ชาวบ้านพื้นที่โครงการโปแตซอุดรฯโวย บริษัทใช้เงินฟาดหัว
ปัญหาเหมืองโปแตซอีสานปะทุอีกรอบ บริษัทควักกระเป๋าจ่ายค่าลอดใต้ถุน ย้ำทำตามมาตรา 67 วรรค 2 คาดปีหน้าสร้างได้ ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์โวยเงินซื้อไม่ได้ หากเหมืองเกิด ผลกระทบชั่วลูกหลาน
วันที่ 6 ม.ค.54 ที่บริษัทเอเชียแปซิฟิคโปแตชคอเปอร์เรชั่น(เอพีพีซี) ต.หนองไผ่ อ.เมือง จ.อุดรธานี นายวิสุทธิ์ จิราธิยุติ กรรมการผู้จัดการใหญ่ แถลงข่าวและมอบเงิน “ค่าลอดใต้ถุน” ไร่ละ 1,000 บาท แก่ชาวบ้านที่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินในเขตประทานบัตรโครงการเหมืองแร่โปแตช โดยนายสุวิทย์กล่าวว่าเงินดังกล่าวเป็นการให้เปล่าที่บริษัทมอบให้ชาวบ้านเป็นการเบื้องต้นโดยไม่มีข้อผูกมัดใดๆทั้งนี้ยังไม่มีการสำรวจผู้มีกรรมสิทธิ์ที่ดินว่ามีกี่ราย กี่ไร่ เป็นเพียงแจ้งให้ผู้มีสิทธิ์มาขึ้นทะเบียน ซึ่งขณะนี้มี 300 ราย
ผู้สื่อข่าวจากศูนย์สื่อท้องถิ่นเพื่อการพัฒนารายงานว่ามีชาวบ้านเพียง 64 รายเท่านั้นที่มารับมอบเงิน โดยคิดเป็น 450 ไร่ๆละ 1,000 บาท รวมเป็นเงิน 454,240 บาท ขณะที่มีพื้นที่ขอประทานบัตรมีมากถึง 27,000 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ ต.โนนสูง ต.หนองไผ่ อ.เมือง ต.นาม่วง ต.ห้วยสามพาด อ.ประจักษ์ศิลปาคม
ด้านนางจันทา สัตยาวัน ชาวบ้านหนองตะไก้ ซึ่งมีกรรมสิทธิ์ที่ดินกว่า 100ไร่ อยู่ในเขตขอประทานบัตร เปิดเผยว่าเป็นการจัดฉากจ่ายเงินค่าลอดใต้ถุนของบริษัท ซึ่งไม่ได้รับความสนใจจากชาวบ้าน เพราะชาวบ้านตระหนักดีว่าผลกระทบจากการทำเหมืองที่จะเกิดขึ้นนั้นมหาศาลชั่วลูกชั่วหลาน ซึ่งพวกตนไม่เห็นด้วยที่จะใช้เงินมาซื้อชีวิตชาวบ้าน
“ที่ผ่านมาบริษัทพยายามสร้างภาพเพื่อให้คนข้างนอกเห็นว่าชุมชนยอมรับ โดยใช้วิธีการเอาเงินหว่าน แต่ไม่เคยให้ข้อเท็จจริงกับชาวบ้าน ซึ่งพวกเราเห็นว่าเงินนั้นใช้แล้วก็หมดไป แต่เหมืองจะอยู่กับพวกเราไปจนถึงลูกหลาน ที่ดินนั้นสามารถใช้ทำมาหากินได้นานเท่านาน เมื่อเหมืองเกิดขึ้นมีผลกระทบ ดินเค็ม น้ำเค็ม ที่ดินทำกินไม่ได้ ลูกหลานเจ็บไข้แล้วเราจะอยู่กันอย่างไร ซึ่งมันไม่คุ้ม” นางจันทา กล่าว
ขณะที่นายสุวิทย์ กุหลาบวงษ์ นักพัฒนาที่ได้รับรางวัลสิทธิมนุษยชนด้านชุมชนจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่าอยากตั้งคำถามกับบริษัทว่าแจกเงินเพื่ออะไร เพราะการจ่าย “ค่าลอดใต้ถุน” ไม่ได้ระบุไว้ในกฎหมาย ตนเห็นว่าบริษัทมีเป้าหมายต้องการแบ่งแยกชาวบ้านให้เห็นว่าใครคัดค้าน-ใครเห็นด้วยกับโครงการมากกว่า ซึ่งก็มีบทเรียนให้เห็นแล้วในพื้นที่อื่น
“แม้บริษัทจะบอกว่าไม่มีเงื่อนไขใดๆ แต่มีบทเรียนให้เห็นแล้วกรณีชาวบ้านในพื้นที่เหมืองทองคำ จ.พิจิตร ซึ่งบริษัทให้ชาวบ้านเอาเอกสารสำคัญเกี่ยวกับที่ดินมายืนยัน แล้วบริษัทจ่ายเงินให้พร้อมกับสลักหลังเอกสารว่าห้ามลุกขึ้นมาต่อต้านหรือคัดค้านอีก”
นายสุวิทย์ กล่าวและบอกอีกว่า การจ่ายเงินค่าลอดใต้ถุนจะเพิ่มความขัดแย้งในพื้นที่มากยิ่งขึ้น เพราะชาวบ้านที่ไปขึ้นทะเบียนขอรับเงินกับบริษัทก็จะออกมาต่อต้านและกล่าวหาชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ซึ่งไม่เห็นด้วยกับโครงการว่าขัดขวางการได้เงินของพวกเขาเหล่านั้น
ด้านนายวิสุทธ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่เอพีพีซี กล่าวว่าการที่ชาวบ้านมารับเงินน้อย เป็นปัญหาความเข้าใจที่คาดเคลื่อนแต่ไม่ใช่การคัดค้านโครงการของบริษัท
“ปัญหาที่เกิดขึ้นมีหลายประการ ทั้งเจ้าของที่ดินไปทำงานต่างจังหวัด ต่างประเทศ, เอกสารสิทธินำไปจำนองสถาบันการเงินโดยไม่ได้เก็บสำเนาไว้ พื้นที่เป็นแปลงเล็กๆ จำนวนเงินที่จะได้รับไม่มากนัก และการเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าเรามาซื้อที่ดินเพียงไร่ละไม่กี่บาท แต่คงไม่ใช่การต่อต้านของคนในพื้นที่“
นายวิสุทธิ์ ยังกล่าวว่าหลังจากกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่(กพร.)รังวัดขึ้นรูปแผนที่แล้ว ก็จะเดินหน้าตามที่ กพร.แนะนำ และจะทำตามรัฐธรรมนูญ ม.67 วรรคสอง อย่างเคร่งครัด โดยกำลังคัดเลือกที่ปรึกษาเข้ามาจัดทำรายงานศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม สังคม สุขภาพ และเศรษฐกิจ เพื่อให้การศึกษาครอบคลุมครบถ้วน รวมถึงว่าจ้างที่ปรึกษาต่างประเทศในส่วนที่เอพีพีซีขาดความชำนาญ เร็วที่สุดปีหน้าน่าจะสามารถก่อสร้างได้ .