ปฏิรูปดีเอสไอ ขีดเส้นส่งการบ้าน 25 ม.ค.
'ประจิน' สั่งดีเอสไอตรวจบัญชีแนบท้าย ส่งคืนคดีเล็กให้ตำรวจสอบสวนปกติ พร้อมเสนอปรับโครงสร้างบอร์ดกคพ. ขีดเส้นให้เสร็จ 25 ม.ค.นี้
พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยความคืบหน้าการปฎิรูปการทำงานของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ว่า หลังจากมีการหารือร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.)แล้ว ตนได้สั่งการให้ดีเอสไอตรวจสอบพ.ร.บการสอบสวนคดีพิเศษที่กำหนดกรอบการทำงานของดีเอสไอให้มีความชัดเจน โดยให้พิจารณาความเหมาะสมในการสอบสวนแต่ละประเภทคดีว่า คดีอะไรบ้างควรใช้อำนาจการสอบสวนพิเศษและเครื่องมือพิเศษ. ส่วนคดีที่ตำรวจท้องที่สามารถทำได้ตามกฎหมายปกติก็ต้องผ่องถ่ายคืนให้สตช.รับกลับไปทำ. นอกจากนี้ยังมีการเสนอให้มีการปรับองค์ประกอบของคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ร่วมด้วยรัฐมนตรี และหัวหน้าส่วนราชการต่างๆจำนวน 23 คน โดยขอให้มีการปรับเปลี่ยนบางตำแหน่งและให้เพิ่มสัดส่วนผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้รับการยอมรับจากสังคมมาร่วมเป็นบอร์ดในการพิจารณารับคดีพิเศษด้วย
พล.อ.อ.ประจิน กล่าวอีกว่า ดีเอสไอมีกำหนดที่จะส่งรายละเอียดเกี่ยวกับการปฏิรูปองค์กรภายในวันที่ 25 ม.ค.2561 หลังได้รับรายงานทิศทางการปฎิรูปของดีเอสไอแล้ว ตนจะส่งให้ผบ.ตร.แสดงความคิดเห็น เพื่อสรุปรายงานส่งให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้รับทราบว่า ตั้งแต่มีการก่อตั้งดีเอสไอตั้งแต่ปี 2547 ได้มีการพัฒนาองค์กรและพัฒนามาเป็นลำดับขึ้นอย่างไร
การทำงานทำให้เกิดปัญหาระหว่างตำรวจและประชาชนอย่างไร โดยเฉพาะกรณีที่ประชาชนไปแจ้งความแล้วทางสน.ท้องที่บอกว่าเป็นคดีพิเศษ ให้มาที่ดีเอสไอ ซึ่งทำให้เสียเวลาด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย
แต่หลังจากนี้จะเห็นภาพชัดเจน เบื้องต้นให้ตำรวจรับแจ้งความทุกคดีแล้วส่งสำนวนมาให้ดีเอสไอ
"ข้อกังวลใจเดียวของตำรวจคือ เมื่อประชาชนมาแจ้งความแล้วพบว่าเป็นความผิดตามพ.ร.บ.แนบท้ายการสอบสวนคดีพิเศษก็ต้องส่งมาดีเอสไอ จึงต้องมีการกำหนดแนวทางให้ชัดเจนว่าให้รับตำรวจรับแจ้งความไว้ก่อนแล้วส่งต่อมาให้ดีเอสไอดำเนินการต่อไป”พล.อ.อ.ประจินกล่าว
แหล่งข่าวจากกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยว่า รมว.ยุติธรรมได้กำชับให้ดีเอสไอเข้าไปตรวจสอบบัญชีคดีแนบท้ายตาม พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งไม่ควรจะทำงานซ้ำซ้อนกับตำรวจ หากเป็นคดีความผิดทั่วไปควรให้ตำรวจทำคดีตามปกติ ทั้งนี้หากจะปรับลดบัญชีแนบท้ายก็ต้องแก้ประกาศคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) ซึ่งอาจต้องใช้เวลา อย่างไรก็ตาม ส่วนเรื่องอำนาจการรับสอบสวนคดีพิเศษตามบัญชีแนบท้าย ซึ่งเติมเป็นอำนาจเบ็ดเสร็จของอธิบดีดีเอสไอก็ถูกปรับเปลี่ยนให้ผ่านขั้นตอนการกลั่นกรองของศูนย์บริหารคดีพิเศษ ก่อนเสนอให้คณะกรรมการรับคดีพืเศษ ที่มีรองอธิบดีที่รับผิดชอบกลุ่มงานคดีในแต่ด้านเป็นผู้ร่วมลงมติว่าจะรับหรือไม่รับสอบสวน อย่างไรในที่ประชุมร่วมเสนอให้มีตัวแทนของสตช.เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการรับคดีพิเศษด้วย ทั้งนี้กลุ่มงานคดีที่ส่งผลกระทบกับการทำงานซ้ำซ้อนตำรวจกับดีเอสไอ คือ คดีแชร์ลูกโซ่ต่างๆที่กำลังระบาดหนักทั่วประเทศ