คู่สร้างคู่สม นิตยสารชาวบ้านตาย...ความรู้ชาวบ้านก็จะตายตาม
นึกถึง “นิตยสารคู่สร้างคู่สม” เรามักนึกถึงหน้า ดำรง พุฒตาล ลอยมา แต่ยังมีบุคคลเบื้องหลังที่คอยให้คำปรึกษานั่นก็คือ “มกุฎ อรฤดี” ศิลปินแห่งชาติ มาเล่าถึงจุดเริ่มต้นของคนอยากทำหนังสือเพื่อชาวบ้าน ให้ได้อ่าน ได้ความรู้ แถมมีราคาถูก
ส่งท้ายปี 2560 กับการปิดฉาก 38 ปี บนแผงหนังสือของ “นิตยสารคู่สร้างคู่สม” ซึ่งมีราคาจำหน่ายเล่มละ 30 บาท สะท้อนให้เห็นวิกฤตวงการสื่อสิ่งพิมพ์ไทยอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
นิตยสารคู่สร้างคู่สม ถือเป็นนิตยสารฉบับเดียวที่เหลืออยู่ก็ว่าได้ที่เข้าถึงผู้อ่านระดับชาวบ้าน จนได้รับความนิยมสูงสุด ทำกำไรมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน “ดำรง พุฒตาล” ผู้บริหารบริษัท คู่สร้างคู่สม (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งออกมาบอกเล่าผ่านรายการมองรอบด้าน สุดสัปดาห์ ถึงสาเหตุที่แท้จริงของการปิดตัว เพราะต้านกระแสโซเซียลมีเดียไม่ไหว โดยเฉพาะการลอกเนื้อหาที่นำเสนอผ่านนิตยสารไปไว้ในสื่อออนไลน์ จนเกิดความท้อใจ (อ่านประกอบ:แถลงเอง! จบตำนาน 38 ปี 'ดำรง' ยันปิดคู่สร้างคู่สม วางเเผงฉบับ 1005 เล่มสุดท้าย-ไม่ทำออนไลน์)
อย่างไรก็ตาม หลายคนอาจไม่ทราบว่า กว่าจะมาเป็น “คู่สร้างคู่สม” ทุกวันนี้ “ดำรง พุฒตาล” ในวัยหนุ่มนั้น ซึ่งขณะนั้นเขาเป็นผู้ดำเนินรายการชื่อดัง ได้เคยมาขอคำปรึกษาจากผู้ใหญ่ท่านหนึ่งถึงความเป็นไปได้ที่จะผลิตนิตยสารเพื่อชาวบ้านขึ้นมา
ผู้ใหญ่ท่านนั้น ก็คือ “อาจารย์มกุฎ อรฤดี” ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ และบรรณาธิการสำนักพิมพ์ผีเสื้อในวันนี้
“วันอาทิตย์ ผมนั่งทำงานอยู่ในกองบรรณาธิการนิตยสารบีอาร์ ย่าน ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ ได้ยินเสียงเคาะประตู ปรากฎว่า คุณดำรง พุฒตาล มายืนอยู่หน้าประตู บอกขอคุยได้ไหม” อ.มกุฎ เริ่มต้นเล่าย้อนวันวานให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นการตีพิมพ์คู่สร้างคู่สม วันนั้นคุณดำรงบอกว่า “อยากทำนิตยสาร”
ขณะนั้นอาจารย์มกุฎ กำลังทำนิตยสารบีอาร์ ได้ชื่อว่าเป็นนิตยสารไฮโซที่สุดในสมัยนั้น มีคอลัมน์ต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็น แฟชั่น รถยนต์ อาหาร จำหน่ายในราคาเล่มละ 20 บาท ในขณะที่ค่าแรงขั้นต่ำวันละ 15 บาท
“คิดอะไรจึงอยากทำนิตยสาร” อาจารย์มกุฎ ถามคุณดำรง ขณะที่เขามาขอคำปรึกษา เมื่อพูดคุยไปได้สักพักใหญ่
คุณดำรง ตอบว่า “อยากทำนิตยสารชาวบ้าน”
อาจารย์มกุฎย้ำว่า คุณดำรงใช้คำว่า “ชาวบ้าน” ถ้าใช้คำว่า ชาวบ้าน ซึ่งตลาดจะกว้างมาก และคนละตลาดกับที่เขาทำอยู่ สมัยนั้นนอกจากนิตยสารบีอาร์แล้ว ยังมีนิตยสารอีก 3-4 ฉบับ ที่อยู่ในเครือเดียวกันกับบีอาร์ และแต่ละฉบับล้วนแต่ผลิตเพื่อคนชั้นสูงทั้งสิ้น
“ผมอยากทำ” คุณดำรงย้ำคำเดิม
เมื่ออยากทำ อาจารย์มกุฎจึงเห็นด้วยกับการผลิตนิตยสารชาวบ้าน และได้แนะนำให้พูดคุยกับนายทุนที่ชื่อ “บุรินทร์ วงศ์สงวน” ซึ่งคุณดำรงสนิทสนมอยู่แล้ว
" บุรินทร์ วงศ์สงวน ได้รับการยกย่องเป็นผู้บุกเบิกนิตยสารสมัยใหม่ในไทย เพราะเป็นนักเรียนนอกจากสหรัฐฯ มีถิ่นพำนักในฮ่องกง เรียกว่า เป็นคนหัวทันสมัย และมีคุณูปการอย่างใหญ่หลวงกับวงการนิตยสาร เป็นคนนำสี่สีมาใช้ในหนังสือพิมพ์รายวันคนแรก เมื่อปี 2516 จึงกล่าวได้ว่า หากไม่มีผู้ชายคนนี้ วงการนิตยสารไทยจะไม่พลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ"
นั่นคือเรื่องราวพอสังเขปก่อนจะมาเป็น “นิตยสารคู่สร้างคู่สม” ที่ผลิตขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ “ทำให้ชาวบ้านอ่าน” จนกระทั่งเวลาต่อมาได้รับความนิยมสูงสุด บางฉบับพิมพ์หลายแสนเล่ม และหลายรอบเลยทีเดียว
อาจารย์มกุฎ มองถึงยอดการจัดจำหน่ายจำนวนมาก โดยเฉพาะการได้รับความนิยมในกลุ่มชาวบ้าน ยังสะท้อนให้เห็นว่า ชาวบ้านขาดสื่อที่เข้าถึงเหมือน “คู่สร้างคู่สม”
"คนต่างจังหวัด หรือคนที่การศึกษาไม่สูงนัก และไม่ได้มีรายได้มากมาย สามารถเข้าถึง และซื้อหามาอ่านได้ เพราะมีราคาถูก เต็มไปด้วยเนื้อหาที่เหมาะสมกับชาวบ้าน สิ่งนี้ตอกย้ำว่า ชาวบ้านต่างจังหวัดยังมีความต้องการอ่านนิตยสารที่ให้สาระความรู้ในราคาถูก ไม่ต้องวิจัย เพราะตลอดเวลา 38 ปี ของคู่สร้างคู่สม พิสูจน์แล้ว"
แต่หลังจากนี้ไปต่างหากที่จะเป็นปัญหา ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ แสดงความห่วงใยทิ้งท้าย เมื่อนิตยสารที่เข้าถึงชาวบ้าน ไม่ว่าจะเป็น สกุลไทย คู่สร้างคู่สม ชีวิตรัก ปิดตัว จะมีเครื่องมือใดที่สื่อสารถึงชาวบ้านราคาถูกที่สุด เพราะในนิตยสารจะเต็มไปด้วยคอลัมน์ที่มีความรู้ หรือให้ชาวบ้านได้เขียนจดหมายมาแสดงความคิดเห็น ทั้งหมดเป็นเรื่องพื้นฐานความรู้ของชาวบ้านทั้งสิ้น
เมื่อนิตยสารชาวบ้านตาย...ความรู้ชาวบ้านจะตายตาม การจะหวังพึ่งโลกออนไลน์ เขาเห็นว่า ยาก เพราะมีชาวบ้านกี่คนที่เข้าถึงระบบทันสมัยนั้นจริง ๆ .