ควันหลงเผารถทัวร์ ชาวบ้านแฉถูกเหวี่ยงแหจับ ต้องเผ่นพ้นพื้นที่
เหตุคนร้ายนับสิบคนพร้อมอาวุธสงครามครบมือ บุกจี้รถทัวร์สายเบตง-กรุงเทพฯ ขณะแล่นผ่านพื้นที่ อ.บันนังสตา จ.ยะลา แล้วไล่ผู้โดยสารลงทั้งหมด ก่อนจุดไฟเผารถจนวอดทั้งคัน เมื่อ 17 ธ.ค.ที่ผ่านมานั้น นับเป็นเหตุการณ์ระทึกขวัญจากชายแดนใต้ส่งท้ายปี แม้จะไม่มีผู้ใดบาดเจ็บหรือเสียชีวิตเลยก็ตาม
หลายฝ่ายมองว่าเหตุเผารถทัวร์ครั้งนี้เป็นเหตุใหญ่ และคนร้ายมีโอกาสทำได้มากกว่านี้ รุนแรงกว่านี้ แต่ไม่ทำ สะท้อนถึงศักยภาพของกลุ่มผู้ก่อเหตุ ทั้งยังส่งสารเชิง "สัญลักษณ์" ไปถึงการตอบโต้โครงการพัฒนาด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล ตามที่ "นายกฯลุงตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ออกมาบอกเช่นนั้น
เมื่อเรื่องนี้เป็น "เรื่องใหญ่" เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร จึงต้องทำงานกันขวักไขว่เพื่อหาตัวคนร้ายมาให้ได้โดยเร็วที่สุด
แต่การจะรู้ตัวคนร้าย ต้องมีพยานหลักฐานเสียก่อน ทว่าย่านนั้นแทบไม่มีกล้องโทรทัศน์วงจรปิด ทำให้เบาะแสหายาก เหลือแต่คนในละแวกที่เกิดเหตุที่น่าจะเป็น "พยานชั้นดี" ได้เหมือนกัน
การไล่เชิญตัวบุคคลที่พักอาศัยและทำมาหากินในย่านนั้นจึงเกิดขึ้น มีการนำตัวเข้ากระบวนการซักถามในค่ายทหารรวม 7 คน แม้ทั้งหมดจะไม่ถูกดำเนินคดี แต่ก็สร้างความเครียดและหวาดหวั่นให้กับพวกเขา เพราะทุกคนเคยเผชิญหน้ากับความรุนแรงมาแล้วหลายครั้ง บางคนเคยอยู่ในสถานะ "เหยื่อ" ด้วยซ้ำ
ฟารีดะห์ ประดู่ สาวมือพิการเนื่องจากได้รับบาดเจ็บจากเหตุคนร้ายยิงถล่มบ้านเมื่อปี 54 เล่าว่า บ้านอยู่ริมถนน ตรงข้ามกับจุดเกิดเหตุคนร้ายเผารถบัส จริงๆ บริเวณนี้เคยเกิดเหตุรุนแรงใหญ่ๆ มาแล้ว 3 ครั้ง ครั้งแรก เมื่อวันที่ 3 พ.ค.54 คนร้ายกราดยิงร้านน้ำชาซึ่งเป็นบ้านของเธอเอง ทำให้ นายอูเซ็ง บือราเฮง, น.ส.รอยซัน เย็งเลาะ, นายฮาซัน จิใจ และ ด.ช.รุสลัน วาแวนิ เสียชีวิต ส่วนเธอและชาวบ้านอีก 12 คนได้รับบาดเจ็บ
ครั้งที่สอง วันที่ 5 เม.ย.56 คนร้ายลอบวางระเบิดรถยนต์ของ นายอิศรา ทองธวัช อดีตรองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา เสียชีวิต พร้อมกับ นายเชาวลิต ไชยฤกษ์ ปลัดปกครอง ขณะที่โชเฟอร์ได้รับบาดเจ็บ และครั้งที่สาม ก็คือเหตุการณ์เมื่อวันที่ 17 ธ.ค.60 คนร้ายจี้และเผารถบัส โชคดีไม่มีใครบาดเจ็บ
ฟารีดะห์ บอกว่า เหตุรุนแรงเที่ยวล่าสุดทำให้คนในครอบครัวของเธอถูกพาตัวไปสอบปากคำ
"ประมาน 1 ทุ่มหลังเกิดเหตุ ทหารก็มาเอาตัวน้องชายไป บอกว่าจะขอสอบปากคำที่ค่ายทหารในบันนังสตา ไม่นานทหารก็โทรมาบอกว่าจะเอาน้องไปที่ค่ายอีกแห่งหนึ่งใน จ.ยะลา พอประมาน 3 ทุ่มกว่าๆ ผู้ชวยผู้ใหญ่บ้านมาที่บ้าน บอกว่าให้น้องสะใภ้ ซึ่งเป็นภรรยาของน้องชายที่ทหารเอาตัวไปก่อนหน้านี้ ไปที่โรงพักบันนังสตา เพราะตำรวจจะขอสอบปากคำ เนื่องจากเหตุเกิดหน้าบ้าน น่าจะรู้อะไรบ้าง ตำรวจสอบปากคำถึง 4 ทุ่ม ก็ปล่อยน้องสะใภ้กลับมา"
เธอเล่าว่า น้องชายถูกกักตัวไว้นานถึง 7 วันก็ได้รับอิสรภาพ แต่เรื่องก็ยังไม่จบ
"ทหารจับตัวน้องชายไป 7 วัน ก็ปล่อยตัวออกมา อยู่บ้านได้ 2 วันก็มีรถยนต์แปลกๆ คนในรถแต่งชุดนอก (หมายถึงแต่งชุดไปรเวท ไม่ได้แต่งเครื่องแบบ) มาวนเวียนแถวบ้านหลายรอบ ทุกคนในบ้านก็กลัว ก็เลยคุยกันว่าให้น้องชายไปอยู่ที่อื่นก่อน เมื่อตัดสินใจแบบนั้น ก่อนออกจากบ้านก็ได้ไปลงบันทึกประจำวันกับตำรวจ เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ เพราะกลัวเขาจะหาว่าน้องชายหลบหนี"
"จะอยู่บ้านก็กลัวความปลอดภัยของน้อง กลัวเขาจะมาทำร้าย กลัวไปหมด เพราะมั่นใจว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ปกติแน่นอน" เธอเปิดใจ
ฟารีดะห์ บอกว่า เหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นหน้าบ้าน นอกจากจะทำให้ตกใจกลัวสุดขีดแล้ว ยังนำพาความยุ่งยากมาให้คนในครอบครัวอีกหลายอย่าง
"วันเกิดเหตุทุกคนตกใจยังไม่หาย แม่ตกใจจนสลบ ตอนนั้นน้องชายและตัวก๊ะเองไม่ได้อยู่บ้าน น้องสะใภ้โทรบอกว่ามีเหตุเผารถบัสหน้าบ้าน แม่ตกใจจนสลบ จากนั้นน้องสะใภ้ก็โทรหารถมูลนิธิอีลาลอัฮหมัดให้มารับแม่ไปโรงพยาบาล แต่ก็เข้าไม่ได้ ระหว่างนั้นน้องชายก็กลับมา แต่เข้าบ้านไม่ได้เหมือนกัน เพราะมีต้นไม้ถูกตัดขวางทาง สุดท้ายน้องชายต้องเข้าบ้านพร้อมกับรถมูลนิธิ พอเข้ามาก็เปลี่ยนเสื้อผ้าพาแม่ไปส่งที่โรงพยาบาล ที่รู้สึกแปลกใจมากที่สุดคือทำไมเจ้าหน้าที่ไม่ดูแลบริเวณนี้อย่างเต็มที่ เพราะเกิดเหตุบ่อยมาก ปกติก็จะมีเจ้าหน้าที่ทหารมาแขวนเปลนอน แต่วันนั้นไม่มีสักคน แถมไม่มีกล้องวงจรปิดเลยด้วย ทำให้ชาวบ้านงงมาก"
ฟารีดะห์ เล่าด้วยว่า เคยถามทหารและตำรวจว่าเหตุใดจึงเกิดเหตุรุนแรงย่านนี้บ่อยครั้ง แต่ก็ไม่ได้รับคำตอบ
"เคยถามทหาร ถามตำรวจบันนังสตาว่า แถวนี้เกิดเหตุการณ์บ่อยมาก ทั้งๆ ที่ด่านเจ้าหน้าที่ก็อยู่ไมไกลเท่าไหร่ ทำไมรัฐไม่ดุแลจุดนี้ให้ดี เพราะเกิดเหตุรุนแรงใหญ่ๆ มา 3 ครั้งแล้ว เขาก็บอกว่าอย่าว่าเจ้าหน้าที่ไม่ดูแล เดี๋ยวเสียหายกับเจ้าหน้าที่ทุกคน"
เป็นความในใจและความคับข้องใจของคนที่อาศัยอยู่ในละแวกที่เกิดเหตุ
แต่ในมุมมองของเจ้าหน้าที่ ยืนยันว่าการปฏิบัติต่างๆ ของฝ่ายกองกำลัง เป็นไปอย่างรอบคอบและถูกต้องแล้ว
พ.อ.ธีระยุทธ์ สายยืด ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 33 (ผบ.ฉก.ทพ.33) บอกว่า ตำรวจออกหมายจับผู้ต้องหาไปแล้ว 4 คน และได้เชิญตัวผู้ต้องสงสัยไปสอบปากคำทั้งหมด 7 คน ตอนนี้ปล่อยตัวกลับบ้านทั้งหมดแล้ว ส่วนบางคนที่บอกว่าไม่กล้าอยู่บ้าน เพราะกลัวนั้น เชื่อว่าไม่น่าเป็นไปได้
"เขาแค่เดินทางไปทำธุระในกรุงเทพฯ เดี๋ยวก็คงกลับบ้าน เขาไม่ได้กลัวอะไร ส่วนใหญ่ชาวบ้านเขาเข้าใจ เพราะที่เชิญตัวเป็นการเชิญมาให้ข้อมูลปกติ ไม่มีอะไร" ผบ.ฉก.ทพ.33 ระบุ
ส่วนผู้ต้องหา 4 คนที่ศาลอนุมัติหมายจับแล้ว ประกอบด้วย นายอับดุลเลาะ ตาเปาะโต๊ะ, นายอาหะมัด ลือแบซา, นายซามีม ซะแม และ นายมูฮำหมัด หะยีสาเมะ ทั้งหมดถูกตั้งข้อหาสมคบกันก่อการร้าย หรือสนับสนุนการก่อการร้าย เป็นอั้งยี่และ ซ่องโจร โดยทั้ง 4 คนมีประวัติก่อคดีความมั่นคงมาอย่างโชกโชน และมีหมายจับติดตัวหลายหมาย
พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณุกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รองผบ.ตร.) รับผิดชอบงานความมั่นคง บอกว่า คดีนี้มีผู้ร่วมก่อเหตุประมาณ 30 คน จากการสืบสวนพบพยานหลักฐาน แต่ในทางสอบสวนในสำนวนคดีเบื้องต้นสามารถออกหมายจับได้ 4 ราย เป็นไปได้ว่า 4 รายนี้อาจจะร่วมก่อเหตุกับกลุ่มคนหน้าใหม่ ในส่วนของมูลเหตุการสืบสวนสอบสวนระบุว่าเป็นการก่อการร้าย ไม่ได้ชี้ไปในเรื่องธุรกิจมืด ส่วนจะเป็นการรับงานของคนร้ายให้กับกลุ่มธุรกิจกฎหมายหรือภัยแทรกซ้อนหรือไม่นั้น ในสำนวนคดียังไม่มีการระบุถึง
-------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 ชายสวมเสื้อสีแดง คือหนึ่งในผู้ที่ถูกคุมตัวเข้าค่ายทหารไปซักถามหลังเกิดเหตุ และภายหลังต้องเดินทางออกจากพื้นที่เพราะความหวาดกลัว
2 แม่ทัพภาค 4 ลงพื้นที่หลังเกิดเหตุ และสอบปากคำพยานในละแวกนั้น
อ่านประกอบ :
ควงปืนบุกจี้รถทัวร์เบตง-กรุงเทพฯ จุดไฟเผาวอด โค่นต้นไม้ขวางถนน!