โพลระบุ รัฐฯเด่นแก้ไขปัญหาตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง แต่ยังอ่อนการจัดเลือกตั้ง
นิด้าโพลเผยผลสำรวจประชาชนกว่า ร้อยละ 28.70 ระบุว่า การแก้ปัญหาตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงของรัฐบาลเป็นไปได้ดี แต่ด้อยเรื่องปัญหาการเลือกตั้งที่ยังคาราคาซังและการแก้คอร์รัปชัน
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาล” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 20 – 22 ธ.ค. 2560 โดยสอบถามความคิดเห็นจากประชาชนทั่วประเทศ กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,251 หน่วยตัวอย่าง
จากการสำรวจเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ทำแล้วจะสามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้มากที่สุด พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 28.70 ระบุว่า การแก้ปัญหาตามแนวทางเศรษกิจพอเพียง / ศาสตร์พระราชา ร้อยละ 18.31 ระบุว่า การลดค่าครองชีพ (เช่น ค่าไฟฟ้าฟรี, รถเมล์ฟรี, ตรึงราคาก๊าซ ราคาน้ำมัน) ร้อยละ 16.95 ระบุว่า การแก้ไขปัญหาการว่างงาน และพื้นที่ทำกิน ร้อยละ 12.79 ระบุว่า การจัดการเลือกตั้ง เพื่อสร้างภาพลักษณ์ และความมั่นใจให้ต่างชาติเข้ามาลงทุน ร้อยละ 9.67 ระบุว่า การกระจายงานและรายได้ไม่ให้กระจุกอยู่ตามหัวเมืองใหญ่ ร้อยละ 5.52 ระบุว่า การออกนโยบายสนับสนุนให้คนในประเทศใช้จ่ายมากขึ้น เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ร้อยละ 3.84 ระบุว่า การสนับสนุนการส่งออกและการลงทุนจากต่างชาติ และร้อยละ 4.24 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ การแก้ปัญหาคอร์รัปชัน การแก้ไขปัญหาด้านพืชผลทางการเกษตร
ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงวิธีการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่า รัฐบาลแก้ไขปัญหาได้ค่อนข้างดี ได้แก่ การแก้ปัญหาตามแนวทางเศรษกิจพอเพียง/ศาสตร์พระราชา สำหรับวิธีการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่า รัฐบาลแก้ไขปัญหาได้ยังไม่ค่อยดี ได้แก่ การออกนโยบายสนับสนุนให้คนในประเทศใช้จ่ายมากขึ้น เพื่อกระตุ้น เศรษฐกิจ การลดค่าครองชีพ (ค่าไฟฟ้าฟรี, รถเมล์ฟรี, ตรึงราคาก๊าซ ราคาน้ำมัน) การแก้ไขปัญหาการว่างงาน และพื้นที่ทำกิน การกระจายงานและรายได้ไม่ให้กระจุกอยู่ตามหัวเมืองใหญ่ และการสนับสนุนการส่งออกและการลงทุนจากต่างชาติ และวิธีการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่า รัฐบาลแก้ไขปัญหาได้ไม่ดีเลย ได้แก่ การจัดการเลือกตั้ง เพื่อสร้างภาพลักษณ์ และความมั่นใจให้ต่างชาติเข้ามาลงทุน และอื่นๆ ได้แก่ การแก้ปัญหาคอรัปชัน การแก้ไขปัญหาด้านพืชผลทางการเกษตร