากอารมณ์ของความเกลียดชัง และความแค้นจากเรื่องส่วนตัว
ความรุนแรงยังส่งผลให้เกิดการขยายตัวของอำนาจมืดและธุรกิจผิดกฎหมาย ความบาดหมางของคนต่างศาสนารุนแรงขึ้น เกิดข้อจำกัดในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากร และอาจมีการแทรกแซงจากภายนอกประเทศมากขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเสริมที่เป็นแรงผลักให้ปัญหาความรุนแรงที่เกิดจากกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงมีแรงหนุนและมีความเข้มแข็งมากขึ้น ที่สำคัญคือกระแสจากภายนอก เช่น กระแสท้องถิ่นนิยม กระแสการต่อสู้ด้วยแนวทางสุดโต่ง กระแสความขัดแย้งระหว่างตะวันตกกับโลกมุสลิม กระแสสิทธิทางการเมืองและสิทธิพลเมือง
3 เงื่อนไขความรุนแรง
ในหัวข้อ "เงื่อนไขของการใช้ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้" ได้ระบุถึงเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดความรุนแรงขึ้นในพื้นที่ ซึ่งมีทั้งระดับบุคคล โครงสร้าง และระดับวัฒนธรรม กล่าวคือ
เงื่อนไขระดับบุคคล ประกอบด้วย 4 ส่วน ได้แก่
ส่วนแรก การใช้อำนาจการปกครองและการบริหารราชการโดยเจ้าหน้าที่รัฐบางส่วนที่ให้ความสำคัญน้อยเกินไปกับความละเอียดอ่อนของอัตลักษณ์เฉพาะของพื้นที่ สิทธิประชาชน และการใช้อำนาจรัฐที่เกินขอบเขต
ส่วนที่สอง การใช้ความรุนแรงโดยกลุ่มบุคคลที่มีความคิด ความเชื่อ และอุดมการณ์ต่างจากรัฐ
ส่วนที่สาม การใช้ความรุนแรงอันมีมูลเหตุจูงใจจากความขัดแย้งในเรื่องผลประโยชน์ของกลุ่มอิทธิพล อำนาจมืด และธุรกิจผิดกฎหมาย
ส่วนที่สี่ การใช้ความรุนแรงอันมีเหตุความแค้นจากอารมณ์ของความเกลียดชัง และความแค้นจากเรื่องส่วนตัว
ขณะที่ เงื่อนไขระดับโครงสร้าง คือ โครงสร้างการปกครองและการบริหารราชการ ถึงแม้จะมีการกระจายอำนาจแล้วก็ตาม แต่การสนองตอบกับลักษณะทางอัตลักษณ์ ความต้องการและความคาดหวังของประชาชน ฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐยังดำเนินการได้ไม่ทั่วถึง เนื่องจากมีปัจจัยทั้งภายในและภายนอกหลายประการเป็นข้อจำกัด นำมาซึ่งความรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรม ถูกเลือกปฏิบัติ และขาดอำนาจในการบริหารจัดการท้องถิ่นของตนเองอย่างแท้จริง
เงื่อนไขระดับวัฒนธรรม คือ ประชาชนมุสลิมมลายูในพื้นที่รู้สึกแปลกแยก ไม่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย เนื่องจากมีการรับรู้และสัมผัสได้ว่า อัตลักษณ์ของตนถูกกดทับจากการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐบางคนที่ไม่เข้าใจ หวาดระแวง และมีอคติ รวมถึงการไม่ยอมรับจากสังคมใหญ่ จึงเป็นเงื่อนไขที่ทำให้คนในพื้นที่บางส่วนยอมรับหรือเห็นด้วยกับฝ่ายที่ใช้ความรุนแรง และเป็นเงื่อนไขสำคัญที่กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงหยิบยกมาใช้เป็นข้ออ้างให้ความชอบธรรมกับการใช้ความรุนแรงในการต่อสู้เพื่อเป้าหมายของตนในนามของอัตลักษณ์มุสลิมมลายู
กรอบนโยบาย 6 ข้อดับไฟใต้
สำหรับกรอบนโยบายดับไฟใต้มี 6 ข้อ ดังนี้
1.ดำเนินนโยบายบนพื้นฐานของการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง ภายใต้หลักยุทธศาสตร์พระราชทาน "เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา" และ "ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง"
2.การเปิดพื้นที่เพื่อร่วมกันแปรเปลี่ยนแนวทางการต่อสู้ด้วยความรุนแรงมาเป็นแนวทางการต่อสู้ด้วยสันติวิธี
3.การสร้างสมดุลของโครงสร้างอำนาจการปกครองและการบริหารราชการระหว่างส่วนกลางกับพื้นที่ โดยการกระจายอำนาจภายใต้เจตนารณ์รัฐธรรมนูญ และยึดหลักการบริหารจัดการบนพื้นฐานของความหลากหลายในความเป็นพหุสังคม
4.การเคารพสิทธิมนุษยชนและการยึดมั่นในหลักนิติรัฐ นิติธรรม การเห็นคุณค่าของความแตกต่างหลากหลาย การให้เกียรติอัตลักษณ์ของคนในพื้นที่ ตลอดจนการตระหนักและเคารพในกติการะหว่างประเทศ
5.การรับรู้และทำความเข้าใจสถานการณ์ที่เป็นจริงว่า ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นปัญหาร่วมกันของสังคมไทย และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหามีความจำเป็น
6.การดำเนินนโยบายภายใต้กลไกที่ประสาน สอดคล้อง และส่งเสริมกันในทุกมิติอย่างสมดุล
แปรนโยบายสู่ภาคปฏิบัติ
สำหรับแนวทางการปฏิบัติตามนโยบายดังกล่าวมี 34 ข้อ อาทิ
- ดำรงนโยบายการเมืองนำการทหารและใช้พลังทางสังคมมุ่งปรับเปลี่ยนวิธีคิดของทุกฝ่ายจากการใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหามาสู่การยึดมั่นแนวทางสันติวิธี ไม่มองกลุ่มเห็นต่างเป็นศัตรู
- ส่งเสริมมาตรการลดความหวาดระแวงและเพิ่มความร่วมมือระหว่างรัฐกับประชาชน ด้วยการให้ความสำคัญกับการคัดเลือกเจ้าหน้าที่รัฐโดยเฉพาะฝ่ายความมั่นคงที่เข้าใจและเคารพหลักสิทธิมนุษยชนลงไปปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่
- เพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานข่าวเชิงรุก
- พัฒนาระบบรักษาความปลอดภัยชุมชน โดยวางแผนร่วมกับชุมชน
- เร่งรัดการปราบปรามกลุ่มอำนาจอิทธิพลเถื่อน เพื่อขจัดปัญหาความรุนแรงที่แทรกซ้อนอันเกิดจากกลุ่มยาเสพติด กลุ่มผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ และกลุ่มธุรกิจผิดกฎหมาย
- เพิ่มการให้ความสำคัญกับการแก้ไขเงื่อนไขทางการเมืองและเงื่อนไขทางสังคมวัฒนธรรม ด้วยการป้องกันไม่ให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน หลักมนุษยธรรม และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
- ส่งเสริมเจ้าหน้าที่รัฐให้มีความรู้ ความเข้าใจ และเห็นคุณค่าของวิถีชีวิต ศาสนา วัฒนธรรม และอัตลักษณ์ของพื้นที่
- เร่งรัดคลี่คลายเหตุการณ์ที่เป็นข้อสงสัยของประชาชนและต่างประเทศให้กระจ่างชัด
- สร้างความโปร่งใสและความเชื่อมั่นในการดำเนินกระบวนการยุติธรรมตามหลักนิติธรรม หลักสิทธิมนุษยชน ให้เป็นที่พึ่งของประชาชน
- ปรับปรุงพัฒนาระบบและกระบวนการเยียวยาให้สนับสนุนการแก้ไขปัญหาในพื้นที่
- เสริมสร้างความไว้วางใจระหว่างประชาชนกับประชาชนให้สามารถอยู่ร่วมกันอย่างสันติ พร้อมผนึกกำลังแก้ไขปัญหาร่วมกัน โดยเปิดพื้นที่การสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจ
- ส่งเสริมการลงทุนของภาคเอกชนในสาขาที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตชุมชนและต้นทุนทางสังคม
- เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการฐานทรัพยากรธรรมชาติให้มีความสมดุลระหว่างการใช้เพื่อตอบสนองการพัฒนากับการรักษาให้ยั่งยืน โดยผ่านบทบาทของประชาชน ภาคประชาสังคม ชุมชน และองค์กรท้องถิ่น
- เร่งรัดให้เกิดการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบและกระบวนการศึกษาในทุกระดับที่สอดคล้องกับอัตลักษณ์และวิถีชีวิตของพื้นที่อย่างแท้จริง
- ให้การดำเนินวิถีชีวิต การปฏิบัติตามหลักศาสนาเป็นไปโดยไม่มีอุปสรรค ปรับทัศนคติที่ไม่ถูกต้อง ปรับกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องให้เอื้อต่อเสรีภาพในการดำเนินชีวิตตามหลักศาสนา และขจัดการเลือกปฏิบัติทางวัฒนธรรม
- ส่งเสริมการเรียนรู้ภาษาไทย ภาษามลายู ภาษามลายูถิ่น และภาษาต่างประเทศที่สำคัญในทุกระดับการศึกษา
- ส่งเสริมบทบาทของผู้นำศาสนา ผู้นำชุมชน นักการศึกษา สื่อมวลชน สตรี เด็ก และเยาวชน ให้มีส่วนร่วมในกระบวนการแก้ไขปัญหาในระดับชุมชนมากขึ้น
- ส่งเสริมพัฒนาศักยภาพของผู้นำศาสนาอย่างเป็นระบบ อาทิ การมีวิทยาลัยอิหม่าม
- เสริมสร้างความเข้าใจกับสังคมไทย และผู้เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้
- เสริมสร้างช่องทางการสื่อสารสองทางผ่านมิติของงานปฏิบัติการข่าวสารและงานมวลชนสัมพันธ์ของรัฐ
- เปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนบนพื้นฐานของความไว้วางใจซึ่งกันและกัน
- เพิ่มระดับการปฏิสัมพันธ์และเสริมสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในการแก้ไขปัญหากับต่างประเทศและองค์กรระหว่างประเทศเพื่อให้สนับสนุนการแก้ไขปัญหา
- เชื่อมโยงการติดต่อสัมพันธ์ระหว่างประชาชนในพื้นที่กับสังคมมุสลิมภายนอกประเทศ ฯลฯ
หนุนกระบวนการ "พูดคุยสันติภาพ"
ที่น่าสนใจคือวัตถุประสงค์ข้อ 8 จาก 9 ข้อเพื่อแปรนโยบายสู่การปฏิบัติ ระบุว่า เพื่อสร้างสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมและเอื้อต่อการพูดคุยในการแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งและการให้หลักประกันในการเข้ามามีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้องและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในกระบวนการเสริมสร้างสันติภาพ มีวิธีการคือ
1.ส่งเสริมการพูดคุยระหว่างกลุ่มคนที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ในเรื่องหลักการ เป้าหมาย และรูปแบบของการกระจายอำนาจที่เหมาะสมบนพื้นฐานความเป็นพหุสังคมของจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่อยู่ภายใต้เจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ และเป็นหลักสากลที่ได้รับการยอมรับ ไม่ใช่เป็นเงื่อนไขนำไปสู่การแบ่งแยกดินแดน
2.ส่งเสริมความต่อเนื่องของกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพกับกลุ่มบุคคลที่มีความเห็นและอุดมการณ์แตกต่างจากรัฐที่เลือกใช้ความรุนแรงต่อสู้กับรัฐ ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยดำเนินการอย่างเป็นเอกภาพ และเพิ่มความร่วมมือกับต่างประเทศ หรือองค์กรที่ไม่ใช่ภาครัฐ เพื่อสนับสนุนกระบวนการพูดคุยดังกล่าว
สรุปว่าการพูดคุยเพื่อสันติภาพ หรือ peace talk คือหัวใจสำคัญข้อหนึ่งในภารกิจดับไฟความรุนแรงที่ปลายด้ามขวานภายใต้นโยบายใหม่ที่ทุกหน่วยต้องถือปฏิบัติ!
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : การพูดคุยสันติภาพครั้งหนึ่งเมื่อปลายปี 2549 ที่ประเทศมาเลเซีย (ภาพจากแฟ้มภาพอิศรา)
หมายเหตุ : เทคนิคพรางภาพโดย ฝ่ายศิลป์ ทีมข่าวอิศรา