เร่งล้อมคอกสหกรณ์ พบลงทุนซ้ำซ้อน25แห่ง
กรมส่งเสริมฯ เดินหน้าวางกรอบธุรกรรมสหกรณ์ออมทรัพย์หวังล้างบางปมทุจริต
นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างเร่งดำเนินการออกเกณฑ์กำกับคุมสหกรณ์ออมทรัพย์ และสหกรณ์เครดิต ที่มีธุรกรรมเกิน 5,000 ล้านบาท ตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งที่ผ่านมาต้องเจรจากับทางสมาชิกสหกรณ์ กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อให้ดำเนินการได้ตามเกณฑี่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติไว้ และตามนโยบายนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีที่ได้มอบหมายไว้ ให้เร่งดำเนินการไม่ต้องรอกฎหมายสหกรณ์ฉบับใหม่เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหาย ทำให้ปัจจุบันมีหลายสหกรณ์ไม่พอใจและเริ่มที่จะฟ้องร้องกรมส่งเสริมสหกรณ์ ว่าเป็นการกระทำเอื้อธนาคารที่กำหนดเกณฑ์กำกับสูงจนกระทบต่อสมาชิก
ทั้งนี้ ที่น่าห่วงคือ ปัญหาสัดส่วนหนี้สินต่อทุน ที่จะต้องไม่เกิน 60% เนื่องจากที่ผ่านมากรมพบว่ามีบางสหกรณ์ไปลงทุนไขว้กันไปมาทำให้สหกรณ์ออมทรัพย์ขนาดใหญ่ ซึ่งมีประมาณ 25 แห่งลงทุนรวมแล้วประมาณ 3 แสนล้านบาท
“ตัวเลขดังกล่าวถือว่าเยอะมาก ที่สหกรณ์ 25 แห่งจากสหกรณ์ที่มีธุรกรรม 5,000 ล้านบาทขึ้นไปจำนวน 134 แห่ง โดยทั้ง 25 แห่ง พบว่ามีการโยกเงินไขว้ไปมาเพื่อแสวงหากำไร ซึ่งจะมีปัญหาต่อสมาชิกได้ หากขาดสภาพคล่อง ในเรื่องนี้เป็นประเด็นที่หารือกันหนัก และสหกรณ์ไม่ค่อยพอใจ แต่เพื่อประโยชน์ส่วนรวม ก็ต้องดำเนินการ ซึ่งรองนายกฯ สมคิด ให้เร่งดำเนินการวางเกณฑ์กำกับสหกรณ์ เพียงแต่จะกำหนดให้มีระยะเวลาของการปรับตัว” นายพิเชษฐ์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม กรมส่งเสริมสหกรณ์อยู่ระหว่างจัดทำเกณฑ์กำกับสหกรณ์ให้เสร็จภายในเดือน ธ.ค. 2560 คือ 1.สมาชิกสมทบ จะยืนยันให้เฉพาะบิดามารดาและบุตรเท่านั้น และกรณีเงินกู้ต้องไม่เกินเงินฝากบวกหุ้น 2.วงเงินกู้ยืมหรือค้ำประกันประจำปี เพิ่มนิยามให้เงินรับฝากสหกรณ์อื่นเป็นส่วนหนึ่งของวงเงินกู้ยืม และจะเปลี่ยนแปลงอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนในระยะต่อไป
สำหรับเกณฑ์ที่ยังไม่ได้ข้อยุติ คือ 1.การดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง กรมจัดส่งข้อมูลการวิเคราะห์สภาพคล่องในภาวะวิกฤตเพื่อกำหนดสัดส่วนเงินรับฝากของชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์ เป็นสินทรัพย์สภาพคล่องให้ธนาคารแห่งประเทศไทยพิจารณา 2.การกำหนดอัตราเงินปันผลอยู่ระหว่างปรับปรุงเพื่อเสนอกระทรวงพิจารณา และ 3.ขอบเขตการลงทุนของสหกรณ์ เสนอให้คณะกรรมการพัฒนาสหกรณ์แห่งชาติพิจารณาแล้ว อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะอนุกรรมการส่งเสริมสนับสนุนการขยายธุรกิจและลงทุนสหกรณ์